วิโชค มุกดามณี บูชา ”ครูใหญ่วงการศิลปะ” จัดจิตรกรรมรำลึก 111 ปี อ.เฟื้อ หริพิทักษ์


เพิ่มเพื่อน    

 

 

 

      แม้ช่วงนี้ทุกอย่างหยุดนิ่งด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่การดูแลป้องกันตัวเองจะช่วยให้ฝ่าวิกฤติได้ ส่วน ครม.มีมติสกัดโควิด งดกิจกรรมที่มีคนจำนวนมากมารวมตัวกัน แต่ก็ยังเดินทางปกติได้ ขณะนี้มีนิทรรศการศิลปกรรมที่มีคุณค่าอยากแนะนำ เพราะเกี่ยวข้องกับอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ปูชนียบุคคลแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทย เป็นศิลปินและครูศิลปะคนสำคัญ ผู้ทุ่มเทบุกเบิกแนวทางการวาดภาพตามแนวทางเฉพาะตัวเป็นแบบอย่างแก่นักศึกษาศิลปะและศิลปินรุ่นหลัง ให้สร้างสรรค์ผลงานด้วยจิตวิญญาณและความมุ่งมั่น ยึดถืออุดมการณ์ทำงานศิลปะเพื่อจรรโลงสังคม

      นอกจากนี้ ท่านยังมีบทบาทชัดเจนในการอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศให้เป็นสมบัติของลูกหลาน ทุ่มเทแรงกายแรงใจซ่อมแซมภาพจิตรกรรมสำคัญในวัดทั่วประเทศไทยจำนวนมาก ผลงานชิ้นสำคัญคือ การบูรณปฏิสังขรณ์หอไตรปิฎก วัดระฆังโฆสิตาราม จนได้รับรางวัลแมกไซไซเมื่อ 37 ปีก่อน และได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2528

 

ศ.วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะลูกศิษย์ ผู้สืบทอดและสร้างสรรค์ผลงาน

 

      นิทรรศการจัดขึ้นเพื่อยกย่อง “อ.เฟื้อ ครูใหญ่ในวงการศิลปะ” และในโอกาส 111 ปีชาตกาลอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ศ.วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2555 ในฐานะลูกศิษย์ ได้จัดโครงการนิทรรศการ “จิตรกรรมรำลึก 111 ปี อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ โดยวิโชค มุกดามณี” ขึ้น ไฮไลต์ได้รวมจิตรกรรมภาพคนและภาพเปลือย (Nude) จำนวนมากกว่า 40 ชิ้น สร้างสรรค์ด้วยหลากหลายเทคนิควิธีการ โดยศิลปินนำแรงบันดาลใจจากคำสอนของอาจารย์เฟื้อมาต่อยอดพัฒนา จนกระทั่งเป็นรูปแบบเฉพาะตัวของศิลปิน

      ภาพทั้งหมดโดดเด่นด้วยสีสันอันสดใสและการผสมผสานของเนื้อสีอย่างสลับซับซ้อน อิริยาบถ รายละเอียดของใบหน้าและร่างกาย ตลอดจนแสงเงา ทั้งหมดถูกตัดทอนแล้วขับเน้นใหม่ จนเกิดเป็นบรรยากาศอันแปลกตาและน่าพิศวง

      ฝีแปรงที่เฉียบขาดและการคลี่คลายรูปทรง ก่อให้เกิดชีวิตชีวา สะท้อนความชำนาญและกระบวนการทำงานเฉพาะตัวของ ศ.วิโชค นี่คือเอกลักษณ์ของจิตรกรรมที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชมนิทรรศการพิเศษนี้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ระหว่างวันที่ 5 มี.ค.ถึงวันที่ 30 เม.ย.2563 นี้

 

ภาพเปลือยชื่อ "ยามเช้า" เทคนิคสีน้ำมันบนผ้าใบ

 

