จับมือฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน


เพิ่มเพื่อน    

 

        จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ส่งผลให้ลุกลามเป็นไฟลามทุ่ง กระทบถ้วนหน้าร้านค้า-อาหาร ผู้ประกอบการทุกธุรกิจ แม้แต่ผู้ประกอบการสายการบินยังอยู่ไม่ติดที่ วิ่งโล่เข้าพบ ”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม เพื่อให้หามาตรการช่วยอุ้มธุรกิจสายการบินที่ขณะนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักหนาสาหัส

                หลังจาก รมว.คมนาคม และตัวแทนสายการบินเอกชน 17 สายการบินหารือร่วมกัน ในส่วนของภาคเอกชนได้เสนอให้ทางรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน), กรมท่าอากาศยาน (ทย.),  บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เข้ามาช่วยเหลือ ยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินการของสายการบิน เพื่อให้สายการบินสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หลังจากที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

                โดยในช่วงที่ผ่านมาจนกระทบต่อต้นทุนการบริหารงาน แม้ว่าผู้ประกอบการจะปรับลดค่าใช้จ่ายภายในองค์กรลง 30-50% และจัดโปรโมชั่นกระตุ้นตลาดประมาณ 2,000 ล้านบาท  ในช่วง มี.ค.-ธ.ค.นี้ และจำหน่ายตั๋วโดยสารราคาพิเศษ แต่จำนวนผู้โดยสารยังปรับตัวลงต่อเนื่อง เบื้องต้นผู้ประกอบการสายการบินประเมินว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะมีผลกระทบต่อเนื่องประมาณ 1 ปีครึ่ง จึงจะกลับสู่ภาวะปกติ

                จากข้อมูลพบว่าจำนวนผู้โดยสารต่างประเทศลดลง 35.2% และในประเทศลดลง 18.4% โดยจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดลดลง 2.54 ล้านคน มีจำนวนเครื่องบินที่ถูกยกเลิกในต่างประเทศมีจำนวน 6,960 เที่ยวบิน และในประเทศ 919 เที่ยวบิน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่นั่งของเครื่องบินเพิ่มขึ้น 30-40% เกิดจากค่าการขึ้นลงของอากาศ ค่าที่เก็บอากาศยาน และการใช้สะพานเทียบ เบื้องต้นมอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมรวบรวมรายละเอียด และหาข้อสรุปแนวทางการช่วยเหลือ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา

                ขณะที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้มีการประชุมร่วม 4 หน่วยงาน และสายการบินได้ข้อสรุปมาตรการที่จะเสนอ ครม.ศก. โดย ทอท.และ ทย.จะลดค่า Landing fee และค่า Parking fee ลง 50% ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.2563 ให้สายการบินที่ทำการบินภายในประเทศ และสายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศในเส้นทางที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัสโควิด-19 จำนวน 11 ประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, อิหร่าน ทวีปยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี และเขตปกครองพิเศษ ได้แก่ ฮ่องกง, มาเก๊า, ไต้หวัน

                สำหรับข้อเสนอของสายการบินนั้น ได้ขอให้ ทอท.ปรับลดการขึ้นลงอากาศยาน จากที่จัดเก็บในอัตราต่างประเทศ 10,425 บาท และในประเทศ 5,213 บาท ต่อการลงจอด ที่เก็บอากาศยานต่างประเทศ 1,230 บาท ในประเทศ 615 บาท ต่อ 6 ชั่วโมง การใช้สะพานเทียบเครื่องบิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศจัดเก็บ 1,070 บาทต่อ 40 นาที โดยขอลดปีแรก 100%  และปีที่ 2 สัดส่วน 50% และค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 100-350 บาท ต่อตรม./เดือน ขอลด 50% เป็นระยะเวลา 2 ปี การใช้สนามบินต่างประเทศ 700 บาท ในประเทศ 100 บาทต่อผู้โดยสาร โดยขอลด 50% เป็นเวลา 2 ปี อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 หน่วยงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจทั้ง ทอท.และ บวท. ต้องเสนอเรื่องให้บอร์ดพิจารณาเพื่อขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO)

                โดยนายศักดิ์สยามได้กล่าวกับผู้ประกอบการว่า นายกรัฐมนตรีต้องการให้ดูแลทุกคน ให้สามารถผ่านสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ไปด้วยกัน หากเรื่องที่หน่วยงานสามารถช่วยเหลือได้ก็ให้ดำเนินการ โดยให้พิจารณาตัวเลขที่เหมาะสม โดยมาตรการที่หน่วยงานสามารถช่วยเหลือ ไม่กระทบต่อการดำเนินงานก็ให้ทำเอง ส่วนที่ช่วยเหลือแล้วกระทบต่อการบริหาร หรือต้องขอรับการสนับสนุนจากรัฐก็เสนอรัฐบาล เพราะ ทอท.อาจจะมีสภาพคล่องมากกว่า ทย. โดยมาตรการช่วยเหลือนั้นจะเป็นช่วงที่มีผลกระทบ หากสถานการณ์คลี่คลายก็ยกเลิกมาตรการ

                สำหรับมาตรการช่วยเหลือสายการบิน หลังจากที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ พบว่ามาตรการที่เสนอไปนั้นได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมฯ และหลังจากนี้จะมีการนำเสนอที่ประชุม ครม.ใหญ่อีกครั้ง ถือว่าเป็นการพึ่งพาอาศัยกันในภาวะที่คับขัน เมื่อทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน อุปสรรคที่มีก็จะคลี่คลายได้ แม้ประเทศไทยเราจะเจอกับวิกฤติเชื้อไวรัสระบาดโควิด-19 เชื่อว่าหลังจากนี้เราจะจับมือผ่านพ้นไปด้อย่างแน่นอน. 

กัลยา ยืนยง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"