เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยทางเลือกของผู้นำในการรับมือ COVID-19


เพิ่มเพื่อน    

 

                                                   
กระแสความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ในเรื่องวิธีการรับมือกับ COVID-19 สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ขั้วความคิดใหญ่ที่แตกต่างกันดังนี้ ขั้วความคิดที่หนึ่งมีความเชื่อตามหลักการ “Herd Immunity” ว่า วิธีการรับมือที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้คนติดเชื้อไวรัสเข้าไปในจำนวนน้อย ในท้ายที่สุดคนส่วนใหญ่ที่ได้รับเชื้อก็จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นได้เองตามธรรมชาติ ขั้วความคิดที่สองมีความเชื่อในวิธีการลดการกระจายของเชื้ออย่างค่อยเป็นค่อยไป (mitigation) ด้วยวิธีเฝ้าระวัง กักกันตนเองและโรคจากผู้อื่น  (social distancing)  เพื่อให้คนส่วนใหญ่ค่อย ๆ สร้าง Herd Immunity ขึ้นมา ซึ่งจะใช้เวลานานและยืดเยื้อกว่าวิธีแรก และขั้วความคิดที่สาม มีความเชื่อในเรื่องการปิดเมืองปิดประเทศอย่างเข้มงวด (Lockdown) เพื่อควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก เพราะเราไม่มี ยา-หมอ-เตียง ที่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยจำนวนมากหากเกิดการระบาด 

ปัญหาสำคัญที่ผู้นำของประเทศกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ จึงเป็นเรื่องของการเลือกว่า ตนเองควรจะเชื่อความคิดเห็นทางการแพทย์ของขั้วความคิดไหนดี ที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ถูกต้องและเกิดประโยชน์สุทธิสูงสุดต่อประเทศชาติโดยรวม ปัญหาดังกล่าวนี้จึงเป็นปัญหาเชิง “เศรษฐศาสตร์” โดยแท้ 

ผู้เขียนขออนุญาตนำเสนอกรอบแนวคิดการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ที่จะสามารถผนวกแนวคิดของขั้วความคิดที่สองและสามเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้าง Herd immunity และขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับข้อจำกัดในเรื่องของการไม่มี ยา-หมอ-เตียงที่เพียงพอจะรับมือกับการระบาดใหญ่ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยในการพิจารณากำหนดนโยบายให้มีความรอบคอบและถูกต้องเหมาะสมมากขึ้น โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

ขั้นตอนแรก เราต้องตระหนักถึงความจริงที่ว่า เงื่อนไขสำคัญของความสำเร็จของขั้วความคิดที่สองและสามก็คือเรื่องของการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้มีจำนวนที่มากเกินไปในเวลาสั้น เพื่อให้ผู้ติดเชื้อได้อยู่ห่างจากกัน (Social Distancing) และใช้เวลาในการค่อย ๆ สร้าง Herd Immunity ในขณะที่สังคมก็มีเวลาและความหวังในการสร้างความพร้อมเรื่องยาและวัคซีนที่จะมีการค้นพบในอนาคตอันใกล้ 
จากข้อมูลล่าสุดตามข่าวที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ประชุมร่วมกับคณะแพทย์เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมาว่า หากรัฐยังดำเนินการในอีก 30 วันข้างหน้าเหมือนที่ผ่านมาแล้ว ก็คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มสูงเป็น 3.5 แสนราย และมียอดผู้เสียชีวิตราว 7 พันราย แต่หากเพิ่มมาตรการให้ประชาชนอยู่บ้าน (lockdown) ก็จะมีจำนวนผู้ป่วยราว 2.4 หมื่นราย และมีผู้เสียชีวิตราว 485 ราย คำถามสำคัญก็คือว่า รัฐบาลจะตัดสินใจใช้ทางเลือกที่มีอยู่ให้เหมาะสมได้อย่างไร ผู้เขียนขอนำเสนอรายละเอียดของประเด็นเหล่านี้ในขั้นตอนถัดไปดังนี้

ขั้นตอนที่สอง เรามีข้อจำกัดเร่งด่วนในเรื่องของกรอบเวลาในการเลือกใช้ทางเลือกเรื่องการปิดประเทศ (lockdown) แบบมีการบริหารจัดการ เพราะทางเลือก (option) ในการปิดประเทศแบบมีการบริหารจัดการนี้จะหมดไปในทันทีที่เชื้อโรคนี้เกิดแพร่ระบาดอย่างรุนแรงแล้ว การปิดประเทศแบบมีการบริหารจัดการหมายถึง การให้คนสูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ติดเชื้อได้กักตนเองจากผู้อื่น การมีศูนย์คัดกรอง แยกคนป่วยที่อาการไม่หนักให้ไปพักกักตัวเองที่บ้านหรือในสถานที่อื่นเช่น โรงแรมเฉพาะแห่ง ที่มีคนร่วมมือกันยกให้เป็นสถานที่พักดูอาการโดยมีบุคลากรทางการแพทย์มาช่วยดูแลรักษา การจัดตั้งโรงพยาบาลเฉพาะกิจ เช่น โรงพยาบาลสนามเหมือนที่รัฐบาลเริ่มคิดทำเมื่อไม่กี่วันก่อน เพื่อรับส่งต่อผู้ป่วยที่ติดเชื้อและมีอาการหนัก โดยมีการจัดทีมผู้เชี่ยวชาญไปดูแลเป็นการเฉพาะ การขอความช่วยเหลือกับแพทย์ทหารของกองทัพให้มาช่วยงาน เพราะแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อนั้นมีจำนวนน้อย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความร่วมมือกับแพทย์จากโรงพยาบาลอื่น ๆ ด้วย ภาครัฐควรให้การลดหย่อนภาษีแก่ภาคเอกชนที่เข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องโรงพยาบาลเฉพาะกิจ และพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำที่ต้องสูญเสียรายได้รายวันในช่วงดังกล่าวโดยผ่านมาตรการของโครงการประชารัฐที่เคยออกแบบไว้สำหรับคนจน เป็นต้น 

