'เชียงใหม่-โคราช'ลุยล็อกดาวน์


เพิ่มเพื่อน    


    โคราช-เชียงใหม่ล็อกดาวน์ตามรอยกรุงเทพฯ โมเดล  ภูเก็ตเตรียมรับศึกหนักจ่อเปิดโรงพยาบาลสนามรองรับ ขณะที่อุบลฯ ระทึกแน่ กลุ่มเซียนมวยสนามมวยลุมพินี-ราชดำเนินแพร่เชื้อไม่หยุด กักตัว-เสี่ยงพุ่งกว่า 700 คน 
    เมื่อวันอาทิตย์ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ แถลงข่าวถึงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 สำหรับพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ว่า เนื่องจากกรณีการแพร่ระบาดทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการเพื่อปิดกั้นวงจรการแพร่ระบาดสู่สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงประกาศจังหวัดเชียงใหม่ในการปิดสถานที่บางแห่งเดิมและปรับปรุงใหม่เป็นประกาศฉบับที่ 2 หลักการประกาศฉบับที่ 2 คือ ยกเลิกคำสั่งฉบับที่ 1 และกำหนดพื้นที่สำหรับปฏิบัติการเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.63 เวลา 18.00 น. จนถึงวันที่ 12 เม.ย. 63 เวลา 24.00 น.
     โดยมีลำดับดังนี้คือ 1.ปิดสถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา 2.ปิดศูนย์แสดงสินค้า และศูนย์แสดงและจัดนิทรรศการ 3.ปิดพื้นที่บางส่วนของห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือห้างร้านที่มีร้านค้าย่อยในอาคารหรือบริเวณเดียวกัน ทั้งนี้ เว้นแต่พื้นที่ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา หรือสินค้าเบ็ดเตล็ด เพื่อจำเป็นต่อการดำรงชีวิต สำนักงานธนาคาร สำหรับร้านอาหารให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารเพื่อการนำกลับไปบริโภคที่บ้าน 4.ตลาด ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จ เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต 5.ถนนคนเดิน 6. ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม ให้เปิดเฉพาะการจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม เพื่อนำกลับไปบริโภคที่อื่น และร้านอาหารเครื่องดื่มในโรงแรมให้บริการเฉพาะผู้ที่พักอาศัยในโรงแรมเท่านั้น
    7.ปิดพื้นที่นั่งหรือยืนรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม ในร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม 8.ปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ รวมถึงสถานที่มุ่งเน้นการขาย จ่าย แลกเปลี่ยน ให้สุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อดื่มกินในสถานที่และบริเวณนั้น เช่น ร้านเหล้าตอง 9.ปิดสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 ได้แก่ ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม 10.ปิดสถานประกอบกิจการอาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร เว้นแต่การรักษาพยาบาลด้วยการดังกล่าวในสถานพยาบาล 11.ปิดร้านเสริมสวย ร้านตัดผม หรือแต่งผม หรือแต่งเล็บ 12.ปิดสถานที่บริการสักผิวหนังหรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย 13.ปิดสถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกเสริมความงาม และสถานที่เสริมความงาม 14.ปิดสระว่ายน้ำ รวมถึงสระว่ายน้ำของหมู่บ้าน หรืออาคารชุดที่พักอาศัย
     15.ปิดสถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส 16.ปิดสถานที่เล่นสเกต หรือโรลเลอร์เบลด หรือการเล่นอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 17.ปิดเครื่องเล่นในอาคาร เครื่องเล่นภายนอกอาคาร เครื่องเล่นชั่วคราว สวนสนุก รวมถึงโซนอุปกรณ์เครื่องเล่นสำหรับเด็กเล่นในห้างสรรพสินค้า 18.ปิดเกม ร้านอินเทอร์เน็ต และตู้เกม หรือสถานที่อื่นใดที่มีการบริการลักษณะคล้ายกัน 19.ปิดร้านคาราโอเกะ 20.ปิดสถานประกอบการ โรงมหรสพ โรงละคร 21.ปิดศูนย์พระเครื่องพระบูชา และสนามพระเครื่องพระบูชา 22.ปิดสนามกอล์ฟ สนามฝึกซ้อมกอล์ฟ 23.ปิดสนามยิงปืน 24.ปิดบ่อตกปลา ตกกุ้ง หรือกิจกรรมใดในประเภทเดียวกัน 25.ปิดสนามกีฬาที่มีการสัมผัสร่างกาย หรือใช้อุปกรณ์ร่วมกัน อาทิ สนามฟุตบอล ฟุตซอล
    26.ปิดโต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด และสถานที่เล่นโบว์ลิง 27.ปิดสนามมวย โรงเรียนสอนมวย ค่ายมวย โรงเรียนสอน ฝึกสอนศิลปะป้องกันตัว 28.ปิดสนามชนไก่ สนามประลองไก่ สนามม้าหรือสนามอื่นที่มีพื้นที่จัดให้สัตว์ต่อสู้กัน ทั้งนี้ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ประกาศ ณ วันที่ 22 มี.ค.63 กำหนดปิดพื้นที่เป็นการชั่วคราวตั้งแต่เวลา 18.00 น. วันที่ 23 มี.ค. ถึงเวลา 24.00 น. วันที่ 13 เม.ย.63 ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1 แสนบาท จำคุก 1 ปี หรือทั้งจำและปรับ
    เช่นเดียวกับที่ จ.นครราชสีมา ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จังหวัดนครราชสีมา โดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ออกประกาศคำสั่งให้ปิดห้างสรรพสินค้าและตลาดทุกแห่ง รวมไปถึงสถานที่ต่างๆ ที่เป็นแหล่งรวมคนทั่วทั้ง 32 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ไปจนถึงวันที่ 12 เมษายน 2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังขณะนี้ในพื้นที่พบผู้ติดเชื้อแล้วจำนวน 5 ราย 
