รองปธ.ศาลฎีกาเผยยื่นประกันตัวมือเปล่าได้


เพิ่มเพื่อน    


    รองประธานศาลฎีกาชี้คำว่าคุกมีไว้ขังคนจนจะหมดไป ยื่นประกันตัวมือเปล่าได้รวดเร็ว เปิดกฎหมายผู้กำกับดูแลป้องกันคนหนีศาล จ่ายรางวัลเป็นแสนบาทต่อเรื่อง 
    เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 9 มีนาคมนี้ นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายประธานศาลฎีกา เรื่องการยกระดับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพผู้ต้องหาและจำเลย เดินทางไปยังศาลจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่อาคารเดียวกับสำนักงานศาลยุติธรรมภาค 3 มีนายพิศิฏฐ์ สุดลาภา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3, นายราชัญ กวีกุล หัวหน้าศาลจังหวัดนครราชสีมา, นายนิติธร ศรีบุตร รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลภาค 3 ให้การต้อนรับ ในการนี้มีคณะทำงาน อาทิ น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานแผนกล้มละลายในศาลฎีกา, นายสุรินทร์ ชลพัฒนา เลขาธิการประธานศาลฎีกา ในฐานะตัวแทนนายไสลเกษ วัฒนพันธ์ ประธานศาลฎีกา, นายนาวี วงศ์สกุลธนา รองเลขานุการศาลฎีกา และผู้พิพากษาร่วมสังเกตการณ์พร้อมรับฟังปัญหา
    นางเมทินีกล่าวว่า นโยบายของประธานศาลฎีกาเน้นหนักเรื่องการให้โอกาสผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกรองรับโดยรัฐธรรมนูญว่า ตราบใดศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด ให้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ให้ได้รับการปล่อยตัว ดังนั้นการเดินหน้าให้ความรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพ ให้เขาเข้าถึงการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้ปล่อยตัวเป็นหลักและไม่ต้องวิ่งหาหลักทรัพย์ ต้องทำต่อไป ขณะเดียวกันต้องรักษาความสมดุลของเหยื่ออาชญากรรม ว่ามีความรู้สึกสังคมสงบและปลอดภัย ซึ่งศาลยุติธรรมได้ดำเนินการแล้ว
    รองประธานศาลฎีกากล่าวว่า ประธานศาลฎีกาขยายมิติการปล่อยตัว 1.เรื่องขจัดอุปสรรคด้านเวลา ดังนั้น ประชาชนยื่นประกันตัวได้ทุกวัน ปล่อยในวันนั้น ถ้าไม่ปล่อยต้องทราบผลในวันนั้น ถ้าจะส่งศาลสูงต้องส่งใน 1 ชั่วโมง 2.เรื่องรูปแบบ ต้องมีความสะดวก เร็ว ลดความเหลื่อมล้ำ เอาเงินเก็บไว้ให้ลูกไปโรงเรียนหรือหาหลักฐานมาสู้คดีในศาลดีกว่า รูปแบบคือ มีหลักทรัพย์ ไม่มีหลักทรัพย์ที่ใช้วิธีการและเงื่อนไข ตามกฎหมายใหม่ประกอบการสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ในขณะนี้มี 3 ระดับดุลพินิจ คือ 1) ให้ปล่อยโดยไม่ต้องมีสัญญาประกันเลย ใช้กับคดีเล็กน้อย 2) ปล่อยโดยให้ทำสัญญาประกัน แต่ไม่มีหลักประกัน 3) ให้ปล่อยชั่วคราวโดยทำสัญญาประกันและมีหลักประกัน แต่หลักทรัพย์ค่อยหามายื่นภายหลังได้ 