ดังนั้น ปัญหาของผู้นำประเทศจึงเปรียบเสมือนปัญหาของการลงทุนเพื่อป้องกันภัยพิบัติจาก COVID-19 แต่ในกรณีนี้หากผู้นำได้ตัดสินใจเลือกทางเลือกในการลงทุนที่ผิดพลาดแล้ว ท่านก็จะเสียโอกาสในการย้อนกลับไปแก้ไขได้อีก (Irreversible Investment)  ผู้นำประเทศมีเวลาที่ค่อนข้างจำกัดในการตัดสินใจว่าจะเลือกใช้ทางเลือก (option) ในการปิดประเทศแบบมีการบริหารจัดการหรือไม่ 
ขั้นตอนสุดท้าย สมมติว่าผู้นำประเทศเลือกวิธีที่จะปิดประเทศแบบมีการบริหารจัดการทันทีในเวลานี้ ผลดีที่ได้ก็คือ เราจะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสอดคล้องกับข้อจำกัดในเรื่องจำนวนยา-หมอ-เตียง ที่เราไม่มีเพียงพอที่จะใช้รักษาผู้ป่วยจำนวนมาก นอกจากนี้ วิธีนี้ยังช่วยให้เรามีเวลามากขึ้นในการสร้าง Herd Immunity อย่างช้า ๆ และมีความหวังในการรอคอยวัคซีนที่จะมีการค้นพบใหม่ในอนาคต ข้อเสียของการปิดประเทศคงหนีไม่พ้นเรื่องของความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลก็น่าจะสามารถหาวิธีผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ เพราะมีความคุ้นเคยในการรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจมาก่อนแล้วด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือการพักชำระหนี้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหลาย ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจนอาจมีผลต่อเนื่องไปถึงความสามารถของผู้ประกอบการอื่นจำนวนมากในการจ้างงานทั้งในและนอกระบบตลาดแรงงาน เป็นต้น

แต่หากสมมติว่า ผู้นำประเทศเลือกที่จะโยนทางเลือกในการปิดประเทศแบบมีการบริหารจัดการทิ้งไปแล้ว ก็อาจปรากฏในภายหลังว่า การระบาดของเชื้อไวรัสอย่างหนักจะทำให้แม้แต่วิธี Herd Immunity เองก็เอาไม่อยู่ในเวลาสั้น ๆ และเกิดความสูญเสียมาก แม้แต่ประเทศอังกฤษเองก็ยังต้องรีบละทิ้งแนวทางแบบ Herd Immunity ไปเมื่อไม่กี่วันก่อน เพื่อหันไปใช้วิธีปิดประเทศแบบมีการบริหารจัดการแทน คำถามสำคัญก็คือว่า ความเสียหายที่จะมีต่อชีวิตผู้คนและเศรษฐกิจโดยรวมนั้น จะคิดเป็นมูลค่าที่สูงกว่าในกรณีที่เราได้เลือกใช้วิธีการปิดประเทศแบบมีการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นหรือไม่ อย่างไร
กรอบวิธีวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ข้างต้นนี้ จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้นำของประเทศได้ตระหนักถึงประโยชน์ที่แท้จริงของแต่ละทางเลือกที่มีอยู่ในเวลานี้ เพื่อจะได้ตัดสินใจเลือกทางเลือกที่จะให้ผลประโยชน์สูงสุดแก่สังคมในระยะยาว โดยที่รัฐบาลได้ใช้โอกาสที่มีอยู่นี้ ทำความเข้าใจและสื่อสารกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาถึงผลกระทบของแต่ละทางเลือกที่มีอยู่นี้ รวมถึงระยะเวลาที่ชัดเจนที่พวกเราทั้งหลายจะต้องอดทนและต่อสู้ไปด้วยกัน ทั้งนี้รัฐบาลควรได้เตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากทางเลือกเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและสังคมมีความหวังในการต้านภัยครั้งนี้ร่วมกัน

ศ.ดร. อารยะ  ปรีชาเมตตา
กนิษฐา หลิน 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"