ไล่ออก'รจนา สินที' ปปง.ตามบี้ฟอกเงิน


เพิ่มเพื่อน    

     อ.ก.พ.มีมติไล่ "รจนา สินที" ซี 8 ศธ.โกงเงินกองทุนเสมาฯ ออกจากราชการ ชี้ผิดวินัยอย่างร้ายแรงมีผลทันที "หมอธี" เชื่อไม่ทำคนเดียว กำชับองค์กรหลัก ศธ.ทำเรื่องระบบตรวจสอบบัญชี ให้มีความโปร่งใส ปปง.จ่อฟันฟอกเงินซ้ำ ด้าน ป.ป.ท.สรุปโกงคนไร้ที่พึ่งยอดพุ่งรวม 53 จว. 107 ล้านบาท ขณะที่กรรมการ ป.ป.ช.แฉวิ่งเต้นให้ตัวเองลงไปนั่งเก้าอี้ ผอ.แต่ละจังหวัดหวังโกยเงินเข้ากระเป๋าแน่ เอาผิดตั้งแต่ระดับหัว 
    ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) วันที่ 26 มีนาคม นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  (ปลัด ศธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน สำนักงานปลัด ศธ.  (อ.ก.พ.สป.) เพื่อพิจารณาโทษวินัยร้ายแรงนางรจนา สินที นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ระดับ 8 สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ศธ. กรณีทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ 7:0 โดยพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนางรจนาเป็นการกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบของทางราชการ มติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และฐานรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง 
    ฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) มาตรา 83 (1) (4) และ (7) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน  พ.ศ.2551 เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการลงโทษข้าราชการผู้กระทำผิดวินัยร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร. 0205/ว234 ลงวันที่ 24 ธ.ค.2536 จึงมีมติลงโทษไล่นางรจนาออกจากราชการ
    "มติดังกล่าวจะมีผลทันที ส่วนการขยายผลไปยังบุคคลอื่นอยู่ระหว่างคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกำลังดำเนินการ หากมีใครเข้าเกี่ยวข้องก็จะดำเนินการทางวินัยต่อไป โดย ศธ.จะส่งข้อกล่าวหาให้นางรจนารับทราบ และส่งให้ ป.ป.ท.และ ปปง.ได้ไปใช้ในการประกอบดำเนินคดีอีกทางหนึ่งด้วย" นายการุณกล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม อ.ก.พ.สป.ที่มีนายการุณเป็นประธาน ได้มีการพิจารณาโทษวินัยร้ายแรงนางรจนาโดยใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมงในการหารือ
    ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องนี้ตนต้องจริงจัง เพราะการปราบทุจริตคือส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งขณะนี้ก็ทราบว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ก็เข้าไปตรวจค้นบ้านนางรจนา สินที นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ระดับ 8 สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ศธ. ซึ่ง ป.ป.ท.คิดเหมือนตนว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีนางรจนาทำคนเดียว ดังนั้นจะต้องตรวจสอบเครือข่ายว่าเชื่อมโยงไปถึงบุคคลใดบ้าง อีกทั้งก็มีสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เข้ามาตรวจสอบเส้นทางการเงินด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราเดินหน้าเต็มที่ โดยประเด็นสำคัญต่อจากนี้จะต้องมีการขยายผลเพื่อปราบทุจริตให้หมดไป
    "รัฐบาลได้มีหนังสือสั่งการให้ทุกกระทรวงปราบทุจริต ดังนั้นผมจึงมีหนังสือสั่งการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาทุจริต กำชับให้หน่วยงานองค์กรหลัก ศธ.ทุกหน่วยงานดำเนินการเรื่องระบบตรวจสอบบัญชีของหน่วยงานตัวเองให้มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ เพราะที่ผ่านมาเราก็เห็นถึงกรณีกองทุนเสมาฯ  ที่เกิดขึ้นแล้วว่า กองทุนก่อตั้งมา 10 ปีแต่ระบบตรวจสอบกลับมีความบกพร่อง ดังนั้นระบบตรวจสอบบัญชีของทุกหน่วยงานจะต้องตรวจสอบได้ว่า ระบบการโอนเงินของหน่วยงานเป็นแบบไหน บุคคลที่รับผิดชอบกับระบบการเงินต้องตอบได้ว่าโอนเงินไปแล้วผู้รับเงินเป็นใคร ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ชัดเจน" รมว.ศธ.กล่าว
