“โควิด-จิตตก”


เพิ่มเพื่อน    

            ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ของประชาชนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวยังคงสูงขึ้นแบบรายวัน ตรงนี้ยิ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นของประชาชนทั้งประเทศ และยังคงติดตามใกล้ชิดเกี่ยวกับมาตรการในการรับมือ ดูแล และป้องกันของรัฐบาลที่ออกมาว่าจะได้ผลมากน้อยแค่ไหน และมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เมื่อใด

                ล่าสุด ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีมาตรการเข้มงวดเพื่อป้องกันการนำเชื้อเข้าสู่ประเทศไทย พร้อมทั้งต้องมีการติดตั้งแอปพลิเคชันติดตามตัว รวมทั้งให้มีการเลื่อนวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 13-15 เม.ย.2563 ออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยให้เป็นวันทำงานปกติ

                นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจเดินทางไปต่างประเทศ ยกเว้นกรณีจำเป็น อีกทั้งยังขอความร่วมมือไปยังประชาชนให้งดไป-กลับต่างประเทศเช่นกัน รวมทั้งได้สั่งการให้ปิดสถาบันศึกษาทุกประเภท สนามมวย สนามกีฬา ผับบาร์ โรงหนัง นวดแผนโบราณในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เป็นเวลา 14 วัน เริ่มตั้งแต่ 18-31  มี.ค.2563 สั่งการให้งดกิจกรรมเคลื่อนย้ายคนข้ามจังหวัด ให้หน่วยราชการส่งเสริมการทำงานที่บ้าน

                และให้ กทม.พิจารณามาตรการจำกัดการแพร่ระบาดและการเคลื่อนย้ายเสนอศูนย์โควิด-19 พร้อมทั้งสั่งการให้ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปเร่งพิจารณามาตรการลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจของประชาชน โดยยืนยันชัดเจนว่า “นี่ไม่ใช่มาตรการปิดกรุงเทพฯ หรือปิดประเทศ!”

                ทันทีที่มาตรการเข้มข้นในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ชุดนี้ออกมา ต้องยอมรับว่ามีทั้งเสียงสนับสนุน และคัดค้าน นั่นเพราะคำสั่งปิดสถานให้บริการหลายๆ อย่าง อาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ และลูกจ้างในกิจการนั้นๆ แต่เชื่อว่ารัฐบาลก็อยากให้มองในภาพรวมว่า “การสกัดกั้นการแพร่ระบาด” น่าจะเป็นวิธีการที่จำเป็น และเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้

                ก่อนหน้านี้ ครม.เองก็ได้ออกชุดมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งถือเป็นมาตรการระยะที่ 1 ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี วงเงินสินเชื่อต่อราย 20 ล้านบาท, มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินในการผ่อนเกณฑ์และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น เป็นต้น

                นอกจากนี้ ยังมีมาตรการด้านภาษี อาทิ การเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการภายในประเทศ อีกทั้งยังมีการบรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ คืนเงินประกันค่าใช้ไฟฟ้า (ค่ามิเตอร์) และการลดเงินสมทบเข้ากองทุนของนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งทั้งหมดจะเป็นมาตรการชั่วคราว โดยหลังจากนี้จะมีการพิจารณาความเหมาะสมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังมีมาตรการเพื่อกระตุ้นภาคตลาดทุน รวมถึงมาตรการในการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาในส่วนอื่นๆ ไปจนถึงมาตรการจากสถาบันการเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการอีกด้วย

                แน่นอนว่าผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ครั้งนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ความเชื่อมั่นของประชาชนเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงให้กับภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ที่รุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยล่าสุด “สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด” ได้ออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัวติดลบ 1% พร้อมทั้งมองว่ามีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกในการประชุมวันที่ 25 มี.ค.นี้

                อย่างไรก็ดี มองว่าแม้จะมีมาตรการในการดูแล เยียวยา และช่วยเหลือออกมาจากรัฐบาล แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงลุกลาม จนดูเหมือนยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ “ความวิตกกังวลของประชาชน” ต่อเรื่องนี้ก็ดูจะคลี่คลายได้ยาก ตรงนี้คงเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญวัดฝีมือรัฐบาลเพื่อพิสูจน์ความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในทุกมิติ. 

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"