6พรรคฝ่ายค้าน ไม่ร่วมโหวตงบ63


เพิ่มเพื่อน    

  6 พรรคฝ่ายค้านย้ำไม่ร่วมสังฆกรรม พ.ร.บ.งบฯ เปิดทางรัฐบาลดำเนินการตามสะดวก แต่ขู่เลยกรอบ 105 วันในการพิจารณาอาจผิดกฎหมาย “ปิยบุตร” แผ่นเสียงตกร่อง ไม่เลิกไล่อัดศาลรัฐธรรมนูญ วิปรัฐบาลสั่ง ส.ส.ห้ามขาด ห้ามลาโดยเด็ดขาด 

     เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประชุมหารือเกี่ยวกับการดำเนินการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ในวาระ 2-3 ที่จะมีการประชุมในวันที่ 13 ก.พ. โดยการหารือครั้งนี้มีหัวหน้าพรรค 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ตัวแทนวิปฝ่ายค้าน ตัวแทนวิปรัฐบาล เข้าร่วมพูด
    น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ประชุม 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติให้ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านทุกคนจะมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ โดยร่วมเป็นองค์ประชุม แต่การดำเนินการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาล ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ  
    ในส่วนของการเสียบบัตรแทนกันนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าไม่สุจริต และ ส.ส.พรรคภูมิใจไทยไม่อยู่ในที่ประชุม และมีการเสียบบัตรแทนกัน จึงถือว่าเป็นการออกเสียงที่ไม่สุจริต ดังนั้นเรารอความรับผิดชอบส่วนตนและรัฐบาล การแสดงความรับผิดชอบสูงสุดคือลาออก เพราะความรับผิดชอบทางการเมืองเป็นสิ่งที่นักการเมืองต้องมี
     ด้านนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า มติดังกล่าวที่ออกมา เพื่อให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เกิดความรวดเร็ว ตามความต้องการของประชาชน หากฝ่ายค้านร่วมประชุมด้วยในวันที่ 13 ก.พ. เราได้สงวนคำแปรญัตติไว้จำนวนมาก จะต้องใช้สิทธิในการอภิปรายใช้เวลานาน 2-3 วัน 
    อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้หากย้อนไปที่มูลเหตุของการเกิดปัญหา ฝ่ายค้านให้ความร่วมมือมาโดยตลอด แต่รัฐบาลกลับมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม ฝ่ายค้านก็อยู่ร่วมประชุมด้วย แต่กลับเกิดเหตุการณ์มีคนเสียบบัตรแทนกัน ทำให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้สะดุด รัฐบาลทำเสียของ ดังนั้นครั้งนี้เราจะให้ความร่วมมือเหมือนเดิม เพียงแต่ไม่สามารถร่วมอยู่ประชุมด้วยได้ โดยจะเปิดทางให้รัฐบาลพิจารณางบประมาณได้โดยสะดวก 
    "เราจะไม่สุ่มเสี่ยงที่จะร่วมในการกระทำที่ไม่ชัดเจน เพราะคำวินิจฉัยไม่ชัดเจนในหลายข้อ จึงจะไม่ทำอะไรที่สุ่มเสี่ยงในเรื่องความถูกผิด"
    นายสุทินกล่าวว่า ฝ่ายค้านมีความกังวลว่า เนื่องจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 143 กำหนดให้การพิจารณากฎหมายของสภาและวุฒิสภาเสร็จภายใน 105 วัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้พูดเรื่องนี้ และการพิจารณาพรุ่งนี้จะเกินเวลา ดังนั้น ส.ส.จึงกังวลใจว่าหากร่วมประชุมในวันพรุ่งนี้จะเป็นการทำผิดกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นการร่วมทำงานตามมารยาทที่พองามพอดีเป็นวิถีทางที่เราทำได้เพียงเท่านี้
    นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า สื่อมวลชนรายงานว่า นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า เจรจากับพรรคเพื่อไทยได้ แต่จะมีปัญหากับพรรคอนาคตใหม่นั้น ขอเรียนว่า ไม่เคยได้รับการติดต่อจากบุคคลใดในฟากรัฐบาลเลย ดังนั้นรู้ได้อย่างไรว่าคุยยาก ในเมื่อไม่เคยมาพูดคุยกันเลย รัฐมนตรีคงคิดเอาเอง
ไล่อัดศาลรัฐธรรมนูญ
