'สมชัย'ฟันธงปมเงินกู้ไม่ถึงขั้นยุบอนค. ชี้ไม่ใช่เงินบริจาค-รายได้-ผลประโยชน์


เพิ่มเพื่อน    

 17 ก.พ. 63 - ที่คณะนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมืองและการเลือกตั้งมหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวในงานเสวนา เวที ฬ.นิติมิติ เรื่อง “เงินกับพรรคการเมือง : อิสระ VS การตรวจสอบ” เกี่ยวกับคดีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ว่า ตัวกฎหมายพรรคการเมืองที่เป็นปัญหามี 3 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 62 เรื่องรายได้พรรคการเมือง มาตรา 66 เรื่องบุคคลบริจาคเงินเกิน 10 ล้านบาทให้พรรคไม่ได้ และ มาตรา 72 เรื่องห้ามรับ บริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 

โดยมาตรา 72 เป็น มาตราเดียวที่นำไปสู่การยุบพรรคได้ คำถามคือ เงินกู้ คือ เงินบริจาคหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากคำร้องของ นายศรีสุวรรณ จรรยา ที่ร้อง ตาม มาตรา 66 ว่าบริจาคเงินเกิน 10 ล้าน และนายสุวัชร สังขฤกษ์ ในมาตรา66 เช่นเดียวกัน โดยบอกว่าเงินกู้คือ เงินบริจาค โดยการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังจากมีคำร้อง ได้มีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนคณะที่ 13 ซึ่งผลการพิจารณาคือยกคำร้อง ขณะที่สำนักสืบสวนและวินิจฉัย มีผลการพิจารณายกคำร้องเช่นเดียวกัน ส่วนคณะอนุกรรมการวินิจฉัยและชี้ขาดปัญหา หรือข้อโต้แย้ง คณะที่ 6 มีมติข้างมาก 3:2 ให้ดำเนินคดี ตามมาตรา 66 ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคอนาคตใหม่ชอบพูดกันว่า ก็ยกคำร้องกันเกือบหมดแล้ว จะมีการดำเนินคดีต่อกันทำไม
 
อย่างไรก็ตาม กกต.ไม่จำเป็นต้องคิดตามผลการวินิจฉัยตามนี้ จะเหมือนหรือไม่เหมือนก็เป็นได้  จากนั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ก่อนรายงานความเห็นต่อ กกต.ว่า พรรคอนาคตใหม่ทำความผิดตามมาตรา 62 66 และ 72  โดย กกต.มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ดำเนินคดีตาม 3 มาตราข้างต้น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือมีการเพิ่มความผิดอีก 2 กระทง ในมาตรา 62 และ 72 ในระยะเวลาเพียงแค่ 14 วัน ตามปฏิทินเท่านั้น ทั้งนี้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับนี้ ระบุว่า “เงินบริจาค” หมายความว่า การให้เงิน หรือทรัพย์สินแก่พรรคการเมืองนอกจากค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง และให้หมายความรวมถึงประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมืองบรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ตามที่คณะกรรมการกำหนด หมายความว่า เงินกู้ ไม่ใช่เงินบริจาค แต่ กกต. เองเชื่อว่าอาจเป็นไปได้ว่า เงินกู้ คือเงินบริจาค
 
คำถามต่อมาคือ เงินกู้คือรายได้อื่นหรือไม่ กรณีดังกล่าว มีพรรคการเมืองบางพรรค แสดงรายการเงินกู้ยืมระยะสั้นปรากฏในรายงานหนี้สินหมุนเวียน มิได้จัดไว้ในรายการ รายได้อื่น ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 หมายความว่าเงินกู้นั้น ไม่ใช่รายการรายได้อื่น อย่างไรก็ตาม ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับใหม่นั้น จากเอกสารการเงินของพรรคการเมือง 79 พรรคที่ส่งให้ กกต. ในเดือน พ.ค. 2562 มี 16 พรรคที่ปรากฏรายการเงินกู้ในเอกสารงบการเงิน และมี 16 พรรคการเมือง ที่ปรากฏรายการเงินยืมในเอกสาร และทั้ง 32 รายการดังกล่าวบันทึกในหนี้สินไม่ได้บันทึกในรายการรายได้ เพราะฉะนั้น เงินกู้ ถือเป็นหนี้สิน ไม่ใช่รายได้อื่น
 
