ปิดทุกร้านเที่ยงคืน! กทม.ยกระดับสกัดโควิดครม.ถกนัดพิเศษ3เม.ย.


เพิ่มเพื่อน    

 ศบค.เผยไทยติดเชื้อโควิดเพิ่ม 120 คน เสียชีวิต 2 ราย ยอดป่วยสะสม 1,771 รวมตาย 12 ราย เตือนเว้นระยะห่างในบ้านหลังยอดไม่ลด ยันไม่ปกปิดตัวเลขผู้ป่วย ตร.ขู่ฟันเฉียบขาดหลายกระทง เน้นโทษหนักสุดพวกแหกมาตรการ กทม.สั่งปิด “ร้านสะดวกซื้อ-โชห่วย-ซูเปอร์มาร์เก็ต-รถเข็น-แผงลอย-สวนสาธารณะ” 6 ทุ่มถึงตี 5 ย้ำยังไม่ล็อกดาวน์เมืองกรุง ครม.จ่อประชุม ครม.นัดพิเศษดันมาตรการเยียวยาชุดที่ 3-4 ด้านผู้นำฝ่ายค้านพร้อมร่วมมือรัฐบาลฝ่าวิกฤติไปด้วยกัน

    ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 11.30 น. วันที่ 1 เมษายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า วันที่ 1 เม.ย. ไม่ได้มีการประชุม ศบค. แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม มีการอัพเดตสถานการณ์ตลอดเวลา และนายกฯ ได้ขอบคุณประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐประยุกต์การทำงานโดยใช้นวัตกรรมแบบบ้านๆ เพื่อให้มีระยะห่างต่อกัน เพื่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และประชาชน ส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลก มียอดสะสม 856,910 เสียชีวิต 42,107 ราย โดยสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยมากที่สุด สำหรับประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 120 ราย ยอดสะสม 1,771 ราย เสียชีวิต 2 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 12 ราย 
    โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 11 เป็นเพศชายอายุ 79 ปี อาศัยอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง มีประวัติเดินทางไปร่วมงานแต่งงานที่ประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 7 มี.ค. มีอาการป่วยวันที่ 20 มี.ค. เข้ารักษาวันที่ 23 มี.ค. อาการไม่ดีขึ้น และมารักษาอีกครั้งในวันที่ 28 มี.ค. และเสียชีวิตวันที่ 31 มี.ค. ส่วนรายที่ 12 เป็นชายอายุ 58 อาชีพนักธุรกิจ กลับมาจากประเทศอังกฤษ กลับไทยวันที่ 15 มี.ค. เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน และเสียชีวิตวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะประสานกับโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวเพื่อขอข้อมูลและหาสาเหตุต่อไป
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยใหม่ 120 รายนั้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก 51 ราย มาจากสัมผัสผู้ป่วยยืนยัน กลุ่มที่สอง 39 ราย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยยืนยัน และกลุ่มที่สาม 30 ราย อยู่ระหว่างการสอบสวนหาสาเหตุ จะเห็นว่าปริมาณยังพุ่งขึ้น แม้จะดีกว่าเมื่อวันที่ 30-31 มี.ค. แต่ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ เพราะตัวเลขยังเป็นระดับร้อยกว่า ผู้ป่วยใหม่วันนี้อยู่ใน กทม. 43 ราย,  สมุทรปราการ 23 ราย, ภูเก็ต 11 ราย และผู้ป่วยสะสมอยู่ใน กทม. 850 ราย, นนทบุรี 104 ราย ถือว่ายังกระจุกตัวอยู่ จากการประเมินผู้ป่วยใน กทม.จะแพร่เชื้อไปยังแวดล้อมได้ 1 ต่อ 3 คน ซึ่งน่ากังวลมากๆ ถ้าไม่อยากให้ตัวเลขทวีคูณ ทุกคนต้องช่วยกัน
    “ตัวเลขที่น่ากังวลคือ แม้ประชาชนจะหยุดเชื้อเพื่อชาติด้วยการอยู่บ้าน แต่ตัวเลขจำนวนการติดเชื้อในบ้านไม่ลดลง จึงต้องเพิ่มมาตรการต่อตัวเอง บ้านไหนมีสมาชิกมากกว่า 1 คน ถือว่าเสี่ยง จึงต้องยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างต่อบุคคลในบ้าน 2 เมตร ซึ่งต้องทำทุกวัน”นพ.ทวีศิลป์กล่าว 
ยันไม่ปกปิดตัวเลข
    เมื่อถามว่า กระแสข่าวต่างๆ ที่ออกมา เหมือนประชาชนรู้สึกตัวเลขของ สธ.อาจจะน้อยกว่าความเป็นจริง นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตัวเลขที่เรารายงานยืนยันว่าเป็นตัวเลขที่แท้จริง เกิดขึ้นจริง โดยยอมรับว่าช่วงแรกๆ เครื่องมือไม่เพียงพอ เจ้าหน้าที่ยังไม่มีความเชี่ยวชาญ ต้องใช้ถึง 2 แล็บยืนยันผลตรวจ แต่ขณะนี้มีความเชี่ยวชาญพอสมควร กทม. ปริมณฑล รวมถึงบางจังหวัด ตรวจได้วันละหมื่นราย ส่วนใหญ่ที่มาตรวจคือ คนปกติที่ตื่นตระหนก ผลตรวจเป็นลบ เจอผู้ป่วยยืนยันจริงแค่กว่า 400 คน 
    ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการเสียชีวิตของชายวัย 57 ปี บนรถไฟขบวน 37 เมื่อรถไฟวิ่งมาถึงสถานีทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยพบว่าป่วยเป็นเบาหวานและติดเชื้อโควิด ว่าสาเหตุการเสียชีวิตยังต้องรอการพิสูจน์ เพราะเป็นการเสียชีวิตแบบเฉียบพลัน ปกติผู้ป่วยโรคโควิดส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีอาการเบาๆ และพัฒนาเป็นปอดอักเสบในช่วงวันที่ 8-10 ของการรับเชื้อ จากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการหนักจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ดังนั้นในกรณีคนไข้ที่มีโรคประจำตัว เป็นเบาหวานที่ไม่ควบคุมให้ดี จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เสียชีวิตได้
    ส่วนกรณี ผบ.เรือนจำจังหวัดนครนายกติดเชื้อโควิดนั้น  นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้แจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรค จึงได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคตั้งแต่เมื่อคืนวาน เบื้องต้นพบว่าเจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อไม่เคยเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่แดนคุมขัง แต่ทำงานอยู่ที่ด้านนอก จึงสบายใจได้ในระดับหนึ่ง ส่วนผลของการสืบสวนโรคคาดว่าจะเปิดเผยได้ในวันพรุ่งนี้
    สำหรับรายงานข่าวที่ว่าคนไทยกลับจากการประกอบกิจกรรมทางศาสนาที่ประเทศอินโดนีเซีย ติดเชื้อ 19 คนนั้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ขณะนี้มีคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศค่อนข้างมาก กรณี 19 รายดังกล่าวไม่ใช่ผู้ติดเชื้อทั้งหมด แต่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการไข้ที่สนามบิน จึงให้ทั้ง 19 รายรอฟังผลการตรวจคัดกรองแบบเร่งด่วนที่สนามบิน โดยมีการจัดให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดไว้ กรณีผลออกมาเป็นบวก หรือติดเชื้อรถของโรงพยาบาลจะไปรับตัว หากผลตรวจออกมาเป็นลบ จะยังไม่ให้กลับบ้าน แต่จะส่งตัวไปยังสถานที่กักกันเพื่อสังเกตอาการจนครบกำหนด โดยมาตรการดังกล่าวจะใช้บังคับกับผู้เดินทางเข้าประเทศทุกราย ไม่ว่าจะเดินทางเข้าประเทศผ่านช่องทางใดและมีประวัติอย่างไร 
    จากกรณีกองทัพบกพบกำลังพลหญิงยศร้อยเอก สังกัดกรมสารบรรณทหารบก ติดเชื้อโรคไวรัสโควิดจำนวน 1 นาย ทั้งนี้ พล.ต.วีรสิทธิ จันทร์ดา เจ้ากรมสารบรรณทหารบก ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดวันที่ 31 มี.ค.63 เพื่อแจ้งถึงกรมกำลังพล ผ่านไปยังกองทัพบกให้รับทราบเพื่อดำเนินการส่งตัวเข้ารักษาตามขั้นตอนการปฏิบัติ 
    ขณะที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ศปก.ทบ.) หน่วยขึ้นตรงกองทัพบก (นขต.ทบ.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยเน้นย้ำเรื่องการสอบสวนโรคกำลังพลที่ติดเชื้อโควิด-19 ขอให้เป็นไปอย่างเข้มงวด ต้องบอกตามข้อเท็จจริง เพราะหากกำลังพลไม่พูดความจริง ปัญหาจะบานปลาย
ตร.ขู่ฟันพวกแหกมาตรการ
    พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า จากการปฏิบัติงานตลอดระเวลา 4-5 วันที่ผ่านมา พบว่า ยังมีประชาชนบางส่วนฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ประกาศ และกฎหมาย มีหลายกรณีที่ไปมั่วสุม ตั้งวงสังสรรค์ เล่นการพนัน เด็กแว้น ปาร์ตี้ยาอี ลักษณะนี้ถือว่ากระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ทั้ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมถึงการกักตุนสินค้า ขายหน้ากากอนามัยเกินราคา ยืนยันว่าเป็นความผิดรุนแรง ผบ.ตร. ให้ดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด เร่งรัดดำเนินคดีและสั่งฟ้องทุกข้อหา เสนอให้ริบของกลาง ให้ลงโทษสถานหนัก ไม่ต้องรอลงอาญา ดูตัวอย่างกรณีที่มีการเอาน้ำลายไปป้ายสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งศาลสั่งจำคุกแล้ว 15 วัน ไม่รอลงอาญา ขณะที่นายกฯเป็นห่วงและกำชับให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพราะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนประชาชน
    สำหรับความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อเวลา 08.45 น. ได้เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ตามปกติ โดยติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  แต่ไม่มีการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แต่อย่างใด  
    ขณะที่ในช่วงบ่าย เวลา 13.30 น. พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2563 ที่ตึกสันติไมตรี โดยนายกฯ กล่าวก่อนเริ่มการประชุมว่า การทำงานขอให้ยึดถือเป็นหลักคิดหลักปฏิบัติเดียวกัน เพื่อทำให้ประเทศชาติของเราเข้มแข็ง ระหว่างการประชุมนายกฯ ยังได้ฝากให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ช่วยชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจว่าจะได้ประโยชน์อะไรจากยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป ขณะที่ตัวแทนภาคเอกชนเสนอให้มีการนำสถานการณ์จากโควิด-19 ทำการปรับแผนแม่บทเพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีเตรียมเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2563 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเร่งด่วนในเรื่อง 1.รับฟังข้อมูลจากกระทรวงต่างๆ สิ่งที่จะออกเป็นมาตรการเยียวยาในระยะ 3 และ 4 สำหรับช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 ต่อไป 2.หารือเรื่องงบประมาณ กรอบวงเงิน จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินจากที่ต่างๆ ทั้งนี้ จะเป็นรูปแบบการประชุมเต็มคณะ โดยไม่ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
    นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เปิดเผยถึงเงินบริจาคสมทบกองทุนสู้โควิด-19 ของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าขณะนี้มียอดเงินบริจาคจำนวน 20 ล้านบาทแล้ว กำลังหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขกฎระเบียบบางอย่างในการนำเงินบริจาคมาใช้ โดยจะพิจารณาให้เร็วที่สุด เพราะเห็นว่าอยู่ในช่วงจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังได้ขอร้องให้วัดและประชาชนเข้าใจกรณีนำศพผู้ชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ไปฌาปนกิจที่วัด ยืนยันว่าสามารถทำได้ จะไม่มีการติดเชื้อ ฝากถึงวัดและประชาชนให้เข้าใจความรู้สึกของครอบครัวผู้เสียชีวิตด้วย 
ปิดร้านสะดวกซื้อ-สวนฯ 6 ทุ่ม-ตี 5
    ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อพิจารณาถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าได้เชิญคณะกรรมการทั้ง 26 คน มาหารือในรายละเอียด โดยที่ประชุมไม่เห็นด้วยในการอนุญาตให้เปิดร้านหรือศูนย์ให้บริการโทรศัพท์มือถือในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากมองว่าจะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อ ดังนั้นจึงมีมติไม่ให้เปิดศูนย์บริการและร้านซ่อมโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้กทม.จะไม่ประกาศเคอร์ฟิว เพราะไม่ใช่อำนาจของ กทม. แต่เป็นอำนาจของ ศบค. 
    จากนั้น เวลา 14.00 น. ที่ ศบค. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงถึงการให้บริการงานทะเบียนของ กทม. ว่าของดให้บริการงานทะเบียนทั้งหมด ยกเว้น 5 ประเภท  การแจ้งเกิด-ตาย การตรวจคัดสำเนาทะเบียนราษฎร ตรวจคัดสำเนาทะเบียนบัตรประชาชน จดทะเบียนสมรส และจดทะเบียนหย่า หากมีกรณีเร่งด่วนสำนักงานเขตจะพิจารณาเป็นกรณีไป  ส่วนผู้ที่บัตรประชาชนหมดอายุ กระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้ใช้บัตรเก่าไปก่อนจนถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้ ส่วนผู้ที่บัตรหายให้ไปคัดสำเนาบัตรเก่าได้ที่สำนักงานเขตใกล้บ้านมาใช้ก่อน
    ส่วนการเยียวยาตลาดภายใต้การดูแลของ กทม. จะยกเว้นค่าเช่าแผง ห้องสุขาและที่จอดรถทั้ง 10 แห่ง เช่น ตลาดเมืองมีน ตลาดธนบุรี ตลาดเทวราช ตลาดประชานิเวศน์ 1 ตลาดหนองจอก ตลาดบางกะปิ ตลาดพระวงเวียนเล็ก ตลาดรัชดาภิเษก ตลาดสิงหา และตลาดราษฎร์บูรณะ ตั้งเดือน มี.ค. จนกว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่ตลาดนัดจตุจักร กทม. จะทำหนังสือไปถึงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อขอยกเว้นค่าเช่าเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือน มี.ค-พ.ย.