      สำหรับ ศ.วิโชค เจ้าของผลงาน เป็นอาจารย์และศิลปินอาวุโสมากประสบการณ์ เป็นหนึ่งในศิลปินผู้บุกเบิกสร้างงานศิลปะสื่อผสมในบ้านเรา เมื่อครั้งเป็นนักศึกษาหนุ่มที่คณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เรียนวาดภาพกับบรมครูผู้นี้ ทั้งยังแวดล้อมด้วยครูบาอาจารย์ผู้มากความสามารถ หล่อหลอมให้เขามีความมุ่งมั่นและเข้มแข็งในการสร้างงานศิลปะจนทุกวันนี้

      พล.อ.นพ.วิทยา ช่อวิเชียร ประธานเปิดนิทรรศการฯ กล่าวว่า จิตรกรรมรำลึก 111 ปี อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ เปรียบเสมือนการตกผลึกครั้งสำคัญในเส้นทางศิลปินของ ศ.วิโชค มุกดามณี ที่เมื่อย้อนกลับไปในช่วงแรก คือการเริ่มต้นจากมล็ดพันธุ์ นั่นคือคำสอนจากอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ผู้เป็นครูคนสำคัญ ศ.วิโชค ใช้ความมานะอุตสาหะและการทำงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง เป็นเสมือนน้ำที่รดลงสู่ดิน ส่งเสริมให้แนวทางการทำงานเจริญเติบโตในแนวทางเฉพาะของตัวเอง ทั้งยังแตกแขนงไปในหลายทิศทางทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ผลงานจัดวาง และสื่อประสมตลอดระยะเวลามากกว่า 40 ปี ศ.วิโชคยังคงสร้างสรรค์ผลงานและร่วมขับเคลื่อนวงการศิลปะอย่างไม่หยุดนิ่งงานศิลปะ ในนิทรรศการครั้งนี้สะท้อนอุดมการณ์และความกตัญญูที่ลูกศิษย์คนหนึ่งจะทำให้แก่อาจารย์ในฐานะศิลปิน

 

."พักผ่อน" ได้แรงบันดาลใจจากคำสอนของอาจารย์เฟื้อมาต่อยอด

 

      ด้าน ศ.วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า อ.เฟื้อสอนวิชาจิตรกรรมให้ลูกศิษย์ในคณะจิตรกรรมฯ ตั้งแต่ยุคเริ่มต้น โดยมี ศ.ศิลป์ พีระศรี เป็นคณบดีคอยดูแลบริหารคณะ เพื่อรำลึกถึง อ.เฟื้อ ผู้มีพระคุณแก่ศิษย์ทั้งในคณะจิตรกรรมและวิทยาลัยช่างศิลป์ จนท่านถึงแก่กรรม ปี 2536 ตนจึงรวบรวมผลงานที่เคยศึกษากับท่านอาจารย์ ผลงานสื่อผสมระยะแรกๆ ของตน และผลงานสร้างสรรค์ตามแนวการสอนของท่านอาจารย์จัดแสดงเผยแพร่ให้ความรู้ ทั้งแนวคิดและวิธีการสร้างสรรค์ ตั้งใจให้เกิดประโยชน์ต่อวงการศิลปะร่วมสมัยไทย