    นอกจากนี้ ผู้พิพากษาอาจใช้ดุลพินิจวางเงื่อนไขประกอบ เช่น ให้ใส่กำไลข้อเท้าโดยไม่ต้องวางหลักประกัน สำหรับการตรวจสอบการเตือนว่าเขาจะหนีหรือเข้าเขตที่ห้ามหรือไม่สำหรับคดีความผิดทางเพศ หรือทำร้ายร่างกาย และปัจจุบันยังมีวิธีการใหม่ที่ผู้พิพากษายังไม่นิยมใช้อีก 2 แบบ ที่ขอให้ประชาชนได้ทราบคือ 1.การร้องขอให้ใช้แบบประเมินความเสี่ยง ที่เป็นเอกสารแผ่นเดียวกับคำร้องขอปล่อยตัว ตัวอย่างเช่น เมื่อนาย ก.ถูกนำตัวจากโรงพักมาฝากขัง ตัวผู้ต้องหาจะถูกขัง ญาติจะอยู่หน้าเคาน์เตอร์เตรียมขอประกัน และในมือมีหลักทรัพย์ที่อาจไปหยิบยืมหรือเช่ามาจากนายประกัน คราวนี้เจ้าหน้าที่จะบอกว่าให้ใช้แบบประเมินความเสี่ยงนะ โดยกรอกแบบสอบถาม 50 ข้อ เมื่อตอบเสร็จ เจ้าหน้าที่กดข้อมูลลิงก์ไปยังตำรวจ ฝ่ายปกครอง ศาลยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ ใช้เวลาจุดนี้ 12 นาที แล้วเมื่อได้ผลออกมาว่า "ความเสี่ยงต่ำ” เจ้าหน้าที่จะเสนอผู้พิพากษาเวรประกัน เพื่อใช้ดุลพินิจไม่เกิน 45 นาที รวม 57 นาที จากเดิมยื่นเช้าสั่งเย็น แต่เรื่องนี้ขอให้ผู้พิพากษามีความกล้าที่จะให้ประกัน ไม่มีใครถูกสอบวินัยเพราะให้ประกัน  
    นางเมทินีกล่าวว่า วิธีการใหม่อีกวิธีที่ผู้พิพากษายังไม่มีใครใช้คือ วิธีตาม พ.ร.บ.มาตรการกำกับและติดตามการจับกุมผู้หลบหนีการปล่อยตัวชั่วคราวโดยศาล ปี 2560 ซึ่งการหลบหนีจะส่งผลกระทบต่อการพิจารณาคดีล่าช้า ส่งผลต่อนโยบายป้องกันอาชญากรรม เมื่อหนีคดีไปก็ไม่มีการติดตามตัว ดังนั้นจึงกำหนดให้มีคนในชุมชนที่ผ่านการอบรมหรือไม่ต้องผ่านการอบรม รับหน้าที่ติดตามตัวมาขึ้นศาล หรือถ้าไม่หนีก็ให้คำแนะนำให้ความรู้แก่ผู้ต้องหาที่ปล่อย เพื่อให้กลับคืนสู่สังคม ซึ่งมีเงินค่าตอบแทนและค่าใช้จ่าย ในมาตรา 5 ซึ่งรองรับโดยระเบียบกรรมการบริหารศาล เช่น ผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ที่สามารถให้คำนำให้คำปรึกษา โดยการรับรายงานตัวได้ครั้งละ 2 พันบาท ไม่เกิน 5 พันบาท (อาจเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ครู) ผู้ให้คำปรึกษา ได้รางวัลครั้งละ 2 พันบาท ไม่เกิน 3 หมื่นบาท ผู้สอดส่องได้ครั้งละ 2 พันบาท ไม่เกิน 1 หมื่นบาท แจ้งความนำจับ เจ้าหน้าที่ผู้จับ (ตำรวจท้องที่หรือคอร์ทมาร์แชล) จะมีเงินรางวัล ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายต่ำสุด 2 หมื่นบาท มากสูงสุด 1 แสนบาทต่อเรื่อง
    “นโยบายของประธานศาลฎีกาคือภาพของคำว่า "คุกมีไว้ขังคนจน” จะหมดไป และคุกคือที่ขังเฉพาะคนที่อันตรายต่อสังคม” นางเมทินีกล่าว และว่า ในวันที่10 มี.ค. ตนจะพาผู้พิพากษาไปเรือนจำจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมผัสกับความทุกข์ของผู้ต้องขัง เพราะบางคนยอมติดคุกโดยไม่ยื่นประกันตัวเลยเพราะไม่มีเงิน และไม่รู้ว่ามีโอกาสแล้ว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"