เกิดแน่ พรรคสาขา-เครือข่าย


เพิ่มเพื่อน    

ทุกพรรคเสียสมาชิก

เกิดแน่พรรคสาขา-เครือข่าย

 

     เริ่มแล้วตั้งแต่ช่วง 1-30 เมษายน 2561 ที่พรรคการเมืองเก่าหรือพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับเดิม 2550 จะต้องให้สมาชิกพรรคมายืนยันการเป็นสมาชิกและจ่ายค่าบำรุงพรรค อันเป็นการดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดําเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งหากเลย 30 เม.ย.ไปแล้ว สมาชิกพรรคคนใดไม่มาแจ้งยืนยันให้ถือว่าพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรค แต่ก็สามารถกลับมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้อีก แต่ต้องรอให้ คสช.ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมการเมืองเต็มรูปแบบเสียก่อน เพราะช่วง 1-30 เม.ย.ดังกล่าวยังไม่เปิดโอกาสให้สมัครสมาชิกใหม่ เป็นแค่การยืนยันสมาชิกเดิมเท่านั้น

      พรรคชาติไทยพัฒนา หรือพรรคชาติไทยเดิม เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่อันดับ 2 รองจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังมีบทบาทสำคัญทางการเมืองมาถึงทุกวันนี้

        นิกร จำนง แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา และกรรมการในคณะกรรมการพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ ตามคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่มี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเตรียมพร้อมของพรรคการเมืองเก่า ในการยืนยันสมาชิกพรรคในช่วง 1-30 เม.ย. รวมถึงทิศทางการเมืองในภาพรวม โดยเชื่อว่าทุกพรรคจะเสียจำนวนสมาชิกพรรคไปหลังพ้น 30 เม.ย. บางพรรคอาจเสียไปมาก และมองว่าการทำการเมืองของแต่ละพรรคการเมืองต่อจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าหรือพรรคจัดตั้งใหม่ หลายพรรคจะประสบปัญหายากลำบาก ทั้งการทำให้พรรคดำรงอยู่ หรือการส่งคนลงเลือกตั้ง ขณะที่ทิศทางอนาคตของพรรคชาติไทยพัฒนาจะเน้นการชูคนรุ่นใหม่ขึ้นมานำพรรคเป็นรุ่นไฮบริด และขณะนี้ก็เริ่มมีอดีต ส.ส.พรรคการเมืองอื่นติดต่อขอย้ายมาเข้าร่วมพรรคชาติไทยพัฒนากันแล้ว

      นิกร-แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มีประสบการณ์การเมืองมาตั้งแต่ปี 2529 วิเคราะห์ว่า คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ดังกล่าวมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มาก เพราะเป็นคำสั่งที่ไปพ่วงกับคำสั่ง คสช.ที่ 57/2557 ที่ห้ามมีกิจกรรมการเมือง จนเมื่อออกมาแล้วก็มีปัญหา เพราะ คสช.ที่เป็นผู้ออกคำสั่งไม่เข้าใจบริบทของพรรคการเมือง จึงทำให้มีปัญหาตามมามาก เช่น การดำรงอยู่ของสมาชิก ที่ในคำสั่งให้พรรคการเมืองต้องให้สมาชิกพรรคมีหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกต่อไป โดยต้องทำให้เสร็จภายในไม่เกิน 30 วัน หากไม่ทำขาดการเป็นสมาชิก แต่ในคำสั่งเดียวกันอีกข้อหนึ่งกลับบอกว่า ให้พรรคการเมืองหาสมาชิกพรรค 500 คน ใน 180 วัน 5,000 คน ใน 1 ปี และ 10,000 คน ใน 4 ปี และหากไม่จ่ายค่าบำรุงพรรคก็ให้ความเป็นสมาชิกขาดไป มันขัดกันในตัวเอง เพราะหากไม่ยืนยันการเป็นสมาชิกมันก็ขาดการเป็นสมาชิกพรรคไปอยู่แล้ว ในเดือนเมษายน มันก็ขัดแย้งกันเอง

