โควิด19เขย่าอาเซียน ระบาด-ตายพุ่งพรวด


เพิ่มเพื่อน    

 WHO ร่วมกับคณะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกพัฒนาวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย 20 ชนิด คาดว่าต้องใช้เวลาอีก 18 เดือน ขณะที่สิงคโปร์เสียชีวิตอีก 2 มาเลเซียติดเชื้อสะสมทะลุพันราย อังกฤษจ่ายเงินเดือนคนตกงาน 80% ของเงินเดือนเป็นเวลา 3 เดือน อาจขยายเวลาเพิ่ม

    ดร.มาเรีย แวน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคโครงการฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เปิดเผยในการแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเจนีวาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ดับเบิลยูเอชโอกำลังร่วมงานกับคณะนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่แตกต่างกันอย่างน้อย 20 ชนิด บางชนิดมีการทดลองทางคลินิกแล้วโดยใช้เวลาน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์เพียง 60 วัน หลังจากที่มีการเรียงลำดับพันธุกรรมของไวรัสดังกล่าว
        การเร่งกระบวนการพัฒนาวัคซีนนี้เป็นความสำเร็จที่น่าทึ่ง ในแง่ของสิ่งที่ดับเบิลยูเอชโอสามารถทำได้ โดยต่อยอดจากงานที่เริ่มต้นด้วยโรคซาร์สและโรคเมอร์ส และขณะนี้กำลังดำเนินการกับโรคโควิด-19
    หัวหน้าฝ่ายเทคนิคโครงการฉุกเฉินฯ คาดว่าใช้เวลาอีกถึง 18 เดือนจึงจะมีวัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อใช้กับประชาชน เพราะต้องมีการทดลองทางคลินิกและการอนุมัติด้านความปลอดภัย เพื่อให้สามารถผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพออกสู่ตลาด
        ดร.ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายโครงการฉุกเฉินของดับเบิลยูเอชโอเผยว่า การทดลองเป็นสิ่งจำเป็น เพราะมีสิ่งเดียวที่เป็นอันตรายมากกว่าไวรัส นั่นก็คือวัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยได้เริ่มมีการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ในคนเป็นครั้งแรกแล้วที่สหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
    ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขสิงคโปร์เผยรายละเอียดเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต หลังติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุด 2 รายเมื่อช่วงเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยเป็นหญิงชาวสิงคโปร์วัย 75 ปี ไม่มีประวัติการเดินทางไปยังประเทศกลุ่มเสี่ยง แต่มีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง คาดว่าอาจติดเชื้อจากการไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่โบสถ์แห่งหนึ่งในสิงคโปร์
         อีกรายเป็นชายชาวอินโดนีเซียวัย 64 ปี ที่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ และเคยเข้ารับการรักษาอาการของโรคปอดบวมที่โรงพยาบาลในอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ก่อนจะเดินทางไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลในสิงคโปร์เมื่อวันที่ 13 มีนาคม และตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวันต่อมา
         นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต พร้อมแสดงความวิตกต่อยอดผู้เสียชีวิตในสิงคโปร์ที่อาจจะเพิ่มขึ้นอีก โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่าจะทำทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และเขาร้องขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของทางการในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งรวมถึงการสั่งระงับกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนมากกว่า 250 คนขึ้นไป และการแนะนำให้สถานที่สาธารณะ รวมทั้งร้านค้าและร้านอาหารจัดสถานที่เพื่อให้ลูกค้าแต่ละคนอยู่ในระยะห่างกันตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป วานนี้ทางการสิงคโปร์แถลงพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่จำนวน 40 คน และส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดเพิ่มเป็น 385 คน ในจำนวนนี้หายป่วยแล้ว 131 คน
    ดร.นอร์ ฮิชาม อับดุลเลาะห์ ผู้อำนวยการกรมสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย แถลงว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 130 ราย ทำให้ยอดติดเชื้อสะสมขณะนี้อยู่ที่ 1,030 ราย เสียชีวิต 2 ราย ผู้ติดเชื้อใหม่ 130 ราย เชื่อมโยงกับงานชุมนุมทางศาสนาที่มัสยิดศรี เปตาลิง ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จำนวน 48 ราย และมีผู้ป่วย 26 ราย อาการหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ส่วนหายป่วยมีจำนวน 87 ราย
    กองทัพอิตาลีส่งทหารจำนวน 114 นายเข้าประจำการในแคว้นลอมบาร์ดีเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำร้องของทางการแคว้นลอมบาร์ดีของอิตาลี ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนักที่สุดในอิตาลี และมีคำสั่งปิดพื้นที่ไปแล้วก่อนหน้านี้
