ผู้พิพากษายิงตัวตาย ‘คณากร’เขียนจม.ลาระบุปมแทรกแซงศาลชั้นต้น


เพิ่มเพื่อน    

  ผู้พิพากษาคณากรยิงตัวเองเสียชีวิต หลังจากยิงครั้งแรกกลางศาลไม่สำเร็จ เขียนจดหมายลา เปิดประเด็นการตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอาจเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงผลคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค ระบุ 6-7 มีนาคมเป็นวันดีลูกปิดเทอมได้หนึ่งสัปดาห์ สมควรแก่เวลา จึงตัดใจดับขันธ์ทั้งห้าด้วยกำลัง พร้อมระบุเลขบัญชีธนาคาร ให้วิญญาณไปสู่สุคติได้โดยให้ทุนการศึกษาแก่ลูก

    ช่วงเช้าวันที่ 7 มีนาคม นายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ที่เคยใช้อาวุธปืนยิงตนเองในห้องพิจารณาคดีที่ 4 ที่ศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2562 ได้เขียนจดหมายลาถึงเพื่อนผู้พิพากษารุ่นที่ 46 (ผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 46) ลงวันที่ 5 มี.ค.2563 เรื่อง "ขออนุญาตลาเพื่อนๆ" เรียน "ผู้พิพากษารุ่นที่ 46 ทุกท่าน" ระบุว่า
    สืบเนื่องจากผมนายคณากร เพียรชนะ ใช้อาวุธปืนยิงตนเองที่ศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ทั้งแถลงการณ์ผ่านสื่อออนไลน์แจ้งให้ประชาชนทราบถึงการที่นายเพิ่มศักดิ์ สายสีทอง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 แทรกแซงผลคำพิพากษา รายละเอียดตามคำแถลงการณ์ 25 หน้า ของผม
    ต่อมาผมถูกตั้งกรรมการสอบสวนและยังถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ซึ่งผมเชื่อว่า การดำเนินคดีกับตัวผมเพิ่งจะเริ่มต้น ทั้งยังต้องออกจากราชการเป็นแน่ การสูญเสียหน้าที่การงานที่รักนั้นคือการสูญเสียตัวตน ซึ่งสภาพร่างกายและจิตใจของผมไม่อาจรับไหว
    ผมขอยืนยันกับเพื่อนๆ ทุกท่านว่า สิ่งที่ทำลงไปผมทำด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ ต้องการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน และไม่เสียใจที่ได้กระทำ ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน
    ผมเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาอันดับที่ 103 แต่ได้ออกไปเป็นอันดับที่ 1 (ไชโย) คงไม่มีใครอยากเป็นอันดับที่ 2 ธรรมดาครับ มีพบย่อมมีจาก เสียดายนิดนึงที่ไม่ค่อยได้ติดต่อกับเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ ขอโทษด้วยที่ไม่ได้ไปงานเลี้ยงรุ่นด้วย คิดว่าเพื่อนๆ คงไม่สนใจ แต่ผมคิดผิด เห็นได้ชัดเมื่อเกิดเหตุกับผม เพื่อนๆ หลายคนมาให้กำลังใจ ซื้อของมาให้กิน พาไปกินข้าวพาไปกินเหล้า ช่วยฝากฝังให้อยู่ดีๆ หาเพื่อนใหม่ให้ก็มี (นะ) 
    ความเป็นเพื่อนๆ นี่ก็แปลก ไม่พบเจอกันตั้งนาน แต่เมื่อพบก็สนิท ขอบคุณในความรักความห่วงใยที่เพื่อนๆ มีให้ผมนะครับ หากมีสิ่งใดที่ผมเคยทำให้เพื่อนๆ ไม่สบายใจหรือไม่พอใจ ผมขอโทษมา ณ ที่นี้ (ชาตินี้จะไม่ทำอีกแล้ว)
    ชีวิตคือการเดินทาง เส้นทางบนโลกในปัจจุบันของผมได้ขาดลงแล้ว ยินดีกับผมด้วย ผมได้ไปก่อน เล่ากันว่าบนสวรรค์ 1 วันเท่ากับ 1 ปีบนโลกมนุษย์ ถ้าไม่คลาดเคลื่อนนี่อีกไม่กี่วันเราก็เจอกันอีกแล้วล่ะสิ ช่วงนี้ผมโสด ระหว่างรอเมียตามขึ้นมา ผมไปคุยเล่นกับนางฟ้าก่อนนะครับ ลาก่อนเพื่อนๆ ที่รักทุกท่าน ด้วยรักและผูกพัน