      “ อาจารย์เฟื้อจะเป็นอาจารย์สอนจิตรกรรมที่ลูกศิษย์สนใจเป็นพิเศษ เพราะมีภาพเขียนที่ประทับใจ และอาจารย์จะให้ความสำคัญกับการใช้สีเป็นพิเศษ มีกฎเกณฑ์เฉพาะตัว เช่น ห้ามใช้สีดำ เพราะทำให้สีที่ผสมด้วยไม่สดใส ให้ใช้สีเข้มแทน ผมก็เคยเรียนกับท่านหลายปี ตั้งแต่วิชารีเสิร์ชศิลปะไทย จนถึงวิชาจิตรกรรมสีฝุ่น และสีน้ำมัน ระหว่างปี 2513-2516 วิชาจิตรกรรม ท่านให้คะแนนหินมาก กว่าจะผ่านด่านไปถึงเกรด B ได้เลือดตาแทบกระเด็น ผู้ที่ได้เกรด A ต้องพูดว่าทรหด และมีฝีไม้ลายมือสุดยอดอย่างไร อ.เฟื้อเคยแนะนำเทคนิคการเตรียมพื้นผ้าใบสำหรับเขียนสีน้ำมัน ใช้กาวกระถินมาต้มผสมสีฝุ่น กันผ้าใบดูดสี กันเชื้อรา และเฟรมจะตึง ภาพที่ผมเขียนในช่วงนั้นคุณภาพสีและรอยแปรงยังสดใส มีพลัง ผมยังเก็บภาพไว้ได้หลายชิ้น” ศ.วิโชค กล่าว

 

หนึ่งในผลงานศิลปกรรมบูชาครูใหญ่ ชื่อ "ฝันกลางวัน"

 

      ผลงานในนิทรรศการพิเศษนี้ ศ.วิโชคกล่าวว่า มีภาพคนและภาพเปลือยหลายเทคนิค เป็นหญิงเปลือยในอิริยาบถต่างๆ เช่น ผลงานชื่อ “สุภาพสตรีนั่งเก้าอี้สีแดง” และ “สุภาพสตรีในห้องสีชมพู” เป็นงานเขียนสีน้ำมัน ส่วนผลงานชื่อ “ยามเช้า” ตนเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบ นอกจากนี้มีผลงานชุด “นางแบบ” เป็นงานสีน้ำมันและสีอะครีลิกบนอะลูมิเนียม รวมถึงการวาดภาพเปลือยถ่ายทอดเรื่องราวความลุ่มหลงและปรารถนา ฝีแปรงเคลื่อนไหวตามใจปรารถนา ทำให้เกิดภาพขึ้น

 

ศ.วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ กับผลงานศิลป์น่าชม รำลึกอ.เฟื้อ

 

      “  ในส่วนผลงานภาพเปลือยของศิลปินในยุคสมัยต่างๆ และผลงานภาพเปลือยของคณาจารย์รุ่นครูบาอาจารย์ รวมถึงอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ท่านใช้เทคนิคสีชอล์กวาดได้อย่างงดงาม น่าจะเป็นสิ่งบ่งบอกความในใจของศิลปินทุกๆ ท่านที่เป็นผู้สร้างสรรค์ได้ว่า ในส่วนลึกของความในใจนั้นเปี่ยมด้วยพลังที่จะผลักดันภาพที่ตนเองประทับใจ ให้ปรากฏออกมาให้ผู้คนได้เห็น ได้รู้จัก มีความสุข เช่นที่ศิลปินรู้รสแห่งความสุขเมื่ออยู่ในสภาวะการสร้างสรรค์ผลงาน และยืนยันว่าในวิถีของศิลปินการเริ่มศึกษาสิ่งที่เห็นจากธรรมชาติ จนเกิดประสบการณ์ เห็นสิ่งต่างๆ ด้วยใจแล้ว ผลักพารูปต่างๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความงามในผลงานส่งผลต่อจิตใจของเราให้รู้คุณค่างานศิลปะ” ศ.วิโชค กล่าวถึงคุณค่าศิลปะร่วมสมัย

      ชวนมาเรียนรู้ผลงานศิลป์และแสดงมุทิตาจิตต่อครูใหญ่วงการศิลปะไทย ที่นิทรรศการจิตรกรรมรำลึก 111 ปี อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ ของ ศ.วิโชค มุกดามณี นิทรรศการทั้งเชิดชูเกียรติอาจารย์เฟื้อ และเผยแพร่ประวัติและผลงานศิลปกรรมของศิลปินแห่งชาติที่เก่งกาจด้านจิตรกรรมร่วมสมัย

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"