เรียกร้องอิสระตุลาการ


เพิ่มเพื่อน    

 ครอบครัวเพียรชนะรับศพผู้พิพากษาคณากร แม่เผยลูกชายสั่งเสียเผาศพวัดสันทรายมูล "สราวุธ" ระบุกองสวัสดิการศาลยุติธรรมพร้อมดูแลทายาท ขณะที่ "ชูชาติ" ชงมาตรการทดสอบทัศนคติสร้างผู้พิพากษาที่มีสภาพจิตปกติ ด้าน 12 องค์กรสิทธิมนุษยชนร้องยึดหลักการอิสระของตุลาการพ้นการแทรกแซง

    เมื่อวันอาทิตย์ ความคืบหน้ากรณีนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงเข้าบริเวณหน้าอกด้านซ้ายของตัวเองที่บ้านพักจนเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ล่าสุด เมื่อเวลา 13.00 น. ครอบครัวเพียรชนะ ภรรยาผู้เสียชีวิต ได้นำเสื้อผ้า รองเท้าชุดใหม่ ไปเปลี่ยนให้นายคณากร และนำเอกสารเข้าติดต่อขอรับศพ ขณะที่ศาลาวัดสันทรายมูล จ.เชียงใหม่ มีมารดาวัย 73 ปี ของนายคณากร ซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพฯ ได้มาเตรียมสถานที่รดน้ำศพ พร้อมเล่าว่า ลูกชายสั่งเสียไว้กับภรรยา ให้นำศพมาตั้งบำเพ็ญกุศลที่นี่ และจะตั้งสวดพระอภิธรรมเป็นเวลา 3 วัน ส่วนพิธีฌาปนกิจจะมีขึ้นในวันที่ 11 มีนาคม ที่สุสานสันกู่เหล็ก ในตัวเมืองเชียงใหม่ 
    ที่วัดสันทรายมูล จ.เชียงใหม่ นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา, นางวาสนา หงส์เจริญ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา, นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม, นายสวัสดิ์ สุรวัฒนานันท์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 และนายเดชวิมล สุมาวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ร่วมเดินทางไปรดนำศพนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ปัจจุบันช่วยงานกองผู้ช่วยศาลอุทธรณ์ภาค 5
    นายสราวุธกล่าวว่า ในวันนี้นอกจากรดน้ำศพ ตนพร้อมด้วยนางเมทินีและคณะก็ได้เข้าสอบถามเหตุการณ์พร้อมให้กำลังใจ ภรรยาของนายคณากรผู้เสียชีวิต เราได้เเจ้งกับภรรยานายคณากรว่าถ้ามีอะไรให้สำนักงานศาลยุติธรรมช่วยเหลือเรายินดีเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาชีพของภรรยาเเละการศึกษาของบุตร หลังจากนี้ก็จะมีการหารือถึงสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินบำเหน็จ บำนาญ สวัสดิการด้านต่างๆ ทั้งหมด
    นายสราวุธระบุว่า ในวันจันทร์ได้สั่งการให้กองสวัสดิการศาลยุติธรรมดูเเลในส่วนที่ทายาทของท่านคณากรจะได้รับ เพื่ออำนวยความสะดวกและเเจ้งถึงสิทธิประโยชน์ สำหรับวันนี้ทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 และศาลจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพในคืนเเรก 
    "ส่วนเหตุการณ์ครั้งนี้ ในการประชุม ก.ต.วันที่ 16 มี.ค.นี้ยังไม่ได้มีการบรรจุวาระเรื่องดังกล่าวลงไปแต่อย่างใด หากนายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา หรือสมาชิกคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เห็นว่าควรจะหยิบยกขึ้นมาหารือปรึกษาเพื่อพัฒนามาตรการที่จะแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็สามารถกระทำได้ ซึ่งทุกวันนี้เรามีการหารือเรื่องมาตรการการบริหารและตั้งอนุกรรมการศึกษาถึงปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ตลอด ในส่วนผู้ถูกพาดพิงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางสำนักงานศาลก็คอยดูแล เพราะเป็นหน้าที่ของสำนักงานยุติธรรมที่จะต้องช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของศาลยุติธรรมและผู้พิพากษาทุกคน" นายสราวุธระบุ
    วันเดียวกัน ที่ศูนย์ประสานงานฝั่งธนบุรี อดีตพรรคอนาคตใหม่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าสงสัยว่าตกลงแล้วมีการแทรกแซงคำพิพากษาของนายคณากรหรือไม่ หลักคำพิพากษาเป็นหลักการที่สำคัญ หากหลักการนี้ถูกแทรกแซง คงเป็นการยากที่จะทำให้คำพิพากษายุติธรรมได้ เมื่อตัวท่านได้ตัดสินใจแบบนั้น ทำให้เกิดการตั้งคำถามของสังคมว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการยุติธรรมของเราถูกเชื่อมั่นต่อไป แม้วันนี้ท่านอาจจะไม่ได้เห็นการปฏิรูปศาล และไม่มีโอกาสได้เห็นหลักประกันความอิสระของคำพิพากษา แต่เรายืนยันว่าจะสืบทอดเจตนารมณ์ของท่าน เพื่อทำให้คำพิพากษาเป็นของผู้พิพากษาอย่างแท้จริง
