ปิดด่านทั่วประเทศ! มท.ชงข้อเสนอ'ประยุทธ์' หญิงไทยใน'วอชิงตัน'ดับ


เพิ่มเพื่อน    


    สธ.แถลงยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 188 ราย  ยอดสะสม 599 ราย "อธิบดีกรมควบคุมโรค" ส่งหนังสือถึงผู้ว่าฯ ทั่วประเทศรับมือคนจากกรุงเทพฯ กลับบ้าน ตจว. เตือนต้องกักตัว 14 วัน เลี่ยงใกล้ชิดผู้สูงอายุ "บิ๊กตู่" เข้าทำเนียบฯ หารือผู้เกี่ยวข้อง ชูกำปั้นโชว์สื่อสู้ไวรัสเต็มที่ พร้อมนัดศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประชุม 23 มี.ค.นี้  "มท." ปิดด่านชายแดนทั่ว ปท.จันทร์นี้  "สถานทูตกรุงวอชิงตัน" แจ้งหญิงไทยวัย 66 ปี เสียชีวิตจากโควิดรายแรกในสหรัฐ
    เมื่อวันที่ 22 มี.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 10 ในฐานะโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค และคณะ แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันว่า ในวันนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 1 ราย เป็นชายชาวสิงคโปร์ อายุ 36 ปี จากสถาบันบำราศนราดูร และมีผู้ป่วยเพิ่ม 188 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 65 ราย ได้แก่ กลุ่มสนามมวย 21 ราย, กลุ่มสถานบันเทิง 5 ราย, กลุ่มผู้สัมผัสกับผู้ป่วยที่มีรายงานมาแล้ว 37 ราย และกลุ่มที่เข้าร่วมพิธีทางศาสนาในประเทศมาเลเซีย 2 ราย, กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 15 ราย ได้แก่ กลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ ชาวต่างชาติ 8 ราย ในจำนวนนี้มีหลายรายที่มีประวัติเดินทางกลับจากเที่ยวผับปอยเปต ที่ประเทศกัมพูชา สัมผัสผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้, กลุ่มผู้ทำงานหรืออาศัยในสถานที่แออัดต้องใกล้ชิดคนจำนวนมาก หรือเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ  7 ราย, กลุ่มที่ 3 ผู้ที่ได้รับผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อแต่อยู่ระหว่างรอสอบสวนโรค 108 ราย
    โฆษก สธ.กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยอาการหนักมี 7 ราย จากสถาบันบำราศนราดูร, โรงพยาบาลเพชรบูรณ์, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, โรงพยาบาลศิริราช และโรงพยาลบาลเอกชน ทุกรายใส่เครื่องช่วยหายใจและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งภาพรวมโดยสรุปมีผู้ป่วยกลับบ้านแล้ว 45 ราย ยังรักษาในโรงพยาบาล 553 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมสะสม 599 ราย
    "ขณะนี้ยอดผู้ป่วยรายใหม่เป็นคนไทย พบมากในกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวที่อาการน้อย ทำให้มีกิจกรรมทางสังคมร่วมกับผู้อื่น เมื่อป่วยจะทำให้เกิดผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจำนวนมาก เช่น กรณีสถานบันเทิงและสนามมวย ล่าสุดผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการในจังหวัดปริมณฑลได้สั่งปิดสถานที่ที่มีความเสี่ยงชั่วคราว จึงขอความร่วมมือผู้ทำงานในสถานที่ที่ถูกสั่งปิด อย่าเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะคุณอาจนำเชื้อโรคไปแพร่ให้คนต่างจังหวัด คนใกล้ชิดในครอบครัว" โฆษก สธ.กล่าว 
    นอกจากนี้ นายสุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีหนังสือด่วนที่สุด ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ขอความร่วมมือให้จัดทำแผนปฏิบัติการค้นหาเฝ้าระวังและป้องกันระดับอำเภอและหมู่บ้าน 
    โดย 1.ให้จัดตั้งทีมอาสาโควิด-19 ระดับอำเภอและหมู่บ้านเพื่อดำเนินการค้นหาและเฝ้าระวัง 2.จัดทำฐานข้อมูลของผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มาถึงภูมิลำเนาตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค.2563 เป็นต้นไป 3.ให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้เดินทางกลับมาจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพื่อแยกตัวสังเกตอาการไข้และอาการทางเดินหายใจทุกวัน และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่นในที่พำนักหรือที่อาศัยจนครบ 14 วัน นับจากวันที่เดินทางมาถึงภูมิลำเนา 4.แจ้งผู้เดินทางกลับจากกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยไม่รับประทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดหน้า หมอน ผ้าห่ม แก้วน้ำ ช้อนส้อม  ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่นาน 20 วินาที หรือแอลกอฮอล์ 70%  หลีกเลี่ยงการพูดคุยใกล้ชิดกับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ป่วยเรื้อรัง   