    เขากล่าวว่า คำร้องที่ฝ่ายค้านได้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตามมาตรา 148 วรรค 3 นั้น มีการเขียนไว้ชัดเจนว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระบวนการตราไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลรัฐธรรมนูญสามารถทำได้อย่างเดียวคือการวินิจฉัยให้ร่างกฎหมายนั้นตกไปทั้งฉบับ แต่หากวินิจฉัยว่าชอบ ก็เดินหน้าต่อ แต่กรณีที่ออกมานั้น จะงงในตัวเอง เพราะท่อนแรกบอกว่า การเสียบบัตรแทนกัน ย่อมมีผลในการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริต ทำให้ผลการลงมิร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่พอมาถึงตอนท้ายกลับบอกว่าร่างนี้ไม่ตกไปทั้งฉบับ เพราะต้องคำนึงถึงสภาพการณ์และเหตุผลความจำเป็นในการใช้งบประมาณ 
    "สรุปแล้วเป็นคำวินิจฉัยที่ผสมผสานกันทุกเรื่อง แถมท้ายด้วยการสั่งให้สภาลงมติกันใหม่ในวาระ 2-3  เห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่เกินกว่ารัฐธรรมนูญกำหนด และหากปล่อยไว้เช่นนี้ วันข้างหน้าศาลรัฐธรรมนูญจะสามารถสั่งอะไรก็ได้โดยที่ทุกองค์กรต้องปฏิบัติตาม การเป็นซูเปอร์รัฐธรรมนูญ กลายเป็นคนที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ผิดในหลักการถ่วงดุลอำนาจ เป็นเหตุให้ฝ่ายค้านต้องมานั่งคิดกันว่าเราจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร"
    นายปิยบุตรบอกว่า เวลานี้เป็นเรื่องเหลือเชื่อและมหัศจรรย์จากที่ทั้งสภาต้องมาวุ่นวายและมานั่งคิดอ่านกันใหม่หมดเพื่อแก้ปัญหาให้กับ ส.ส.ไม่กี่คนที่เสียบบัตรแทนกัน แล้วจนถึงวันนี้เรายังไม่เคยได้ยินเสียง ส.ส.คนนั้นพูดสักคำ แม้กระทั่งขอโทษก็ไม่มี ความรับผิดชอบอะไรก็ไม่มี ทำเป็นเงียบๆ เฉยๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย มองว่าสิ่งนี้ไม่ยุติธรรมต่อทั้งสภาผู้แทนราษฎร ต่อตัวรัฐบาล และต่อประชาชน ก็ไม่แน่ใจว่าวันที่ 13 ก.พ. ในที่ประชุมท่านจะรู้สึกอะไรหรือไม่ ที่คนทั้งสภาจะต้องมาแก้ปัญหาที่ท่านเป็นคนก่อขึ้นมา
     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประชาชนเห็นความพยายามในการออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบของรัฐบาล เหมือนกับหลายๆ เรื่องที่ผ่านมา จนถูกตั้งคำถามว่า รัฐบาลลอยแพประชาชน ปฏิเสธความรับผิดชอบแทบทุกเรื่อง จนความเชื่อมั่นเสื่อมทรุดในแทบทุกบริบท ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 มีปัญหา เพราะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสียบบัตรแทนกันจนต้องนำมาพิจารณากันใหม่ ไม่มีใครไปสร้างปัญหาให้ สนิมเกิดจากเนื้อใน รัฐบาลทำตัวเอง 
    นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า หลังจากที่วิปฝ่ายค้านมีมติไม่เข้าร่วมลงมติในวาระสองและวาระสาม ฝั่งรัฐบาลต้องดำเนินการประชุมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ตามกระบวนการ คือ ลงมติตั้งแต่มาตรา 1 ต่อเนื่องจนถึงมาตรา 55 ซึ่งเป็นมาตราสุดท้าย ส่วนการอภิปรายนั้น มติวิปรัฐบาลเห็นร่วมกันคือสามารถอภิปรายได้ในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระใหม่ และไม่ซ้ำเดิมจากการอภิปรายในวาระสอง รอบแรก ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงวันที่ 8-10 ม.ค. เนื่องจากถือว่าการอภิปรายของ ส.ส.เคยเกิดขึ้น และได้รับการบันทึกไว้แล้ว ส่วนจะพิจารณาแล้วเสร็จภายในวันเดียวหรือไม่นั้น ตนยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะต้องรอดูท่าทีที่ชัดเจนจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านอีกครั้ง 
ห้ามขาด ห้ามลา
     “ส.ส.ฝั่งรัฐบาลต้องรักษาองค์ประชุมและการลงมติไว้ให้ครบถ้วน ห้ามขาด ห้ามลาโดยเด็ดขาด ซึ่งวันพิจารณาวาระสองและวาระสาม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทุกคนต้องร่วมประชุมและลงมติให้ครบถ้วนทุกคน” นายวิรัชกล่าว 
    เมื่อถามถึงกรณีที่หลายฝ่ายกังวลและท้วงติงว่าการพิจารณาของสภาวาระสองและวาระสาม วันที่ 13 ก.พ.นั้น อาจเกินเวลา 105 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาพิจารณาให้แล้วเสร็จ นายวิรัช กล่าวว่า สภาต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุให้สภานำร่าง พ.ร.บ.งบฯ 63 พิจารณาวาระสองและวาระสาม ส่วนประเด็นระยะเวลา 105 วันนั้น จากคำร้องที่ตนและคณะยื่นเป็นคำถามให้ศาลรัฐธรรมนูญด้วย กลับไม่มีคำวินิจฉัย ดังนั้นการปฏิบัติของสภาต้องดำเนินการตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้
    นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เรื่ององค์ประชุมสภาเป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลเสียงข้างมากและ ส.ส.ทุกคน แต่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบมากกว่าอีกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายงบประมาณเป็นเรื่องที่ค้างการพิจารณามาพอสมควรแล้ว จึงต้องหาทางช่วยกันเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
    ประธานสภาผู้แทนฯ กล่าวว่า เมื่อมีการเริ่มต้นในวาระที่ 2 ใหม่ ส.ส.ย่อมมีสิทธิอภิปรายได้เต็มที่ แต่เนื่องจากเคยอภิปรายกันเต็มที่มาแล้ว ดังนั้น กระบวนการจากนี้น่าจะประหยัดเวลาลงไปได้ ประกอบกับ ส.ส.ย่อมทราบดีว่าเป็นเรื่องที่พิจารณากันมาแล้ว คงจะไม่มีการลงรายละเอียดกันมากนัก ทั้งนี้ ยังไม่ได้กำหนดกรอบการพิจารณา แต่คิดว่าการพิจารณาไม่น่าจะช้า
    "อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน อย่างน้อยกฎหมายนี้เป็นกฎหมายสำคัญที่ต้องมีเงินไปใช้จ่ายสำหรับทุกองค์กร" นายชวนกล่าว
     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเรื่อง ส.ส.ที่เขาคุยกันอยู่แล้ว พยายามทำให้เร็วที่สุด เพราะเป็นความร่วมมือของทุกพรรค ฝ่ายค้านจะอยู่ร่วมโหวตหรือไม่ แล้วแต่เขา เขามีสิทธิทำอย่างไหนได้ก็ทำไป แต่ประชาชนก็ต้องดูติดตามว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่มีปัญหา เพราะคราวที่แล้วฝ่ายค้านก็ไม่ได้โหวต ซึ่งจริงๆ น่าจะไม่ได้โหวตในกฎหมายหลายฉบับ แต่ว่าเสียงทางฝ่ายรัฐบาลต้องให้พอ พอในที่นี่คือพอตามองค์ประชุมทั้งหมด
เสียบบัตรจับได้จ่าย 1 แสน
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ แถลงว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไป หากสื่อมวลชนและพลเมืองดีทั่วไป ส.ส.มีการเสียบบัตรแทนกัน 2 ครั้งขึ้นไป กับการลงมติกฎหมายทุกฉบับ รวมทั้งญัตติต่างๆ หากมีหลักฐานดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือวิดีโอ สามารถรับเงินกับตนได้ เหตุการณ์ละ 1 แสนบาท โดยไม่จำกัดเหตุการณ์ แต่ห้ามก๊อปปี้ภาพเขาแล้วมารับเงิน 
    "หลักฐานดังกล่าวไม่ต้องผ่านการตรวจสอบในชั้นศาล หรือตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบ แต่สามารถมารับเงินโดยตรงกับผมได้เลย เพราะผมมีทรัพย์สินถึง 500 ล้านบาท คิดว่างานนี้คงไม่เกิน 10 ล้านบาท ยังเหลือเงินอีกตั้ง 490 ล้านบาท ทั้งนี้สำหรับผู้ที่นำหลักฐานมาเปิดเผย ผมมีวิธีปกปิดไม่ให้ได้รับผลกระทบตามมา" นายสิระกล่าว
    นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) เปิดเผยว่า ประธานวุฒิสภากำหนดนัดประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้เสร็จตามกรอบเวลา ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า เรื่องนี้ได้ผ่านการอภิปราย และพิจารณาไปแล้ว จึงจะขอร้องสมาชิกวุฒิสภาว่า หากจะอภิปราย ก็ขอให้อภิปรายอย่างกระชับที่สุด และไม่ซ้ำเดิม คาดว่าจะพยายามใช้เวลาอภิปราย และลงมติให้เสร็จภายในวันเดียว จะได้ส่งคืนไปตามช่องทางเดิม 
    นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ระบุไม่ให้ราคาคนนอกอดีต ส.ส.นอกสภาว่า ให้สัมภาษณ์ลักษณะสไตล์เดิมๆ ของ ร.ต.อ.เฉลิม ขอถามกลับว่าการอภิปรายในเรื่องใดๆ ได้มีการปรึกษาหารือกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยแล้วหรือไม่ ระวังทำอะไรไม่ปรึกษาหารือ เดี๋ยวคุณหญิงโกรธหรือไม่พอใจ
    "มี ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยหลายคนที่ส่งข่าวมาบอกว่าอย่าไปถือสาท่านเลย เพราะท่านก็อายุมาก ดื่มไวน์ก็เยอะ สุขภาพก็ต้องดูแลรักษา ทุกคนห่วงใยท่าน ทางพรรคเพื่อไทยก็ไม่มีใครจะทำงานให้พรรค ก็อยากจะถามกลับท่านเหมือนกันว่า ท่านเฉลิมก็อยู่นอกสภา ไม่ได้อยู่ในสภาเช่นกัน ราคามวยก็คงไม่ได้มีราคาอะไรมากมายที่ต้องกังวล" นายสุภรณ์กล่าว.


    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"