"โควิด-19" พ่นพิษ ฉุดเศรษฐกิจไทยโตต่ำสุดรอบ 11 ปี


เพิ่มเพื่อน    

 

        สถานการณ์การแพร่ระบาดของ “เชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19)” ในประเทศไทย ที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ยังเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก เนื่องจากยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีผู้เสียชีวิตรายแรกในประเทศไทยแล้วด้วย

      ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายส่วน โดยเฉพาะในมุมของเศรษฐกิจ “ภาคการท่องเที่ยว” เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และค่อนข้างมาก จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของทางการจีน ทำให้นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทย หายไปอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่นักท่องเที่ยวหลายประเทศต่างก็ชะลอการเดินทางออกไป จากความวิตกกังวลของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยเช่นกัน ทำให้ ณ ปัจจุบันพบว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยหายไปแล้วกว่า 50%

      ไม่เพียง “ภาคการท่องเที่ยว” เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ อุตสาหกรรมอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วยเช่นกัน โดยจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวนี้เอง ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกมาประเมินว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะฉุดให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 เติบโตต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี ตั้งแต่วิกฤติซับไพรม์ในปี 2552 โดยคาดว่าจีดีพีจะลดลงมาอยู่ที่ 0.5% จากคาดการณ์เดิมที่ 2.7%

      โดยจากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วมากกว่า 9 หมื่นคน ครอบคลุมมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก เป็นผลให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับความเสี่ยงไวรัสโควิด-19 เป็นแพร่ระบาดในระดับสูง ซึ่งการแพร่ระบาดในครั้งนี้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงเชิงลบมากขึ้น โดยจากความกังวลของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อรวมกับมาตรการที่เข้มงวดในการสกัดกั้นการแพร่ของเชื้อในประเทศต่างๆ ย่อมส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งการผลิต การบริโภค และการลงทุนทั่วโลกต้องชะงักงัน

      แน่นอนว่า เศรษฐกิจประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนอกประเทศจีน มีระดับความรุนแรง และมีแนวโน้มที่จะลากยาวไปมากกว่าไตรมาสแรก โดย “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย”  มองว่า ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวมากที่สุด จากคาดการณ์ที่ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยจะ “หดตัวลึกในช่วงครึ่งแรกของปี” และจะทยอยฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่าราว 4 แสนล้านบาท

      ขณะที่ภาคการส่งออกคาดว่าจะติดลบ 5.6% เนื่องจากการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกทรุดตัวอย่างมาก อีกทั้งยังก่อให้เกิดดิสรัปชั่นในห่วงโซ่อุปทานโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห่วงโซ่อุปทานของจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าขั้นต้นและสินค้าขั้นกลางของไทยอย่างมีนัยสำคัญ

      ไม่เพียงเท่านี้ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคในไทย ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนในไทยมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน จากปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น อาจเป็นผลให้นักลงทุนไทยและต่างชาติมีความเป็นไปได้ที่จะชะลอการลงทุนในไทย ส่งผลให้การลงทุนจากภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญ

      ขณะที่การลงทุนภาครัฐอาจจะ “ล่าช้า” ออกไป จากความเป็นไปได้ที่ดิสรัปชั่นในห่วงโซ่อุปทานโลกอาจก่อให้เกิดการขาดแคลนสินค้าทุนที่จำเป็นต่อโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ทำให้ภาครัฐอาจต้องหันมาใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน เพื่อเยียวยาความเสียหายทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ส่งผลให้การเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับการลงทุนรัฐต้องล่าช้าออกไปเช่นเดียวกัน

      ด้านการบริโภคภายในประเทศ ก็เป็นอีกปัจจัยที่มีแนวโน้มซบเซาลงจากเศรษฐกิจที่อ่อนแรง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ก่อให้เกิดความกังวลในการออกไปใช้จ่าย ส่งผลให้ภาคการค้าปลีกของไทยในปีนี้น่าจะได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ภายใต้มูลค่าการตลาดที่หดตัว 0.8-2.2% จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป รวมถึงบรรยากาศในการจับจ่ายใช้สอยของคนในประเทศที่ซบเซา โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ที่น่าจะมีการใช้จ่ายลดลง แต่อาจจะถูกแทนที่ด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ อาหารแห้งและของใช้ส่วนตัว รวมถึงหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ล้างมือ ซึ่งมีความจำเป็นและอาจมีการสำรองสินค้ากลุ่มนี้ไว้ ตามกำลังซื้อท่ามกลางความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

      “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า ธุรกิจค้าปลีกที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ รวมถึงร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกที่อยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น สยาม ราชประสงค์ รัชดาภิเษก ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าที่เดิมทีก็เผชิญความท้าทายจากการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านั้น หรือการลงทุนขยายสาขาใหม่ และการบำรุงซ่อมแซมสาขาเก่า รวมถึงการบริหารพื้นที่เช่าให้สามารถสร้างผลตอบแทนกลับคืนมาได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ตลอดจนการแข่งขันกับอีคอมเมิร์ซที่มีบทบาทในตลาดมากขึ้น

        จากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ทำให้ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มีมุมมองค่อนข้างระมัดระวังต่อการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในปี 2563 และยังต้องรอมาตรการของภาครัฐที่จะออกมากระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการ กลยุทธ์ด้านราคา การรักษาคุณภาพของการให้บริการที่ดีสม่ำเสมอ รวมถึงระบบรักษาความปลอดภัยต่างๆ ยังมีความจำเป็นต่อการกระตุ้นหรือจูงใจให้ผู้บริโภคออกมาใช้จ่าย ภายใต้การประเมินความคุ้มค่าของการใช้งบในการทำการตลาดและจังหวะที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการมีมาตรการดูแลและป้องกันสุขภาพของการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าที่มาใช้บริการ

        ขณะที่ฝั่งของผู้เช่ารายย่อย (พ่อค้า-แม่ค้าที่เช่าพื้นที่ขายภายในศูนย์การค้า) ผู้ประกอบการก็ได้มีมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการปรับลด หรืองดการขึ้นค่าเช่าชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวไปบ้างแล้ว  ซึ่งอาจจะเห็นการช่วยเหลือเพิ่มเติมมากขึ้น โดยเฉพาะหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ลากยาวออกไป

        เศรษฐกิจที่ชะลอลงส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจของไทยอาจเผชิญกับปัญหาขาดสภาพคล่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้มีการปิดกิจการหรือลดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ดังนั้นรัฐบาลไทยอาจจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้

        “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” มองว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้เกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยทางโครงสร้างเช่นในปี 2540 จึงส่งผลให้เศรษฐกิจใช้เวลาในการฟื้นตัวค่อนข้างนาน ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในครั้งนี้เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ค่อนข้างลากยาวและมีผลกระทบสูง จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยทรุดตัวลงอย่างรุนแรง อย่างไรก็ดี มองว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ดังนั้น ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดเป็นไปตามสมมุติฐาน เศรษฐกิจไทยน่าจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"