การเมืองเรื่องตัวเลขของมหาเธร์ในวัย 94


เพิ่มเพื่อน    

ภาพ : ภาพอดีตแห่งความหวานชื่นระหว่าง ดร.มหาเธร์กับอันวาร์ อิบรอฮิม

ที่มา : https://www.worcestermag.com/storyimage/ZZ/20181008/NEWS/310089947/AR/0/AR-310089947.jpg?MaxW=600

        การเมืองมาเลย์อยู่ในช่วงเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยมติของ ส.ส.ชุดปัจจุบัน ใครจะเป็นนายกฯ คนต่อไปขึ้นกับว่าใครรวม ส.ส.ได้ก่อน หรือไม่ก็ต้องเลือกตั้งใหม่แล้วค่อยดูตัวเลขกันอีกที

 

        ในการเลือกตั้งปี 2018 ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด (Dr. Mahathir Mohamad) กับอันวาร์ อิบรอฮิม (Anwar Ibrahim) ร่วมมือเอาชนะพรรคอัมโนที่เป็นพรรครัฐบาลมาเนิ่นนาน เป็นการกลับมาจับมือกันอีกครั้งของ 2 นักการเมืองสำคัญของมาเลเซีย เป็นประวัติศาสตร์การเมืองบทใหม่ที่พรรคอัมโนเป็นฝ่ายค้าน แต่ไม่แปลกสำหรับ ดร.มหาเธร์ ที่กลับมาเป็นนายกฯ  อีกสมัย ถ้าจะมีก็เพียงรอบนี้ท่านอายุ 92 ปีแล้ว (เกิดเดือนกรกฎาคม 1925)

        ว่าด้วยคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะ :

        ตั้งแต่แรกเป็นนายกฯ รอบล่าสุด ดร.มหาเธร์ ประกาศว่าจะอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี และจะส่งต่อให้นายอันวาร์ “เป็นคำมั่นสัญญาจากผม” อาจอยู่ 2 ปีประมาณนี้ เป็นไปได้ว่าคำมั่นสัญญาของ ดร.มหาเธร์ คือข้อตกลงลับเพื่อรวมพรรคฝ่ายค้านเดิม พรรคเล็กพรรคน้อยเพื่อสู้กับอัมโน

        ต่อมาเมื่อพฤษภาคมปีก่อน (2019) นายกฯ มหาเธร์พูดว่าตนอาจเป็นนายกฯ 2-3 ปีเพื่อแก้ปัญหาประเทศ ย้ำว่าตนเป็นเหมือนนายกฯ รักษาการหรือชั่วคราว (interim) เท่านั้น พร้อมกันนี้มีกระแสในขั้วพรรคร่วมรัฐบาลว่าควรให้ ดร.มหาเธร์เป็นนายกฯ อยู่จนครบเทอม 5 ปี ยิ่งในระยะหลังกระแสความไม่ชัดเจนว่า ดร.มหาเธร์จะลงจากตำแหน่งดังขึ้นทุกที เสียงวิพากษ์วิจารณ์นายกฯ มหาเธร์จะอยู่ยาวดังกระหึ่มในวงการเมืองมาเลย์

        ความสับสนวุ่นวายกับกลุ่มใหม่ขั้วใหม่ :

        24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดร.มหาเธร์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจากตำแหน่งประธานพรรค Parti Pribumi Bersatu Malaysia (PPBM) ที่ท่านเป็นผู้ก่อตั้งเมื่อปี 2016 พร้อมกับกระแสข่าวการจัดตั้งกลุ่มการเมืองใหม่ที่รวมสมาชิกบางส่วนของ PPBM กับอัมโนเข้าด้วยกัน

        อันวาร์ อิบรอฮิม ประธานพรรค PKR ชี้ว่าแผนการจับกลุ่มของพรรค PPBM กับพรรคอัมโนก็เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้ง แทนแบบปัจจุบันที่ PPBM คือแกนนำของพรรครัฐบาล ส่วนอัมโนเป็นฝ่ายค้าน

        ผู้มีอธิบายว่าการจับขั้วใหม่คือแผนของ ดร.มหาเธร์ ที่จะไม่ต้องรักษาสัญญามอบตำแหน่งนายกฯ แก่ อันวาร์ อิบรอฮิม  เพราะกลายเป็นขั้วใหม่กลุ่มใหม่แล้ว พูดให้ชัดคือเขี่ยอันวาร์ออกจากพรรคร่วมรัฐบาล เพียงเท่านี้อันวาร์ก็ไม่อาจเป็นนายกฯ แล้ว ถ้ามองในเชิงการต่อสู้ทางการเมืองนับเป็น “ความเหนือชั้น” จากความเก๋าของนายกฯ วัย 94 ปีท่านนี้

