เมินงัดมาตรา44ปราบโกง บิ๊กตู่:กฎหมายปกติเอาอยู่


เพิ่มเพื่อน    

    "บิ๊กตู่" ปัดใช้ ม.44 ปราบโกง ยันสอบ "กองทุนเสมาฯ-เงินคนจน" กฎหมายปกติเอาอยู่ ขันนอตบทลงโทษทุจริตเข้มงวดขึ้น เผยแค่มีกลิ่นสอบเบื้องต้น 30 วัน สั่ง "ดอง-ย้าย-ไล่ออก" ได้ทันที พร้อมห้ามกลับตำแหน่งเก่าระยะ 3 ปี ประเดิมโชว์เชือด 13 ตำรวจ 1 ผอ.โรงเรียน "พม." จ่อลงดาบโกงเงินคนไร้ที่พึ่งล็อตแรก ซี 7-8 จำนวน 5 คน "อนันตพร" ฟุ้งถอนรากถอนโคนวงจรคอร์รัปชันหมดภายใน 2 เดือน
    เมื่อวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ยุติธรรม ระบุจะใช้มาตรา 44 กับข้าราชการที่ทุจริตในกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตของกระทรวงศึกษาธิการว่า ในที่ประชุม คสช.ตนให้แนวทางในเรื่องการพิจารณาบทลงโทษการทุจริตที่ต้องเข้มงวดมากขึ้น โดยออกมาตรการต่อต้าน ป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้กับรัฐบาล เพราะ คสช.มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญเสนอมาตรการให้รัฐบาลปฏิบัติ เช่น กรณีที่มีข้อร้องเรียนมา ก็ให้ต้นสังกัดตรวจสอบขั้นต้นภายใน 7 วัน และให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ถ้ามีมูลก็ปรับย้ายออกมาก่อน ถ้าร้ายแรงก็ย้ายมาที่สำนักนายกรัฐมนตรี
    "ทั้งข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร และรัฐวิสาหกิจ และถ้าผิดจริงก็จะมีทั้งเรื่องวินัย คดีอาญา และแพ่ง แต่ถ้าไม่ถึงขั้นไล่ออก ก็กำหนดห้ามปรับย้ายสูงขึ้น หรือเทียบเท่าตำแหน่งเดิมขึ้นบัญชีไว้ 3 ปี ไม่เช่นนั้นจะไม่กลัวกัน ไม่ใช่พอตรวจสอบเสร็จก็กลับมาใหม่อีก ต่อไปนี้ไม่ให้แล้ว ส่วนอีกเรื่องคือการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดประสิทธิผล ไม่ตรงตามนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาเกียร์ว่าง วันนี้จะเข้มงวดทั้งหมด ไม่เช่นนั้นสื่อและสังคมไม่ไว้วางใจ และปัญหาจะกลับมาที่รัฐบาลอีก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวถึงปัญหาทุจริตกองทุนเสมาฯ ว่า จะไม่ใช้ ม.44 แก้ปัญหา เพราะมีกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่เข้มงวดขึ้น ซึ่งขั้นตอนแรกเป็นเรื่องของกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 7 วันและ 30 วัน อีกขั้นเป็นเรื่องของกรรมการสอบสวนในเรื่องวินัยว่าควรจะย้ายออกหรืออยู่ในกระทรวง จากนั้นเป็นขั้นตอนตามกฎหมาย คดีอาญาและแพ่ง เช่น กรณีการทุจริตเงินผู้ไร้ที่พึ่ง ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือกรณีของกระทรวงศึกษาธิการ มีคณะอนุกรรมการสามัญ (อ.ก.พ.) ประจำส่วนราชการระดับกระทรวงดำเนินการอยู่ ซึ่งอาจจะให้ออกจากราชการไว้ก่อนก็ได้
    ถามว่า กรณีทุจริตกองทุนเสมา คิดว่าเป็นขบวนการใหญ่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เขาตรวจสอบอยู่ ประเด็นคือทำไมอยู่นานนัก ตนก็ไม่เข้าใจตรงนี้เหมือนกัน แต่เขาบอกว่ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว คราวนี้ก็ต้องไปสอบว่าใช่หรือไม่ใช่ ถึงใครก็ถึงคนนั้น รัฐบาลก็เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบให้เร็วขึ้น เอาหน่วยงานภายนอกไปตรวจสอบด้วย มีทั้ง ศอตช., ป.ป.ช., ปปง., ป.ป.ท. และถ้าจำเป็นก็มี ม.44 
    "ประเด็นสำคัญผู้ที่มีความมัวหมองในเรื่องทุจริต หรือเรื่องอื่นทุกกรณีที่มีผลกระทบ อย่างการค้ามนุษย์อะไรต่างๆ เราจะไม่มีการปรับย้าย 3 ปี ถ้ามีคดีอาญาก็เอาออกไป ให้มีความเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เวลา 3 ปีไม่ใช่เบา ปรับย้ายไม่ได้ก็ลอยอยู่อย่างนั้น ถ้าผิดก็เอาออก วันนี้ตัวอย่างอันแรกข้าราชการตำรวจอาจจะเกี่ยวข้องกับคดีค้ามนุษย์ ระดับ พ.ต.อ.ลงมาและผู้อำนวยการโรงเรียนรวม 14 ราย ย้ายมาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และจะพิจารณาต่อว่าจะให้ออกจากราชการหรือไม่” นายกฯ กล่าว
