'บิ๊กป๊อก' ลั่นห้ามเรียกรับผลประโยชน์ให้บัตรปชช.ผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ปรับหลักเกณฑ์ใหม่ไม่ต้องร้องเพลงชาติไทย


เพิ่มเพื่อน    

มท.ปรับปรุงแนวทางให้บัตรประชาชนผู้เฒ่าไร้สัญชาติ-กลุ่มชาติพันธุ์ “บิ๊กป๊อก”กำชับห้ามเรียกรับผลประโยชน์ “ครูแดง” ชื่นชม เผยหลักเกณฑ์ใหม่เปิดช่องให้ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องทดสอบร้องเพลงชาติไทย

20 ก.พ.63 - ฝ่ายประชาสัมพันธ์กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้เผยแพร่ข่าวการปรับปรุงแนวทางช่วยเหลือคนเฒ่าไร้สัญชาติ โดยอ้างถึงคำสัมภาษณ์ของพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ระบุว่า มท.ได้ดำเนินการปรับปรุงแนวทางประกอบการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคุณสมบัติของคนต่างด้าวในการยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 แล้ว

ทั้งนี้เพื่อแก้ไขอุปสรรคในการขอแปลงสัญชาติเป็นไทยของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิโดยได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎร์และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก พร้อมทั้งได้รับใบสำคัญถิ่นที่อยู่หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ให้สามารถขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้เช่นเดียวกับคนต่างด้าวอื่นทั่วไป

โดยปรับปรุงแนวทางประกอบการใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้แปลงสัญชาติ ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ คุณสมบัติเรื่องการมีความประพฤติดี ตามมาตรา 10 วรรคสอง คุณสมบัติเรื่องการมีอาชีพเป็นหลักฐาน ตามมาตรา 10 วรรคสาม คุณสมบัติเรื่องการมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรต่อเนื่องจนถึงวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีตามมาตรา 10 วรรคสี่ และคุณสมบัติเรื่องการมีความรู้ภาษาไทย มาตรา 10 วรรคห้า

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ได้กำชับให้พนักงานเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธ์รวมถึงกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ให้เร่งดำเนินการอย่างจริงจังและเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสัญชาติให้แก่บุคคลกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมายและนโยบายรัฐ และห้ามไม่ให้มีการแสวงหา หรือเรียกรับผลประโยชน์หรือสิ่งตอบแทนใดๆจากการดำเนินการโดยเด็ดขาดเพราะนอกจากจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรแล้วยังทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและจริยธรรมที่ดีของเจ้าหน้าที่อีกด้วย

ในเอกสารเผยแพร่ของฝ่ายประชาสัมพันธ์ มท.ระบุถึงแนวทางในการปรับปรุงครั้งนี้ อาทิ คุณสมบัติเรื่องการมีความประพฤติดีตามมาตรา 10 (2) ให้ยกเว้นการตรวจสอบพฤติการณ์ทางการเมือง ยาเสพติด และพฤติการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ สำหรับผู้ขอแปลงสัญชาติที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยให้ใช้การสอบพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือจำนวนไม่น้อยกว่า 3 คน ให้การรับรองแทน ขณะที่คุณสมบัติเรื่องการมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรต่อเนื่องจนถึงวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีตามมาตรา 10 (4) ให้นับระยะเวลาจากวันที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (จากใบสำคัญถิ่นที่อยู่) หรือวันที่ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว แต่ถ้าเอกสารชำรุด สูญหาย หรือมีเหตุที่ไม่สามารถแสดงหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ ให้นับระยะเวลาจากวันที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้เพิ่มชื่อผู้ขอแปลงสัญชาติในทะเบียนบ้าน

“คุณสมบัติเรื่องการมีความรู้ภาษาไทยตามมาตรา  กรณีผู้ขอแปลงสัญชาติเป็นชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันที่ยื่นคำขอแปลงสัญชาติ ให้พิจารณาจากการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร คือ สามารถพูดหรือฟังภาษาไทยกลางหรือภาษาถิ่นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในพื้นที่จังหวัดที่เป็นภูมิลำเนาของผู้ขอแปลงสัญชาติเข้าใจได้ โดยต้องผ่านการสัมภาษณ์จากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย หรือคณะทำงานสัมภาษณ์ สังเกตพฤติการณ์ และทดสอบความรู้ภาษาไทยของจังหวัด และไม่ต้องใช้เกณฑ์การให้คะแนน” เอกสารข่าวของ มท.ระบุ

อนึ่งก่อนหน้านี้บุคคลที่ไม่ได้เกิดไทยและต้องการแปลงสัญชาติต้องตอบคำถามความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศไทย และต้องร้องเพลงชาติไทยและเพลงสรรเสริญบารมี ในการสอบในระดับอำเภอและจังหวัด ทำให้เกิดปัญหามากเพราะกลุ่มผู้เฒ่าไร้สัญชาติจำนวนไม่น้อยไม่สามารถทำได้เพราะมีวิถีชีวิตอยู่ในหมู่บ้านที่ใช้แต่ภาษาถิ่น ซึ่งแนวทางใหม่ที่ออกมานี้เปิดช่องให้ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องร้องเพลงชาติไทยได้

