ดื่มด่ำงานศิลป์ริมคลอง-สุดชายแดนเมืองกรุง


เพิ่มเพื่อน    

(เพลิดเพลินกับบรรยากาศสุดคลาสสิกที่ย่านเก่าหัวตะเข้)

 

      ถ้าคุณไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 แม้จะเกิดความรู้สึกกังวลและเครียดต่อสถานการณ์ขณะนี้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือไม่ ต้องปิดเมืองหรือปิดประเทศหรือเปล่า ระหว่างนี้ก็พยายามคิดบวก และหาทางไปเดินทางท่องเที่ยวพื้นที่ใกล้ๆ คลายเครียด แบบง่ายๆ ออกไปมองท้องฟ้า มองน้ำ ทอดอารมณ์ชมวิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่ซุกซ่อนความงามเอาไว้ นับว่าน่าสนใจไม่น้อย

      วันนี้ขอแนะนำสถานที่ในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันออกของ กทม.ย่านชานเมือง หนองจอกนี่เอง ที่มีความรื่นรมย์ของธรรมชาติให้ชวนไปเยี่ยมชม

        เมื่อเร็วๆ นี้ “เคทีซี” จัดกิจกรรมพาไป “ชมศิลป์ริมคลอง-ส่องสวนชานกรุง” ในย่านชานเมือง “หนองจอก” ที่ให้ความรู้สึกเหมือนไปต่างจังหวัด และย่าน “หัวตะเข้” ที่เป็นตลาดเก่าเรือนไม้ริมคลองมากมายด้วยงานศิลป์ให้เราพักผ่อน กิจกรรมนี้จัดแบบวันเดย์ทริป โดยเชื้อเชิญ อ.ธานัท ภุมรัช นักประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานพัฒนาการท่องเที่ยว ส่วนการท่องเที่ยวสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เป็นไกด์พาเที่ยวตลอดทริป

(เครื่องกลึง ร้านไพบูลย์การช่าง ของเก่าเล่าเรื่องราวชุมชน)

      เป้าหมายแรกคือ ศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแสงตะวัน ตั้งอยู่เขตหนองจอก หลังล้อหมุนจากเคทีซี ป๊อป สุขุมวิท 33 มุ่งสู่บรรยากาศกรีนๆ อ.ธานัท ภุมรัช มีเรื่องเล่าระหว่างทางน่าฟังว่า หนองจอกตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกสุดของกรุงเทพฯ ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ทิศตะวันออกติดต่อกับอำเภอบางน้ำเปรี้ยวและอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ทิศใต้ติดต่อกับเขตลาดกระบัง ทิศตะวันตกติดต่อกับเขตมีนบุรีและเขตคลองสามวา ตามประวัติ เขตหนองจอกมีฐานะเป็นอำเภอหนองจอก ได้รับการจัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2440 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้คนที่เข้ามาอาศัยเป็นกลุ่มแรกๆ คือ ชาวไทยมุสลิมอพยพมาจากหัวเมืองภาคใต้ ตั้งถิ่นฐานตามแนวคลองแสนแสบ ซึ่งขุดลอกขยายคลองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แล้วยังมีคนจีน มอญ ลาว และเขมร หลักๆ แล้วประกอบอาชีพด้านการเกษตร ทำนา ทำสวน ถือเป็นห้องอาหารหลักส่งให้พระนคร

      ไม่เกินชั่วโมงก็มาถึงจุดหมาย ใครจะรู้ว่าเมืองหลวงแบบนี้ก็มีเรือกสวนไร่นาให้พักผ่อน ศูนย์เรียนรู้ฯ แสงตะวันแห่งนี้มีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอิสลามตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ชุมชนมุสลิมมลายูจากปักษ์ใต้เข้ามาทำนาทำสวนบริเวณพื้นที่ลุ่มชานพระนครในย่านหนองจอก ลูกหลานได้สืบสานภูมิปัญญาด้านเกษตรต่อจากบรรพบุรุษ และพัฒนาเป็นแนวคิดเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบัน ชาวชุมชนตระหนักเรื่องความปลอดภัยต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นำความรู้วิถีเกษตรมาต่อยอดสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตได้จริง

(มณสิชา ชะอุ่ม ประธานศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแสงตะวัน ชวนมาเรียนรู้เกษตรอินทรีย์)