    ขณะที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวถึงผลการตรวจสอบทุจริตเบิกจ่ายเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่งของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งของ พม.ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น 59 ศูนย์ พบการทุจริต 21 ศูนย์ ไม่พบ 8 ศูนย์ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 30 ศูนย์ โดยศูนย์ที่ตรวจพบการทุจริตนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบขึ้นมาเป็นล็อตๆ ซึ่งล็อตแรกตรวจสอบเสร็จแล้ว รายงานผลมาให้ทราบเบื้องต้น พบข้าราชการระดับ 7 และ 8 เกี่ยวข้องจำนวน 5 คน โดยจะพิจารณาลงโทษให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้ ส่วนล็อตที่ 2 จะทยอยได้ข้อสรุปและลงโทษต่อไป
    ถามว่า ที่พบทุจริตสามารถเชื่อมโยงไปถึงปลัดและรองปลัด พม. ที่ถูกมาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านี้หรือไม่ พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า มีการให้การเชื่อมโยงทั้งหมด เพราะการทุจริตครั้งนี้มีทั้งเจ้าตัวปฏิบัติเอง และมีการสั่งให้ปฏิบัติ 
    รมว.พม.ยอมรับเรื่องที่นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาระบุการทุจริตเริ่มตั้งแต่การวิ่งเต้นตำแหน่งเพื่อให้ได้ลงไปทุจริตในพื้นที่มีส่วน ซึ่งข้อมูลจากทุกหน่วยตรงกัน ถือเป็นวงจร ภายใน 2 เดือนนี้จะตัดวงจรแบบถอนรากถอนโคน   
    "ผิดหวังในสิ่งที่พบ ซึ่งขัดแย้งกับชื่อกระทรวง แต่คนดีเขาก็ยังมี คนไม่ดีต้องลงโทษกันไป ใครไม่ดีต้องลงโทษ ใครที่ดีต้องให้ก้าวหน้า คนในกระทรวงคงเข้าใจช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤติของกระทรวง โดยวันที่ 28 มี.ค. จะมีการประชุมเรื่องยุทธศาสตร์การฟื้นฟูภาพลักษณ์กระทรวง ใครมีข้อมูลขอให้เอามาให้โดยเร็ว เรื่องจะได้จบ ไม่ต้องกลัวผู้บังคับบัญชาจะกลับมาใหม่แล้วลงโทษตัวเอง ยืนยันเราเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ นายกฯ กำชับในที่ประชุม ครม.ให้เอาจริง โดยการตรวจสอบทั้งหมดจะยังใช้กฎหมายปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44" รมว.พม.กล่าว
    วันเดียวกัน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมร่วมระหว่าง คสช.และ ครม.กรณีมาตรการการป้องกันและปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการว่า คสช.ได้เสนอแนวทางมาตรการการป้องกันและปราบการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการแก่รัฐบาล ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบ โดยมีรายละเอียดคือ ที่ผ่านมาเมื่อมีการร้องเรียนการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ ขอให้หน่วยงานราชการโดยเฉพาะหัวหน้าหน่วยงานนั้นๆ เริ่มต้นการตรวจสอบโดยทันที โดยกำหนดเวลาให้เริ่มต้นการตรวจสอบภายใน 7 วันนับแต่ได้รับข้อมูล และดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน  
