12องค์กรออกแถลงการณ์คืนความเป็นธรรม หยุดแทรกแซงผู้พิพากษา!


เพิ่มเพื่อน    

08 มี.ค.2563 -  12 องค์กรประกอบด้วย 1.มูลนิธิผสานวัฒนธรรม 2.มูลนิธิสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา 3.ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  4.มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน 5.สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) 6.สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) 7.เครือข่ายปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) 8.เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP) 9.กลุ่มด้วยใจ (Duayjai Group) 10.สถาบันเพื่อการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม(สปยธ.) 11.เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD)  และ 12.กลุ่มโรงน้ำชา ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง คืนความเป็นธรรม หยุดแทรกแซงผู้พิพากษา สร้างหลักประกันความเป็นอิสระของตุลาการ
 
จากกรณีการเสียชีวิตของนายคณากร เพียรชนะ  โดยนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้แถลงว่าได้รับรายงานว่า นายคณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ศาลจังหวัดยะลา ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองเข้าที่บริเวณหัวใจ เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 และได้เสียชีวิตลงในเวลา 10.45 น. ที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ องค์กรที่ลงชื่อข้างท้ายแถลงการณ์ฉบับนี้ ขอแสดงความไว้อาลัยและความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ และขอเรียกร้องให้สำนักงานศาลยุติธรรมจัดให้มีการเยียวยาและดูแลครอบครัวอันเป็นที่รักของผู้พิพากษาท่านนี้อย่างเต็มกำลังและเหมาะสมตามฐานานุรูปของท่าน

ผู้พิพากษาท่านนี้เคยพยายามฆ่าตัวตายมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยใช้อาวุธปืนยิงที่หน้าอกของตนเอง ในห้องพิจารณาของศาลจังหวัดยะลาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 เพื่อเรียกร้องให้ยุติระบบของศาลยุติธรรมที่ให้ “ผู้บริหาร” ศาลยุติธรรมสามารถใช้อำนาจเข้าแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีของตุลาการในองค์คณะได้ แต่ในครั้งนั้นแพทย์ได้ช่วยชีวิตผู้พิพากษาไว้ได้ หลังจากนั้นผู้พิพากษาท่านนี้ได้ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนและถูกย้ายไปช่วยราชการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ แต่คำถามและข้อกังขาของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ในเรื่องการแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีขององค์คณะโดยผู้บริหารของศาลยังไม่มีคำตอบ แต่กลับมีการสอบสวนและตั้งข้อหาในคดีอาญาต่อผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ทำให้เห็นว่ากลไกการร้องเรียนเมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมของระบบตุลาการบกพร่องไปอย่างมาก ไม่มีข้อมูลว่าผู้พิพากษาระดับอธิบดีภาค  ที่เป็นผู้บริหารศาลที่ถูกพาดพิงว่าแทรกแซงการพิจารณาพิพากษาคดีองค์คณะของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ถูกตั้งกรรมการสอบสวนด้วยหรือไม่ และเหตุใดจึงมีการตั้งข้อหาในคดีอาญาต่อผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ดังปรากฏเป็นข้อความหนึ่งในจดหมายลาที่เผยแพร่ในเฟสบุ๊กของผู้พิพากษาท่านนี้เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2563 ว่า “ผมถูกศาลยุติธรรมตั้งกรรมการสอบสวน และยังถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา”

ตามหลักนิติธรรม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อที่ 14 และภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ได้รับรองความเป็นอิสระของศาลในมาตรา 188 วรรคแรก การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอํานาจของศาล ซึ่งต้องดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และวรรคสอง ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง แต่ระเบียบว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ. 2562 กำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจตรวจสำนวนคดีหลายประเภทของผู้พิพากษา รวมถึงอำนาจในการตรวจร่างคำพิพากษาหรือคำสั่ง

เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 2560 กับรัฐธรรมนูญ 2540 พบว่ารัฐธรรมนูญ 2540 มีบทบัญญัติรับรองและประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาที่กำหนดรายละเอียดเพื่อคุ้มครองความเป็นอิสระของผู้พิพากษา รวมทั้ง บทบัญญัติ มาตรา 236 ที่ว่าการนั่งพิจารณาคดีของศาลต้องมีผู้พิพากษาหรือตุลาการครบองค์คณะ และผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งมิได้นั่งพิจารณาคดีใด จะทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยคดีนั้นมิได้ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ  มาตรา 249 วรรคสอง การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น มาตรา 249 วรรคสาม การจ่ายสำนวนคดีให้ผู้พิพากษาและตุลาการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติ และมาตรา 249 วรรคสี่ การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดี จะกระทำมิได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี เป็นต้น

แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 จะถูกยกเลิกไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และ 2560 ที่ถูกนำมาใช้แทนก็ยังคงไว้ซึ่งหลักการและเจตนาใน “ความเป็นอิสระของตุลาการ” รวมทั้งหลักการสี่ประการนี้จะเป็นหลักประกันไม่ให้ผู้พิพากษาที่เป็นระดับผู้บังคับบัญชา แต่ไม่ใช่องค์คณะในคดีหนึ่งหรือมิได้นั่งพิจารณาในคดีใด เข้ามาแทรกแซงการทำคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยได้ ยืนยันให้ผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่ไม่ถูกเรียกคืนสำนวนหรือการโอนสำนวนคดี ไม่ให้ผู้บริหารของศาลมีอำนาจมอบหมายคดีหนึ่งให้กับผู้พิพากษาบางรายเป็นการเฉพาะ และให้การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาและตุลาการไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ดังนั้นระเบียบว่าด้วยการรายงานคดีฯ ดังกล่าวข้างต้น น่าจะขัดแต่หลักความเป็นอิสระของศาลและตุลาการ การพิจารณาพิพากษาคดีขององค์คณะที่รับผิดชอบสำนวนคดี กระทำอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่การตรวจร่างคำสั่งหรือคำพิพากษาโดยผู้บริหารของศาลยุติธรรมซึ่งอาจมีผลทำให้องค์คณะที่พิจารณาพิพากษาต้องเปลี่ยนแปลงคำสั่งพิพากษา กระทำในลักษณะที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ จึงอาจง่ายที่จะถูกแอบแฝงโดยบุคคล หน่วยงาน หรือฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลเพื่อแทรกแซงหรือครอบงำตุลาการได้

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงที่กองทัพยึดอำนาจรัฐและจัดตั้งระบอบเผด็จการทหารขึ้นปกครองประเทศ มีเหตุการณ์ การดำเนินคดี และการพิจารณาพิพากษาคดีโดยกระบวนการยุติธรรมไทยถูกตั้งข้อสงสัยจากทั้งในประเทศและโดยนานาประเทศ ถึงความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง โปร่งใสและความสามารถของกระบวนการยุติธรรมไทยตลอดมา ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมลดน้อยถอยลงโดยลำดับ  ในคดีความมั่นคงและคดีที่เรียกกันในหมู่นักกฎหมายว่า “คดีนโยบาย” ก่อนที่องค์คณะจะผ่านคำพิพากษา จะต้องส่งร่างคำพิพากษาให้ผู้บริหารของศาลตรวจสอบเสียก่อนและสามารถที่จะขอหรือ “แนะนำ” ให้องค์คณะปรับเปลี่ยนคำพิพากษาได้ โดยที่ระบบของศาลยุติธรรมเป็นระบบ “แบบราชการ” (Bureaucracy)  “คำแนะนำ” ย่อมมีผลไม่แตกต่างจาก “คำสั่ง” ของผู้บังคับบัญชา  เมื่อ “คำแนะนำ” ของผู้บริหารของศาลยุติธรรม มีผลในการปรับเปลี่ยนคำพิพากษาขององค์คณะได้ ทำให้ผู้เสียหาย จำเลยและทนายความในคดีอาญาบางท่าน ได้ตั้งคำถามว่า รัฐบาล กองทัพซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร สามารถแทรกแซงฝ่ายตุลาการโดยผ่าน “ผู้บริหาร”ของศาลยุติธรรมได้หรือไม่ กรณีคำสั่งคดีการไต่สวนการตายในเหตุการณ์ตากใบ คดีความมั่นคงหลายคดี ทั้งในจังหวัดชายแดนใต้และในช่วงการครองอำนาจของรัฐบาลทหาร คสช. เป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาที่สะกิด กระทั่งตอกย้ำความรู้สึกดังกล่าว

ดังนั้น ศาลยุติธรรม จึงควรพิจารณาทบทวนและยกเลิก ระเบียบ คำสั่ง การดำเนินการใดๆที่อาจมีผลเป็นการแทรกแซง ครอบงำ ความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของตุลาการในองค์คณะผู้พิพากษาโดยเร็ว โดยยึดมั่นหลักการ “ความเป็นอิสระของตุลาการ” ตามหลักสิทธิมนุษยชน นิติธรรม และหลักการและเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเคร่งครัด นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนบางสื่อ บางคน ได้โปรดเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้ตายและครอบครัว ละเว้นการใช้ถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามและเสียดสีเยาะเย้ยผู้ตาย โดยโปรดยึดมั่นในจรรยาบรรณทางวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด

การทำอัตวินิบาตกรรมของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะในวันที่ 7 มีนาคม 2563 มิใช่สิ่งที่บุคคลทุกคนพึงปรารถนาที่จะเห็น แต่ข้อเรียกร้องของผู้พิพากษาคณากร เพียรชนะ ที่ให้ยกเลิกระบบการแทรกแซงความเป็นอิสระของตุลาการยังไม่สำเร็จ และนี่คือสิ่งที่ทุกคนปรารถนา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ ฯพณฯ ประธานศาลฎีกาและคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) จะต้องปฏิรูประบบตุลาการโดยทันที เพื่อประกันความเป็นอิสระของตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งจากฝ่ายบริหารและจากบุคคลนอกองค์คณะ เรียกความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อศาลคืนมา และเพื่อให้ประชาชนแน่ใจว่าการละเมิดหรือละเลยหลักแห่งความยุติธรรม การปิดบังความไม่เป็นธรรมที่ยังดำรงอยู่อย่างซ่อนเร้นในสถาบันศาลยุติธรรม จะได้รับการแก้ไข เพื่อให้ศาลสามารถทำหน้าที่ตามหลักนิติธรรม เป็นสถาบันหลักของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน สามารถเรียกความเชื่อมั่นของประชาชนคืนมา จนประชาชนสามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากและภาคภูมิใจว่า ศาลจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนได้
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"