บิ๊กตู่นัดประชุมศูนย์โควิด
    "หากมีไข้และอาการทางเดินหายใจ ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยทันที" อธิบดีกรมควบคุมโรคระบุในหนังสือดังกล่าว
     น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการขอความร่วมมือให้จัดทำแผนปฏิบัติการค้นหาเฝ้าระวังและป้องกันระดับอำเภอและหมู่บ้านว่า สถานการณ์ปัจจุบันพบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการออกประกาศกรุงเทพมหานคร ฉบับ 2 สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขห่วงกังวลว่าจะมีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางออกจากกรุงเทพฯ จึงได้สั่งการให้เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรคติดต่อจังหวัด เพื่อป้องกัน ควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จากพื้นที่หนึ่งไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง  
    "รัฐบาลเข้าใจดีถึงช่วงนี้ว่าเป็นเวลาแห่งความยากลำบาก ขอทุกคนเสียสละ ร่วมกันงดเดินทาง เว้นกิจกรรมทางสังคม อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ เราจะสามารถฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน" รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว
    ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยขึ้นห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า 
    ต่อมาเวลา 10.30 น. ได้เรียก นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขึ้นหารือที่ห้องทำงาน ก่อนที่เวลา 11.15 น. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ได้ขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อเข้าร่วมหารือด้วย 
    จากนั้น เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงจากตึกไทยคู่ฟ้า โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ เพียงแต่ทักทายผู้สื่อข่าวที่สังเกตการณ์ห่างออกไปประมาณ 50 เมตร ด้วยการโบกมือ ก่อนที่จะชูกำปั้นมือขวาเป็นการส่งสัญลักษณ์สู้ๆ ก่อนที่นายกฯ จะขึ้นรถเดินทางกลับออกไปทันที และยังได้ลดกระจกลงทักทายกับผู้สื่อข่าวอีก 
    เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเพิ่มมาตรการอะไรในการรับมือโควิด-19 ในวันนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังได้ชูกำปั้น พร้อมกับระบุเพียงสั้นๆ ว่า "กำลังทำ" ก่อนที่ขบวนรถจะเคลื่อนออกจากทำเนียบฯ 
    มีรายงานว่า ในการประชุมของ พล.อ.ประยุทธ์กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทางกระทรวงมหาดไทยได้เสนอเรื่องปิดด่านชายแดนทั้งหมดทั่วประเทศ เดิมอนุโลมให้เปิดด่านชายแดนถาวร จุดผ่อนปรนการค้า จังหวัดละ 1 ด่าน แต่ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. จะให้ปิดทั้งหมด 18 ด่าน 17 จังหวัด เฉพาะด่านทางบกที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยไม่ให้คนเข้า-ออก ใช้ส่งสินค้าได้เท่านั้น โดยจะให้ผู้ว่าฯ สั่งการให้การหยุดชั่วคราว 
    "แต่ละด่านจะปิดถึงเมื่อไหร่นั้น แต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน โดยจะให้ผู้ว่าฯ ประสานประเทศเพื่อนบ้านที่มีด่านทางบก ลาว เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย ในการปิดด่าน" แหล่งข่าวระบุ
    มีรายงานด้วยว่า ในวันที่ 23 มี.ค. เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมประชุม ซึ่งจะมีวาระรับทราบรายงานผลการดำเนินงาน 6 ด้านที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แก่ 1.ด้านสาธาณสุข 2.ด้านการต่างประเทศ 3.ด้านเวชภัณฑ์ป้องกัน 4.ด้านมาตรการป้องกัน 5.ด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา 6.ด้านข้อมูลการชี้แจงและการรับเรื่องร้องเรียน ว่าผลเป็นอย่างไร มีปัญหาอุปสรรค หรือจะต้องทำอะไรเพิ่มอีกในแต่ละด้านอีกหรือไม่  
หญิงไทยในสหรัฐเสียชีวิต