    นายคณากรยังเขียนจดหมายถึงเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยระบุว่า ผมขอยืนยันกับเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านว่า สิ่งที่ทำลงไปผมทำด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ ต้องการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน และไม่เสียใจที่ได้กระทำ ผมภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชน
    ในอดีตที่เราใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ถูกร่างขึ้นโดย ส.ส.ร. ประชาชนและนักวิชาการทั้งหลายต่างยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่ประเทศเราเคยมีมา ท่านคงสงสัยว่าขณะใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าวทำไมจึงไม่ให้มีการตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้น เพราะอะไร หรือ ส.ส.ร. รู้ว่าการตรวจร่างคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอาจเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงผลคำพิพากษาโดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค  
เป็นวันดีลูกปิดเทอม
    ขออนุญาตถามเพื่อนๆ พี่น้องประชาชนชาวไทยง่ายๆ ว่าสิ่งที่ผมทำลงไปจนถูกสอบวินัยและตกเป็นผู้ต้องหาคดีอาญานี้ ท่านพบความชั่วหรือความเลวอยู่ในการกระทำของผมบ้างหรือไม่ ขอทุกท่านตอบในใจเบาๆ ก็พอ ส่วนผมรู้คำตอบมาตั้งแต่ต้นแล้ว เสียดายที่ท่านไม่ใช่ผู้ตัดสิน
      ในวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ผมไม่คิดว่าจะมีชีวิตรอด แต่วันนั้นสวรรค์ทรงเมตตาให้ผมมีชีวิตอยู่ต่อ เข้าใจว่าทรงมีพระประสงค์ให้มาอยู่กับครอบครัวสักระยะหนึ่งเท่านั้น ผมจึงจัดการซ่อมแซมแต่งบ้านบางส่วนให้เรียบร้อยขึ้น เพื่อให้สองแม่ลูกอยู่อย่างสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น สอนลูกให้เข้มแข็ง สอนให้เป็นคนดีว่า “คนดี คือ คนที่ทำในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น และประชาชนภายในกรอบของศีลธรรม”
    วันที่ 6-7 มีนาคม 2563 เป็นวันดี ลูกปิดเทอมได้หนึ่งสัปดาห์ สมควรแก่เวลา ก่อนหน้านี้ฝึกดับขันธ์บางส่วนมาก่อนแล้ว ดับได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ยังดีกว่าดับไม่ลง จึงตัดใจดับขันธ์ทั้งห้าด้วยกำลัง
    ชีวิตเป็นเพียงแค่การเดินทาง ร่างกายที่แท้ไม่ใช่ของเรา ท้ายที่สุดย่อมเสื่อมสภาพกลับไปเป็นธาตุทั้งสี่ การพลัดพรากจากหน้าที่การงานหรือคนที่รักก็เช่นกัน ท้ายที่สุดย่อมต้องจาก เหลือไว้แต่ความดีในความทรงจำของผู้อื่น เพื่อดับทุกข์ จึงขอลาจากไปในเวลานี้แม้จะก่อนเวลาอันควร
    ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน ลาก่อน 
    ลงชื่อ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลาฯ และผู้ต้องหา  
    ป.ล. ท่านที่เมตตาผม ท่านสามารถส่งวิญญาณผมให้ไปสู่สุคติได้ โดยให้ทุนการศึกษาแก่ลูกของผม ที่บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชีนายคณากร เพียรชนะ เลขบัญชี 714-236993-0
