นิทรรศการหนังสือที่ดีที่สุดในโลก "ดอนกิโฆเต้"


เพิ่มเพื่อน    

 

อิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วธ. เยี่ยมชมนิทรรศการหนังสือ ดอนกิโฆเต้ โดยมกุฏ อรฤดี นำชมวรรณกรรมระดับโลก
 

 

     ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน เป็นผลงานนวนิยายของมิเกล์ เด เซร์บันเตส ซาเบดร้า นักเขียนเอกชาวสเปน แปลเป็นภาษาต่างๆ และภาษาถิ่นมากกว่า 140 ภาษา และได้รับการยกย่องเป็นหนังสือที่ดีที่สุดในโลก ทำสถิติการพิมพ์มากกว่า 500 ล้านเล่มจนวันนี้ ปัจจุบันมีหนังสือดอนกิโฆเต้ฉบับแปลภาษาไทยภาคแรก ชื่อ ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันซ่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน แปลโดย รศ.ดร.สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ถือเป็นหนังสือแปลเล่มสำคัญของไทย ออกจำหน่ายในปี 2548
    ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของวรรณกรรมอมตะเรื่องนี้ และต้องการสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศแห่งการอ่าน สถานเอกอัคราชทูตสเปนในประเทศไทย กระทรวงวัฒนธรรม หอสมุดแห่งชาติกรุงเทพฯ ร่วมกับมูลนิธิวิชาหนังสือ และสำนักพิมพ์ผีเสื้อ จัดนิทรรศการหนังสือภาคสองของอัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า “นวนิยายที่คนอ่านมากที่สุดในโลก” ณ ห้องประชุมใหญ่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2563 โดยนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานเปิดนิทรรศการหนังสือ

 

หนังสือภาคสองชื่อ อัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า
 


    นิทรรศการหนังสือครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อให้คนไทยเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสเปนผ่านวรรณกรรม มีการจัดแสดงหนังสือดอนกิโฆเต้ฯ ต้นฉบับภาษาสเปน และหนังสือเรื่องนี้ ที่แปลเป็นภาษาต่างๆ และภาษาถิ่น รวมถึงหนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับวรรณคดีสเปน บทละครสเปนยุคทอง ดอนกิโฆเต้ฯ ฉบับการ์ตูน มีภาพประกอบน่าสนใจ อีกสิ่งจัดแสดงเป็นเหรียญและแสตมป์ดอนกิโฆเต้ ของสะสมที่เกี่ยวข้อง
    นอกจากนี้ มีไฮไลต์เป็นการแนะนำหนังสือภาคสองชื่อ อัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า โดยผู้แปลคนเดิม ซึ่งผูกพันกับผลงานของเซร์บันเตส ผ่านวงสนทนา “หนังสือเล่มสำคัญที่คนไทยรอนาน 400 ปี” โดยมี รศ.ดร.สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปล สนทนากับ ผศ.ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง ผู้อ่าน และมกุฏ อรฤดี บรรณาธิการและศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ร่วมพูดคุย

 

มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการและศิลปินแห่งชาติ
 

    รศ.ดร.สว่างวัน ผู้แปลกล่าวว่า ดอนกิโฆเต้ฯ เป็นเรื่องราวของชายแก่ที่อ่านนิยายอัศวินจนเสียสติ หลงคิดว่าตนเองเป็นอัศวินชั้นสูงที่เดินทางทั่วสเปนเพื่อปราบผู้ร้าย ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2148 ภาคหนึ่งกับภาคสองชื่อเรื่องต่างกัน ภาคสองชื่ออัศวินนักฝัน ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า เพราะบทที่ 3 ของภาคหนึ่ง ดอนกิโฆเต้ฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินแล้ว โดยมีผู้หญิงงามเมือง 2 คนเป็นประจักษ์พยาน ความยากของการแปลต้องตัดความกลัวออก แปลภาคแรกตื่นเต้นเร้าใจ เพราะมีศัพท์เฉพาะทางด้านการรบ ดาราศาสตร์ การรบด้วยเรือโบราณ แต่โชคดีเจอผู้รู้ตอบคำถามให้เรา ภาคสองก็ยังสนุก เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่องดอนกิโฆเต้ฯ ตนใช้เวลาค้นศัพท์ทั้งหมดเกี่ยวกับดอนกิโฆเต้ฯ ภาคสอง ประกอบกับได้ไปเมืองอัลกาลาเดเอนาเรส บ้านเกิดของเซร์บันเตส ผู้เขียน ซึ่งมีห้องสมุดที่ดีมาก ได้อ่านดอนกิโฆเต้ฯ ต้นฉบับ ค้นพจนานุกรมปีที่ร่วมสมัยกับผู้เขียน ปัจจุบันเล่มนี้ถือเป็นขุมทรัพย์ของภาษาสเปน เพราะศัพท์ภาษาสเปนเปลี่ยนแปลงไปมาก งานเขียนอมตะเรื่องนี้คนอ่านตีความได้หลากหลาย และเปิดกว้างให้ผู้อ่านใช้ประสบการณ์กับหนังสือเต็มที่ เซร์บันเตสไม่ได้จำกัดหรือชี้นำผู้อ่าน

 

รศ.ดร.สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปลภาษาสเปน 
 

    นักแปลภาษาสเปนเล่าว่า เดินทางไปเมืองอัลกาลา สเปน เมื่อสามปีก่อน ตั้งใจไปบ้านเกิดนักเขียนและพิพิธภัณฑ์บ้านเกิดของเซร์บันเตส ตั้งใจไปโบสถ์ของคณะพระตรีเอกภาพที่เขาถูกฝังรวมกับคนอื่นๆ จะไปสักการะหลุมศพ และเพื่อตั้งจิตอธิษฐานกับผู้ประพันธ์ แต่โบสถ์ไม่ได้เปิดให้คนภายนอกเข้าบ่อย ท้ายสุดต้องกลับไปที่พิพิธภัณฑ์เมืองอัลกาลาอีกครั้งแม้ผ่านไป 400 ปี ในที่สุดได้ไปคารวะนักเขียนด้วยช่อกุหลาบแดง 12 ดอก เพื่อบอกรักผู้เขียนว่าดอนกิโฆเต้ฯ ภาคสองจะเกิดขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากแปลภาคแรกสำเร็จในโอกาสฉลอง 400 ปี การจากไปของเซร์บันเตส เมื่อปี 2559 จากการทาบทามของสถานทูตสเปนประจำประเทศไทย ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการแปลภาษาไทยมาก่อน โดยมีอาจารย์มกุฏ อรฤดี เป็นบรรณาธิการ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ
    “ ศึกษาผลงานของเซร์บันเตสมาตลอดตั้งแต่ปริญญาตรี ต่อเนื่องปริญญาโท จนสำเร็จปริญญาเอก ทำวิทยานิพนธ์ปัญหาการแปลดอนกิโฆเต้ การประยุกต์ใช้วรรณคดีเรื่องนี้ รวมถึงได้อ่านประวัติผู้เขียน ชีวิตไม่ราบรื่นแต่เขาเขียนหนังสือสนุกมาก เซร์บันเตสเป็นนักเขียนยุคทอง ตนรู้สึกอยากอ่านทุกสิ่งที่เซร์บันเตสเขียน มีผลงานเรื่องสั้นด้วย” รศ.ดร.สว่างวันกล่าว

 

