ตอกยํ้ารัฐบาลต่อยอดปฏิรูป พิมพ์เขียวตร.


เพิ่มเพื่อน    

    "บุญสร้าง" ส่งพิมพ์เขียวปฏิรูปสีกากีถึงมือบิ๊กตู่ พฤหัสฯ 29 มี.ค. ปิดจ๊อบภารกิจ 35 กรรมการฯ "มานิจ" เตือนหากไม่เอาไปต่อยอด เท่ากับฝ่าฝืนละเมิดรัฐธรรมนูญ ชง 11 แนวทางยกเครื่อง พัฒนานิติวิทยาศาสตร์ ให้ตรวจ DNA ผู้ต้องหาในคดีที่มีโทษทางอาญา จำคุกต่ำกว่า 3 ปีได้ 
    นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) กล่าวว่า ขณะนี้การทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจได้เดินมาจนถึงช่วงสุดท้ายนับแต่มีการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2560 คือการทำรายงานสรุปพร้อมที่จะส่งให้รัฐบาลพิจารณาตามกำหนด ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 เม.ย. 2561 ในการปฏิรูปตำรวจ 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.หน้าที่อำนาจและภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม 2.การบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญา และระบบการสอบสวนคดีอาญาให้เหมาะสมมีประสิทธิภาพ และ 3.การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ 
    นายมานิจกล่าวว่า ในเรื่องการพัฒนาด้านนิติวิทยาศาสตร์ กรรมการได้เสนอไป 11 แนวทาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลและในการคลี่คลายคดีอาญา คือ 1.จัดระบบการประสานงานและสร้างมาตรฐานร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ คือ สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน (สพฐ.) ตำรวจ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล 2.จัดระบบการบริหารบุคคลและการบริหารงานของ สพฐ. ให้เป็นหน่วยงานกระจายอำนาจแบบบูรณาการ 3.พัฒนางานบริหารบุคคลของ สพฐ. ให้มีระบบการคัดเลือกและการพัฒนาประสิทธิภาพ บุคลากรให้มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาจัดลำดับทักษะของนักวิทยาศาสตร์ 4.พัฒนาการกระจายบริการของ สพฐ. ให้มีความสามารถมีมาตรฐานในการบริการให้สูงขึ้น 5.พัฒนาความสามารถในการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และเก็บวัตถุพยานในระดับสถานีตำรวจ โดยจัดอบรมผู้ช่วยพนักงานสอบสวนจำนวน 5,585 คน (ครอบคลุมทุกสถานี )พร้อมจัดหาอุปกรณ์ชุดสำเร็จรูป(ชุด kit) ในการปฏิบัติงานในสถานีตำรวจ
     นายมานิจกล่าวต่อว่า 6.พัฒนาศูนย์ (ตรวจพิสูจน์ศพ) นิติเวชประจำภูมิภาคจำนวน 9 แห่ง ให้ทำงานตรวจพิสูจน์ได้มากหน้าที่ขึ้น 7.พัฒนาระบบฐานข้อมูลในการเก็บประวัติลายพิมพ์นิ้วมือให้มีขีดความสามารถสูงขึ้น โดยพัฒนาระบบฐานข้อมูล คอมพิวเตอร์ และโปรแกรมเพิ่มเติม 8.พัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ในการคลี่คลายคดี 9.พัฒนาระบบการทำงานของ สพฐ.ตร. โดยนำระบบ ISO มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการและตรวจประเมินเพื่อสร้างความเป็นมาตรฐาน และความน่าเชื่อถือ 10.พัฒนาจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ ให้พอเพียงและมีความทันสมัย ระยะดำเนินการ พ.ศ.2561-2564 ใช้งบประมาณ 3,631 ล้านบาท และ 11.เพิ่มอำนาจหน้าที่ในกฎหมายหรือระเบียบ เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้สามารถตรวจดีเอ็นเอผู้ต้องหาในคดีที่มีโทษทางอาญา แม้จะมีอัตราโทษจำคุกต่ำกว่า 3 ปีก็ตาม
    นายมานิจกล่าวว่า หลังการแถลงข่าวของกรรมการในวันพุธที่ 28 มี.ค. ที่จะเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของกรรมการแล้ว จากนั้นประธานกรรมการฯ คือ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ก็จะเซ็นหนังสือส่งข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจทั้งหมดส่งให้รัฐบาลในวันที่ 29 มี.ค.ต่อไป 
