บำบัดอากาศลดฝุ่น PM 2.5


เพิ่มเพื่อน    

 

ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินมาตรฐานในประเทศไทย เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น ทำให้ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา ทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะกลาง ซึ่งการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อลดปัญหาฝุ่นก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญและน่าจับตามอง โดยเฉพาะเทคโนโลยีเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ด้วยระบบบำบัดอากาศแบบเปียก ที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดสร้างขึ้นจากการสนับสนุนของกรมอู่ทหารเรือ ออกแบบโดยใช้พัดลมดูดอากาศเป็นตัวอัดอากาศเข้าไปในเครื่อง และใช้ละอองน้ำเป็นตัวดักจับฝุ่น ถือเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดชนิดหนึ่ง เนื่องจากประสิทธิภาพสูงมากในการรับอนุภาคขนาดเล็ก โดยเฉพาะที่เล็กกว่า 1 ไมครอน

แต่การดักจับฝุ่นดังกล่าวมีรัศมีการบำบัดอากาศอยู่ในระดับพื้นที่ขนาดเล็ก ดังนั้นเพื่อให้ประสิทธิภาพของเครื่องบำบัดอากาศสามารถขยายพื้นที่ในรัศมีที่เพิ่มขึ้น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์จึงได้ร่วมมือกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC) ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาร่วมสนับสนุนผ่านการลงนามภายใต้ “โครงการทดสอบและพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5” เพื่อพัฒนาต่อยอดเครื่องบำบัดอากาศดังกล่าวให้สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหาปริมาณสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีผลต่อสุขอนามัยของประชาชนทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม จากการร่วมมือทั้ง 3 ฝ่ายมูลนิธิราชประชานุเคราะห์กรมอู่ทหารเรือ และ GC ได้จัดสร้างเครื่องต้นแบบสำหรับบำบัดอากาศที่มีมลพิษและฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต ซึ่งในเบื้องต้นได้จัดสร้างมาทั้งหมด 7 เครื่อง แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ทาง GC จะสนับสนุนการสร้าง ติดตั้ง ทดลองในพื้นที่นำร่อง 2 พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ บริเวณโดยรอบวัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เขตพระนคร จำนวน 3 เครื่อง และบริเวณรอบวังสระปทุม เขตปทุมวัน จำนวน 4 เครื่อง หรืออาจจะเป็นพื้นที่ตามที่มูลนิธิกำหนด

ส่วนระยะที่ 2 เมื่อมีการติดตั้งแล้วจะร่วมมือกับทางมูลนิธิ ในการติดตามรวบรวมข้อมูลและประเมินผลในด้านเทคนิคและประสิทธิภาพของการบำบัดอากาศเพื่อนำมาวิเคราะห์ที่จะนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาเพื่อหาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย GC มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และวิศวกร ในการออกแบบดีไซน์พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมดังกล่าว และคาดว่าจะมีการขยายผลไปยังทุกภูมิภาคในประเทศต่อไป

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะนำไปติดตั้งในพื้นที่นำร่องในส่วนของบริเวณเขตปทุมวัน นาน 6 เดือน เพราะมีทั้งห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นและยากต่อการจัดการเรื่องฝุ่นละออง ซึ่งจะสามารถวัดประสิทธิภาพของเครื่องได้เป็นอย่างดี จากนั้นจะนำข้อมูลมาใช้พัฒนาต่อยอดด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ และทางแก้ไขที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เช่น พื้นที่ในเมือง เขตโรงพยาบาล โรงเรียน สนามบิน พื้นที่แอ่งกระทะที่มีภูเขาล้อมรอบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่วางไว้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากปัจจุบันนี้ PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครพบว่าเริ่มน้อยลง แต่ไปเพิ่มในพื้นที่ จ.เชียงใหม่มากขึ้น

ความร่วมมือในการแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการวิจัยและพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม ที่ไม่เป็นเพียงการส่งเสริมให้เกิดอุปกรณ์ที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องเผชิญกับฝุ่นพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นของคนไทยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ก็ได้แต่หวังว่าการร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้หลายๆ หน่วยงาน ทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบโดยตรง รวมถึงผู้ที่ไม่ได้รับผิดชอบ แต่มีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นพิษมีความตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และคาดว่าจะเกิดขึ้นทุกๆ ปี ดังนั้นการแก้ไขปัญหาก็ควรที่จะแก้อย่างถาวร ไม่ใช่แค่ชั่วครั้งชั่วคราว ราวกับผักชีโรยหน้า พอเกิดปัญหาก็มาแก้กันใหม่ ทำไมเมื่อแก้แล้วก็ต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นจะดีกว่าไหม แต่ทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกๆ ฝ่าย ไม่ใช่ด้วยรัฐบาลหรือใครคนใดคนหนึ่ง. 

บุญช่วย ค้ายาดี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"