สืบสานแนวคิด “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของ ‘ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์’


เพิ่มเพื่อน    

   8 กองทุนสวัสดิการชุมชนรับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์”

 

แนวคิด “คุณภาพชีวิต  ปฏิทินแห่งความหวัง  จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” เป็นบทความภาษาอังกฤษขนาด 2 หน้า  ที่ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  ได้นำเสนอบทความชิ้นนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในเดือนตุลาคม  2516  หลังจากนั้นจึงได้มีการแปลและเผยแพร่บทความนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง  เนื้อหากล่าวถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่ควรจะได้รับบริการสวัสดิการจากรัฐ  ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

“จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ไม่เพียงแต่เป็นข้อคิดด้านสวัสดิการสังคมที่ก้าวหน้าในห้วงเวลา 40  ปีก่อนเท่านั้น   แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อมาได้สืบสานปณิธานที่ ดร.ป๋วยได้วางไว้อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย  ดังที่ ‘นพ.สงวน  นิตยารัมภ์พงศ์’ (เสียชีวิตปี 2551) อดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ผลักดันโครงการ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “30 บาทรักษาทุกโรค”  ที่ส่งผลให้คนยากคนจนทั่วประเทศได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์มาจนถึงทุกวันนี้   โดย นพ.สงวนเคยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตอนหนึ่งว่า  

ส่วนหนึ่งที่ได้แรงบันดาลใจจาก อ.ป๋วย ก็คือเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพตั้งแต่จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน   สิ่งที่ผมตั้งใจจะทำคือ  ทำอย่างไรให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพอย่างครบถ้วน”  

 

สืบสานแนวคิด ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์

ดร.ป๋วยเกิดเมื่อวันที่ 9 มีนาคม  2459  เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2502-2514) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. 2518-2519)  ท่านได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลที่ซื่อสัตย์  สมถะ  มีผลงานด้านการบริหารที่โดดเด่นหลายด้าน  ทั้งด้านการเงิน  การคลัง  งานวิชาการ  ได้รับรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะในปี 2508  

นอกจากนี้ ดร.ป๋วยยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาชนบท  โดยก่อตั้งมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในปี 2510   เพื่อทำงานพัฒนาชนบท  ถือเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ ‘NGO’ แห่งแรกของประเทศไทย  สนับสนุนงานพัฒนาชนบทแบบผสมผสาน  โดยมีชาวบ้านเป็นแกนหลัก  พัฒนาด้านอาชีพ  การศึกษา  สุขภาพอนามัย  และการจัดการตนเอง  เป็นการพัฒนาแบบองค์รวม   เริ่มโครงการแห่งแรกที่จังหวัดชัยนาท 

ดร.ป๋วยได้ริเริ่มโครงการบัณทิตอาสาสมัครในปี 2512   โดยเปิดรับนักศึกษาที่จบปริญญาตรีให้มาเรียนรู้และออกไปทำงานพัฒนาชนบทเป็นเวลา 1 ปี  (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ‘วิทยาลัยพัฒนศาสตร์  ป๋วย  อึ๊งภากรณ์’) ในเดือนตุลาคมปี 2519  เมื่อเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ดร.ป๋วยได้เดินทางไปพำนักที่ประเทศอังกฤษ  และเสียชีวิตในปี  2542  รวมอายุได้  83 ปี

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่า ดร.ป๋วยจะเสียชีวิตไปแล้ว  แต่แนวคิดเรื่องสวัสดิการสังคมและการพัฒนาชนบทแบบผสมผสานที่ยึดชาวบ้านเป็นหลักที่ท่านได้ริเริ่มเอาไว้เมื่อราว 40 ปีก่อนยังคงอยู่และแพร่ขยายกลายเป็นแนวคิดหลักในการพัฒนาชุมชนทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศ  โดยเฉพาะเรื่องการจัดสวัสดิการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในชุมชน  เช่น  ในรูปแบบของการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  เพื่อให้สมาชิกนำเงินมาฝาก  เมื่อเดือดร้อนจำเป็นก็สามารถกู้ยืมเงินจากกลุ่มไปใช้เป็นทุนในการประกอบอาชีพ  เป็นค่าเล่าเรียนของลูกหลาน  หรือเป็นค่ารักษาพยาบาล  โดยเสียดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย 