ดอนกิโฆเต้ ฉบับการ์ตูนสำหรับเยาวชน


    นักอ่านอย่าง ผศ.ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง ประธานมูลนิธิวิชาหนังสือ กล่าวว่า จากการอ่านนวนิยายเรื่องนี้ เจอความมหัศจรรย์ ความประหลาดใจตลอดเวลา หาคำตอบไม่ได้ว่าผู้แต่งประสงค์อะไร เรื่องนี้เป็นนิยายที่ล้อเลียนเรื่องเล่าเกี่ยวกับอัศวิน โดยมีเรื่องเล่าแทรกเข้ามาอย่างมีเหตุผล เป็นวรรณคดีที่วิจารณ์วรรณคดี ถกเถียงถามตัวเอง วรรณคดีคืออะไร มีประโยชน์อะไร อักษรศาสตร์ดีกว่ายุทธศาสตร์อย่างไร แต่เรื่องเล่าต่อมาเปิดประเด็นถกเถียงตลอดเวลา
    “ มีคำวิจารณ์วรรณคดี บาทหลวงบ้านนอกอ้างเพลโต เผาวรรณกรรมของดอนกิโฆเต้ แต่ก็เก็บบางเรื่องไว้ เพราะงานดี แม้แต่นางเอกของดอนกิโฆเต้เป็นการสร้างภาพนางเอกขึ้นมา ทั้งที่ดูเหมือนไม่มีใครเคยเห็น ภารกิจอัศวินไปตามสถานที่ต่างๆ เป็นอุปสรรคกันพระเอกออกจากนางเอก แม้เจอหญิงอื่นก็ปฏิเสธด้วยคุณธรรมบ้าง ไม่สวยบ้าง นี่เป็นเสน่ห์และความสนุกในการอ่าน ผู้เขียนสร้างฉากให้ดอนกิโฆเต้สำแดงความวิกลจริตขึ้นมา เซร์บันเตสเขียนเองว่า ความมีเหตุผลมากของดยุคและดัสเชสห่างกับความวิกลจริตของดอนกิโฆเต้ 2 นิ้วเท่านั้น เรื่องนี้ดูเหมือนเล่าแบบธรรมดา เป็นวรรณกรรมไร้ศิลปะ ไม่เสแสร้ง แต่จิกกัดตัวละครตลอดเวลา ถ้าผู้อ่านคล้อยตามก็ถูกจิกกัดด้วย” ผศ.ดร.ปณิธิ กล่าว

นิทรรศการรวบรวมดอนกิโฆเต้ในภาษาต่างๆ มาจัดแสดง
 

    ในฐานะนักอ่านคนหนึ่งที่ตีความวรรณคดี ผศ.ดร.ปณิธิบอกว่า ดอนกิโฆเต้ฯ เป็นงานอมตะ อยู่มาได้กว่า 400 ปีเพราะยังรอคอยให้คนอื่นๆ ค้นพบความหมายอื่นๆ ต่อไป เพราะถ้าอ่านจบแล้วหยุดแค่นิยายอัศวิน ก็คงไม่เป็นที่ชื่นชมจนทุกวันนี้ นี่คือผลงานชิ้นเอกของเซร์บันเตส ผู้เขียนสร้างทั้งบุคลิกและสมองของตัวละครทุกตัว ให้มีความคิด ฉลาดหลักแหลม อ่านแล้วประเทืองปัญญา เราเห็นความงดงามของดอนกิโฆเต้ที่ยึดมั่นในอุดมคติและช่วยเหลือสังคม หนังสือตั้งคำถาม สังคมปัจจุบันยังมีคนแบบดอนกิโฆเต้อีกหรือไม่ นี่คือความเห็นของตนจากการอ่านทั้งสองภาค
    สนใจตามรอยดอนกิโฆเต้ และทำความรู้จักวรรณกรรมคลาสสิกเรื่องนี้ แวะเวียนมาชมนิทรรศการหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติ สำนักพิมพ์ผีเสื้อนำหนังสือภาคสองมาจำหน่ายในงานด้วย สำหรับวันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคมปิดนิทรรศการ ส่งท้ายด้วยกิจกรรมสนทนา “ความเป็นมาของปกผ้าพิมพ์ทอง สันโค้งริมทองของอัศวิน” โดยมกุฏ อรฤดี บรรณาธิการ สนทนากับ รศ.ดร.สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปล, อภิชัย วิจิตรปิยะกุล, ณรงค์ สาระสิต และวิกรัย จาระนัย ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ.

 

 

 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"