ผุดทางแก้ปัญหาโควิด19 ใช้พรก.ฉุกเฉิน-งบกลาง


เพิ่มเพื่อน    


      ฝ่ายค้านขอเสียงสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 3 หนุนญัตติเปิดประชุมสภาวิสามัญฯ คลี่คลายวิกฤติ 4 เรื่อง สัญญาจะพูดเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช้วาทกรรมโจมตี "วัฒนา" แนะใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินสนธิกำลังทุกฝ่ายร่วมกันป้องกันแก้ไขวิกฤติไวรัสโควิด-19 แกนนำพรรคกล้าเสนอใช้งบฉุกเฉิน 9.6 หมื่นล้านอุดหนุน ปชช.กลุ่มเสี่ยงตรวจโรคโควิดฟรี 
      เมื่อวันอาทิตย์ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คัดค้านการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อหารือแนวทางการแก้วิกฤติของประเทศ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่ฝ่ายรัฐบาลย่อมต้องกลัวการถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่อยากให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของฝ่ายค้านที่ต้องการใช้เวทีรัฐสภาในการระดมความคิดเห็นร่วมกันเพื่อหาทางออกจากวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยขณะนี้พรรคเพื่อไทยร่างญัตติขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเอาไว้เรียบร้อยแล้ว และตั้งแต่วันจันทร์ที่ 16 มี.ค.เป็นต้นไป จะนำญัตติดังกล่าวไปขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาทุกคน เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนอย่างน้อย 1 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา คือประมาณ 246 เสียง ซึ่งลำพังเสียงของฝ่ายค้านมีไม่พออยู่แล้ว จึงต้องขอความร่วมมือจากทุกคน หากครบถ้วนก็จะสามารถเปิดประชุมได้ จึงหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายในการลงชื่อเพื่อขอเปิดประชุมครั้งนี้
      "ผมหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจาก ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.ทุกท่าน ในการร่วมแรงร่วมใจกันใช้เวทีสภาคลี่คลายวิกฤติของชาติ 4 เรื่อง คือ การหามาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การแก้ปัญหาภัยแล้ง การแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน รวมทั้งปัญหาการชุมนุมของนักศึกษาที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสร้างประชาธิปไตยให้ประเทศ" น.อ.อนุดิษฐ์กล่าว
      น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวด้วยว่า หากมีเสียงสนับสนุนเพียงพอในการเปิดประชุมสมัยวิสามัญการอภิปรายของฝ่ายค้านจะมีแต่เนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเท่านั้น ส่วนเรื่องวิวาทะหรือการสร้างวาทกรรมจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นขอให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลสบายใจได้ว่าจะไม่ใช่เวทีโจมตีรัฐบาลอย่างเด็ดขาด ส่วนความกังวลว่าจะทำให้สมาชิกรัฐสภาที่มาประชุมเสี่ยงกับการติดโรค และเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสนั้น พวกเราทุกคนอยู่ในวิสัยที่จะป้องกันตัวเองได้
     นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคพรรคไทย โพสต์เฟซบุ๊กว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นที่หนักกว่าโควิด-19 คือการที่ประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นและไม่มีความไว้วางใจในรัฐบาล ตนจะแนะนำรัฐบาลให้รีบดำเนินการ คือใช้อำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อแต่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน” โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ เพื่อสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายร่วมกันป้องกัน แก้ไข ระงับยับยั้ง ฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน มีอำนาจกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อป้องกัน แก้ไข หรือระงับสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น
     นายวัฒนาระบุว่า มาตรการที่จำเป็นที่สุด เช่น (1) เปิดทีวีช่องใดช่องหนึ่งตลอด 24 ชั่วโมง เป็นช่องทางสื่อสารเดียว (single channel) เพื่อให้ความรู้ที่เกี่ยวกับโควิด-19 รวมถึงวิธีการป้องกันและวิธีการรักษารวม (2) รวบรวมบุคลากรทางการแพทย์มาอยู่ในคณะกรรมการเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้มาตรการเกี่ยวกับการป้องกันและการรักษาเป็นมาตรการเดียวกัน (3) กำหนดมาตรการอันจำเป็นสำหรับอุปกรณ์เพื่อการป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่ามีเพียงพอที่จะให้ประชาชนใช้เพื่อป้องกัน ใส (4) กระทรวงการคลังจะต้องกำหนดมาตรการอันจำเป็นเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่ใช่การแจกเงินที่ไม่เกิดประโยชน์ ที่สำคัญคือจะต้องเร่งดำเนินการก่อนที่ทุกอย่างจะสายจนเกินแก้
      ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช กรรมการกิจการพิเศษ และหัวหน้าศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ พรรค พท. กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้มีปฏิกิริยาตอบสนองตามที่ตนและนักวิชาการได้เคยเสนอ โดยได้ยกเลิกการแจกเงินคนละ 1,000 บาท แต่ก็ยังมีอีกหลายมาตรการ ที่พรรคฝ่ายค้านและนักวิชาการได้เคยนำเสนอยุทธวิธีที่ต่างประเทศใช้แล้วได้ผล จึงขอเสนอสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้เลย 1.ให้ กสทช.สนับสนุนประชาชนโดยให้ใช้อินเทอร์เน็ตฟรี 1 ปี 2.ให้ไปรษณีย์ไทยลดค่าขนส่งลงร้อยละ 50 3.รัฐบาลควรรีบเร่งแก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูงและปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างจริงจัง  4.การลดค่าเงินบาท เพื่อช่วยเหลือการส่งออก โดยอัดฉีดงบประมาณแก้ไขให้ตรงจุด 5. เร่งออกนโยบายตั้งกองทุนช่วยเหลือคนไทยที่ได้รับผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าหากวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์เปิดใจฟังสิ่งดีๆ ที่มีคนแนะและนำไปใช้ ก็จะทำให้สามารถผ่านวิกฤติโรคระบาดและพิษเศรษฐกิจไปได้อย่างแน่นอน
     นายเอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส.เชียงราย พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอเอก Ekkapob Pianpises ระบุว่า ช่วงนี้ผมรู้สึกโกรธสุดๆ กับการแก้ปัญหาที่ต้องขอใช้คำว่า "ห่วย" ในเรื่อง COVID19 กับ PM2.5 ทั้งของรัฐบาลและหน่วยงานราชการระดับประเทศและระดับจังหวัด ตอนนี้ทั้งเรื่องไวรัสโควิด 19 ที่กลัวกันว่ากำลังระบาดมากขึ้นในประเทศ และเรื่องฝุ่นควันพิษที่ตอนนี้เชียงรายก็หนักมากกว่าปีที่ผ่านมา ถ้ายังทำงานกันแบบนี้ประชาชนจะตายกันหมดแน่ ถ้าไร้ความสามารถกันขนาดนี้ ก็ช่วยหลบไปให้คนมีความสามารถเขาได้ทำงานแก้ปัญหาดีมั้ยครับ
    นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี แกนนำผู้ก่อตั้งพรรคกล้า เสนอแนะแนวทางให้ใช้งบกลางสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉิน 96,000 ล้านบาทบางส่วน อุดหนุนให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดไวรัสโควิด-19 เข้ารับการตรวจฟรี ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยย้ำสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 47 ที่บุคคลย่อมมีสิทธิ์ได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
     "ขณะนี้เวลาเราไปเข้าโรงพยาบาล ถ้าเกิดตรวจพบว่าเป็นโควิดก็รักษาฟรี แต่ถ้าตรวจแล้วไม่เป็นโควิดก็ต้องเสียเงินค่าตรวจ ซึ่งอยู่ราคาตั้งแต่ 6,000, 6,500, 7,500 บาท กินเงินถึงครึ่งหนึ่งของเงินเดือน ขณะที่มีคนรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทอยู่หลายสิบล้านคน จึงควรต้องจัดให้มีการตรวจโรคโควิดฟรี แต่หากงบประมาณของรัฐมีจำกัด และเพื่อไม่ให้เกิดความหนาแน่นในโรงพยาบาลมากไป ก็ให้ตรวจฟรีเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น บริเวณที่มีโรคโควิดระบาด บุคคลในบริเวณนั้นก็ควรมีสิทธิ์ได้รับการตรวจโรคฟรีทั้งหมด จึงอยากให้รัฐบาลเร่งเปิดเป็นนโยบายให้มีการตรวจโรคโควิดฟรี จะเป็นการควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ" นายอรรถวิชช์กล่าว
    ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเตรียมรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และภัยแล้งว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรศึกษาเพื่อเตรียมนำเอาการใช้มาตการ QE หรือมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณมากเป็นพิเศษ มาใช้หากมีความจำเป็นระยะ 1-2 เดือนข้างหน้า จะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและชะลอความผันผวนรุนแรงในตลาดการเงินได้ ส่วนแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น  ก็เป็นเรื่องที่สามารถนำมาพิจารณาดำเนินการได้เพื่อประคับประคองสถานการณ์ แต่ต้องไม่ใช้เงินภาษีประชาชนหรือเงินสาธารณะ และต้องมุ่งไปที่การดูแลผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม กองทุน กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้รัฐบาลจำเป็นต้องนำงบประมาณปี 2563 มาทบทวนใหม่ และการจัดเตรียมงบประมาณปี 2564 โดยต้องนำผลกระทบของโรคโควิด-19 มาพิจารณา ให้มีการจัดสรรงบประมาณปี 2563 ใหม่ โดยงบกลาง 518,770 ล้านบาทนั้น ควรนำมาจัดสรรให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มเติม เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดในวงกว้างในระยะที่ 3 หากงบประมาณไม่เพียงพอ ขอให้พิจารณาก่อหนี้สาธารณะหรือกู้เงินเพิ่มเพื่อซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันแพร่ระบาดโควิด-19 และรักษาโรคให้เพียงพอ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"