ส่วนผลกำไรจากดอกเบี้ยก็จะนำมาปันผลให้สมาชิก  หรือบางกลุ่มก็จะนำมาช่วยสวัสดิการสมาชิก  เช่น  ช่วยเหลือยามเจ็บป่วย  ให้ทุนการศึกษาเด็ก  ช่วยคนพิการ  คนยากไร้ในชุมชน   ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มต่างๆ กระจายอยู่ทั่วประเทศ  เช่น  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์  ธนาคารหมู่บ้าน  เครดิตยูเนี่ยน  สถาบันการเงินชุมชน  กองทุนหมู่บ้าน  ฯลฯ

จากกลุ่มการเงินต่างๆ  ที่จัดสวัสดิการช่วยเหลือกันเองของคนในชุมชนที่ไม่มีสวัสดิการรองรับเหมือนกับข้าราชการหรือพนักงานบริษัทเอกชน  ในช่วงปี 2548  จึงเริ่มมีการจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’ ขึ้นอย่างเป็นระบบ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ร่วมกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนสนับสนุนให้มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนระดับตำบล/เทศบาล  นำร่องในพื้นที่ 99 ตำบลทั่วประเทศ

หลักการสำคัญของกองทุนสวัสดิการชุมชน  คือ “ให้อย่างมีคุณค่า  รับอย่างมีศักดิ์ศรี”  โดยให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท  หรือเดือนละ 30 บาท  หรือปีละ 365 บาท (ตามความสะดวกและเหมาะสม)  หลังจากนั้นจึงจะมีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนตามระเบียบที่กำหนดเอาไว้   เช่น  ช่วยเหลือในยามคลอดบุตร (500-1,000 บาท) เจ็บป่วย (100 บาท /ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน) เสียชีวิต (3,000-10,000 บาท) 

นอกจากนี้ยังมีทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน  ช่วยเหลือผู้สูงอายุ  ผู้ด้อยโอกาส  ฯลฯ  รวมถึงสวัสดิการที่ไม่ใช่เงิน  เช่น  การดูแลสิ่งแวดล้อม  ส่งเสริมสุขภาพอนามัย  ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม  ภูมิปัญญาท้องถิ่น  การจัดอบรมให้ความรู้ต่างๆ  เพื่อให้สมาชิกกองทุนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ฯลฯ

                                                                                               

รางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์” ตามแนวคิด ดร.ป๋วย

การที่กลุ่มและองค์กรชุมชนได้ลุกขึ้นมาจัดสวัสดิการช่วยเหลือกันเอง   ถือเป็นทิศทางสำคัญของสังคมไทยที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่มั่นคง  มีคุณภาพชีวิตที่ดี   สมกับเจตนารมณ์ของ ดร.ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  ดังนั้นองค์กรและสถาบันที่ทำงานเพื่อสังคมจำนวน 8 องค์กร  คือ  สถาบันป๋วย  อึ๊งภากรณ์   มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยฯ  เครือข่ายสวัสดิการชุมชน,  คณะอนุกรรมการส่งเสริมองค์กรสวัสดิการชุมชนฯ  ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มูลนิธิมั่นพัฒนา   และวิทยาลัยพัฒนศาสตร์  ป๋วย  อึ๊งภากรณ์   จึงได้ร่วมกันจัดประกวดรางวัล  “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ระดับชาติ”  ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี 2559  (เนื่องในวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาล ดร.ป๋วย)

ผศ.ดร.จิตติ  มงคลชัยอรัญญา  คณบดีวิทยาลัยพัฒนศาสตร์  ป๋วย  อึ๊งภากรณ์  กล่าวว่า  การจัดประกวดรางวัล     “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์” จะจัดขึ้นทุกปี  โดยมีวัตถุประสงค์  1.เพื่อยกย่อง  เชิดชู  องค์กร/กองทุนสวัสดิการชุมชนที่ดำเนินการงานช่วยเหลือ  ดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างโดดเด่นในด้านต่างๆ  2.เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชนในพื้นที่  จังหวัด  ภาค  และประเทศ  และขยายผลกองทุนฯ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ 