...ข้อสรุปที่ได้จากการหารือรับฟังความเห็นร่วมกันของ กกต.กับตัวแทนพรรคการเมืองเก่า เมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ก็คือก็ไปว่ากันข้างหน้า เพราะ กกต.แจงว่าสมาชิกต้องยืนยันตัวเองต่อแล้วถึงจ่ายค่าสมาชิก โดยก็มีการผ่อนคลายให้การยืนยันที่มี 10-20 ข้อ โดยให้ยืนยันกับพรรคด้วยตัวเอง ไม่ต้องใช้สำเนาทะเบียนบ้านอะไรต่างๆ ก็ช่วยผ่อนคลายให้กับพรรคการเมืองได้มาก แต่เรื่องการจ่ายค่าสมาชิกพรรคจะมีปัญหาในการตีความต่อไปในอนาคต

ผมเป็นห่วงว่าบางทีการมองพรรคการเมือง ผมอยู่กับพรรคการเมืองมาหลายสิบปี พรรคการเมือง การมีสมาชิกพรรคเป็นเรื่องสำคัญ อย่างพรรคชาติไทยพัฒนาก่อนหน้านี้ก็คือพรรคชาติไทย ก่อนจะถูกยุบพรรค เดิมทีพรรคชาติไทยที่ตั้งมา 36 ปี เมื่อถูกสั่งยุบพรรคเราช้ำมาก ความรู้สึกของการที่พรรคการเมืองเป็นสถาบันมีนัยสำคัญทางการเมือง การเป็นสมาชิกพรรคยิ่งสำคัญ การจะออกคำสั่งแล้วมาเน้นแต่เรื่องการเลือกตั้ง บางทีเขาไม่เข้าใจว่าการเลือกตั้งสำหรับพรรคการเมืองที่มีอายุมากๆ มันก็คือการเลือกตั้งครั้งหนึ่ง เป็นเรื่องกิจกรรมทางการเมือง อย่างพรรคชาติไทยมาจนถึงชาติไทยพัฒนา เราผ่านการเลือกตั้งมา 12 ครั้งแล้ว หลักของเราก็คือขอดำรงอยู่ในความเป็นพรรคเพื่อทำงาน และเพื่อความเป็นสถาบันทางการเมือง การสูญเสียสมาชิกพรรคจากเดิมที่สมัยเป็นพรรคชาติไทยแล้วถูกยุบ พรรคเสียสมาชิกพรรคไป 2 ล้านกว่าคน เพราะเมื่อพรรคถูกยุบพรรคสมาชิกต้องหายไปด้วย ทั้งที่ไม่ใช่ความผิดสมาชิก สมาชิกที่หายไปครั้งนั้นเมื่อต่อมากลับมาเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคได้สมาชิกกลับมา 2 หมื่นกว่าคน

...ตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ซึ่งจะให้สมาชิกพรรคมายืนยันตัวเองตั้งแต่ 1-30 เม.ย. ยังไม่รู้จะได้กลับมาเท่าใด แต่มันเป็นสาระสำคัญ ก็ทำให้เราก็เห็นใจบางพรรคอย่างพรรคประชาธิปัตย์ เขามีสมาชิก 2 ล้านกว่าคน โดยที่เรื่องพรรคการเมืองมีสมาชิกชื่อซ้ำซ้อนกันมันเป็นไปไม่ได้ เพราะปัจจุบัน กกต.ใช้วิธีการตรวจสอบจากเลข 13 หลักบัตรประชาชน อีกทั้งก็เป็นไปไม่ได้ที่จะมาบอกว่าสมาชิกพรรคการเมืองมีชื่อมาสมัครโดยเจ้าตัวไม่รู้ตัว เพราะการสมัครสมาชิกพรรค ต้องปั๊มหัวแม่มือตามกฎหมายใหม่ แต่ของเก่าก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อคำสั่ง-กฎหมายออกมาแล้วก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำไปตามนั้น

