จำคุก5แกนนำพันธมิตร บุกNBTไล่รัฐบาลสมัคร


เพิ่มเพื่อน    

  ศาลสั่งจำคุก "สมเกียรติ" 2 ปี "อัญชะลี-ภูวดล-ยุทธิยง-น้องสนธิ" คนละ 1 ปี ไม่รอลงอาญา คดีนำพันธมิตรฯ บุก NBT ไล่รัฐบาลสมัคร ก่อนให้ประกันตัว 5 แกนนำตีราคา 2-3 แสนบาท "เจ๊ปอง" ยันจัดรายการข่าวต่อ 

    ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เวลา 09.30 น. ศาลอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อ.1033/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก, นายภูวดล ทรงประเสริฐ, นายยุทธิยง ลิ้มเลิศวาที แนวร่วม พธม. และนายชิติพัทธ์ ลิ้มทองกุล น้องชายของนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำ พธม. ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก มั่วสุม สร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง อั้งยี่ซ่องโจรฯ กรณีร่วมกันบุกยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ในช่วงการชุมนุมของ พธม. เพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551
     คำฟ้องโจทก์ระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 25-26 ส.ค.2551 จำเลยทั้งห้ากับพวก 85 คน ที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษแล้ว ร่วมกันกระทำความผิดเป็นซ่องโจร มั่วสุมก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยร่วมกันเดินขบวนในถนนสาธารณะจากบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ และจากที่อื่นๆ โดยมีอาวุธปืน มีด ขวาน ไม้กอล์ฟ ไม้ท่อน หนังสติ๊ก ลูกเหล็ก แล้วร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบริเวณและอาคารสำนักงานสถานีเอ็นบีที ทุบทำลายประตูหน้าต่าง ตัดสายไฟฟ้าตู้ควบคุมระบบไฟฟ้า ระบบโทรศัพท์ ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบกล้องวงจรปิด ทำลายระบบส่งสัญญาณการออกอากาศวิทยุโทรทัศน์ และร่วมกันข่มขืนใจพนักงานไม่ให้ปฏิบัติหน้าที่ออกอากาศและกระจายเสียง และสั่งให้ออกไปจากอาคารสถานี โดยจำเลยทั้งห้าเป็นหัวหน้าและเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ฐานร่วมกันทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันบุกรุก และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210, 215, 309, 358, 364 และ 365 จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ และได้รับการประกันตัว
    วันนี้จำเลยทั้งหมดเดินทางมาฟังคำพิพากษาครบทุกคน โดยนายภูวดลนั่งรถเข็นมาศาล และมีกลุ่มคนเดินทางมาให้กำลังใจจำนวนหนึ่ง
    ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบแล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปดูแลรักษาความปลอดภัย, ผอ.สถานีเอ็นบีที และช่างภาพสถานีเอ็นบีที เบิกความว่าก่อนเกิดเหตุกลุ่ม พธม.ชุมนุมกันที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อขับไล่รัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ส.ค.2551 แกนนำ พธม. ประกาศว่าวันที่ 26 ส.ค.2551 จะบุกสถานที่ราชการหลายแห่ง รวมทั้งสถานีเอ็นบีเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2551 ในเวลา 05.00 น. มีกลุ่มนักรบศรีวิชัย ซึ่งเป็นการ์ดของกลุ่ม พธม. บุกรุกเข้าไปในอาคารสถานีเอ็นบีที ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับกุมได้ 85 คน หลังจากนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยเดินทางมาที่หน้าประตูทางเข้า-ออกด้านหน้าสถานี จนเวลา 06.00 น. ผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่พร้อมรถยนต์บรรทุกติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวทีปราศรัยเคลื่อนที่มาถึงสถานีเอ็นบีที่หลายคันผู้ชุมนุมบนรถดังกล่าวผลัดเปลี่ยนกันพูดโจมตีรัฐบาลและสถานีเอ็นบีที ว่าเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ต้องการยึดเอ็นบีทีให้จอดำและเชื่อมต่อสัญญาณออกอากาศเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกลุ่ม พธม. รวมทั้งเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับไปก่อนหน้านี้
    โดยเจ้าพนักงานตำรวจที่เป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า ขณะเกิดเหตุอยู่ในลักษณะประจันหน้ากันที่ประตูรั้ว พยานเห็นจำเลยทั้ง 5 อยู่บนรถ และมีพยานจำเสียงของจำเลยที่ 2 ได้ โดยโจทก์มีภาพถ่ายเป็นพยานหลักฐานด้วย ต่อมากลุ่ม พธม.ได้พังประตูรั้วเหล็กฝ่าแนวกั้นของเจ้าพนักงานตำรวจบุกรุกเข้าไปในบริเวณพื้นที่และอาคารสถานีเอ็นบีที ซึ่งจำเลยที่ 5 ประกาศต่อหน้าเจ้าพนักงานตำรวจว่าผู้ชุมนุมเป็นกองทัพประชาชน มีผู้สั่งการให้มายึดเอ็นบีที ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจออกจากอาคารสถานีไป จากนั้นกลุ่ม พธม.ได้ยึดพื้นที่สถานีและอาคารดังกล่าว จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.00 น.จึงออกจากพื้นที่ดังกล่าว นอกจากพยานในที่เกิดเหตุแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจผู้ติดตามความเคลื่อนไหวการชุมนุมทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอเอสทีวี และผู้ถอดเทปคำปราศรัยบนเวทีชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ ยังเบิกความข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบุกยึดสถานีเอ็นบีทีอย่างสอดคล้องกัน พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคง รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกที่บุกรุกเข้าไปในอาคารสถานีเอ็นบีที เมื่อเวลา 08.00 น. กับกลุ่มนักรบศรีวิชัยที่บุกรุกเข้าไปในอาคารสถานีเอ็นบีที เมื่อเวลา 05.00 น.ในวันที่ 26 ส.ค.2551 มีเจตจำนงเดียวกัน กระทำการต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน เพื่อปฏิบัติภารกิจบุกยึดสถานีเอ็นบีทีให้บรรลุเป้าหมายที่แกนนำร่วมกันมีมติ เป็นการร่วมกันกระทำความผิด
     ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1, 2, 3, 4 ซึ่งอ้างว่ามีผู้ชุมนุมดาวกระจายไปที่สถานีเอ็นบีทีแล้วถูกจับกุมไป ยังมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งอยู่ที่หน้าสถานีเอ็นบีที เมื่อจำเลยทราบข่าวจึงเคลื่อนขบวนติดตามไปภายหลังเพื่อจะนำมวลชนที่อยู่หน้าสถานีเอ็นบีทีกลับมาที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยไม่ได้เข้าไปในสถานีเอ็นบีที และจำเลยที่ 5 เป็นเพียงผู้ชุมนุมธรรมดาที่เดินทางไปร่วมชุมนุม ไม่ได้พูดประกาศต่อเจ้าพนักงานตำรวจนั้น ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จำเลยทั้งห้ามีความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมก่อการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฐานร่วมกันบุกรุก ฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์และฐานร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น ส่วนความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรนั้น โจทก์ยังไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกและกลุ่มนักรบศรีวิชัยสมคบกันร่วมประชุมวางแผนกัน จึงลงโทษในความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรไม่ได้ จำเลยที่ 1 เป็นแกนนำของกลุ่ม พธม. ร่วมสมคบคิดบุกยึดสถานีเอ็นบีที ขึ้นเวทีชุมนุมที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ร่วมประกาศภารกิจและเดินทางไปในลักษณะกำกับดูแล เป็นหัวหน้าเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิด แต่สำหรับจำเลยที่ 2-5 พยานหลักฐานยังไม่ชัดว่าเป็นหัวหน้าหรือมีหน้าที่สั่งการในการบุกยึด
     การกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท พิพากษาให้ลงโทษบทหนักสุด ฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ให้จำคุกนายสมเกียรติ จำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุก น.ส.อัญชะลี จำเลยที่ 2 นายภูวดล จำเลยที่ 3 นายยุทธิยง จำเลยที่ 4 และนายชิติพัทธ์ จำเลยที่ 5 คนละ 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา
     ต่อมา ญาติและทนายความของจำเลยทั้งห้าได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมหลักทรัพย์ เพื่อประกันตัวต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ โดยในส่วนของนายสมเกียรติ จำเลยที่ 1 ได้ยื่นโฉนดที่ดิน จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 4 ไร่ ราคาประเมิน 1.4 ล้านบาทเศษ ส่วน น.ส.อัญชะลี จำเลยที่ 2, นายภูวดล จำเลยที่ 3, นายยุทธิยง จำเลยที่ 4, นายชิติพัทธ์ จำเลยที่ 5 ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นเงินสด คนละ 200,000 บาท
      จนกระทั่งเวลา 14.45 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งห้าระหว่างอุทธรณ์คดี โดยตีราคาประกันในส่วนของนายสมเกียรติ จำเลยที่ 1 วงเงิน 300,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2-5 ตีราคาประกันคนละ 200,000 บาท ซึ่งคดีจะครบกำหนดการยื่นอุทธรณ์ภายในวันที่ 12 มี.ค.นี้
     ภายหลังได้รับการปล่อยตัวแล้ว น.ส.อัญชะลี ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในพิธีกรข่าวทางสถานีโทรทัศน์ช่อง เนชั่นทีวี 22 ได้ตอบคำถามสื่อกรณีที่ถูกตัดสินจำคุกคดีนี้ จะมีผลในการทำหน้าที่สื่อหรือไม่ว่า ไม่มีผล ตนจะยังกลับไปจัดรายการข่าวเหมือนเดิม ส่วนที่มีการเปรียบเทียบกับกรณีนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตพิธีกรข่าวที่ยุติการทำหน้าที่สื่อ ตั้งแต่ถูกศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกคดีสนับสนุนเจ้าพนักงาน อสมท ไม่รายงานโฆษณาส่วนเกินนั้น ในรายละเอียดคงเปรียบเทียบกันไม่ได้ เนื่องจากคดีของตนกล่าวหาเรื่องการทำกิจกรรมการเมืองภาคประชาชน ที่บริเวณด้านนอกของสถานีช่อง 11 คนละเรื่องกับของนายสรยุทธ นอกจากนี้ทางเนชั่นเองได้คุยกันแล้วว่าคดียังไม่ถึงที่สุด เรายังอยู่ในกระบวนการยุติธรรมที่สามารถยื่นอุทธรณ์
     นายสมเกียรติให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้เราได้รับโชคชะตาอย่างไรเราไม่เคยหวั่นไหวที่อะไรจะเกิดขึ้น เราไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ส่วนตนแม้แต่น้อย แม้รัฐบาลจะมานี่ก็มาจากพวกเรา จนมาถึงรัฐบาลชุดนี้ ถ้าไม่มีเราบ้านเมืองอาจจะเป็นอย่างไรไปก็ได้ เพราะฉะนั้นเรายังยืนหยัดที่จะต่อสู้เพื่อชาติ ความถูกต้องของสังคม และความมั่นคงของรัฐเสมอ น้อมรับคำตัดสินด้วยความสุภาพเรียบร้อย.
 
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"