3.เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาล  ภาคเอกชน  และสังคม  ตระหนักถึงคุณค่าของแนวคิดเรื่อง “คุณภาพชีวิต  ปฏิทินแห่งความหวัง  จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”  และนำไปสู่การพัฒนาระบบปฏิบัติการด้านสวัสดิการให้ประชาชนเข้าถึงและเหมาะสม  

 

 

โดยจะมีการพิจารณามอบรางวัลทั้งหมด 10 ด้าน   มีเกณฑ์การพิจารณาผลงาน  ดังนี้ 1. ปริมาณและคุณภาพของการจัดสวัสดิการของแต่ละองค์กร/กองทุน  2. พิจารณาถึงความคุ้มค่า (ประสิทธิภาพ ประหยัด ขนาด/ปริมาณการให้ความช่วยเหลือ การขยายผลในวงกว้าง)  3. พิจารณาเรื่องความยั่งยืนสม่ำเสมอของสวัสดิการที่จัด (การมีส่วนร่วม การเชื่อมโยง การบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ การเชื่อมโยงทุนภายใน/ภายนอก)  4. พิจารณาด้านความคิดสร้างสรรค์ใหม่ หรือมีนวัตกรรมในการจัดการความช่วยเหลือ  5. พิจารณาระดับความสามารถขององค์กร/กองทุนฯในการแก้ไขปัญหาของชุมชน  ฯลฯ

 

8 กองทุนได้รับรางวัลปี 2563

การประกวดรางวัลผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์ฯ ปี 2563  จัดขึ้นเป็นปีที่ 5  โดยมีกองทุนสวัสดิการที่ผ่านการกลั่นกรองระดับภาคจำนวน 36 กองทุนทั่วประเทศ และในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  ได้มีการพิจารณารางวัลจากคณะกรรมการ ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนเครือข่ายสวัสดิการชุมชน 5 ภาค วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ฯ  ศูนย์คุณธรรม  ผู้แทนกองทุนที่เคยได้รับรางวัล  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  โดยมีผลการพิจารณาดังนี้

1. ด้านการสร้างครอบครัวอบอุ่น (ทุกช่วงวัยและเพศสภาพ) การดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตและคุณค่าในสังคม ได้แก่  กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลทับมา  อ.เมือง  จ.ระยอง  2. ด้านการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาดูแล ป้องกัน สุขภาวะในชุมชน ไม่มีกองทุนที่ได้รับรางวัล

3. ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนและการศึกษา เพื่อการเติบโตเป็นคนดีและมีคุณภาพ ได้แก่  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางหลวง  อ.บางเลน  จ.นครปฐม  4. ด้านการพัฒนาการประกอบอาชีพ พัฒนาระบบเศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน และการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ได้แก่  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลดงดินแดง  อ.หนองม่วง  จ.ลพบุรี

5.ด้านการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์พลังงาน การจัดการขยะ การจัดการและฟื้นฟูภัยพิบัติ ได้แก่ กองทุนสวัสดิการชุมชนสัจจะวันละ 1 บาท  เทศบาลตำบลที่วัง  อ.ทุ่งสง  จ.นครศรีธรรมราช 6. ด้านการจัดการที่ดิน/จัดสรรที่ดินทำกิน เพียงพอต่อการดำรงชีพ  การจัดการที่อยู่อาศัย ไม่มีกองทุนที่ได้รับรางวัล

7. ด้านการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ  ได้แก่   กองบุญคุณธรรมเพื่อจัดสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองลีง  อ.จอมพระ  จ.สุรินทร์   8.ด้านการบริหารจัดการกองทุนที่ดีและมีธรรมาภิบาล  ได้แก่  กองทุนคุณธรรมสวัสดิการชุมชนตำบลเมืองแก  อ.ท่าตูม  จ.สุรินทร์