    "หากพบข้อมูลเบื้องต้นที่ทำให้พอเชื่อได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ให้หัวหน้าหน่วยงานราชการดังกล่าวพิจารณาการดำเนินการ ปรับย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้องไปดำรงตำแหน่งอื่นเป็นการชั่วคราว หากเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรงอาจหมุนเวียนอยู่ในกระทรวงเดิม แต่หากเป็นเรื่องที่มีความร้ายแรง หรือหากยังอยู่ในกระทรวงเดิม อาจส่งผลต่อพยานหลักฐาน ให้ปรับย้ายออกจากกระทรวงเดิมไปหน่วยงานอื่น อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดตำแหน่งรองรับตำแหน่งข้าราชการระดับสูง 100 ตำแหน่ง เช่นเดียวกับพนักงานในรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรมหาชน จำนวน 50 ตำแหน่ง" พล.ท.สรรเสริญกล่าว
    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หากตรวจสอบพบมีหลักฐานชัดเจนจนสามารถชี้มูลความผิดได้ ให้หัวหน้าส่วนราชการนั้นดำเนินการทางวินัยทันที โดยไม่ต้องรอผลคดีอาญาแต่อย่างใด และหากมีข้อมูลที่สามารถส่งให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) สามารถรับไปดำเนินการทางคดีอาญาได้ ขอให้ดำเนินการโดยทันที
    ช่วงค่ำ พล.อ.ประยุทธ์ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 73/2561 เรื่อง ให้ข้าราชการมาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยที่การค้ามนุษย์เป็นปัญหาสำคัญร้ายแรงที่รัฐบาลกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนที่จะต้องป้องกันและปราบปรามอย่างเฉียบขาด โดยเมื่อมีเรื่องร้องเรียนหรือตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีส่วนกระทำความผิด จึงต้องดำเนินการทางวินัยและทางอาญาโดยเร็ว เพื่อให้การดำเนินการความถูกต้อง เป็นธรรม พยานกล้าเปิดเผยข้อเท็จจริงและนำหลักฐานมาแสดง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (3) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 
    นายกฯ จึงมีคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจและข้าราชการอื่น รวม 14 ราย ที่รายงานเบื้องต้นว่ามีส่วนกระทำความผิดดังกล่าว มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีในระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริงและการดำเนินการทางวินัย โดยความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือทางอาญา โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม และให้อยู่ในการกำกับดูแลของปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) 
    ขณะเดียวกันให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หรือหน่วยงานต้นสังกัดโยกย้ายข้าราชการเหล่านี้ออกจากตำแหน่งเดิมไปสู่หน่วยงานที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องการค้ามนุษย์ โดยไม่เลื่อนตำแหน่งหรือยศสูงขึ้น จนกว่าจะมีคำสั่งสำนักนายกฯ เป็นประการอื่น ประกอบด้วย 1.พ.ต.อ.นคร พักไพโรจน์ ผกก. (สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.ภ.4 2.พ.ต.อ.พิศุทธิ์ ศุกระศร รอง ผบก.อก.ภ.7 3.พ.ต.ต.กิตติชัย โถวิเชียร สว.สส.สภ.ขมิ้น จ.สกลนคร 4.ร.ต.อ.หญิง จริยาภรณ์ พ่วงพี่ดี รอง สว. (สอบสวน) สภ.เมืองกาญจนบุรี 5.ร.ต.ท.ยุทธพล อนันตวิเชียร ฝ่าย ตม.ขาออก ด่าน ตม.ทอ.สุวรรณภูมิ บก.ตม.2 6.ร.ต.ท.สมปอง หีบแก้ว รอง สว.กก.สืบสวน 3 บก.สส.ภ.4 
    7.ร.ต.ท.สุรศักดิ์ ชาญขุนทด รอง สว. (สส.) กก.สืบสวน 1 บก.สส.ภ.3 8.ร.ต.ต.กัมปนาท สาเกทอง รอง สว. (ป.) ส.ทท. 2 กก.1 บก.ทท.1 9.ด.ต.วชัยรัตน์ มงคลเคหา ผบ.หมู่ ตม.จว.เลย บก.ตม.4 10.ด.ต.สมศักดิ์ หวังมีสุข ผบ.หมู่ กก.สส.2 บก.สส.บช.น. 11.ด.ต.อนันต์ สมศรี ผบ.หมู่ (ป.) สน.ฉลองกรุง 12.ด.ต.อภินันท์ แก้วผล ผบ.หมู่ ส.รฟ.นพวงศ์ กก.1 บก.รฟ. 13.จ.ส.ต.วโรดม วรพันธ์ ผบ.หมู่ งานสายตรวจ 3 กก.สายตรวจ บก.สปพ.และ 14.นายเจริญ ศรีพรม ผอ.โรงเรียนบ้านนาน้อย อ.ภูเรือ จ.เลย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"