        ไม่นานหลังข่าว ดร.มหาเธร์ ลาออกจากตำแหน่ง Mohamad Sabu หัวหน้าพรรค Parti Amanah Negara ประกาศสนับสนุน ดร.มหาเธร์ เป็นนายกฯ ต่อไป ทั้งยังพูดว่าอีกหลายพรรคในกลุ่มแนวร่วม Pakatan Harapan (PH) สนับสนุน ดร.มหาเธร์เช่นกัน

        ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาแกนนำพรรคการเมือง นักการเมืองคนสำคัญต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วทั้งต่อสาธารณะกับ “หลังบ้าน” เพราะเป็นจังหวะสำคัญ มีผลต่อการเข้าร่วมรัฐบาลและอื่นๆ หากชักช้าอาจพลาดท่าตกขบวน หล่นจากตำแหน่ง

        ล่าสุด มีข่าว 11 ส.ส. จากพรรคของนายอันวาร์ (PKR) แสดงท่าทีขอตัดสินทางการเมืองด้วยตนเอง นัยว่าจะขอเลือกขั้วด้วยตัวเอง ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลต่างพูดว่าทำเพื่อประชาชน ไม่มีอะไรซับซ้อนหรือรุนแรงถึงกับการเมืองล่มสลาย แค่ล้างไพ่ สลับขั้ว สลับพรรคกันเล็กน้อย สุดท้ายเหมือนเดิม เว้นแต่บางคนที่ต้องถูกเขี่ยออกไป

        ภาพที่เห็นกับความจริง :

        ถ้าย้อนมองอดีต ดร.มหาเธร์ ประกาศแต่แรกรับตำแหน่งนายกฯ ว่าจะอยู่ในตำแหน่งสักพักแล้วยกให้ อันวาร์ อิบรอฮิม  ภาพที่ปรากฏคือความสัมพันธ์อันแช่มชื่นระหว่าง 2 นักการเมืองสำคัญของมาเลย์ กระทั่งหลังสุดเมื่อเดือนก่อนภาพความชื่นมื่นยังเป็นเหมือนเดิม แต่เบื้องหลังคือการต่อรองอย่างเข้มข้นภายในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล ในการประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 ที่ผ่านมาต้องสะดุดเมื่อ ดร.มหาเธร์ ขู่ถอนตัวออกจากแนวร่วมรัฐบาล หลังแกนนำพรรคบางส่วนยื่นคำขาดขอให้ท่านถอนตัวจากตำแหน่งนายกฯ เป็นที่มาของกระแสข่าวว่า  ดร.มหาเธร์ จะหันไปจับมือกับพรรคอัมโนเพื่อตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และเป็นที่มาของคำว่า “คนทรยศ” จากปากของอันวาร์ อิบรอฮิม

        สรุปสถานการณ์สัปดาห์ผ่านมา คือ อันวาร์ อิบรอฮิม กับแกนนำบางคนพยายามพูดในที่ประชุมแกนนำพรรคกดดันให้ ดร.มหาเธร์ถอนตัวจากตำแหน่งเสียที ในขณะเดียวกันภายในพรรคร่วมมีอีกฝ่ายที่กดดันให้อันวาร์อยู่นิ่งๆ เฉยๆ และในที่สุดก็ระเบิดออกมา

        เงื่อนไขของ ดร.มหาเธร์ :

        ดร.มหาเธร์กล่าวว่า “ตอนนี้จำต้องแยกการเมืองกับพรรคการเมืองออกไปก่อน” จะตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่อิงพรรคใดพรรคหนึ่ง ให้มุ่งทำงานเพื่อประเทศชาติเป็นหลัก ถ้าตนได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้งจะเป็นรัฐบาลที่ไม่อิงพรรคการเมืองใดๆ  นอกจากผลประโยชน์แห่งชาติเท่านั้น

        แนวทางคิดของ ดร.มหาเธร์ คือเขาจะเป็นผู้เลือกรัฐมนตรีด้วยตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่ระบบโควตาหรือพรรคการเมืองตัดสินใจกันภายใน ยินดีรับ ส.ส.เข้าร่วม ไม่ว่ามาจากพรรคใด แต่จะต้องทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่ทำตามมติพรรค (มีพรรคเท่ากับไม่มีพรรค) เป็นเหตุให้หลายพรรคลังเลใจที่จะร่วมกับ ดร.มหาเธร์ในขณะนี้ บางคนถึงกับพูดว่าเป็นแนวทางอำนาจนิยมที่ ดร.มหาเธร์เคยใช้ในอดีต หรืออาจพูดว่าเป็นนายกฯ ที่มีอำนาจเด็ดขาดแบบประธานาธิบดี

