กระตุ้นเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    

                                                                     

                ช่วงนี้ทั่วโลกกำลังเจอวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเข้าใกล้ 800,000 รายไปทุกที ขณะที่ประเทศไทยเองก็เพิ่มเฉลี่ยวันละ 100 เคส จนผู้ป่วยสะสมทะลุ 1,600 คนไปแล้ว แต่ดูเหมือนมาตรการ Social Distancing ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการในปัจจุบัน จะสามารถตัดยอดกราฟผู้ป่วยที่ส่อแววพุ่ง จนสามารถรักษาระดับการเพิ่มขึ้นที่ค่อนข้างจะคงตัว 

                แน่นอนว่า หากประชาชนทุกคนขานรับ และระมัดระวังตัวเองอย่างจริงจัง เชื่อว่ายอดจำนวนผู้ป่วยใหม่ในไทยจะเริ่มเข้าสู่ขาลงในช่วงเดือนเมษายนนี้แน่นอน ซึ่งก็หวังว่า การสั่งปิดสถานที่ซึ่งมีคนมารวมตัวกัน จนถึงวันที่ 30 เม.ย.2563 นี้ จะช่วยทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

                ส่วนใครที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดการค้าขาย และธุรกิจตอนนี้ภาครัฐก็มีการเปิดให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา ที่จะช่วยดูแล 5,000 บาท ถึง 3 เดือน ซึ่งอันนี้คือ มาตรการที่ช่วยคนทำอาชีพอิสระ และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ

                แน่นอนมันยังไม่ได้มีแค่นี้แน่นอน รัฐบาลก็ยังต้องมีการออกมาตรการอีกหลายชุด ขึ้นมาดูแลทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ รวมถึงมนุษย์เงินเดือนซึ่งอยู่ในระบบประกันสังคม

                ล่าสุด ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอ ครม.เกี่ยวกับประกันสังคม โดยแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่มีสิทธิ์ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่ถึง 5,000 บาท มีสิทธิ์ได้รับเงินไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท โดยให้มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค.2563 เพื่อให้สอดคล้องและเท่าเทียมกันกับการช่วยเหลือแรงงานลูกจ้างที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบในวันที่ 31 มี.ค.นี้

                ซึ่งนี่ถือเป็นตาข่ายรองรับขั้นที่ 2 สำหรับคนที่เป็นลูกจ้างในระบบที่หลุดจากคุณสมบัติของมาตรการแรก กลุ่มนี้จะไปใช้สิทธิ์ในโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 70,000 คน

                ในส่วนของเกษตรกร ซึ่งก็ได้รับผลกระทบทั้งทางตรง ทางอ้อมจากการระบาด สินค้าบางส่วนขายไม่ได้ เชื่อว่า ภาครัฐก็จะต้องมีมาตรการออกมาเยียวยาด้วยเช่นกัน

                ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เสร็จสิ้นการเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา (โควิด-19) ได้เรียก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง และนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าหารือที่ห้องทำงานชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อหารือเพื่อกำหนดมาตรการการช่วยเหลือประชาชนในระยะที่ 3 สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการดูแลระบบเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหา และหากมีความจำเป็นต้องกู้เงินโดยการออก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นครั้งนี้ด้านเศรษฐกิจไม่ใช่แค่ธุรกิจขนาดใหญ่ แต่มีผลกระทบถึงประชาชนระดับล่างด้วย

                ด้าน นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ระบุว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาชุดมาตรการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ ชุดที่ 3 คาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่ามาตรการชุดที่ 1 และชุดที่ 2 หรือมากกว่า 400,000 ล้านบาท ผ่านนโยบายต่างๆ ที่ยึดโยงไปทุกพื้นที่ ซึ่งมาตรการชุดนี้จะช่วยดูแลทั้งประชาชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะกลุ่มเหล่านี้ปัจจุบันรายได้หายไป ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากขึ้น

                ทั้งนี้ มาตรการดูแลเศรษฐกิจ ชุดที่ 3 จะดูแลเศรษฐกิจทั้งระบบและมีขนาดที่เหมาะสม โดยขณะนี้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สมาคมธนาคารไทย ร่วมกันคิดสร้างความเข้มแข็งต่อเนื่องให้เศรษฐกิจฐานราก

                ดูเหมือนว่ารัฐบาลยังต้องเดินหน้าออกแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหลายรอบ.

 ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"