 

      มณสิชา ชะอุ่ม ประธานศูนย์เรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแสงตะวัน เปิดบ้านต้อนรับทุกคนด้วยไมตรีและบอกว่า ชาวบ้านหมู่ที่ 5 แขวงหนอกจอก ร้อยละ 90 ทำการเกษตร แต่ปัญหาปัจจุบันเจ้าของที่ดินนายทุนจะเอาที่คืนขณะที่เกษตรกรขาดอำนาจต่อรอง ทำนาแล้วเป็นหนี้ รวมถึงคนหนอกจอกผลิตข้าวเอง แต่ไม่กินข้าวที่ปลูกเอง เพราะใช้สารเคมีเยอะมาก นำมาสู่การก่อตั้งศูนย์ฯ เมื่อสิบปีก่อน โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในหลวง ร.9 ด้านการดูแลดิน น้ำ และส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ เพิ่มมูลค่าจากเกวียนละ 7,000 บาท เป็น 12,000 บาท แม้มีอุปสรรค แต่ทำให้วันนี้ชุมชนเข้มแข็ง

      ปัจจุบันที่นี่มีบ่อเลี้ยงปลา 19 ไร่ มีปลาเป็นแสนตัว ส่วนพื้นที่เกษตรปรุงดินด้วยเปลือกไข่ จากขยะเป็นของสำคัญเสริมธาตุอาหารในดิน รวมถึงหาวัตถุดิบในท้องถิ่น มีแล็บหลังบ้าน ทุ่มเท ทำให้ดินมีพลัง ใช้เวลา 5 ปีเห็นผล ดินนุ่ม ชุ่มชื้น พืชผลโตไว กลายเป็นต้นแบบแปลงพืชผักให้คนสนใจ โดยเฉพาะเยาวชนมาเรียนรู้ นำไปขยายผลในโรงเรียน

(อบรมทำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ นำกลับไปใช้ที่บ้าน)

      ที่นี่เราได้เรียนรู้ภูมิปัญญาไทยเรื่องการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมผ่านการทำสบู่เหลว ครีมทาผิว และครีมหมักผมจากวัตถุดิบธรรมชาติ กิจกรรมในครั้งนี้เราลงมือทำและได้บรรจุขวดเป็นของฝากติดมือกลับบ้านไปบำรุงผมให้นิ่ม ดูแลผิวกายให้ชุ่มชื่น ใครสนใจอบรมติดต่อนัดแนะเข้าไปก่อน ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีเพียงค่าวัตถุดิบ เรียนสนุกๆ กับ "ป้ามณสิชา" หญิงเก่งและแกร่ง ได้รับการยกย่องเป็นครูภูมิปัญญาไทย ถ้ามาแวะหนองจอกซักครึ่งวันก็มีกิจกรรมเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ ทำใช้เองหรือสอนเพื่อนก็ได้ เปิดมุมมองใหม่วิถีมุสลิมที่มีแต่ความสงบสุข

(มุมอาร์ตๆ ที่ร้านสี่แยกหัวตะเข้คาเฟ่แอนด์เกสท์ เฮ้าส์)

      ถ้ามีเวลาสามารถแวะย่านตลาดเก่าหนองจอก มีร้านกาแฟโบราณ เมนูมุสลิมแสนอร่อย ข้าวหมกไก่ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ราคาชุมชน แล้วยังมีตลาดหลวงแพ่ง สุดชายแดนกรุงเทพฯ ใครมีโอกาสมาหนองจอกบอกเลยห้ามพลาด แล้วยังมีจุดขายเส้นทางจักรยาน 4 จังหวัด แต่ต้องขาลุยหน่อย ไปบางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ต่อนครนายก วกกลับมาปทุมธานี และเข้ามากรุงเทพฯ ระยะทาง 65 กิโลเมตร เส้นทางน้ำก็เคยเปิดให้ท่องเที่ยว แต่ตอนนี้น้ำน้อย ต้องรอปลายปี เป็นอีกบรรยากาศที่อยากให้มาสัมผัส

(ชมงานศิลป์ริมคลองประเวศบุรีรมย์ที่หัวตะเข้)