นิกร ย้ำว่าหากจะแย้งคำสั่งดังกล่าวในทางปฏิบัติได้ ก็อยากบอกว่าคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2560 มันมีเนื้อหาขัดกัน ที่ยังไม่จ่ายเงินค่าสมาชิกพรรคก็ยืดไปตามนั้น ไม่ว่าจะเป็น 180 วัน หรือ 1 ปี เพื่อผ่อนคลายให้สมาชิกพรรคคนอื่นมาแสดงตัวว่าพวกเขายังเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ จริงๆ แล้วตอนผมเป็นกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขณะนั้น เรื่องการเก็บเงินค่าสมาชิกพรรคไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะค่าสมาชิก 100 บาทนั้นไม่ส่งผลอะไรเลย เนื่องจากระบบการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของเราแทบไม่ได้อะไรเลย มีแต่เสียโอกาสในการไปสมัครอะไรต่างๆ การจะให้คนมาจ่ายเงินค่าสมาชิก แม้จะเป็นแค่หลักร้อยแต่ก็ต้องไปพูดกับประชาชนให้เขามาจ่าย

คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 จะทำให้พรรคการเมืองสูญเสียสมาชิกพรรคกันเป็นจำนวนมาก เท่ากับว่าเป็นการสูญเสียของพรรคการเมืองครั้งใหญ่ของทุกพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยไม่มีเหตุผล

 เพราะจะมาบอกว่าสมาชิกพรรคมีชื่อซ้ำซ้อนกันมันก็ไม่มี เหตุผลที่ถูกหลอกให้มาสมัครเป็นสมาชิกก็ไม่มี สมาชิกที่เหลือตอนนี้เป็นแก่นแท้ๆ แล้วยังมาบังคับเขาอีก แต่เมื่อออกมาเป็นแบบนี้แล้ว ทุกพรรคก็ต้องเดินหน้ากันต่อไป

        ...กกต.เป็นผู้ปฏิบัติแต่ไม่ใช่ผู้ออกคำสั่ง ก็หวังว่า คสช.จะได้แก้ไปคลี่คลาย เพราะมันสร้างปัญหาเยอะ จะไปรอเดือนมิถุนายนคงไม่ได้ เพราะกฎหมายหากจะต้องแก้ต้องส่งเรื่องแก้ไขกฎหมายไปที่ สนช. แต่คำสั่ง คสช.แค่เรียกประชุม คสช.แล้วชั่วข้ามคืนก็เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้แล้ว

ก่อนหน้านี้ คสช.อาจไม่ทราบปัญหา แต่ตอนนี้ คสช.ทราบแล้ว หลัง กกต.ได้คุยกับพรรคการเมือง มีการชี้ให้เห็นแล้วว่าเรื่องนี้มีปัญหา ก็อยากให้ คสช.แก้ไข รวมถึงผ่อนคลายให้พรรคการเมืองได้จัดประชุมเพื่อตัดสินใจบางอย่าง ก็ควรอนุญาต จากนี้ไปก็เป็นชะตากรรมของพรรคการเมืองเก่า ก็ต้องว่ากันไปหลังจากนี้

ทุกพรรควิ่งสู้ฟัด เอาตัวให้รอด

ถามเพื่อให้ประเมินว่า เมื่อพรรคการเมืองเก่าได้เริ่มทำกิจกรรมการให้สมาชิกพรรคยืนยันการเป็นสมาชิกต่อไป ในช่วง 1-30 เม.ย. ภาพรวมในช่วง 1 เดือนจากนี้จะเป็นอย่างไร นิกร-แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่า ทุกพรรคก็วิ่งเอาตัวให้รอดเพื่อประคองพรรคไว้ให้ได้ วิ่งแข่งกับเวลา ฝุ่นตลบแน่ ไม่ใช่ไปสู้กัน แต่แค่เอาตัวให้รอด กฎหมายเคร่งครัดมาก ทำลำบากมาก ขนาดเราเป็นพรรคการเมืองเก่า ก็มองว่าพรรคใหม่ๆ ก็คงลำบาก ขนาดพรรคเก่ามีคน มีระบบ ดูแล้ว ยุ่งยาก วุ่นวายแน่ แต่ขณะเดียวกัน ฝ่ายที่ถืออำนาจอยู่ เมื่อถึงเวลา ก็ต้องปล่อย