    ต่อมา นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่านายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ที่ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองอีกครั้งเข้าที่บริเวณหัวใจ เหตุเกิดขึ้นเวลาประมาณ 07.00 - 08.00 น. ที่บ้านพักส่วนตัวนายคณากรในอำเภอดอยสะเก็ด เป็นช่วงที่ภรรยาของนายคณากรออกไปส่งลูกข้างนอก นายคณากรจึงตัดสินใจยิงตัวเองด้วยอาวุธปืนเข้าที่บริเวณหัวใจ ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อภรรยากลับมาพบเหตุ จึงแจ้งรถพยาบาลนำร่างของนายคณากรไปส่งโรงพยาบาลดอยสะเก็ด แต่อาการสาหัส ทางโรงพยาบาลดอยสะเก็ดจึงทำการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแมคคอร์มิค
    ขณะนี้ตัวนายคณากรอยู่ห้องฉุกเฉิน แพทย์ทำการช่วยชีวิตอยู่ ทางสำนักงานศาลยุติธรรมเมื่อทราบข่าวก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยดูอาการอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ผู้อำนวยการศาลภาค 5 ติดตามดูแลอาการที่โรงพยาบาลพร้อมรายงานมาตลอด ซึ่งตนได้รายงานให้ นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ได้รับทราบแล้ว
    ต่อมาเวลา 10.47 น. นายสราวุธเปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่านายคณากรเสียชีวิตลงในเวลา 10.45 น. โดยจากนี้จะมีการนำศพของนายคณากรไปชันสูตรที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตามขั้นตอนอีกครั้ง
    นายสราวุธยังให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นมาในการสอบวินัย นายคณากรว่า ครั้งแรกเมื่อเกิดขึ้นที่ผู้พิพากษาคณากรก่อเหตุยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี และมีการไลฟ์สดลงเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2562 และได้มีหนังสือแถลงถึงความเครียดการพิจารณาคดี ที่อ้างว่ามีการแทรกแซงการตรวจสำนวนโดยผู้บังคับบัญชานั้น หลังจากนั้นตนรายงานข้อเท็จจริงที่รวบรวมในเบื้องต้นให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ทราบทันที โดยที่ประชุม ก.ต.ก็มีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทุกประเด็น ทั้งการก่อเหตุ และกรณีแทรกแซงการพิจารณาพิพากษา ซึ่งผลการสอบสวนข้อเท็จจริงก็สรุปว่า การก่อเหตุของท่านคณากร มีการนำอาวุธปืนเข้าไปภายในบริเวณศาลและก่อเหตุภายในอาคารศาลอาจจะผิดวินัย ที่ประชุม ก.ต.จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย 
คดีอาญา อาวุธปืน
    ซึ่งระหว่างนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเครียดและเป็นไปตามขั้นตอน จึงให้ย้ายท่านคณากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา มาช่วยราชการปฏิบัติหน้าที่ในกองผู้ช่วยศาลอุทธรณ์ภาค 5 จ.เชียงใหม่ โดยทำหน้าที่ช่วยตรวจดูสำนวน เพียงแต่จะไม่ได้นั่งบัลลังก์พิจารณาคดีเหมือนศาลชั้นต้น ซึ่งปัจจุบันก่อนเกิดเหตุการยิงตัวเองครั้งล่าสุด การสอบวินัยยังดำเนินอยู่ตามขั้นตอน ยังไม่ได้มีมติใดออกมา ส่วนการดำเนินคดีอาญาเกี่ยวกับอาวุธปืนนั้น ที่ผ่านมาพนักงานสอบสวนก็รวบรวมพยานหลักฐานอยู่ และเคยมีหนังสือแจ้งขออนุญาตประธานศาลฎีกาในการจะดำเนินคดีอาญาแล้ว 