ด้านนางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง”กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวว่า ขอแสดงความชื่นชม พล.อ.อนุพงษ์ และปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง พร้อมทีมงานที่กำหนดแนวทาง แก้ไขปัญหากลุ่มบุคคลที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทยแต่มีภูมิลำเนาในไทยมานาน จนกลมกลืนกับสังคมไทย ซึ่งพบปัญหาอุปสรรคในกระบวนการแปลงสัญชาติมานานมากว่า 20 ปี  ถือว่าเป็นการปลดล็อคปัญหาที่ค้างมานานอย่าง ตรงประเด็น หวังว่ามท.จะมีระบบติดตามการปฏิบัติตามนโยบายนี้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดผลได้จริงโดยเร็ว

นางเตือนใจ กล่าวอีกว่า แต่ยังมีข้อห่วงใยที่อย่างเสนอแนะไว้คือ 1.หนังสือสั่งการที่ออกมาในครั้งนี้  ควรจัดอบรมทีมงานฝ่ายทะเบียนของอำเภอต่างๆ ที่มีกลุ่มเป้าหมายจำนวนมากเพื่อความที่เข้าใจที่ชัดเจนและปฏิบัติได้ผลจริงจัง 2. กลุ่มที่เกิดนอกแต่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เด็ก เวลาเกิน 20 ปีแล้ว จะต้องขอมีใบถิ่นที่อยู่และใบต่างด้าวก่อนแล้วจึงขอแปลงสัญชาติใช่หรือไม่ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะติดเกณฑ์รายได้ซึ่งกำหนดไว้สูงถึง 25,000 บาทต่อเดือน ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองแบบนี้ คงยากที่จะแก้ไขปัญหาให้คนกลุ่มนี้ 3.ผู้ที่ได้สัญชาติไทยโดยการแปลงหรือหลังการเกิด ไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งทุกประเภท โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับต่างๆ

ด้านนางพันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขที่ทำให้มนุษย์คนใดทรงสิทธิในการแปลงสัญชาติในปัจจุบันเป็นไปตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ขอให้ตระหนักว่า แนวคิดในการรับรองข้อเท็จจริงที่ก่อตั้งสิทธิในสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติของคนต่างด้าวทั่วไปตั้งแต่ พ.ศ.2454 จนถึงปัจจุบันไม่มีความแตกต่างกันในสาระสำคัญเท่าใดนัก แต่ถูกตีความอย่างแตกต่างโดยผู้รักษาการตามกฎหมาย จากการใช้มากที่สุดเพื่อสร้างความกลมกลืนทางสัญชาติให้แก่ราษฎรไทยที่เกิดในต่างประเทศ มาจนถึงสถานการณ์ความคิดที่ไม่อินังขังขอบต่อราษฎรไทยดังกล่าวในช่วงเวลาที่ยาวนาน จนเกิดความอยุติธรรมทางสัญชาติในสังคมไทย จนกระทั่งเกิดแสงเรืองๆ ขึ้นเมื่อได้มีคำสั่งฉบับนี้

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ มูลนิธิพชภ. ได้รับการร้องเรียนและติดตามปัญหาของชาวบ้านบนพื้นที่สูงโดยเฉพาะบนดอยแม่สลอง อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ซึ่งพบว่ามีผู้เฒ่ากลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กำลังประสบความยากลำบากในชีวิตเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนแม้ว่าจะอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานหลายสิบปีแล้ว บางส่วนเกิดในไทยแต่ขาดหลักฐานเอกสารยืนยัน บางส่วนไม่ได้เกิดในไทยแต่อยู่มานานจนกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว

ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา พชภ.ได้พาผู้เฒ่าไร้สัญชาติเหล่านี้เดินทางมายื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย แต่พบว่ามีข้อติดขัดหลายประการโดยเฉพาะหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ทางการกำหนดไว้ เช่น การร้องเพลงชาติ การทดสอบภาษาไทย ทำให้เรื่องการแปลงสัญชาติของผู้เฒ่ากลุ่มนี้ยืดเยื้อมานาน อย่างกรณีของบ้านป่าคาสุขใจ อ.แม่ฟ้าหลวง บนดอยแม่สลอง ซึ่งมีคนเฒ่าไร้สัญชาติ ยื่นคำร้องจำนวน 27 ราย ซึ่งมีอายุตั้งแต่อายุ 65-98 ปี แต่กระบวนการตรวจสอบความประพฤติ จากหน่วยงานต่างๆ ที่ล่าช้า ทำให้มีผู้เฒ่าเสียชีวิตไปแล้วในระหว่างรอจำนวน 3 ราย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"