    เมื่อถามว่า หากไม่มีการปฏิรูปตำรวจในยุค คสช.จะเป็นอย่างไร นายมานิจกล่าวว่า ก็จะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ทำ ก็ต้องมาไล่เบี้ยรัฐบาล เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างนี้แล้ว ก็ต้องทำ กรรมการเราเชื่อว่าถ้ามีการทำตามข้อเสนอของกรรมการตามที่ทำมาแล้ว มันจะดี เราก็เสนอรัฐบาลไป แต่คนที่ตัดสินใจสุดท้ายคือรัฐบาล ไม่ใช่เรา อย่างเรื่องการป้องกันการซื้อขายตำแหน่ง หากมีการทำไปอย่างที่กรรมการเสนอ มันก็คงจะลดน้อยลง ผมก็ไม่รับประกันหรอกว่ามันจะหายไปร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันคงจะลดน้อยลง
    วันเดียวกันนี้ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายช่วยกันปฏิรูปประเทศไทยทันที (คชปท.) แถลงเปิดตัว คชปท. ซึ่งเป็นอดีตสมาชิก สปช. จำนวน 35 คน อาทิ นายมีชัย วีระไวทยะ, รศ.ประภาภัทร นิยม, นายมานิจ สุขสมจิตร, นายธีรยุทธ หล่อเลิศรัตน์ เข้าร่วมเป็น คชปท. 
    นพ.ชูชัยกล่าวว่า คชปท.เกิดจากอดีตสมาชิก สปช. จำนวน 35 คน ที่มีความคิดเห็นตรงกันว่า ข้อเสนอของ สปช.ที่ผ่านมาควรได้รับการขับเคลื่อนผลักดันต่อไปให้เกิดผล โดยเบื้องต้นให้ความสำคัญในการปฏิรูป 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องความเหลื่อมล้ำ 2.เรื่องการศึกษา และ 3.เรื่องการลดอำนาจของส่วนกลางและภูมิภาคไปเพิ่มให้ประชาชนและท้องถิ่น เพราะรัฐบาลเพียงลำพังจะใช้อำนาจทำการปฏิรูปโดยปราศจากความร่วมมือช่วยกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคประชาสังคมนั้น การปฏิรูปจะไม่สำเร็จ หรือสำเร็จแต่ไม่ยั่งยืน ถ้าสังคมไม่เข้ามาช่วยกัน
     นพ.ชูชัยกล่าวอีกว่า ภารกิจของ คชปท.จะเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้การปฏิรูปด้านต่างๆ ที่ สปช.เคยรวบรวมไว้ และจากแหล่งอื่นๆ เช่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แผนการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ อีกทั้งต้องการเป็นแหล่งรวมผู้คนที่มีทุนทางสังคม มีทุนความรู้ในการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นแหล่งเผยแพร่ข้อมูลความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมต่อสังคม รวมทั้งจะมีข้อเสนอในการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ต่อรัฐบาลเป็นระยะ หรือต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่เครือข่ายสามารถทำงานได้อย่างสร้างสรรค์ร่วมกับทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาคท้องถิ่น ภาควิชาการ และภาคการเมือง แต่ไม่สังกัดหรือผูกพันกับพรรคการเมืองใดเป็นการเฉพาะ
     “คชปท.สามารถทำงานได้กับทุกภาคส่วน และทุกพรรคการเมือง โดยจะมีการเปิดเวทีร่วมกับเครือข่ายการปฏิรูปด้านนั้นๆ และเปิดเพจเครือข่ายเพื่อเปิดพื้นที่รวบรวมความรู้และเผยแพร่ความรู้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพลังพลเมือง สื่อสังคม และโซเชียลมีเดียมีพลังมาก ถ้าเราช่วยกันปฏิรูปประเทศได้ ก็ยังมีความหวังอยู่ ทั้งนี้ ความคิดที่ว่าสังคมไทยมีความแตกแยกทางความคิด ไม่สามารถปรองดองได้ ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่ ถ้าเราปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ความปรองดองจะเกิดขึ้นเอง และถ้าปฏิรูปได้ประเทศไทยจะน่าอยู่น่าอาศัยมากที่สุด” นพ.ชูชัยกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"