    สำหรับประเด็นแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ในการตรวจสอบชั้นแรกของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเห็นว่าไม่มีมูล ไม่ปรากฏเรื่องการแทรกแซง ซึ่งที่ประชุม ก.ต.รับทราบผลรายงานตามนั้น แต่มีข้อสังเกตว่าอาจจะเป็นเรื่องของระบบการตรวจสำนวนที่ต้องพิจารณาว่ามีปัญหาปรับแก้หรือไม่ 
    ดังนั้นจึงให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อพิจารณาประเด็นระบบตรวจสำนวน ที่ให้มีผู้พิพากษาที่เป็น ก.ต. รวมทั้งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม หรือ ก.บ.ศ. (ซึ่งมีหน้าที่ดูแลการออกระเบียบ-กฎหมายสนับสนุนการทำหน้าที่ศาลยุติธรรม) เป็นคณะกรรมการ
    เมื่อถามถึงปัญหาความเครียดของผู้พิพากษาในการปฏิบัติหน้าที่ตัดสินคดี กระทั่งนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา เคยแถลงนโยบายเมื่อครั้งขึ้นดำรงตำแหน่ง เห็นควรจะให้มีการตรวจประเมินสุขภาพทางจิตทุก 5 ปี นายสราวุธแจงว่า เดิมในการตรวจสุขภาพของผู้พิพากษามีอยู่แล้ว ส่วนการประเมินสุขภาพจิตก็จะมี 2 ช่วง คือเมื่อสอบผ่านเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา กับช่วงที่พ้นจากตำแหน่งบริหารแล้วจะแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาอาวุโส หลังเกิดเหตุการณ์เพื่อเป็นการระวังป้องกันและดูแลผู้พิพากษา ประธานศาลฎีกาจึงให้มีการออกระเบียบที่ชัดเจน เพื่อให้มีการประเมินสุขภาพจิตของผู้พิพากษาทุกๆ 5 ปี 
    เขากล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ ซึ่งเรื่องนี้คณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) โดยนางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ได้นำเสนอร่างระเบียบหลักเกณฑ์และแนวทางการประเมินสมรรถภาพทางกายและจิตใจข้าราชการตุลาการ ให้ที่ประชุม ก.ต.พิจารณาไปครั้งแรกเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุม ก.ต.ได้ตั้งข้อสังเกตไปบางจุดให้ปรับปรุงแก้ไข โดยจะมีการนำร่างระเบียบฯ นำเสนอที่ประชุม ก.ต.พิจารณาอีกเป็นครั้งที่สองในวันที่ 16 มี.ค.นี้ 
    เมื่อถามว่า การก่อเหตุฆ่าตัวตายของผู้พิพากษา จากที่มีการอ้างความเครียดจากงานพิจารณาพิพากษาคดี เคยเกิดขึ้นหรือไม่ กรณีของผู้พิพากษาคณากรเป็นครั้งแรกหรือไม่ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมตอบว่า เหตุการฆ่าตัวตายของผู้พิพากษา ในอดีตก็เคยมีที่ท่านผู้พิพากษากระโดดตึกอาคารศาลเสียชีวิต แต่เหตุจะเกิดจากความเครียดในการปฏิบัติหน้าที่เพียงใดนั้น ไม่สามารถประเมินได้ชัดเจน ส่วนกรณีของผู้พิพากษาคณากร ตนก็ไม่อาจกล่าวถึงสาเหตุได้ว่าเหตุที่แน่ชัดเป็นอย่างไร โดยเมื่อได้ย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่กองผู้ช่วยศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ได้ติดตามดูแลเรื่องการทำงาน ซึ่งประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก็ยังเห็นว่าผู้พิพากษาคณากรไม่ได้แสดงออกความเครียดใดๆ ส่วนตัวผู้พิพากษาคณากร ครั้งแรกที่เกิดเหตุช่วงรักษาตัวนั้น แพทย์ได้ประเมินสุขภาพทางจิตด้วยแล้ว ก็ไม่มีรายงานเรื่องสุขภาพทางจิตแต่อย่างใด