        ข้อวิพากษ์อีกแบบคือแนวคิดเช่นนี้ทำได้จริงแค่ไหน เพราะแต่ไหนแต่ไรสมาชิกพรรค ส.ส.ล้วนประกาศว่าจะให้ความร่วมมือ แต่เอาเข้าจริงมักไม่เป็นเช่นนั้น หลายคนตัดสินใจโดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง แนวคิดของ ดร.มหาเธร์อาจเป็นความตั้งใจดีหรืออาจเป็นเพียง “กลยุทธ์การตลาด” เพื่อรวบรวมเสียงให้ได้มากที่สุด ถึงขั้นยอมรับ  ส.ส.จากทุกพรรค จัดตั้งรัฐบาลอีกชุดเท่านั้นเอง

        ตอนนี้มีทั้ง ส.ส.ขั้ว ดร.มหาเธร์ ส.ส.งูเห่าจากพรรคอันวาร์  และอีกจำนวนหนึ่งจากพรรคฝ่ายค้านอัมโนที่ยื่นความจำนงขอร่วมรัฐบาลชุดใหม่ ถ้าพูดแบบแง่บวก ทำให้สามารถเลือก ส.ส. คุณภาพร่วมรัฐบาล ได้ ครม.ที่ดีกว่า ในอีกมุมหนึ่งสถานการณ์เช่นนี้เหมือนถูกลอตเตอรี่ที่ไม่ได้มาบ่อยๆ ดังนั้น ใครอยากร่วมรัฐบาลต้องรีบคว้าไว้ก่อน หรือไม่ก็ต้องปากกัดตีนถีบแย่งชิงมาให้จงได้

        Romzi Ationg จาก Universiti Malaysia Sabah วิเคราะห์ว่าสิ่งที่ ดร.มหาเธร์ทำคือพยายามรักษาเสถียรภาพทางการเมือง จึงพยายามกระชับอำนาจการเมืองด้วยความเด็ดขาด ให้มั่นใจว่าการเมืองมีเสถียรภาพ ซึ่งจำเป็นต่อสภาพสังคมมาเลย์ที่มีปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ และเพื่อตอบสนองเป้าหมายทางการเมืองส่วนตัวด้วย

      การประกาศลาออก ยุบคณะรัฐมนตรี ให้จับขั้วตั้งรัฐบาลชุดใหม่ คือกลยุทธ์ทางการเมือง เพื่อกระชับอำนาจ เอาพวกที่ไม่ยอมอยู่ใต้การชี้นำออกจากพรรคร่วมรัฐบาล ออกจาก ครม. ถ้าตีความแบบแคบๆ คือต้องการเป็นนายกฯ ต่อไปนั่นเอง

        ล่าสุด ยังไม่ชัดว่าใครจะเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ยังอยู่ระหว่างเจรจาต่อรอง การย้ายขั้วทำได้ตลอดเวลา หากไม่มีขั้วใดขั้วหนึ่งมีเสียงข้างมากสุดท้ายจะลงเอยด้วยการเลือกตั้งใหม่อีกรอบ

        การเมืองเป็นเรื่องของตัวเลข :

        อันที่จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านล้วนทำผลประโยชน์ให้ประเทศได้ทั้งสิ้น แต่นักการเมืองบางคน (หรือหลายคน) มองว่าเป็นฝ่ายค้านนั้นอดอยากปากแห้ง ดังนั้นเป็น  ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลย่อมดีกว่า ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่หาได้ยาก เหมือนถูกลอตเตอรี่ที่ไม่ได้มาบ่อย ถ้าไม่คว้าไว้คงเสียดาย

        ดร.มหาเธร์ในวัย 94 ถ้าเป็นนายกฯ อีก 6 ปี ตอนนั้นจะทำสถิตินายกฯ อายุ 100 ปี (รัฐธรรมนูญบัญญัติให้อยู่ได้ 2 วาระติดต่อกัน วาระละ 5 ปี) ด้านอันวาร์ผู้มีอายุ 72 ปีเคยเป็นมือขวาของมหาเธร์ (ทั้งท่านในอดีตและล่าสุดคือภรรยาดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ของนายกฯ มหาเธร์) คงยากจะบรรลุฝันนั่งเก้าอี้นายกฯ แล้ว เหล่านี้เป็นเรื่องของตัวเลขเหมือนกัน

        แต่จะสำเร็จหรือไม่ขึ้นกับว่าใครทำรวม ส.ส.ได้ก่อน ต้องแข่งกันรวมตัวเลข ผลสรุปอาจไม่ต้องรอนาน หรือไม่ก็ต้องเลือกตั้งใหม่แล้วค่อยดูตัวเลขกันอีกที.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"