    นายอนุทินกล่าวถึงการหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีว่า มารายงานสถานการณ์หลังจากมีการประชุมชุดใหญ่ร่วมกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งขณะนี้พบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ขณะที่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขมี 3-4 แห่ง โดยโรงพยาบาลส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น รามาฯ ศิริราช ฯลฯ ดังนั้นต้องเชิญคณบดีจากโรงพยาบาลเหล่านี้มาหารือกันว่าจะร่วมทำงานกันอย่างไร และขณะนี้ขาดอะไร และต้องการให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนด้านใดเพิ่มเติม 
    ถามว่า ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนายกฯ ได้แสดงความกังวลหรือมีการเสนอให้มีการใช้มาตรการที่เข้มข้นกว่านี้อีกหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้มาตรการต่างๆ ก็ใช้เต็มที่แล้ว เหลืออย่างเดียวต่อให้เป็นกฎหมายออกมาอย่างไร ก็สู้ความร่วมมือไม่ได้ ทุกคนต้องให้ความร่วมมือในการอยู่บ้าน หรือโซเชียลดิสแทนซิง งดการสังสรรค์ แค่เพียง 2-3 สัปดาห์ ซึ่งองค์การอนามันโลกหรือฮูได้ย้ำเรื่องนี้ให้ประชาชนได้ยินทุกวันว่าให้แยกตัว และดูแลตัวเองให้ดี เป็นวิธีที่จะป้องกันเชื้อโควิด-19 ได้ดีกว่าทุกมาตรการ
    ซักว่ามีความเป็นไปได้ในการประกาศเคอร์ฟิว รองนายกฯ และรมว.สธ.ถอนหายใจก่อนกล่าวว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขทำงาน ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ไม่มีอำนาจ และบังคับอะไรมากไม่ได้ มีเพียงคำแนะนำว่าประชาชนควรปฏิบัติตัวอย่างไร      
    ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของประชาชนภายในประเทศ ก่อนที่ประชาชนจะเดินทางจะต้องดำเนินการ 1.ให้ทำ entry scan ประชาชนก่อนเข้าไปในบริเวณอาคารที่พักผู้โดยสาร 2.ให้ทำ entry scan ครั้งที่ 2 สำหรับผู้โดยสารก่อน ข้าไปในยานพาหนะ 3.ให้ทำ exit scan ผู้โดยสาร ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนเมื่อจะออกจากอาคารที่พักผู้โดยสาร 4.ในกรณีที่พบว่ามีประชาชนหรือผู้โดยสาร หรือผู้ปฏิบัติงานมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ให้ส่งตัวบุคคลดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามระเบียบกฎหมายต่อไป  
    นอกจากนี้ 5.การจำหน่ายตั๋วเดินทาง และการจัดที่นั่งบนยานพาหนะ ให้เว้นระยะห่างตามประกาศกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข 6.แนะนำให้ผู้โดยสารสวม mask และแว่นตา ตลอดการเดินทาง 7.สรุปรายงานผลการดำเนินงานให้กระทรวงคมนาคมทุกวัน ให้ทุกหน่วยงานถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด โดยทุกมาตรการให้หน่วยงานถือปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมนี้เป็นต้นไป
    วันเดียวกัน นายพิชญา นาควัชระ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี อิสรภาพ หลัง กทม.มีประกาศปิด 26 พื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันโควิด-19 พบว่า ผู้ประกอบการต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการคัดกรองวัดไข้ผู้เข้ามาใช้บริการ ส่วนโซนขายอาหาร ได้นำโต๊ะนั่งออกไป ให้เฉพาะกลับบ้านเท่านั้น ส่วนซูเปอร์มาร์เก็ตยังเปิดจำหน่ายตามปกติ ปิดเฉพาะโซนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าอุปโภคบริโภค มีผู้มาจับจ่ายบางตา 
    ขณะที่ฝ่ายกงสุลของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา รายงานว่า เมื่อ 21 มี.ค.2563 หญิงไทย อายุ 66 ปี ซึ่งเป็นหัวหน้าแม่ครัว ร้านอาหารไทยในกรุงวอชิงตัน เสียชีวิตที่ รพ.เมดสตาร์จอร์จทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งสถานทูตได้แสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต และได้รับแจ้งจาก น.ส.พีรญา เม่นทอง หลานสาว ว่าทางโรงพยาบาลแจ้งว่าสาเหตุการเสียชีวิตมาจากโควิด-19 ซึ่งนับเป็นคนไทยรายแรกในสหรัฐอเมริกาที่เสียชีวิตจากเชื้อไวรัสนี้ในต่างประเทศ
    นายเชิดเกียรติ อัตถากร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ได้รับรายงานมีสตรีชาวไทยสูงอายุเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 แล้ว โดยสตรีคนดังกล่าวถือ 2 สัญชาติ และพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาหลายสิบปี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"