 9.ด้านผลงานการจัดสวัสดิการชุมชนแบบองค์รวม หลายมิติ สามารถเชื่อมโยงและบูรณาการทรัพยากรจากหลากหลายแห่งเพื่อแก้ไขปัญหาของสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่  กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง        อ.เวียงสระ  จ.สุราษฎร์ธานี  และ 10. ด้านการฟื้นฟูระบบคุณค่าทางวัฒนธรรม เพื่อการอยู่ร่วมกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลระหว่างกลุ่มและภาคี นำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นและสังคม   ได้แก่  กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลหนองขาว   อ.ท่าม่วง  จ.กาญจนบุรี

ทั้งนี้จะมีพิธีมอบรางวัลให้แก่กองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่นในวันที่ 9 มีนาคม 2563  ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิด ดร.ป๋วยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย  บางขุนพรหม  กรุงเทพฯ

นายปาลิน  ธำรงรัตนศิลป์  คณะทำงานติดตามและพัฒนากองทุนสวัสดิการชุมชน  กล่าวว่า  ปัจจุบันมีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว  จำนวน  5,997 กองทุน  มีสมาชิกรวมกัน 5,911,137 คน  จำนวนหมู่บ้านที่ร่วมจัดตั้งกองทุน 52,784 หมู่บ้าน  มีเงินกองทุนรวมกัน 15,987 ล้านบาท  ช่วยเหลือสมาชิกตั้งแต่เกิด-ตาย   จำนวน  2,024,788  คน   รวมเป็นเงินกว่า 2,100 ล้านบาท !!

“นอกจากนี้  เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศยังได้ร่วมกันผลักดัน ‘ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมสวัสดิการของชุมชน พ.ศ......’ เพื่อนำไปเสนอเป็นกฎหมาย  มีเป้าหมายเพื่อยกระดับกองทุนสวัสดิการชุมชนให้มีความเข้มแข็ง   มีคุณภาพ  และมีกฎหมายรองรับให้เป็นระบบหนึ่งของสวัสดิการสังคมของประเทศต่อไป !!”  นายปาลินกล่าว 

 

 

 

8 กองทุนสวัสดิการชุมชนรับรางวัล “ผู้สรรค์สร้างความมั่นคงของมนุษย์”

 

กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลทับมา  อ.เมือง  จ.ระยอง : รางวัลด้านการสร้างครอบครัวอบอุ่น (ทุกช่วงวัยและเพศสภาพ) การดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตและคุณค่าในสังคม  ‘สร้างสัมพันธ์คนทุกวัย’

 

 

                กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลทับมา  เริ่มมาจากชมรมผู้สูงอายุ (ก่อตั้งในปี 2551) มีกิจกรรมต่างๆ  เช่น  ส่งเสริมการออกกำลังกาย  ดูแลสุขภาพ  ด้านวัฒนธรรม  ประเพณี  กองทุนฌาปนกิจ ฯลฯ ในปี 2553  รวบรวมสมาชิกชมรมผู้สูงอายุมาก่อตั้งเป็น ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลทับมา’  มีสมาชิกเริ่มต้น  274 คน   ให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายปี  คนละ 365 บาท  (ผู้ด้อยโอกาส  ผู้พิการ  ไม่ต้องสมทบเงิน) ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน  1,337 คน  มีเงินกองทุนประมาณ 2.4 ล้านบาทเศษ

                ช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ เช่น  คลอดบุตรให้เงินช่วยเหลือ 500 บาท  เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล  ช่วยเหลือคืนละ 200 บาท  ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน  เสียชีวิต ช่วยเหลือ 2,500-15,000 บาท   (เป็นสมาชิก 6 เดือน - 4 ปีขึ้นไป) ช่วยทุนการศึกษา  นำสิ่งของ  เครื่องอุปโภคบริโภคเยี่ยมผู้ป่วย  ผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  ฯลฯ