ปปง.จ่อฟันฟอกเงินซ้ำ
    นพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า ส่วนประเด็น ศธ.ซึ่งเป็นผู้เสียหายจะต้องพิจารณาเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการเบิกจ่ายเงินด้วย เพื่อติดตามเงินกลับมามอบแก่นักเรียนในโครงการที่ยังไม่ได้รับเงิน ทั้งนี้ความผิดทางละเมิดนั้นตามหลักเกณฑ์แล้ว ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชอบร้อยละ 100 ตามข้อกฎหมายของกระทรวงการคลังว่าใครจะต้องรับผิดชอบจำนวนเท่าไหร่ แต่หากยึดทรัพย์แล้วไม่สามารถนำมาชดใช้ได้ครบ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องรับผิดชอบตามสัดส่วนที่เหลือ แม้จะไม่ได้ร่วมกระทำความผิด แต่ได้รับผิดชอบดูแลกองทุนไม่ว่าจะเป็นอดีตผู้บริหาร ศธ. เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ผู้บังคับบัญชาชั้นต้น ชั้นกลาง และผู้อนุมัติผ่านงานกลับบกพร่องต่อหน้าที่ก็โดนความผิดทางละเมิดไปด้วย 
    ขณะที่นายวิทยา นีติธรรม เลขานุการกรม สำนักงาน ปปง. เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบเส้นทางธุรกรรมการเงินคดีนางรจนาว่า ขณะนี้การตรวจสอบมีความคืบหน้าไปพอสมควร คาดว่าอีก 1 เ ดือนจะได้ข้อสรุป ซึ่งการตรวจสอบเงินที่โอนเข้าบัญชีชื่อบุคคลอื่น 22 บัญชี พบว่าเงินถูกถอนออกหมดตั้งแต่ต้น ก.พ.ที่ผ่านมา โดย ปปง.จะต้องสืบทรัพย์ต่อว่ามีการนำเงินไปใช้จ่ายหรือแปลงไปเป็นสินทรัพย์ประเภทอื่นหรือไม่ เพราะเชื่อว่านางรจนาไม่สามารถที่จะดำเนินการเรื่องทั้งหมดได้เพียงคนเดียว ทั้งนี้จะดำเนินคดีต่อผู้ต้องหาในคดีฟอกเงิน ซึ่งมีโทษจำคุกทางอาญา 10 ปี โดยนางรจนากระทำผิดหลายกรรม จะต้องฟ้องเรียงกระทงลงโทษ ส่วนการตรวจสอบเส้นทางการเงินคดีทุจริตเงินช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยวันนี้ได้ประชุมร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ท. หากมีรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบภายหลัง
       พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผอ.กองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 เปิดเผยว่า ที่ต้องเร่งขยายผลคือความเชื่อมโยงถึงข้าราชการในระดับสูงกว่านางรจนา จากการพูดคุยกับนางรจนาขณะสนธิกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพักเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา ร่วมกับการสังเกตสภาพความเป็นอยู่ที่บ้าน เชื่อว่านางรจนายังไม่พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริง คงต้องให้เวลาอีกระยะ
     พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม ในฐานะกำกับดูแล ศธ.กล่าวถึงการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตว่า เป็นช่องโหว่ของกระบวนการตามขั้นตอนที่เปิดช่องให้ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่ถือว่าเป็นความล้มเหลวของระบบตรวจสอบ ยืนยันว่าจะต้องมีการเร่งรัด ปรับปรุงกระบวนการขั้นตอนให้มีความรัดกุมมากขึ้น เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการป้องกันการทุจริต  โดยขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังเร่งรัดตรวจสอบ โดยเฉพาะ ป.ป.ท.ที่กำลังตรวจสอบเพื่อเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง และได้สั่งการให้เลขาธิการ ป.ป.ท.รายงานเรื่องนี้ต่อที่ประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ด้วย
    "หากพบมีการทุจริตเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน สามารถขอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ใช้อำนาจมาตรา 44 ในการจัดการได้ เพราะรัฐบาลให้ความสำคัญและต้องการแก้ปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง เพราะถือเป็นวาระแห่งชาติและเป็นนโยบายเร่งด่วน" พล.อ.อ.ประจินกล่าว
แฉวิ่งเต้นเป็น ผอ.จ้องงาบ
    ที่สำนักงาน ป.ป.ท. พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์ เลขาธิการ ป.ป.ท.เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบงบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รวมระยะเวลา  41 วัน ตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ - 25 มี.ค.61 วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 123,159,000 บาท กรอบระยะเวลาถึง  31 มี.ค.นี้ ล่าสุดรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบความผิดปกติเพิ่มอีก 4 จังหวัด คือ เลย ชลบุรี ภูเก็ต และปัตตานี รวมขณะนี้เป็น 53 จังหวัดที่พบมีการทุจริตแล้ว วงงบประมาณ 107,049,000 บาท หรือ ประมาณ 87 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 23 จังหวัดกำลังตรวจสอบ คิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์
    นอกจากนี้ ป.ป.ท.ยังดำเนินการตรวจสอบนิคมสร้างตนเอง ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง ศูนย์ประสานงานโครงการอื่นๆ อีก 6 แห่ง รวมวงเงินงบประมาณ 125,092,000 บาท คือ 1.นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จ.อุดรธานี งบประมาณ 7,030,000 บาท ซึ่งบอร์ด ป.ป.ท.รับไว้ไต่สวนแล้วเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา 2.นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จ.อุดรธานี งบประมาณ 5,030,000 บาท กับ 3.นิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น งบประมาณ 11,700,000 บาท ส่ง ป.ป.ช.เพราะ ผอ.ศูนย์เป็นข้าราชการระดับซี 8 (อำนวยการต้น) เกินอำนาจ ป.ป.ท.
    "ล่าสุดพบอีก คือ 4.นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้จังหวัดสตูล งบประมาณ 10,980,000 บาท 5.ศูนย์ประสานงานโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง เชียงใหม่ งบประมาณ 23,747,000 บาท และ 6.ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงใหม่ งบประมาณ 66,605,000 บาท ส่อทุจริตมีพฤติการณ์ลักษณะมุ่งเน้นให้เงินทุนกลุ่มวิชาชีพและเบิกสงเคราะห์จำนวนหลายครั้ง อยู่ระหว่างหาข้อมูลเพิ่มเติมและจัดทำรายงานเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ท." พ.ท.กรทิพย์กล่าว 
    สำหรับ 53 จังหวัดที่พบการทุจริตงบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งประกอบด้วย ขอนแก่น เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย สุราษฎร์ธานี ตราด น่าน สระแก้ว อุดรธานี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา กระบี่ ตรัง  ร้อยเอ็ด ยะลา พัทลุง ชุมพร สุรินทร์ อ่างทอง พิษณุโลก ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สงขลา นราธิวาส มหาสารคาม  ลำพูน นครราชสีมา อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี นครพนม กาฬสินธุ์ พิจิตร ราชบุรี นครปฐม  มุกดาหาร ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก อุทัยธานี สตูล ลพบุรี หนองบัวลำภู ศรีสะเกษ กำแพงเพชร พังงา สกลนคร จันทบุรี เลย ชลบุรี ภูเก็ต และปัตตานี ที่บอร์ด ป.ป.ท.อนุมัติไต่สวนแล้วมี 9 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น บึงกาฬ หนองคาย น่าน ตราด สุราษฎร์ธานี เชียงราย และอุบลราชธานี