      จากกิจกรรมส่องสวนชานกรุง ต่อกันด้วยเที่ยวย่านเก่าตลาดหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง เอาใจสายอาร์ต ชอบเช็กอินกับงานศิลป์ ใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์       ตลาดเก่าหัวตะเข้ตั้งอยู่เขตลาดกระบัง ควรค่าแก่การมาสักครั้ง เพราะเป็นศูนย์กลางการค้าขายชานเมืองในอดีตกว่าร้อยปีที่ยังคงกลิ่นอายเอกลักษณ์สภาพแวดล้อมกึ่งชนบท มีคลองประเวศบุรีรมย์เป็นคลองหลักเชื่อมโยงพื้นที่บริเวณนี้ ถ่ายรูปมุมไหนกับคลองก็ชิก สองฟากฝั่งคลองเรียงรายไปด้วยบ้านไม้เก่าแก่มีสไตล์ สมัยก่อนเป็นตลาดน้ำ มีชาวบ้านพายเรือขายของกันคึกคัก อย่างผักผลไม้จากฝั่งตะวันออก

(ท่องเที่ยวย่านหัวตะเข้ ดื่มด่ำกลิ่นอายตลาดโบราณร้อยปี)

      "หัวตะเข้" ชื่อของชุมชนมาจากการที่เจ้าหน้าที่ขุดคลองบริเวณนี้ บังเอิญขุดไปเจอกะโหลกจระเข้ตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง มีแค่ส่วนหัว จึงกลายเป็นชื่อชุมชน ถ้าอยากตามรอยกะโหลกนี้ยังอยู่ที่ศาลเจ้าปึงเถ่ากงจนถึงปัจจุบัน บ้างก็ว่าที่ชื่อ หัวตะเข้ เพราะก่อนนี้มีจระเข้ชุกชุมนั่นเอง ภายในตลาดนอกจากซึมซับความเป็นตลาดโบราณ เราได้ชื่นชมเสน่ห์วิถีแห่งศิลปะของชุมชนที่นี่ ซึ่งเป็นผลจากความพยายามฟื้นฟูและชูจุดเด่นของหัวตะเข้ เพื่อคืนความมีชีวิตให้ย่านนี้ที่เคยซบเซาและแทบร้างผู้คน ต้องปรบมือให้กับ “กลุ่มชุมชนคนรักหัวตะเข้” สมาชิกเป็นชาวชุมชนเอง ผนึกกำลังกับคณะอาจารย์และนักศึกษาสถาบันการศึกษาอยู่คู่ชุมชน ทั้งวิทยาลัยช่างศิลป์ลาดกระบัง และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อาสาเนรมิตหัวตะเข้ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ปรับปรุงอาคารเก่าให้ยังคงสภาพสวยงามเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยเป็นร้านค้า ร้านอาหาร ค่าเฟ่น่านั่ง มีมุมให้ชิลถ่ายรูปกัน สำหรับสายกาแฟมีหลายร้านเด็ด ต้องลองมาเยือนสักครั้ง

(โรงระหัดออกแบบโดยการใช้ใบระหัดและไม้สู่พื้นที่สร้างสรรค์)

      หนึ่งในร้านน่านั่งเติมเต็มวิถีชีวิตริมน้ำอันคลาสสิกคือ ร้านสี่แยกหัวตะเข้คาเฟ่แอนด์เกสท์เฮ้าส์ เลือกร้านนี้ด้วยจุดเด่นอาคารนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่นปี 2559 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากนั้นเราเดินย้อนกลับมาที่โรงระหัด หนึ่งในโรงไม้กว่าสิบโรงที่มีชื่อเสียง และเป็นโรงไม้สุดท้ายที่ปิดตัวลง ตอนนี้กลายเป็นพื้นที่โชว์งานอาร์ตของหัวตะเข้ เราได้สัมผัสกับอดีตผ่านกำแพงศิลปะ ซึ่งรังสรรค์จากเศษชิ้นไม้เก่า เคยใช้ต่อเรือบ้าง ต่อระหัดวิดน้ำเข้านาบ้าง

(ทำพวงมโหตร เครื่องแขวนงานประเพณีชาวมอญ)