จากนี้ก็จะเป็นช่วงที่แต่ละพรรคจะต้องพยายามให้พรรคยืนอยู่และรักษาตัวให้รอด ก็ลำบาก พรรคขนาดกลางจะได้เปรียบเดินได้ง่าย แต่ก็ระดับหนึ่งเท่านั้น พรรคขนาดเล็กก็จะไปลำบาก เพราะต้องส่งคนลงเลือกตั้งเยอะ ต้องใช้คน ใช้ทุนเยอะ ทำให้ความหลากหลายการเมืองไม่มี พรรคขนาดกลางอาจจะกลายเป็นพรรคขนาดเล็ก พรรคขนาดเล็กจะหายไป พรรคใหญ่จะกลายเป็นพรรคขนาดกลาง คือจะใหญ่ก็ใหญ่ไม่มาก ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

นิกร-แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่าในฐานะที่อยู่ในแวดวงการเมืองมานาน หากจะถามว่า หลังจากนี้พรรคการเมืองเก่าจะได้เปรียบพรรคการเมืองที่ยื่นขอจัดตั้งใหม่หรือไม่ ผมมองว่าไม่ได้เปรียบ เพราะพรรคการเมืองที่จะตั้งใหม่ ก็มีข้อจำกัดเรื่อง บุคลากร แล้วเป็นการเคลื่อนไหวใหม่ อย่างที่ไปยื่นขอจัดตั้งพรรค ซึ่งมีหลายพรรค แต่หากพิจารณาแล้วจะพบว่า ข้อกำหนดต่างๆ ในการทำให้เกิดเป็นพรรคการเมืองมันยากมาก เช่น ทุนประเดิมพรรค 1 ล้านบาท บางคนอาจเข้าใจว่าแค่ไปยืมเงินคนมา 1 ล้านบาท แล้วนำมาแสดงต่อ กกต. จากนั้นพอเข้าสู่ระบบ ก็ไปถอนเงินออก ซึ่งในความเป็นจริงมันถอนไม่ได้ เพราะต้องถือเป็นเงินของพรรคไปแล้ว จะนำไปใช้จ่ายอย่างอื่นไม่ได้ ต้องใช้เพื่อการทำกิจกรรมของพรรค เช่น การหาเสียง การบริหารพรรค ไม่สามารถนำไปใช้หนี้อะไรได้ หรือเรื่องการหาสมาชิกพรรค 500 คน ในการตั้งพรรคช่วงแรกอาจจะคิดว่าหาได้ง่าย แต่จริงๆ ไม่ได้ง่าย ไม่เชื่อลองไปหาดู หรือเรื่องการตั้งสาขาพรรค ที่อย่างน้อยต้องมี 4 สาขาใน 4 ภาค แล้ว 1 สาขาต้องมีสมาชิกพรรคอย่างน้อย 500 คน เท่ากับต้องมีสมาชิกพรรคประจำสาขา รวมหมดอย่างน้อย 2,000 คน หากไม่ครบ พรรคการเมืองไม่สามารถส่งคนลงเลือกตั้งได้ ยกเว้นแต่จะมีการเลือกตั้งภายใน 1 ปีจากนี้ เพราะเขาให้เวลา 1 ปีทอดไป แต่แม้จะส่งคนลงเลือกตั้งได้ แต่ก็ต้องทำให้ครบอยู่ดีในภายหลัง หากหาสมาชิกไม่ได้ พรรคก็ต้องถูกยุบ ตลอดจนกรณี หากพรรคใดต้องการส่งคนลงเลือกตั้งให้ครบ ก็ต้องมีตัวแทนพรรคประจำจังหวัดให้ครบทั้ง 77 จังหวัด โดยต้องมีจังหวัดละไม่น้อยกว่า 100 คน ก็เท่ากับ 7,000 กว่าคนแล้ว แบบนี้ก็หนังยาว ยุ่งยาก วิบากมาก