    ร.ต.อ.พงศกรกล่าวว่า ส่วนกำหนดเวลาเปิด-ปิดสถานที่เพิ่มเติม ได้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ โดยจะมีการออกประกาศฉบับที่ 5 เรื่องการควบคุมเวลาเปิด-ปิดตั้งแต่เวลา 05.01-24.00 น. คือร้านสะดวกซื้อ เซเว่นฯ แฟมิลี่มาร์ท หรือร้านลักษณะเดียวกัน เช่น ร้านโชห่วย ซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งในและนอกห้าง 2.ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งเป็นในคูหา รถเข็น และแผงลอย ให้เปิดโดยบริการตั้งแต่เวลา 05.01-24.00 น. เช่นกัน โดยในช่วงที่ปิดร้านในเวลาดังกล่าว ขอให้ไปทำความสะอาดอย่างเคร่งครัดถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้ สวนสาธารณะทั้งของรัฐและเอกชนที่ผ่านมาอนุโลม แต่สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น บางแห่งใช้เป็นที่รวมตัวกันทำกิจรรมใกล้ชิดกัน ดังนั้น กทม.จึงขอปิดสวนสาธารณะ ไม่เว้นแม้แต่ในคอนโดฯ ชุมชนและหมู่บ้าน หรือเอกชน ซึ่งประกาศทั้งหมดจะมีผลในตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย.ถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้
ฝ่ายค้านพร้อมหนุนรัฐบาล
    “กทม.เข้าใจมาตรการต่างๆ ประชาชนจะไม่สะดวก แต่ขอให้เข้าใจว่าเราต้องลดการรวมตัวกันให้อยู่กับบ้านมากขึ้น ขอให้คำมั่นสัญญาว่าเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด และทุกสถานที่ปิดเราจะประเมินตลอด หากหลักฐานทางการแพทย์ ทางวิทยาศาสตร์ถ้าสถานการณ์ดีขึ้น สถิติน้อยลงเราจะพิจารณาเปิดให้เร็วที่สุด ส่วนที่มีกระแสข่าวลือว่าผู้ว่าฯ กทม.มีการประชุมเพื่อล็อกดาวน์ กทม.นั้น ยืนยันว่ายังไม่ออกประกาศ ต้องดูในภาพใหญ่ของรัฐบาลด้วย” ร.ต.อ.พงศกรกล่าว
    ด้านนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้าน ออกแถลงการณ์ในหัวข้อ “ฝ่ายค้านพร้อมร่วมมือรัฐบาล และเราจะฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน” สรุปว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับรัฐบาล ทั้งในด้านการจัดสรรงบประมาณ การออกกฎหมายเร่งด่วน และการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่สร้างสรรค์ เพื่อเราจะได้ฟันฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน วันนี้รัฐบาลต้องมีความเด็ดขาด และชัดเจนโปร่งใส เพื่อยับยั้งไวรัสโควิด-19 ไม่ให้ลุกลามมากจนระบบสาธารณสุขไม่สามารถรับมืออย่างเช่นในประเทศอิตาลี หมอ พยาบาล ซึ่งเป็นนักรบแนวหน้าของเราต้องมีอุปกรณ์เครื่องมือในการป้องกันที่พรั่งพร้อม ไม่ขาดแคลนจนต้องออกมาขอรับบริจาค การรณรงค์เรื่อง “การสร้างระยะห่างทางสังคม” (Social Distancing) ถือเป็นหัวใจสำคัญในการหยุดยั้งการแพร่ระบาด จำเป็นที่จะต้องเสริมความเข้าใจให้กระจ่างชัดและทั่วถึง ปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่หนักหนาไม่แพ้กัน ที่รัฐบาลจะต้องมีมาตรการและแผนรองรับที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้งบประมาณปี 2563 ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ หากสิ่งที่รัฐบาลต้องการสามารถช่วยเหลือประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้จมดิ่งลงไปในเหวลึกกว่าที่เป็นอยู่  
    “ผมเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังเสียงของประชาชน ประชาชนเองก็ต้องร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเคร่งครัด และฝ่ายค้านพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลในอย่างเต็มที่ นี่คือเวลาที่จะหันหน้าเข้ามาร่วมมือกัน ช่วยนำพาประเทศให้พ้นจากวิกฤติ” นายสมพงษ์ระบุ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"