ระดมความช่วยเหลือ
    ถามถึงการช่วยดูแลครอบครัวข้าราชการตุลาการที่เสียชีวิต จะมีอย่างไรบ้าง นายสราวุธกล่าวว่า ในส่วนของการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นล่าสุดกับผู้พิพากษา นายไสลเกษ ประธานศาลฎีกา กำชับให้ดูแลครอบครัวผู้พิพากษาอย่างดีที่สุด ซึ่งก็จะมีเรื่องสิทธิประโยชน์ผู้พิพากษาที่จะได้รับ ซึ่งเราก็จะตรวจสอบให้ครบถ้วน เพื่อส่งต่อให้ทายาทตามกฎหมาย
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดี สำหรับเหตุของผู้พิพากษาคณากร ขณะนี้มีผู้พิพากษาส่วนหนึ่งที่ได้ติดตามพร้อมจะระดมความช่วยเหลือให้กับครอบครัวผู้พิพากษาคณากรแล้วด้วย
    สำหรับศาลยุติธรรมในเรื่องการพิจารณาพิพากษาคดีและการป้องกันเหตุร้ายที่อาจจะเสี่ยงเกิดขึ้นได้ในห้องพิจารณานั้น ก่อนหน้านี้สำนักงานศาลยุติธรรมมีนโยบายให้เช่าและติดตั้งกล้องวงปิดบันทึกภาพ-เสียงในห้องพิจารณาคดีทุกศาลทั่วประเทศทั้ง 272 แห่ง ล่าสุดในส่วนของศาลแพ่งที่ตั้งบริเวณ ถ.รัชดาภิเษก มีรายงานว่าศาลแพ่งได้ดำเนินการติดตั้งทีวีวงจรปิดภายในห้องพิจารณาคดีทุกห้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีคำสั่งให้เริ่มเปิดใช้ทีวีวงจรปิดบันทึกภาพเหตุการณ์-เสียง ภายในห้องพิจารณาทุกห้องของศาลแพ่ง ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 9 มี.ค.เป็นต้นไป
    แหล่งข่าวผู้พิพากษาเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้นายคณากรเคยใช้อาวุธปืนยิงตนเองในห้องพิจารณาคดีที่ 4 ที่ศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ต.ค.2562 หลังจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวและพักรักษาตัวอาการบาดเจ็บ เคยเข้ารับการตรวจอาการทางจิตเวชมาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งผลตรวจไม่พบอาการผิดปกติทางจิตใจหรือเป็นโรคซึมเศร้า โดยคนใกล้ชิดจะเป็นที่ทราบกันดีว่านายคณากรเป็นผู้มีความมุ่งมั่นในสิ่งที่ตนเองเชื่ออย่างสูง ก่อนหน้าที่จะเสียชีวิต 2-3 วัน ยังมีอาการปกติ พูดคุยกับกลุ่มคนที่รู้จักสนิทคุ้นเคยอยู่ แต่ปกตินายคณากรจะเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยสุงสิงกับคนอื่น จะคุยปรึกษาเฉพาะคนสนิท 
    ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้น ก็ยากจะคาดเดาว่าอะไรเป็นปมจุดชนวนในการตัดสินใจยิงตัวเองเป็นครั้งที่ 2 อีก เพราะประเด็นที่มีการตั้งกรรมการสอบสวนนั้น ผลสอบก็ยังไม่มีออกมาว่าจะลงโทษหรือไม่อย่างไร ระหว่างสอบสวนก็ไม่มีท่าทีตึงเครียด ยังแจ่มใส ส่วนที่อาจจะเครียดกับการโดนแจ้งข้อหาเกี่ยวกับอาวุธปืนตามที่ระบุในจดหมายนั้น มีข้อสังเกตว่ามีการแจ้งข้อหามาสักระยะ แต่ทำไมถึงตัดสินใจลงมือตอนนี้ โดยในวันพรุ่งนี้ก็จะมีการเคลื่อนศพนายคณากรจากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ไปยังวัดสันทรายมูล จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อบำเพ็ญกุศล เชื่อว่าในวันที่ 16 มี.ค.นี้ ช่วงเช้าที่จะมีการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ก็จะมีผู้หยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาพูด แต่จะเป็นแง่มุมประเด็นใดนั้นต้องติดตาม