นิกร วิเคราะห์ว่า กลุ่มต่างๆ ที่มายื่นขอจดทะเบียนตั้งพรรคกับ กกต.ก่อนหน้านี้  สุดท้ายกว่าจะผ่านออกมาได้ก็คงไม่มากเท่าใด แม้แต่พรรคเก่าตอนนี้ ก็คงมีการยกเลิกพรรคกันเยอะ สุดท้ายพรรคการเมืองที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง จะมีไม่มาก เพราะข้อจำกัด กฎ ระเบียบ ข้อปฏิบัติมีมาก แล้วหากจะใช้วิธีส่งคนลงสมัคร แล้วขอให้คนมาช่วยลงคะแนนเพื่อให้ผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อได้เข้าไปเป็น ส.ส.แบบลักษณะที่พรรคของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์เคยทำ ก็จะทำไม่ได้อีกแล้วในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เพราะเลือกตั้งที่ผ่านมา ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ระบบการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นใช้บัตรลงคะแนนใบเดียว จึงต้องลงคะแนนให้กับผู้สมัครในเขตนั้นเท่านั้น ดังนั้นหากพรรคไม่มีผู้สมัคร ส.ส.เขตในเขตเลือกตั้งต่างๆ ก็ลงไม่ได้

...เช่นในอุบลราชธานี หากประชาชนชอบพรรคการเมืองใหม่พรรคหนึ่ง แต่หากพรรคดังกล่าวไม่ได้ส่งคนลงเลือกตั้งที่อุบลราชธานี ให้คนอุบลฯ ชอบพรรคใหม่ดังกล่าวมาก แต่ก็ลงคะแนนให้ไม่ได้ หากพรรคใหม่ดังกล่าวต้องการได้คะแนน ก็ต้องพยายามส่งคนให้ครบ ก็ทำให้มีค่าใช้จ่ายมหาศาลที่จะตามมา ก็จะลำบาก โดยเฉพาะกับพรรคขนาดเล็ก

นิกร กล่าวต่อไปว่า สำหรับพรรคขนาดใหญ่ก็มีปัญหาในเรื่องที่ว่า เมื่อใช้ระบบเลือกตั้งใบเดียว นับทุกคะแนนเสียง หากพรรคได้ ส.ส.เขตไปมากแล้ว ก็จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมาก มันก็จะนำไปสู่ปัญหา

ทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ต้องแยกตัวเองออก เราเริ่มเห็นแล้ว เริ่มเห็นว่า อาจอยู่ในภาคีเดียวกัน เป็นเหมือนแบบเป็นสาขา แล้วจะค่อยมารวมกัน คือต้องแยกกันเดิน ไม่ใช่แยกกันเดิน เพราะยุทธศาสตร์ แต่แยกกันเดินเพราะถูกบังคับให้แยก

...เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดมา จากที่ระบบเดิมทำให้มี 2 พรรคใหญ่แข่งกันแล้วทำให้เกิดความขัดแย้ง ก็เลยออกแบบระบบมาเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองมี ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.ทั้งสภา เลยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวที่ทำให้พรรคที่ได้ ส.ส.เขตไปมาก ส.ส.บัญชีรายชื่อจะไม่ได้

ดังนั้นดูแล้วโอกาสที่จะมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งในความเป็นจริงยากมาก ก็เลยใช้วิธีให้แยกตัวออกไป พอแยกตัวไป เพื่อไปเอาเสียง แยกออกไปเพื่อหลบการจำกัด ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็จะเป็นพรรคสาขา พรรคเครือข่าย เป็นเหมือน holding party  เหมือนพรรคทางภาคใต้ที่ก็เริ่มขยับแล้ว ภาคอีสานต่อไปก็คงเป็นแบบนี้ แล้วค่อยมารวมทีหลัง แต่การแยกตัวออก มันก็ยังมีรอยแยกอยู่