และคำถามสุดท้ายเงินกู้คือประโยชน์อื่นใดหรือไม่ ซึ่งทั้ง 3 ประเด็น กกต.ร้องว่าเป็นเงินบริจาค และคาดว่าเป็นรายได้อื่นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  อย่างไรก็ตาม คำว่าประโยชน์อื่นใด หมายถึงการให้ทรัพย์สิน การให้บริการ หรือการให้ส่วนลดโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า หรือทำให้หนี้ ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือระงับไป อย่างไรก็ตาม ตนขอถามว่าเงินกู้ ทำให้หนี้ลดลงหรือไม่  เพราะฉะนั้นเงินกู้จึงไม่ใช่ประโยชน์อื่นใด

“ที่ผ่านมาผมพยายามเรียกร้องให้ปลดล็อก ให้พรรคการเมืองทำงานได้ ซึ่งก็ยังไม่มีการปลดล็อกจนถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 จนผมโดนปลดไปเสียเอง อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองต้องใช้เงิน ต้องทำป้ายโฆษณา ต้องตั้งเวที ต้องมีรถแห่ มีค่าเช่าสำนักงาน มีค่าจ้างบุคลากร และ กกต.ยังกำหนดวงเงินในการหาเสียง ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ต่อผู้สมัคร 1 คนในแต่ละเขต และตราบใดที่พรรคการเมืองไม่สามารถระดมทุนขายโต๊ะจีนโต๊ะละ 3 ล้านบาท โดยมีชื่อผู้จองคล้ายกับหน่วยงานราชการได้ การกู้เงินจะเป็นเรื่องที่คู่กับการเมืองไทยตลอดไป ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า มีเพียง 2 พรรค ที่จัดโต๊ะจีนได้ ซึ่งน่าสังเกตว่า ทั้ง 2 พรรค รู้มาก่อนหรือไม่ว่าจะมีการปลดล็อกวันไหน มีการเลือกตั้งวันไหน” นายสมชัย กล่าว

ทั้งนี้ ขอให้สังเกตกระบวนการตั้งแต่ กกต. ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมองว่า เรามีเครื่องหมายคำถามว่า กระบวนการการตั้งคระกรรมการควบรวมข้อเท็จจริงเพิ่มเติมและนำไปสู่ข้อหาใหม่อีก 2 ข้อหา นั้นเป็นกระบวนการที่สั้น และขาดการเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงหลักฐานเพิ่มเติมหรือไม่ และกระบวนการในขั้นศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้เปิดให้ไต่สวนเพิ่มเติมนั้น หากเทียบกับการรับโทษของบุคคล การยุบพรรค คือการประหารชีวิต เพราะฉะนั้น ก็ควรจะให้ทุกฝ่ายมีโอกาสสู้กันให้ถึงที่สุด  และในส่วนของเนื้อหานั้น หากมองถึงพยานหลักฐานตั้งแต่อดีต ตนคิดว่าในวันศุกร์นี้ โดยเนื้อหาไม่น่าจะถึงการยุบพรรคได้

“เรื่องนี้เป็นบทเรียนของพรรคอนาคตใหม่มากกว่า หากศาลตัดสินว่าไม่ผิด จากนี้จะเดินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่าง แต่ถ้าตัดสินยุบ ก็เป็นเรื่องที่พรรคอนาคตใหม่เอง ต้องหาทางที่ทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด ว่าท่านจะดำเนินการต่างๆอย่างไรต่อไป” อดีต กกต. ระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"