    ส่วนนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า การทุจริตเงินอุดหนุนผู้ยากไร้ ทั้งกรณีเงินช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่งและเงินสงเคราะห์พัฒนาชาวเขาเกิดขึ้นบ่อยครั้งตั้งแต่อดีต และไม่ว่าจะตรวจสอบไปจังหวัดใดมักจะพบทุจริตในจังหวัดนั้น และยังพบว่า เมื่อมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในแต่ละปี มักจะมีการวิ่งเต้นขอให้คนใกล้ชิดไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ในแต่ละจังหวัด เนื่องจากเป็นแหล่งเงินที่สามารถทุจริตนำมาเข้ากระเป๋าตัวเองได้ หากจะเอาผิดต้องตรวจสอบตั้งแต่ข้าราชการระดับสูงจนไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด 
    "ส่วนล่าสุดที่ พม.ได้มีคำสั่งโยกย้ายข้าราชการระดับซี 9 จำนวน 14 รายออกจากตำแหน่งเป็นการชั่วคราว หลังพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือพวกพ้องตนเองให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการในศูนย์พักพิงคนไร้ที่พึ่ง และศูนย์พัฒนาพื้นที่สูงนั้น เชื่อว่าหลังจากนี้กระทรวงจะยื่นเรื่องมาถึง ป.ป.ช. เพื่อขอให้ตรวจสอบเอาผิดข้าราชการทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้อง" นายสุรศักดิ์กล่าว
    วันเดียวกัน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ออกจดหมายเปิดผนึกขอทราบความคืบหน้าและแนวทางดำเนินการของ ป.ป.ช.เกี่ยวกับกรณีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนถึง พล.ต.อ.วัชรพล  ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยขอให้ชี้แจงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมครอบครองนาฬิกาและแหวนเพชรราคาแพงหลายรายการ และกรณี  พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อดีตสมาชิก คสช. และอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยืมเงิน 300 ล้านบาทจากเอกชนในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งราชการ
    โดยระบุว่าเนื่องจากสองกรณีนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญในรัฐบาลที่มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายของประเทศ จึงขอให้ ป.ป.ช.ได้ชี้แจงประเด็นต่างๆ ให้สังคมได้รับรู้เป็นที่กระจ่างชัด ดังนี้ 1.คำชี้แจงของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ ป.ป.ช.ได้รับมาอย่างต่อเนื่องนั้น ถือว่ามากเพียงพอแล้วหรือยัง 2.กรณีพล.อ.ประวิตร แหวนเพชรและนาฬิกาทั้ง 25 เรือนที่ตรวจสอบ แต่ละรายการมีที่มาที่ไปอย่างไร 3.กรณี พล.ต.อ.สมยศยืมเงินจำนวน 300 ล้านบาท มีประเด็นทางกฎหมายและข้อเท็จจริงอย่างไร 4.มีการตั้งประเด็นในการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือไต่สวนเรื่องเหล่านี้อย่างไร 5.ขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไปมีอะไรอีกบ้าง และมีกรอบเวลาตามกฎหมายอย่างไร
    "องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ตลอดจนภาคีเครือข่ายและสังคมโดยส่วนรวม มีความเป็นห่วงภาพพจน์ของ ป.ป.ช.ในสายตาประชาชน จึงได้ทำจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ขึ้นมา เพื่อขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประชาชน อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นต่อ ป.ป.ช. ที่เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการต่อต้านและปราบปรามการทุจริตมิชอบของประเทศตลอดไป" จดหมายเปิดผนึกระบุ
    ด้านนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการถือครองนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตรว่า ขณะนี้คณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริงได้ตรวจสอบหนังสือชี้แจงจำนวน  38 หน้า ที่ พล.อ.ประวิตรส่งมาเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 29 มี.ค.นี้ ส่วนจะเชิญตัว พล.อ.ประวิตรมาให้ข้อมูลด้วยตัวเองหรือไม่นั้น ต้องรอมติจากที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันที่ 29 มี.ค.ก่อน. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"