อาจเลือกตั้ง 23 ธ.ค.ปีนี้

นิกร-กรรมการในคณะกรรมการพัฒนาพรรคการเมือง วิเคราะห์โรดแมปการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นด้วย โดยมองว่าไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะถูกดึงออกไปเรื่อยๆ เพราะตอนนี้ที่ คสช.กำลังจะอยู่ครบ 4 ปี ก็จะมี impact การเมือง ผมมีข้อสังเกตทางการเมืองว่า ตอนช่วงก่อนลงประชามติ ผมคุยกับท่านบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ผมบอกท่านว่า ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย จะลงมติไม่รับ แต่ท่านบรรหารให้หลักคิดว่า หากรอไว้ การเลือกตั้งจะเลื่อนออกไปอีก แม้เห็นชัดว่าจะไม่ดี แต่ต้องรับไว้ก่อนเพื่อให้มีการเลือกตั้ง ท่านก็บอกว่าจะรับเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญ แล้วพอมีการเลือกตั้ง ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง ซึ่งผลการลงประชามติออกมา มีประชาชนลงประชามติรับร่าง รธน.จำนวนมาก ทำไมเราไม่คิดว่า คนไทยรับเพราะอยากให้มีการเลือกตั้ง ถ้าเป็นแบบนั้น เราจะไปดึง ไปลากยาวออกไปเรื่อยๆ มันทำไม่ได้

...พอ คสช.อยู่ครบ 4 ปี มันจะมีแรงกดดัน โรดแมปไม่ใช่ว่าจะดึงออกไปเท่าไหร่ก็ได้ มันมีข้อจำกัดทางการเมือง แม้ว่าจะมีอำนาจอยู่ก็ตาม ผมมองว่าไม่เกินเดือน ก.พ.2562 ต้องมีการเลือกตั้งแน่ ไม่สามารถยืดไปได้มากกว่านั้นอีกแล้วไม่ว่ากรณีใด เพราะกรอบเวลาเลือกตั้ง ก.พ.2562 เป็นกรอบที่คำนวณเวลาแบบเต็มที่ไว้แล้ว ทำให้นานสุด หากจะมีการเลือกตั้งก็ไม่เกิน ก.พ.ปีหน้า แต่จะเร็วสุดไม่รู้เมื่อใด

ผมก็ยังมองว่า การเลือกตั้งก็อาจเป็นไปได้ที่จะเกิดภายในปีนี้ เพราะที่จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว. และร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ศาลก็จะตีความในข้อกฎหมาย และประเด็นวินิจฉัยก็ไม่ใหญ่แล้ว แค่ดูว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากสุดท้ายมีปัญหา ก็ไปแก้ไขตัดออก ซึ่งกรอบที่บอกว่าจะมีเลือกตั้ง ก.พ.ปีหน้า ก็เป็นกรอบที่เขาบวกช่วงเวลาของการยื่นให้ศาล รธน.วินิจฉัยไว้แล้ว ถึงมีการยื่นไปที่ศาล รธน. สุดท้ายการเลือกตั้งก็ยังอยู่ในโรดแมปอยู่ จะไปกลัวอะไร

ช้าสุดดูแล้วเลือกตั้งก็ไม่เกิน ก.พ.62 แต่เร็วสุดอาจจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม คือ ช่วงวันที่ 23 ธ.ค.ปีนี้ ก็ยังเป็นไปได้อยู่

...เพราะหากออกมาแบบนี้ รัฐบาลก็ได้เครดิตว่าทำตามสัญญาที่เคยบอกก่อนหน้านี้ว่าจะเลือกตั้งในปีนี้ ก็จะเป็นบวก อีกทั้งที่ตอนนี้มีแรงเสียดทาน มีกลุ่มคนอยากให้มีการเลือกตั้งออกมาเคลื่อนไหว ให้เลือกตั้งในปีนี้ ถ้ามีการเลือกตั้งในปีนี้ก็จะเป็นการลดแรงกดดัน รัฐบาลก็ได้เครดิต

