ภาคใต้ผวาหนัก ยะลาหา132คน 'ภูเก็ต'บี้งดทัวร์


เพิ่มเพื่อน    


    ชายแดนใต้ผวาไวรัสระบาด ผู้ว่าฯ ยะลาวอนคนไทย 132 คนที่เข้าร่วมงานเผยแผ่ศาสนาในมาเลเซียพบแพทย์ด่วนเพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ขณะที่เอกชนภูเก็ตเดือด อัดระบบการบริหารเปราะบาง ไร้กลไกจัดการที่มีประสิทธิภาพ จี้งัดมาตรการสกัดนักท่องเที่ยวกลุ่มเสี่ยงเด็ดขาด 30 วัน พยุงวิกฤติท่องเที่ยว 
    เมื่อวันอาทิตย์ ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารที่ทำการ อบต.ท่าพระ อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น นายวิสิฐ จันทะรี ปลัด อบต.ท่าพระ ปฏิบัติหน้าที่นายก อบต.ท่าพระ เป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และการจัดทำหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง โดยนายวิสิฐระบุว่า ที่ผ่านมาประชาชนที่อยู่ในเขต ต.ท่าพระ ที่เดินทางกลับมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงและเข้ารับการกักกันโรคในพื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากตัวบุคคลที่เดินทางกลับมาและคนในชุมชนอย่างดี แต่จากนี้ไปเมื่อภารกิจดังกล่าวนั้นรัฐบาลมอบให้กับชุมชนนั้นดำเนินการ ซึ่งต้องทำงานอย่างรัดกุมและเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยในภาพรวม 
     "ผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศกลุ่มเสี่ยงตามที่รัฐบาลกำหนด ก็ขอให้รายงานตัวกับผู้นำชุมชน เพื่อเข้ารับการกักกันโรคตามาตรการดังกล่าว โดยขอให้ความร่วมมือกับทางการเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบตนเองต่อสังคมเพื่อผ่านภาวะวิกฤตินี้" นายวิสิฐระบุ 
    ที่ จ.ภูเก็ต ภาคเอกชนภูเก็ตรายงานสรุปสถานการณ์การท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และการติดตามข้อเสนอมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตจากรัฐบาล โดยคณะกรรมการร่วมองค์กรเอกชนจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต, สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้, สมาคมโรงแรมหาดป่าตอง, สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมกะตะกะรน, หอการค้าจังหวัดภูเก็ต, สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต, บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง,สมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต 
    โดยธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตได้ประเมินตัวเลขการสูญเสียทางเศรษฐกิจ โดยใช้สมมติฐานตัวเลขเปรียบเทียบจากจำนวนนักท่องเที่ยวรวมที่เกิดขึ้นในปี 2562 สามารถประเมินได้ว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรงอย่างน้อยประมาณ 24,500 ล้านบาท และส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งระบบอีกอย่างน้อย 18,960 ล้านบาท (โดยไม่ได้นับรวมการสูญเสียจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์) 
    "การสูญเสียทางเศรษฐกิจในเดือนมีนาคม 2563 น่าจะสูงกว่าประมาณการในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ขยายไปจนทั่วทวีปยุโรป และจำนวนผู้ติดเชื้อได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และอย่างรวดเร็ว โดยทางสมาคมประเมินว่าจะเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยตรงอย่างน้อยประมาณ 29,700 ล้านบาท และส่งผลต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งระบบอีกอย่างน้อย 20,960 ล้านบาท (โดยไม่ได้นับรวมการสูญเสียจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์)" 
    ภาคเอกชนได้ประเมินว่า หากปริมาณผู้ติดเชื้อในประเทศจีนลดลง และสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ นักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางกลับมาในปลายเดือนกรกฎาคม โดยคาดการณ์จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางร้อยละ 50 ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว และน่าจะเริ่มเดินทางอย่างเป็นปกติในช่วงวันชาติจีนในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน น่าจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในระยะเวลาใกล้เคียงกัน 
    "ประเด็นที่ท้าทายของแนวโน้มการท่องเที่ยวในอนาคต ไม่ใช่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาในช่วงเวลาใด หากเป็นประสิทธิภาพในการควบคุมการระบาดในประเทศให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดได้หรือไม่ เพราะต่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติพร้อมจะเดินทางกลับมา แต่เกิดการระบาดภายในประเทศไทย ย่อมไม่มีนักท่องเที่ยวชาติไหนจะเดินทางเข้ามา และผลกระทบด้านภาพลักษณ์ของประเทศจะต้องอาศัยเวลาและทรัพยากรในการแก้ไขมากกว่าการระงับไม่ให้นักท่องเที่ยวกลุ่มเสี่ยงเข้ามาในช่วงนี้" รายงานภาคเอกชนระบุ
    รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นว่าระบบการบริหารราชการแผ่นดินปัจจุบัน มีความเปราะบางและไร้กลไกการจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบงบประมาณที่ไม่ได้จัดสรรงบประมาณสำรองเพื่อกรณีฉุกเฉิน ในการที่สามารถจะสนับสนุนกิจกรรมสำคัญตามความจำเป็นได้ ทำให้มาตรการในการควบคุมการระบาดในจังหวัดภูเก็ตเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ และงบประมาณในการสนับสนุนปฏิบัติการหลายอย่างเป็นการระดมทุนมาจากภาคเอกชน เพราะไม่สามารถรองบประมาณจากภาครัฐได้