     ทั้งนี้ จ.นครราชสีมา ตามประกาศจังหวัดมีสถานที่ในลักษณะ 22 ประเภทที่ต้องปิดให้บริการ ประกอบด้วย 1.สถานบริการ ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 2.สถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะคล้ายสถานบริการตามข้อ 4 แห่งคำสั่ง คสช.22/2558 3.โรงมหรสพ 4.ร้านนวดแผนโบราณ นวดเพื่อสุขภาพ นวดเสริมความงาม ยกเว้นนวดเพื่อการรักษาพยาบาล 5. ฟิตเนส 6.ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต ร้านคาราโอเกะ 7.สวนสนุกหรือตู้เกม 8.สวนน้ำ 9.สระว่ายน้ำ หรือกิจการอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 10.ร้านอาหาร หรือเครื่องดื่ม ร้านกาแฟ ให้เปิดได้เฉพาะสั่งกลับบ้าน ห้ามนั่งรับประทานที่ร้าน 11.ห้างสรรพสินค้า ยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา สินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ร้านอาหารในห้างเปิดได้เฉพาะสั่งกลับบ้าน ห้ามนั่งรับประทานที่ร้าน 12.พื้นที่นั่งรับประทานอาหารในร้านสะดวกซื้อ 
    13.ตลาด และตลาดนัด ให้เปิดได้เฉพาะจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง อาหารปรุงสำเร็จเพื่อนำกลับบ้าน อาหารสัตว์ ร้านขายยา และสินค้าเบ็ดเตล็ดที่จำเป็นในชีวิตเท่านั้น 14.ร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผม (เปิดได้แต่ห้ามมีที่นั่งในการรอคอย) 15.สถานบริการสักผิวหนังหรือเจาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย 16.สถานเล่นสเกต หรือโรลเลอร์เบลด และสถานที่ในทำนองเดียวกัน 17. สนามกอล์ฟ สนามฝึกซ้อมกอล์ฟ 18.ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา สนามพระเครื่อง พระบูชา 19.ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรศการ 20.สถานศึกษาทุกระดับ และสถาบันกวดวิชา 21.สถานบริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกความงาม และสถานเสริมความงาม 22.สถานประกอบกิจการสปา อาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร
    ที่ จ.ภูเก็ต นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับนายแพทย์ธนิศ เสริมแก้ว สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และนายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต แถลงข่าวสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2563 ณ ห้องประชุมคอซิมบี้ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต โดยนายภัคพงศ์กล่าวว่า ข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2563 ถึงวันที่ 22 มีนาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อยืนยันแล้ว 13 ราย โดยรายแรกเป็นผู้หญิงชาวจีนอายุ 32 ปี เป็นนักท่องเที่ยวจากอู่ฮั่น รักษาหายแล้ว 
    ด้านนายแพทย์เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต กล่าวว่า การรับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ ในภูเก็ตได้รับเข้ารักษาในโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลป่าตอง โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โรงพยาบาลสิริโรจน์ โดยถ้าผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามาที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตจำนวนมากเกินกว่า 10 คนขึ้นไป จะต้องมีโรงพยาบาลสนาม โดยได้เลือกสถานที่ไว้คือ ศาลากลางหลังใหม่ เริ่มจากชั้นล่างขึ้นมา น่าจะรับได้ถึง 50 คน ในรายที่ผลเป็นบวกแล้ว ถ้ามีมากขึ้นไปอีกจะใช้พื้นที่ชั้นสองของอาคารเดียวกัน โดยจะเข้าปรับพื้นที่ในวันที่  23 มีนาคม 2563 
    ที่ จ.อุบลราชธานี สำหรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ของจังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันมีผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) 100 ราย ผลตรวจไม่พบเชื้อ 88 ราย เป็นผู้ป่วยยืนยันแล้ว 6 ราย เป็นผู้ป่วยไม่แสดงอาการอีก 1 ราย รวมเป็น 7 ราย ส่วนอีก 5 รายรอผลตรวจ เป็นผู้ป่วยที่หายและกลับบ้าน 89 ราย ยังคงรักษาตัวที่โรงพยาบาล 11 ราย โดยเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มเซียนมวยที่ไปดูมวยที่สนามมวยลุมพินีและราชดำเนินที่เป็นพื้นที่ระบาด
    โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. ถึงปัจจุบันกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่การระบาดและเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดจำนวนทั้งสิ้น 695 คน เป็นผู้มีอาการปกติและพ้นระยะกักเพื่อดูอาการ 14 วันแล้ว จำนวน 346 คน ส่วนผู้อยู่ระหว่างสังเกตอาการที่บ้านจนถึงขณะนี้ มี 349 คน
    ขณะที่ภายหลัง นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด มีหนังสือด่วนสั่งปิดด่านสากลไทย-ลาวช่องเม็ก หลังเมื่อต้นสัปดาห์สั่งปิดจุดผ่อนปรนด่านประเพณีระหว่างประเทศไปแล้ว และเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ก็ได้สั่งปิดด่านถาวรปากแซง อ.นาตาลไปอีกแห่ง แต่เมื่อวานสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลุกลามมากขึ้น จึงได้มีหนังสือสั่งปิดด่านสากลไทย-ลาวในวันนี้ และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.เป็นต้นไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"