แนะเลื่อนใช้ไพรมารีโหวตออกไป

อย่างไรก็ตาม นิกร-แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ชี้ประเด็นที่น่าสนใจว่า หากมีการเลือกตั้งเร็วขึ้นคือภายในปีนี้ ไม่ใช่ ก.พ.62 ก็จะมีปัญหาใหม่

ปัญหาดังกล่าวก็คือเรื่อง ไพรมารีโหวต โดยกล่าวขยายความว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาที่ไม่ควรมี เพราะเป็นระบบที่จะทำให้พรรคการเมืองเก่าหืดขึ้นคอ ส่วนพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ก็ยิ่งยากมาก เพราะกลไกไพรมารีโหวตมันเหมาะสำหรับประเทศที่ต้องมีความพร้อมมาก คือคนต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองกันจำนวนมาก อย่างในสหรัฐฯ ที่ไปเอาแบบมา คนเกิดมาทุกคนแทบจะเป็นสมาชิกพรรค แต่ของเราไม่ใช่แบบนั้น อย่างคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีประมาณ 40 ล้านคน พบว่าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองแค่  4 ล้านคนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ถือว่าน้อยมาก ตรงนี้จะเป็นปัญหาหากการเลือกตั้งเกิดเร็วขึ้น

นิกร เสนอว่าทางออกในเมื่อไม่ควรมีไพรมารีโหวตตั้งแต่ต้น ในความเห็นผมหากจะขยับการเลือกตั้งให้เร็วขึ้น สมมุติว่าจำเป็นต้องขยับด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็แค่ออกคำสั่งให้ยกเลิกการทำไพรมารีโหวต มันก็จบแล้ว แล้วให้นำไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป แบบนี้สมควรที่สุด ไม่อย่างนั้นเหมือนกับต้องทำสงครามหลายหน้าเหลือเกิน ทั้งพรรคการเมือง ทั้ง กกต.ก็ใหม่ อะไรก็ใหม่ไปหมด ยุ่งยากไปหมด ก็มองว่าทางออกตรงนี้ก็มี ซึ่งก็ไม่แน่ใครว่าจะไม่เกิด เดี๋ยวนี้อะไรก็เกิดได้ทั้งนั้น ทางฝ่ายกฎหมายบอกว่า เป็นอภินิหารของกฎหมาย แต่อภินิหารทางการเมืองก็มี ก็จับตาดูอยู่

เมื่อถามความเห็นเรื่อง การจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น นิกร-แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ที่อยู่ในแวดวงการเมืองมานาน ทั้งพรรคประชาชน, พรรคชาติพัฒนา, พรรคชาติไทย มองทิศทางของพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่ว่า ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาก ประชาชนคงต้องการสิ่งใหม่ๆ ดังนั้นโอกาสของพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ ก็มองว่า  การเคลื่อนไหวของผู้ที่จะมาเป็นนักการเมืองสอดคล้องกับสภาวะการตลาดที่ต้องการของใหม่ ต้องการอะไรใหม่ๆ ผมเคยไปประชุมเรื่อง "การเมืองใน Southeast Asia" ที่เกาหลีใต้ ก็พบว่าขณะนี้ประชาธิปไตยในโลกกำลังกร่อนตัวเอง มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มีบริบทและระบบใหม่ๆ เข้ามามาก  เช่นที่ฝรั่งเศส สหรัฐฯ การเมืองมันเปลี่ยนแปลงมาก เช่นจีนมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แล้วที่เราห่วงกันเรื่องความขัดแย้งการเมืองแยกขั้ว แต่เมื่อไปศึกษาจริงๆ จะพบว่ามีไม่รู้กี่ประเทศที่มีการแยกขั้ว  ไม่ใช่แค่ในไทย ในเกาหลี ไต้หวัน ปากีสถานก็มี หรือการเมืองที่อิงการใช้อำนาจมากก็มีหลายแห่ง เช่น  ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า สิ่งเหล่านี้จึงไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย แต่ของเราบาดเจ็บกับปัญหานี้มากพอแล้ว พรรคการเมืองก็ช้ำเรื่องนี้มา 4-5 ปีแล้ว เศรษฐกิจก็ไปไหนไม่ได้ เสียโอกาสไปมาก