         แต่คณะแพทย์จากจีนที่เดินทางเข้าไปช่วยทางการอิตาลีรับมือกับวิกฤติไวรัสโควิด-19 ระบุว่ามาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดที่ประกาศใช้ในแคว้นลอมบาร์ดียังไม่เข้มงวดเพียงพอ จนส่งผลให้รอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในอิตาลีพุ่งสูงถึง 627 ราย และทำให้ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดเพิ่มเป็น 4,032 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด 47,021 คน 
    นอกจากนั้นยังพบว่าผู้เสียชีวิตในอิตาลีเป็นชายมากกว่าหญิง โดยเป็นชายร้อยละ 70.6 และเป็นร้อยละ 29.4 ผู้เสียชีวิตมีอายุเฉลี่ย 78.5 ปี ผู้เสียชีวิตอายุน้อยที่สุดมีอายุ 31 ปี และสูงสุด 103 ปี อิตาลีเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรสูงอายุมากที่สุดเป็นลำดับที่ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเหตุผลว่าเหตุใดยอดผู้เสียชีวิตจึงสูงกว่าประเทศอื่น
    ที่บาวาเรีย-ซาร์แลนด์ สองรัฐแรกของเยอรมนี ใช้มาตรการปิดรัฐ 14 วัน งัดเคอร์ฟิวขอประชาชนอยู่แต่ในบ้าน Markus Soeder มุขมนตรีแห่งรัฐบาวาเรีย ออกแถลงการณ์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ออกมาตรการขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่พำนักอยู่แต่ในเคหสถาน บ้านพักของตนเอง เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมเป็นต้นไป
        นาย Soeder ระบุว่า มาตรการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้ยุติทุกกิจกรรมสาธารณะให้มากที่สุด โดยประชาชนยังคงออกไปซื้อหาสินค้าตามร้านซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านขายยาได้ตามปกติ" คุณยังออกไปเดินสูดอากาศข้างนอกได้ แต่ควรไปเพียงลำพัง หรืออยู่กับครอบครัวเท่านั้น"
         นอกจากนี้ บาวาเรียได้สั่งระดมกำลังพลสำรองเข้ารักษาการตามพื้นที่ต่างๆ พร้อมจะใช้มาตรการเคอร์ฟิวห้ามประชาชนออกจากเคหสถานโดยไม่มีความจำเป็นในยามวิกาล หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดถึง 25,000 ยูโร (ราว 877,000 บาท)
         สำหรับบาวาเรีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีพลเมืองราว 13 ล้านคน พบผู้ติดเชื้อสะสมที่ 3,107 เสียชีวิต 20 ราย ส่วนทั้งเยอรมนีติดเชื้อสะสมที่ 19,848 คน เสียชีวิต 68 ราย
         เช่นเดียวกับรัฐซาร์แลนด์ รัฐขนาดเล็กของเยอรมนีที่ติดกับชายแดนฝรั่งเศส มีประชากรราว 1 ล้าน ก็ใช้มาตรการเช่นเดียวกับบาวาเรีย
         เมื่อวันที่ 16 มี.ค. เยอรมนีใช้วิธีการปิดพรมแดนที่ติดต่อกัน 5 ประเทศเป็นการชั่วคราว เพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวของพลเมือง แต่ยังไม่ถึงขั้นปิดประเทศ โดยมาตรการปิดประเทศมีรายงานว่านางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เตรียมหารือยกระดับความเข้มงวดในเรื่องดังกล่าววันที่ 22 มี.ค.
    บีบีซีไทยรายงานว่า นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร สั่งปิดแหล่งพบปะทุกประเภทไม่มีกำหนด ตั้งแต่ 20 มี.ค. เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา คำสั่งปิดนี้ครอบคลุมคาเฟ่ ร้านอาหาร ผับ ไนต์คลับ โรงละคร โรงภาพยนตร์ ยิมออกกำลัง และศูนย์นันทนาการ โดยรัฐบาลจะทบทวนความเหมาะสมทุกเดือนเพื่อเป็นการผ่อนคลายความทุกข์ยากของผู้คนนับแสนที่ต้องไร้งานทำจากผลที่ตามมาของโรคระบาดนี้ รัฐบาลประกาศว่า จะจ่ายเงินให้แก่ผู้ว่างงานในสัดส่วน 80% ของเงินเดือนที่เคยได้ ในวงเงินไม่เกิน 2,500 ปอนด์ (ราว 1 แสนบาท) เป็นเวลา 3 เดือน
    มาตรการเหล่านี้ออกมาในวันเดียวกับที่ทางการรายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตรวมของสหราชอาณาจักร ณ วันที่ 20 มี.ค. ที่  177 คน
    "ในขณะนี้ ผมต้องขอให้พวกเราอยู่ห่างกัน แค่ในทางกายภาพ" นายจอห์นสันกล่าวในการแถลงข่าวประจำวันที่ทำเนียบรัฐบาล
    "ยิ่งพวกเราทำตามคำแนะนำที่ให้ไว้ได้มากเท่าไร ประเทศก็จะยิ่งผ่านพ้นวิกฤติทางเศรษฐกิจและการแพทย์ไปได้เร็ว"
    ด้านนายริชี สุนัค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในเวทีแถลงข่าวเดียวกันว่า มาตรการที่ "ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อน" มีขึ้นเพื่อช่วยบรรดาคนไร้งานไม่ให้ถูกปลดออกจากบริษัท กล่าวคือ แทนที่ลูกจ้างต้องถูกไล่ออก พวกเขาจะได้รับสิทธิลาโดยไม่ได้เงินเดือนจากนายจ้าง แต่ได้รับจากรัฐบาลแทน
    เขาเรียกร้องให้บรรดานายจ้างยืนอยู่ข้างลูกจ้างในวิกฤตการณ์นี้ ในขณะที่บริษัทจำนวนมากออกมาบอกว่าอาจต้องปิดตัวลง
    นายสุนัคบอกด้วยว่า เงินอุดหนุนที่ให้แก่ลูกจ้างมีอายุ 3 เดือน และผลย้อนหลังไปตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. และอาจขยายเวลาต่อออกไป "หากจำเป็น".
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"