    “อยากฝากว่า ไม่ว่าการกระทำของท่านคณากรครั้งนี้จะมีคนเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าเป็นการกระทำที่ถูกหรือผิด เมื่อได้ทำไปแล้วถือเป็นการตัดสินใจของท่านคณากรเอง ไม่ควรไปว่ากล่าวให้ร้าย เหยียดหยามหรือชื่นชม สนับสนุน จูงใจ ขอให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของท่านคณากรไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำในครั้งนี้ ก็ขอให้ทุกคนเห็นใจครอบครัวและช่วยกันดูแลครอบครัว พร้อมอโหสิกรรมกับท่านคณากร” แหล่งข่าวผู้พิพากษาระบุ
คืนความยุติธรรมให้ประชาชน
    ขณะที่กลุ่มต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำประเด็นนี้ไปขยายความในโลกโซเชียล เช่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ความเห็นผ่านเฟซบุ๊กว่า “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”
    ผู้พิพากษาคนหนึ่งที่มีหน้าที่การงานมั่นคง ตัดสินใจออกมากระทำการแบบนี้ เป็นเรื่องน่าเศร้าสลด เพราะเขาอึดอัดไม่สามารถพูดและแสดงออกถึงปัญหาในการทำงานและความอยุติธรรมที่พบเจอได้ เมื่อพยายามเรียกร้องทุกหนทางแล้ว จนเห็นว่าไม่มีหนทางอื่นใด จึงเลือกกระทำเช่นนั้น
    แม้กระแสสังคมจะหันมาให้ความสนใจกับประเด็นการแทรกแซงการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และตั้งคำถามกับความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป
    ต่อมามีการตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อคณากร เพียรชนะ ว่ากระทำผิดวินัย และมีมติให้ย้ายไปช่วยงานชั่วคราวในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จ.เชียงใหม่ และยังมีการดำเนินคดีอาญาตามความผิด พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ อีกด้วย
    ในขณะที่การตรวจสอบ ศึกษา และหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน เพื่อประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา มิให้ถูกแทรกแซงการพิจารณาคดี กลับไม่ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจริงจัง และก็เงียบหายไปอีกเช่นกัน
    คณากร เพียรชนะ ไม่ใช่อาชญากร แต่คือผู้พิพากษาที่มีจิตใจตั้งมั่นในความยุติธรรม
    การตัดสินใจจบชีวิตตนเองเป็นครั้งที่สองของคณากร เพียรชนะ คือภาพสะท้อนของความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมไทย ที่ละเลยผู้ที่ออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้อื่น
    ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวและผู้เป็นที่รักของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ขอให้ผ่านช่วงเวลาโศกเศร้าอันยากลำบากเกินจะทำใจนี้ไปได้
    นายปิยบุตรยังระบุว่า ณ เวลานี้ การยกย่องให้เกียรติ แสดงความคารวะ และแสดงความอาลัยแก่ท่านผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ดีที่สุด ของพวกเราในฐานะพี่น้องประชาชนคนไทย คือการหันมาให้ความสนใจหารือแลกเปลี่ยนและหาหนทางร่วมกันรณรงค์แก้ไขปรับปรุงระบบการจ่ายสำนวนของผู้บริหารศาลให้แก่องค์คณะ และการตรวจร่างคำพิพากษา เพื่อสร้างหลักประกันความเป็นอิสระแก่ผู้พิพากษาตุลาการ เพื่อ “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา” เพื่อ “คืนความยุติธรรมให้ประชาชน”