                ชวัลกร  เฉียบแหลม  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ  บอกว่า  สิ่งที่ทำให้กองทุนฯ ได้รับรางวัลด้านการสร้างครอบครัวอบอุ่น  มีคุณภาพชีวิตและมีคุณค่าในสังคม  คือ  กองทุนมีกิจกรรมที่หลากหลาย  ตั้งแต่ระดับเด็กและเยาวชน  ครอบครัว  และผู้สูงอายุ  โดยให้ทั้ง 3 กลุ่มมาทำกิจกรรมร่วมกัน  เพื่อสร้างสัมพันธ์ระหว่างวัย  เช่น  ผู้สูงอายุสอนให้เยาวชนตีกลองยาว  และจัดตั้งคณะกลองยาวขึ้นมา  (ได้รับรางวัลการประกวดกลองยาวในวันเยาวชนแห่งชาติจังหวัดระยองปี 2562) จัดกิจกรรมปั่นจักรยานวันอาทิตย์  ให้เด็ก  ครอบครัว  และผู้สูงอายุได้ออกกำลังกายร่วมกัน

                “นอกจากนี้เรายังให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ  คนป่วย  และผู้พิการ  เช่น  พาเด็กไปเยี่ยม  นำสิ่งของไปให้  หรือให้เด็กไปช่วยซ่อมแซมบ้านผู้ด้อยโอกาส  ไปช่วยผสมปูน  ทาสีบ้าน  ช่วยแบกหาม  จัดกิจกรรมอบรมสร้างความสัมพันธ์  การไม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน  สร้างความรัก  ความอบอุ่นในครอบครัว”  ประธานกองทุนฯ  ยกตัวอย่าง

                ส่วนกิจกรรมสำหรับผู้สูงวัยก็มีหลากหลาย  เช่น  มีโรงเรียนผู้สูงอายุ  มีนักเรียน 180 คน  ส่งเสริมภูมิปัญญาพื้นบ้าน  มีอาหารพื้นบ้าน  แกงบอน  ขนมจีนน้ำพริก  ฯลฯ   มีหมอพื้นบ้าน  หมอนวด  มีคณะลำตัด  คณะกลองยาว  การแข่งขันหมากรุกไทย  อนุรักษ์ช่างฝีมือพื้นบ้าน  เช่น  การทำคันกระสุนดิน (คล้ายธนู)  ใช้ไล่นก  หนู  ฯลฯ  ซึ่งกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  โรงเรียน  วัด  โดยเฉพาะเทศบาลตำบลทับมา (ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนสวัสดิการฯ ประมาณ 1.1 ล้านบาท)

                “กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลทับมาจัดกิจกรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2553  จัดกิจกรรมและสวัสดิการเพื่อคนทุกช่วงวัย  เชื่อมโยงการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น  รวมทั้งภาคเอกชน  เพื่อให้เกิดความอบอุ่นในครอบครัว   สร้างความรัก  ความสัมพันธ์  ทำให้สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดี  มีความสุข  มีคุณค่าในสังคม ตั้งแต่แรกเกิด  จนถึงเยาวชน  คนหนุ่มสาว  วัยทำงาน  และผู้สูงวัย  จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต  เพื่อพัฒนาไปสู่สังคมสวัสดิการต่อไป” ประธานกองทุนฯ กล่าว

                                                                               

กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางหลวง  อ.บางเลน  จ.นครปฐม : รางวัลด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนและการศึกษา เพื่อการเติบโตเป็นคนดีและมีคุณภาพ ‘หนุนเยาวชนสร้างรายได้จากอาชีพจับกุ้ง  มีรายได้ปีละเกือบ 4 ล้านบาท’

 

               

