ผู้แทนพระองค์ทำบุญเทอร์มินอล21


เพิ่มเพื่อน    

 "ในหลวง" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ "ผอ.ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร." เป็นผู้แทนพระองค์พิธีทำบุญในโอกาสศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราชกลับมาเปิดใหม่ มี ปชช.กว่า 1 หมื่นคนพร้อมใจตักบาตรและสวดนพเคราะห์ "รัฐบาล" ตั้ง "วิษณุ" ปธ.ช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียชีวิต 27 ราย เว้น "ผู้ก่อเหตุ-2 คู่กรณี" ไม่ได้ จ่ายรายละ 1 ล้านบาท เริ่ม 15 ก.พ. ส่วนบาดเจ็บสาหัส 2 แสน เจ็บเล็กน้อยไม่เกิน 1 แสนบาท

    ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 13 ก.พ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ร.อ.ปวิตร รุจิเทศ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร., พล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง, พล.อ.อ.สุบิน ชิวปรีชา กรมวังผู้ใหญ่ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ พล.อ.ศิวะ ภระมรทัต ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการใหญ่ โครงการจิตอาสาพระราชทาน ตามแนวพระราชดำริ เราทำความดีด้วยหัวใจ เป็นผู้แทนพระองค์ ในพิธีทำบุญ ในงาน "รวมดวงใจ ก้าวไปด้วยกัน" เนื่องในโอกาสที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับร้านค้า ลูกค้า และชาวโคราช โดยมีพิธีตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งพระภิกษุจำนวน 219 รูป สวดนพเคราะห์ และพิธีบายศรี-สู่ขวัญ โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ร่วมพิธีกว่า 10,000 คน
    นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองหลายคนร่วมตักบาตรข้าวสารอาหารแห้งด้วย อาทิ นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา, นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เพื่อให้กำลังพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา ให้ร่วมกันก้าวผ่านเรื่องร้ายๆ ที่ผ่านเข้ามา หลังจากการทำบุญใหญ่ในครั้งนี้ จะทำให้มีแต่สิ่งดีๆ เกิดขึ้นในจังหวัด และอยากให้นักท่องเที่ยวมั่นใจในความปลอดภัย เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดนครราชสีมา
    นายประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยาม รีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช กล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนการตรวจสอบสถานที่ ทำความสะอาด และดูแลความเรียบร้อยตลอดระยะเวลา 4 วันที่ผ่านมา วันนี้เทอร์มินอล 21 โคราช พร้อมแล้วที่จะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ 99% ทุกชั้น ทุกโซน ยกเว้นพื้นที่บริเวณฟู้ดแลนด์ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารถูกและดี ซึ่งคาดว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้ในเร็วๆ นี้ พร้อมกับวางมาตรการรักษาความปลอดภัยให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกค้า ผู้ประกอบการ และประชาชนทุกท่านมั่นใจได้ว่าศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ปลอดภัยและมีความพร้อมที่จะกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง     
จัดทำบุญเทอร์มินอล 21
    "ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ได้ดำเนินมาตรการในการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟู และสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ ตลอดจนร้านค้าและลูกค้าของเทอร์มินอล 21 โคราช โดยมอบเงินช่วยเหลือเยียวยาแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บรายละ 100,000 บาท มอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรของผู้เสียชีวิต คนละ 50,000 บาท ยกเว้นค่าเช่าพื้นที่ให้กับร้านค้าทั้งหมดกว่า 500 ราย เป็นเวลา 1 เดือน ช่วยเหลือในด้านการทำการตลาด การปรับปรุงและตกแต่งสถานที่ การจัดแคมเปญ และกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อสร้างบรรยากาศภายในศูนย์การค้าให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง" ผู้บริหารศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราชกล่าว
     นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้ยอดเงินบริจาคของจังหวัดอยู่ที่ 49 ล้านบาท รวมที่จ่ายไปให้ผู้เสียชีวิตแล้ว 9 ล้านบาท รวมเป็น 58 ล้านบาท โดยจะทยอยมอบให้ญาติผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกรายละ 7 แสน รวมรายละเป็น 1 ล้านบาท ทั้ง 27 ศพ และจะพิจารณามอบให้ผู้บาดเจ็บที่นอนรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูด้วย 
    เวลา 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ในการพระราชทานเพลิงศพ น.ส.อภิภษณาภา ขันผักแว่น เมรุวัดหนองไผ่ ต.โพธิ์กลาง อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา โดยมี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาร่วมในพิธีพระราชทานเพลิงศพ โดยผู้เสียชีวิตได้ใช้ตัวบังกระสุนของคนร้ายเพื่อให้ลูกสาวปลอดภัยจากเหยื่อจ่าคลั่งยิงกราด
    นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีเป็นประธานประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพ ผู้เสียชีวิตจากเหตุดังกล่าวอีก 11 ราย ตามวัดต่างๆ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีบัญชาให้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ
    "คณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นคณะกรรมการเฉพาะกิจ ทำหน้าที่พิจารณาให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1. การช่วยเหลือเยียวยาในส่วนของตำรวจ ทหาร พลเรือนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ที่จะดูแลช่วยเหลือทั้งกรณีเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส บาดเจ็บแต่ไม่สาหัส รวมถึงดูแลทางด้านสุขภาพจิต และ 2.ในส่วนของราษฎรที่ประสบเหตุ ที่จะดูแลในแบบเดียวกันทั้งกรณีการเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัส บาดเจ็บไม่สาหัส และสุขภาพจิต รวมถึงต้องดูเรื่องทรัพย์สินที่เสียหายด้วย" โฆษกประจำสำนักนายกฯกล่าว 
    เวลา 14.00 น. นายวิษณุเป็นประธานประชุมคณะกรรมการติดตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และตัวแทนหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง 
เยียวยาเสียชีวิต-บาดเจ็บ
    จากนั้นนายวิษณุกล่าวว่า ที่ประชุมได้พิจารณาหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาอย่างบูรณาการของแต่ละหน่วยงาน ทั้งการจ่ายเงินตาม พ.ร.บ.ของกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และระเบียบอุดหนุนผู้ประสบภัยของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในส่วนของกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จะมีการประชุมเพื่อสรุปการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบในวันที่ 14 ก.พ. เวลา 13.00 น. ที่ชั้น 2 อาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถนนพิษณุโลก กรุงเทพฯ โดยมีนายเทวัญ ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนฯ เป็นประธานประชุม เมื่อได้ข้อสรุปแล้ว คาดว่าจะจ่ายเงินได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. โดยเงินจำนวนนี้เป็นไปตามระเบียบราชการเป็นการเติมจากเงินช่วยเหลือของหน่วยงานอื่นๆ
    นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิต จำนวน 27 ราย จาก 30 ราย โดยไม่ครอบคลุมผู้เสียชีวิต 3 ราย ประกอบด้วย ผู้ก่อเหตุ และคู่กรณี 2 ราย ที่ต้องรอดูสำนวนการสอบสวนทางคดีก่อน ซึ่งผู้เสียชีวิตทั้งหมดจะได้เงินเยียวยาจากหน่วยงานต่างๆ เช่น เงินช่วยเหลือตาม พ.ร.บ.สงเคราะห์ผู้ประสบภัย ของกระทรวงการคลัง, พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ของกระทรวงยุติธรรม และระเบียบอุดหนุนผู้ประสบภัย กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จำนวนตั้งแต่หลักหมื่นบาทขึ้นไป ในส่วนกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามระเบียบสำนักนายกฯ จะให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมไปรายละ 1 ล้านบาท
    "ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย และตำรวจอาสา 1 นายที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ยังได้เงินเยียวยาจากกองทุนต่างๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 7-8 กองทุน ประมาณรายละ 3 ล้านบาท เช่น กองทุนหลวงพ่อคูณ เงินบำเหน็จในทางราชการ และได้เลื่อนชั้นยศตามระเบียบ ส่วนพลทหารจำนวน 1 นายที่เสียชีวิต จะมีสวัสดิการของกองทัพ เช่น ประกันชีวิต และสวัสดิการอื่นตามสิทธิที่มีในการช่วยเหลือ" นายวิษณุกล่าว  
    รองนายกฯ กล่าวว่า ในส่วนผู้บาดเจ็บจำนวน 58 ราย แบ่งเป็น บาดเจ็บสาหัส 29 คน ตามกฎหมายการคลังและระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมีหลักเกณฑ์ไว้ที่คนละ 200,000 บาท ส่วนบาดเจ็บไม่สาหัสหรือเล็กน้อย 29 คน เราจะพิจารณาจ่ายสูงสุดคนละไม่เกิน 100,000 บาท นอกจากนั้นยังมีการเยียวยาด้านจิตใจ โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะมีมาตรการช่วยเหลือ เนื่องจากมีความเป็นห่วงเรื่องการนำเสนอผ่านสื่อ นับตั้งแต่เหตุการณ์ที่ จ.ลพบุรี มาถึงนครราชสีมา เพราะเกรงจะมีพฤติกรรมเลียนแบบ จึงต้องมีมาตรการในการเฝ้าระวัง รวมถึงการเสนอการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อฟื้นฟูด้านจิตใจ ความเป็นอยู่ของชาวโคราช ขณะที่ด้านการค้าจะมีการพิจารณาปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับกระทบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่
    นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับทรัพย์สินของห้างเทอร์มินัล 21 ที่ได้รับความเสียหายราว 10 ล้านบาท รวมถึงร้านค้าภายในห้าง เช่น ฟู้ดแลนด์ ตลอดจนรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ และมีตัวเลขอยู่แล้ว ทั้งกรมธรรม์ที่คุ้มครองเรื่องชีวิต สุขภาพ ทรัพย์สิน โดยจะไปเร่งรัดให้จ่ายโดยเร็ว ไม่มีการฉ้อโกง นอกจากนั้นทางสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จะพิจารณาสิทธิของแรงงานที่ต้องสูญเสียรายได้ และสิทธิพึงจะได้รับ เพื่อเร่งเบิกจ่ายช่วยเหลือโดยเร็ว ขณะที่ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บที่มีภาระหนี้สินกับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน จะยกหนี้ให้กับกรณีผู้เสียชีวิต ส่วนผู้บาดเจ็บจะลดดอกเบี้ย 0.01% ซึ่งจะมีกำหนดเวลาต่างกันของแต่ละธนาคาร
    "มาตรการช่วยเหลือทั้งหมดจะรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบในวันที่ 18 ก.พ. พร้อมกับจะแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาทราบว่าผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ได้รับผลกระทบจะได้รับสิทธิในประเภทใดบ้างต่อไป อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการเยียวยาในส่วนของภาครัฐเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริจาคและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย พ.ศ.2542 ซึ่งเคยใช้ในการเยียวยาเหตุราชประสงค์ และผู้ประสบภัยจากพายุใต้ฝุ่นโพดุล-คาจิกิ" นายวิษณุกล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"