    ขณะที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ ได้โพสต์ข้อความว่า ช่างน่าอดสูและอนาถจิตเสียจริงกับผลที่ได้รับของท่านผู้พิพากษาที่ได้มาชี้ มาเปิดเผยให้เห็นถึงกระบวนการที่บังคับใช้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ ซึ่งหากผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายได้พึงสังวรและร่วมกันหาทางออกเพื่อพัฒนาคุณภาพในการบริการความยุติธรรมต่อประชาชน เรื่องราวคงจะไม่จบลงเช่นนี้
         วันนี้ได้ทราบข่าวว่าท่านผู้พิพากษาได้สละชีพตนเองเพื่อชี้ให้เห็นจุดบอดอีกครั้ง เป็นอีกวันสลดใจกับประเทศไทย ที่มีข้อมูลมากมายจากหัวใจของผู้พิพากษาที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการระบายความในใจ เรื่องราวความเป็นมาเป็นไป
          ผมไม่เชื่อว่าท่านผู้พิพากษากระทำไปด้วยอารมณ์ชั่ววูบหรือขาดสติ เพราะเรื่องนี้ได้ถูกชี้แจง และพิสูจน์มาหลายสถาน จนพอรับรู้เข้าใจได้ ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ผมขอเรียกร้องให้มีการสืบสวนสอบสวนกรณีนี้ตรงไปตรงมาอย่างเร่งด่วน
โอนเงิน 2,475 บาท
         พร้อมให้พิจารณาช่วยเหลือครอบครัวของท่านที่ยังมีลูกเล็กเรียนหนังสือ และภริยาที่ต้องคอยเป็นเสาหลักของครอบครัวต่อไปด้วยเงินบำนาญและเงินอุดหนุนสมทบช่วยเหลือจากทางรัฐบาลไปให้สมฐานะผู้พิทักษ์ความยุติธรรมของปวงชน ที่ยอมสละชีพของตนเองเพื่อยืนหยัดในวิชาชีพของตน ความกล้าหาญในส่วนนี้เป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากยิ่งนักในประเทศไทยปัจจุบัน
         "ผมในฐานะประชาชน ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชาติ ในฐานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขอแสดงความอาลัยต่อการจากไปครั้งนี้ด้วยครับ" นายวันนอร์ระบุ
    ส่วนนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ โพสต์ความเห็นในเฟซบุ๊กว่า มันต้องมีความผิดปกติอะไรสักอย่างหรือหลายอย่างเกิดขึ้นในประเทศนี้ และเมื่อนึกย้อนกลับไป 1-2 ทศวรรษ ทุกอย่างมันเหมือนเริ่มต้นมาพร้อมกับคำว่า "ตุลาการภิวัฒน์"
    "#saveคณากรsavejustice ปรากฏการณ์ "คณากร" คือความตกตํ่าเชิงโครงสร้างของ "ความยุติธรรม" ในประเทศนี้"
    ขณะที่ศาสตราจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ความเห็นเป็นบทกลอนว่า ชีวิตคนเราตายได้หนึ่งครั้ง รอดตายคือถูกฝังสิ้นคุณค่า เพื่อกู้ความเป็นคนกลับคืนมา ความตายเป็นราคาต้องจ่ายไป ประเทศนี้แคบคับอับตันตีบ ยุติธรรมพลีชีพหวังแลกได้ รินน้ำตาสังเวชประเทศไทย จะต้องสังเวยให้อีกกี่คน
    ด้านนางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความแจ้งว่า ได้โอนเงิน  2,475 บาทเข้าบัญชีนายธนากร เพื่อทุนการศึกษาลูกแล้ว ทั้งนี้ ตัวเลข 2475 คาดว่านางอมรัตน์ต้องการโยงเรื่องนี้เข้าหาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"