                ตำบลบางหลวง  ถือเป็นอู่ข้าว  อู่น้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งของอำเภอบางเลน   เพราะมีแม่น้ำท่าจีนและมีลำคลองหลายสายไหลผ่าน  สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม  จึงเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม  แต่เดิมชาวบ้านที่นี่มีอาชีพทำนาเป็นหลัก  ราวปี  2534 การเลี้ยงกุ้งกุลาดำทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ  จึงทำให้ชาวบางหลวงบางส่วนเปลี่ยนผืนนามาเป็นบ่อกุ้ง  แต่ปัจจุบันนิยมเลี้ยงกุ้งขาวและกุ้งก้ามกราม  มีพื้นที่เพาะเลี้ยงประมาณ  3,400 ไร่  และทำนาประมาณ 6,800 ไร่  ประชากรทั้งหมดประมาณ 7,350 คน

                เกษศิรินทร์  แสงวงษ์ทอง  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางหลวง  เล่าว่า  กองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ก่อตั้งในปี 2551  โดยการสนับสนุนของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  โดยให้สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือน (ตามจำนวนวัน)  และนำเงินกองทุนมาจัดสวัสดิการให้สมาชิก  รวม 22 ด้าน   เช่น   เยี่ยมก่อนคลอดบุตร  300 บาท  รับขวัญเด็กเกิดใหม่ 300 บาท  ช่วยค่าพาหนะผู้พิการ  ด้อยโอกาส  ไปรักษาพยาบาลครั้งละ 500 บาท   ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยผู้ยากไร้ไม่เกิน 10,000  บาท  บวชพระ 1,000 บาท  เสียชีวิตช่วย 1,000 – 10,00 บาท  (เป็นสมาชิกตั้งแต่ 6 เดือน- 10 ปี)  ฯลฯ  ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 1,699 คน  (เป็นเด็กและเยาวชน 479  คน)  มีเงินกองทุนประมาณ 1.6 ล้านบาท

                “ส่วนผลงานของกองทุนฯ ที่ทำให้เราได้รับรางวัลด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนฯ ก็คือ  การส่งเสริมกิจกรรมเด็กและเยาวชน  โดยเฉพาะการสร้างอาชีพ  สร้างรายได้ให้แก่เด็กและเยาวชน  เพื่อให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์  ช่วยเหลือครอบครัว  ไม่ติดเกมส์ออนไลน์  หรือกลายเป็นเด็กแว้น”  ประธานกองทุนฯ บอก

                จากแนวคิดดังกล่าว  กองทุนฯ จึงจัดกิจกรรมต่างๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนในตำบล  เช่น  จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการป้องกันยาเสพติด  ท้องก่อนวัย  ส่งเสริมการออกกำลังกาย  ปลูกต้นไม้  รักษาสิ่งแวดล้อม  ส่งเสริมด้านศีลธรรมและประเพณี  ‘มัคทายกน้อย’ นำสวดมนต์  ฯลฯ  นำเด็กและเยาวชนมาช่วยงานกองทุนสวัสดิการ  เช่น  บันทึกข้อมูลการจ่ายสวัสดิการ  รายรับ-รายจ่าย  ฯลฯ

                “ที่สำคัญ  คือเราไปคุยกับเจ้าของบ่อกุ้งทั้งในตำบลและต่างตำบล  เพื่อนำเด็กและเยาวชนไปช่วยจับกุ้งตอนเจ้าของบ่อจะจับกุ้งขาย   ส่วนใหญ่จะจับช่วงเวลาเย็นถึงตอนกลางคืน  บ่อหนึ่งจะใช้เวลาจับประมาณ 2-3 ชั่วโมง  ทำให้เด็กมีรายได้ครั้งละ 200 บาท  ตอนนี้มีเด็กและเยาวชนไปรับจ้างจับกุ้งทั้งหมดประมาณ 50-60 คน  คนที่เรียนหนังสือจะใช้เวลาว่างหรือวันหยุดไปจับกุ้ง  ส่วนคนที่เรียน กศน.จะมีงานให้ทำเกือบทุกวัน  นอกจากนี้บางคนก็จะไปรับจ้างเก็บผักใส่ถุงเพื่อส่งขายตลาด  เช่น  เก็บผักบุ้ง  คะน้า  ทำให้เด็กมีรายได้ตลอดทั้งปี”  ประธานกองทุนฯ ขยายรายละเอียด

  


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"