    ทั้งนี้ ทางองค์กรเอกชนจังหวัดภูเก็ตจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล สั่งการให้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉินโควิด-19 ประจำจังหวัดภูเก็ต (Phuket COVID-19 Crisis Management Command Center) โดยไม่ยึดกรอบอำนาจการบริหารราชการในภาวะปกติ เพื่อบูรณาการทุกหน่วยงานให้สามารถเตรียมพร้อมและรับมือกับการเข้าสู่การระบาดในระยะที่สาม และสามารถเป็นหน่วยงานหลักหน่วยงานเดียวที่สั่งการ ควบคุมและกำกับดูแลมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงเป็นการจัดเตรียมโครงสร้างในการรองรับการระบาดในฉากทัศน์ (scenario) ที่มีความรุนแรงสูงสุด เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมก่อนที่จะเข้าสู่เหตุการณ์จริง
    ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดสรรงบประมาณอย่างน้อย 100 ล้านบาทเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้ศูนย์บริหารภาวะฉุกเฉินโควิด-19 ประจำจังหวัดภูเก็ต โดยเน้นไปที่การจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น การสร้างระบบเทคโนโลยีในการค้นหา และติดตามการกักกันตัวในที่พำนัก รวมถึงการจัดเตรียมสถานที่กรณีมีความจำเป็นต้องใช้เป็นโรงพยาบาลสนามสำรองเป็นการล่วงหน้า และเป็นงบประมาณที่สามารถดำเนินงานสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างทันท่วงที 
    ภาคเอกชนในจังหวัดภูเก็ต ขอเสนอให้แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถในการจัดการด้านการบริหารในภาวะวิกฤติมาเป็นประธานดำเนินงานศูนย์ ที่มิใช่ข้าราชการประจำทั้งจากกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เพราะการดำเนินมาตรการที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่จำกัดในการจัดการภูเก็ตในภาวะวิกฤติของทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต 
    ประการสุดท้ายที่สำคัญคือ แม้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต แต่ในห้วงเวลาที่ต้องเลือกระหว่างการสร้างภูเก็ตให้เป็นชุมชนที่แข็งแรง และพร้อมที่จะกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกในระยะเวลาข้างหน้า หรือการยังคงเปิดรับนักท่องเที่ยว และปล่อยให้ประชาชนชาวภูเก็ตไปเสี่ยงกับการติดเชื้อจากนักท่องเที่ยว และทำให้สุขภาพโดยรวมของประชาชนเสื่อมลง
    ทางองค์กรเอกชนภูเก็ตขอยืนยันที่จะให้มีมาตรการสกัดนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยงโดยเด็ดขาดเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน โดยเน้นประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ และไม่จำกัดเฉพาะประเทศที่ได้รับการประกาศจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อลดทอนโอกาสการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหมู่ประชาชนชาวภูเก็ต บนตรรกะว่า การยอมได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในระยะสั้นจากการสกัดนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยง มีโอกาสที่จะทำให้ภูเก็ตสามารถกลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในระดับโลกได้ในเวลาอีกไม่นาน และมีข้อได้เปรียบมากกว่าการปล่อยให้จังหวัดภูเก็ตมีประชาชนชาวภูเก็ตติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และมีภาพลักษณ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้ติดเชื้อมา อันจะนำมาซึ่งความเสียหายทั้งเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดภูเก็ตในระยะยาว 
    ที่ จ.ยะลา จากกรณีคนไทย 132 คน ที่เดินทางกลับจากไปร่วมงานเผยแผ่ศาสนา ณ มัสยิดศรีเปตาลิง ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 ก.พ.-2 มี.ค.63 ที่ผ่านมานั้น โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 10,000 คน และต่อมาได้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากการเข้าร่วมชุมชนดังกล่าว ทั้งนี้ ปรากฏรายงานข่าวว่ามีคนไทยเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวจำนวน 132 คน ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาจากประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ 
    ล่าสุด มีนายชัยสิทธิ์ พาณิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา  กล่าวว่า ขอฝากไปยังคนไทยทั้ง 132 คนดังกล่าวที่เดินทางกลับมายังประเทศไทยแล้ว รวมถึงญาติผู้ใกล้ชิดของผู้เข้าร่วมกิจกรรม รีบไปพบแพทย์ทันที ณ สถานพยาบาลบ้านใกล้บ้าน เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยขอให้แจ้งโรงพยาบาลทราบถึงกิจกรรมที่ได้ทำและประวัติการพบปะผู้คนอย่างละเอียด เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยถูกต้อง และงดออกไปในที่สาธารณะและกักตัวอยู่ในบ้านเป็นเวลา 14 วัน รวมทั้งให้สังเกตอาการ หากมีไข้ ไอ หรือมีอาการทางระบบหายใจ ให้สวมหน้ากากอนามัย และหากมีกรณีฉุกเฉิน ขอให้แจ้งสายด่วน 1669 เพื่อจะได้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
    ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า รายชื่อประชาชนที่เดินทางไปร่วมร่วม "Qudamak & Ulamak Malaysia 2020” มีการเผยแพร่ทางสื่อโซเซียล ส่วนใหญ่เป็นชาว จ.นราธิวาส และ จ.ปัตตานี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"