      ป้าอำภา บุณยเกตุ ผู้ประสานงานกลุ่มชุมชนคนรักหัวตะเข้ เล่าให้ฟังว่า ในอดีตโรงไม้แห่งนี้นอกจากจำหน่ายไม้แปรรูปต่างๆ แล้ว ยังรับต่อระหัดวิดน้ำเข้านา มีลูกค้าทั้งที่เป็นชาวบ้านและชาวนา รวมถึงคนต่างถิ่นมาใช้บริการ ต่อมาความเจริญเข้ามาสู่ชุมชนหัวตะเข้ในรูปแบบของถนน บทบาทของคลองค่อยๆ ลดลง กิจกรรมโรงไม้ทยอยปิดกิจการ เป็นที่น่าเสียดาย สำหรับโรงระหัดแห่งนี้เป็นของจำนงค์ ยังรักขิตกุล เจ้าของร้านเอเฟรม ออกแบบโดยการใช้ใบระหัดและไม้เพื่อปั้นให้เป็นพื้นที่โชว์งานศิลปะและทำกิจกรรมของชุมชน เช่น เวิร์กช็อปการ “ทำว่าวใบไม้” แบบโบราณ ทำจากใบไม้ใบเดียวอย่างใบชงโค หรือการทำ “พวงมโหตร” เครื่องแขวนในงานประเพณีของชาวมอญ หนึ่งในกลุ่มคนที่อาศัยในหัวตะเข้แต่เดิม

(รื้อฟื้นอดีตผ่านอาชีพเย็บฟุตบอลที่หัวตะเข้)

      มาหัวตะเข้ทั้งทีต้องเที่ยวให้ทั่ว เราเดินลัดเลาะไปตามทางเดินในชุมชน จนถึง “บ้านต้นมะขาม” ที่นี่นอกจากสาธิตการทำขนมไทยเตาฟืนให้ได้เรียนรู้ ยังได้ลิ้มรสด้วย อย่าง ขนมต้มคลุก ชาวบ้านทำอย่างละเมียดละไมด้วยไฟจากเตาฟืนที่มีความร้อนอ่อนๆ และต้องใช้เวลาในการต้มนาน ก่อนนำไปแช่น้ำเย็นต่ออีก 1 คืน เพื่อให้ข้าวต้มคลุกเข้าเนื้อเหนียวหนึบนุ่มเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น กินคู่กับน้ำกลีบบัว กลิ่นหอมชื่นใจ ช่วยคลายร้อน ก่อนจะร่วมรื้อฟื้นวิธีการเย็บฟุตบอลด้วยมือ อาชีพในอดีตของชาวชุมชน  หลังว่างเว้นทำนาหรือทำไม้ นั่งเย็บกันทุกบ้าน ปัจจุบันเหลือบางบ้านรับเย็บฟุตบอลใบใหญ่สำหรับช้างโชว์เตะฟุตบอล ใบละ 300 บาท

(เสพงานศิลป์ชิ้นเอกที่สวนประติมากรรม วิทยาลัยช่างศิลป์ สถาบันศึกษาคู่ชุมชนหัวตะเข้)

      ปิดท้ายกันที่ วิทยาลัยช่างศิลป์ เราได้ฟังตำนานสถาบันศิลปะเรืองนามและประวัติต้นแบบขององค์พระพุทธมณฑล “พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” และ “องค์พระพิฆเนศ” สัญลักษณ์ของช่างศิลป์และกรมศิลปากร จากการบรรยายของ อ.จรัญ หนองบัว ผู้อำนวยการวิทยาลัยช่างศิลป์ ต่อด้วยชมประติมากรรมชิ้นเอกของศิลปินแห่งชาติและศิลปินชั้นครูที่ติดตั้งภายในสวนประติมากรรม เช่น "กระโดดเชือก " ของมิวเซียม ยิป อินซอย "นางเงือก" ฝีมือสนั่น ศิลาภรณ์ ต่อด้วยเสพงานศิลปกรรมหลากหลายเทคนิคที่โชว์ภายในหอศิลป์ แล้วยังมีโซนงานประติมากรรมและจิตรกรรมประดับพระเมรุมาศ สนุกกับการเรียนรู้ศิลปะไทย ก่อนจะอิ่มเอมกับการสาธิตศิลปะลายรดน้ำ เอกลักษณ์และมรดกศิลปะไทยสืบทอดตั้งแต่สมัยอยุธยา อยากชวนมาเที่ยวชานเมืองกรุง “หนองจอก-หัวตะเข้” น่ามาเดินเสพงานศิลป์ เช็กอินแบบสโลว์ไลฟ์ แต่ได้สาระมากมาย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"