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นึกถึงความตายของนายสืบ นาคะเสถียร เพื่อแลกชีวิตกับการพิทักษ์ป่าทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้ง นอกจากนี้ยังเห็นความตายของนักศึกรามคำแหงอย่างน้อย 2 ชีวิต คือ นายธนาวุฒิ คลิ้งเชื้อ ซึ่งเผาตัวตายประท้วงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อตุลาคม 2533 อีกคนคือ นายพิทยา โยธามาศ คนจังหวัดตรัง กระโดดตึกเดอะมอลล์ รามคำแหง ซึ่งเหตุล้วนมาจากทางการเมือง รวมทั้งความตายของลุงนวม ไพรวัน ความตายเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าเป็นการฆ่าตัวตายอย่างมีหลักคิด เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีงาม โดยหวังว่าความตายนั้นจะนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น 
    นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng ระบุว่า คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมควรต้องพิจารณาว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องนำระบบการทดสอบทัศนคติ (Attitude Test) มาใช้ทดสอบผู้สมัครสอบเข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาทุกประเภท สังคมไทยและผู้มีอรรถคดีขึ้นสู่ศาลต้องการผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดี ต้องเป็นบุคคลที่มีสภาพจิตใจปกติ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่ และศึกษาหาความรู้ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติทั้ง 4 โดยไม่หวั่นเกรงต่ออิทธิพลใดๆ ทั้งต้องมีเมตตาธรรม 
    นายชูชาติระบุว่า ถ้าศาลยุติธรรมต้องการผู้พิพากษาที่มีคุณสมบัติดังกล่าว ก็ไม่ยากที่จะขอให้นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ช่วยออกข้อสอบที่จะใช้ในการทดสอบเพื่อให้ได้บุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ ถ้าผู้สมัครสอบคนใดไม่ผ่านการทดสอบย่อมไม่มีสิทธิสอบวิชากฎหมายและอื่นๆ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมมีหน้าที่ต้องรีบสร้างผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมให้เป็นผู้อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีให้ได้รับความเป็นธรรม ไม่ใช่มีหน้าที่เพียงตัดสินคดีให้เสร็จๆ ไปโดยไม่สนใจว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร
    วันเดียวกัน 12 องค์กรสิทธิมนุษยชนออกแถลงการณ์ ระบุใจความว่า ศาลยุติธรรม จึงควรพิจารณาทบทวนและยกเลิก ระเบียบ คำสั่ง การดำเนินการใดๆ ที่อาจมีผลเป็นการแทรกแซง ครอบงำ ความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีของตุลาการในองค์คณะผู้พิพากษาโดยเร็ว โดยยึดมั่นหลักการ ความเป็นอิสระของตุลาการ ตามหลักสิทธิมนุษยชน นิติธรรม และหลักการและเจตนารมณ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด นอกจากนี้ยังขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนบางสื่อ บางคน ได้โปรดเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของผู้ตายและครอบครัว ละเว้นการใช้ถ้อยคำดูหมิ่นเหยียดหยามและเสียดสีเยาะเย้ยผู้ตาย โดยโปรดยึดมั่นในจรรยาบรรณทางวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด
    ขณะที่บรรยากาศบริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ มธ. ใกล้ลานประติมากรรม 6 ตุลา ซึ่งเป็นจุดนัดหมายจัดกิจกรรม มีประชาชนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำบางส่วนจัดทำแผ่นป้ายกระดาษเขียนข้อความว่า ‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’ ซึ่งเป็นข้อความที่นายคณากรเคยกล่าวไว้ก่อนการใช้อาวุธปืนยิงตนเองในศาลยะลาครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"