โมบายล์ เพย์เมนท์เดือด


เพิ่มเพื่อน    

    สมรภูมิ "อีเพย์เมนต์" ในประเทศไทย เริ่มดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ หลังจากสถาบันการเงินชั้นนำในประเทศเริ่มช่วยกันโหม ช่วยกันโปรโมตบริการอีเพย์เมนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชัน การสนับสนุนการชำระเงินผ่านระบบคิวอาร์โค้ด หรือการใช้จ่ายผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเพียงไม่ถึงปี ด้วยการรุกการทำตลาดอย่างหนัก ทำให้คนไทยเริ่มหันมาใช้จ่ายผ่านระบบอีเพย์เมนต์มากขึ้น  
     แต่ถึงอย่างไรก็ดี ในภาพของ "อีเพย์เมนต์" ทั้งหมด ยังมีอยู่สมรภูมิหนึ่งที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ เพราะถึงจะมาเงียบๆ ไม่หวือหวา แต่ก็ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไม่ใช่น้อย นั่นก็คือ "โมบายล์ เพย์เมนต์ (Mobile Payment)" ซึ่งในขณะนี้ผู้ให้บริการสัญญาณมือถือ เกือบทุกค่ายต่างหันมารุกตลาดนี้อย่างจริงจัง ขณะเดียวกันทางกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์แก็ตเจ็ตไอทีต่างๆ ก็หันมาท้าชิงบนเวทีของโมบายล์ เพย์เมนต์ ด้วยเช่นกัน ทำให้การแข่งขันของธุรกิจเริ่มทวีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง
    เมื่อมองถึงเจ้าตลาด "โมบายล์ เพย์เมนต์" คงหนีไม่พ้น True Money (ทรูมันนี่) ซึ่งปัจจุบันฐานลูกค้าทรูมันนี่อยู่ที่ 8 ล้านราย แต่แอคทีฟที่ยังทำธุรกรรมอยู่มีถึง 4 ล้านราย ซึ่งเป้าหมายของทรูมันนี่ในปีนี้ ตั้งเป้าให้มีลูกค้าที่แอคทีฟอยู่ในระดับ 5 ล้านราย ส่วนวงเงินหมุนเวียนผ่านบริการนี้รวมกันกว่า 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก
     โดยการที่คู่แข่งที่จะมาตีท้ายครัวของทรูมันนี่ จะต้องเก่งและแข็งแรงมาก เพราะอย่างที่ทราบ บริษัท แอสเซนด์ กรุ๊ป เจ้าของทรูมันนี่ นอกจากเป็นธุรกิจที่มีทุนหนาจากเครือซีพีแล้ว พันธมิตรที่มาร่วมถือหุ้น ยังมีบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป บริษัทในเครือ อาลีบาบา ซึ่งเป็นเจ้าของ อาลีเพย์ มาเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นพันธมิตรด้วย ส่งผลให้ สถานะของทรูมันนี่ จะไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการโมบายล์ เพย์เมนต์ ในประเทศไทยเท่านั้น แต่จะเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาค 
     ทั้งนี้ ตามข้อมูลระบุว่า บริษัทได้เข้าไปทำธุรกิจแล้วใน 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ทั้งนี้ ทรูมันนี่ในต่างประเทศมีผู้ใช้แพลตฟอร์มกว่า 5 ล้านราย ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนใน 6 ประเทศ รวมกันกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.65 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 80% จากปีก่อนหน้านี้
    นับว่าสถานะของทรูมันนี่แข็งแกร่งและมีศักยภาพสูง โดยเฉพาะเมื่อได้ความเก่งของแอนท์ไฟแนนเชียล ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์ทั้งเรื่องของการพัฒนาบริการให้เหมาะสมกับลูกค้า เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งเอไอและบล็อกเชนเข้ามาเพิ่มความสามารถของทรูมันนี่ให้ดีขึ้น 
     เมื่อกลุ่มทรูรุกหนักขนาดนี้ ผู้ให้บริการมือถือยักษ์ใหญ่เบอร์ 1 ของไทย อย่างเอไอเอส (AIS) ก็คงอยู่เฉยไม่ได้ เพราะว่าชื่อเสียงของ "mPAY" (เอ็มเปย์) ที่ทำธุรกิจมาอย่างยาวนาน จำเป็นต้องเติบโตเช่นกัน แต่ด้วยศักยภาพของเอ็มเปย์เวลานี้ หากดำเนินการคนเดียวอาจจะเติบโตช้า ทำให้ค่ายเอไอเอสคิดใหม่ ด้วยการประกาศเข้าซื้อหุ้น "แรบบิท ไลน์ เพย์" แพลตฟอร์มโมบายล์ เพย์เมนต์ ในสัดส่วน 33.33%
         ทั้งนี้ การประกาศร่วมทุนระหว่างแอดวานซ์ เอ็มเปย์ และแรบบิท ไลน์ เพย์ จึงกลายมาเป็นคำตอบที่น่าสนใจ และมีโอกาสทำให้ mPAY ที่จะผันตัวไปเป็นแพลตฟอร์มอีเพย์เมนต์ กลับมาเป็นผู้นำในตลาดนี้อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับพันธมิตรหลักอย่างแรบบิท (Rabbit) และไลน์ (LINE) และยิ่งไปกว่านั้น มันคือการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะจำนวนลูกค้าที่ใช้งาน LINE กว่า 42 ล้านรายในไทย และเอไอเอสซึ่งมีลูกค้าอีก 40 ล้านราย จะช่วยต่อจิ๊กซอว์ เพิ่มจำนวนผู้ใช้งานอย่างก้าวกระโดด
         โดยข้อมูลจำนวนผู้สมัครใช้งานล่าสุดของ mPAY จะอยู่ที่ราว 3-4 ล้านราย โดยในจำนวนนี้เป็นลูกค้าที่มีการใช้งานเป็นประจำ (Active User) ราว 4-5 แสนราย ในขณะที่ Rabbit LINE Pay (RLP) ให้ข้อมูลว่าปัจจุบันมีลูกค้าสมัครใช้บริการราว 3 ล้านราย และจำนวนการใช้งานสูงสุดใน 1 วัน อยู่ที่ 1.5 ล้านราย 
    เห็นได้ชัดว่า จากลูกค้าหลักแสน ลงทุนได้เพิ่มทันทีอีก 3 ล้านราย ซึ่งการที่มีฐานลูกค้าที่กว้างขึ้น ทำให้ Rabbit LINE Pay สามารถกลายเป็นผู้ท้าชิงบัลลังก์ของทรูมันนี่ได้อย่างสนุก และการที่ได้เอไอเอสมาเสริม ทำให้ Rabbit LINE Pay จะได้เครื่องมือและกิจกรรมทางการตลาดเพิ่มขึ้นอีกมากมาย 
    นี่คือยกที่ 2 ของธุรกิจโมบายล์ เพย์เมนต์ จากนี้จะต้องจับตาการแข่งขันที่ดุเดือดเลือดพล่านแน่นอน ซึ่งท้ายที่สุด ลูกค้าที่ใช้งานจะได้รับประโยชน์สูงสุดแน่นอน.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"