ผมจึงมองว่าโอกาสที่ของเราจะกลับมาขัดแย้งกันหนักๆ แทบเป็นไปไม่ได้แล้ว พรรคการเมืองจะไปทะเลาะกันให้ตาอยู่เข้ามาอีกหรือ เขาก็เรียนรู้ รู้จักจำ ทำให้พรรคการเมืองใหม่ที่เสนอตัวเข้ามาจะอยู่ในความสนใจของคน โดยเฉพาะกับคนรุ่นหนุ่มสาว ยิ่งปัจจุบันเป็นยุคสื่อ social media ทำให้การตลาด ความต้องการทางการเมืองก็จะหมุนไปหาคนหนุ่มสาวเยอะ พรรคที่จะเกิดใหม่เมื่อเสนออะไรที่แหลมๆ  หากแหลมเลยไปมันก็เป็นปัญหาเหมือนกัน เลยมีความขัดแย้งทางความคิด เช่นเรื่องกฎหมายบางอย่าง ผมก็มองว่าพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นแล้วมีความตั้งใจ แล้วใช้โซเชียลมีเดียในการรุก  ผมว่ามันก็จะมี space ให้เขา แต่จะถล่มทลายแบบอย่างในบางประเทศหรือไม่ ผมก็ยังมองว่าสังคมไทยก็ยังมีบริบทที่มันซ้อนกันสองมิติอยู่ การจะข้ามมิติไปก็ไม่ง่ายเหมือนกัน เพราะยังมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ ก็ต้องรอดู ลักษณะแบบนั้นมันเป็น Overnight marketing - Overnight politic มันเป็นแค่ช่วงสั้นๆ หากวูบไปทางไหนก็วูบไปทางนั้นได้ต้องรอดู

ผมทำงานกับพรรคการเมืองมาร่วม 30 ปี เห็นเลยว่าการทำพรรคการเมืองมันยุ่งยากมากรอบนี้  พอเอาเข้าจริงชีวิตที่เป็นจริงมันจะลำบากมาก เช่นการต้องหาเงินมาเป็นทุนประเดิมพรรคหนึ่งล้านบาท มันหืดขึ้นคอ แต่ละพรรคก็ต้องไปหาทางยืนให้ได้รอดก่อน พอยืนได้แล้วก็มาคิดเรื่องการเข้าสู่การเลือกตั้ง

ถามถึงทิศทางหลังเลือกตั้ง การเกิดขึ้นของรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง นิกร-แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา มองว่าขึ้นอยู่กับผลการเลือกตั้งที่จะออกมา แต่เมื่อระบบการเลือกตั้งเป็นแบบใหม่ที่เป็นจัดสรรปันส่วนผสม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้คาดการณ์ไม่ได้เลยว่าผลเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ต้องรอดูจากผลการเลือกตั้งสักหนึ่งครั้งก่อนถึงจะวิเคราะห์ออก ดังนั้นตรงนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ พรรคที่เคยคิดว่าจะได้ ส.ส.มากก็อาจไม่ได้มาก พรรคขนาดใหญ่ก็ถูกสกัดด้วยระบบที่หากได้ ส.ส.เขตมาก สัดส่วนปาร์ตี้ลิสต์ก็ต้องถอนออกมา แต่พรรคเล็กๆ ก็จะได้ ส.ส.เข้ามาไม่มาก

...ยังประเมินหลังการเลือกตั้งไม่ถูก การควบแน่น ใครจะเป็นรัฐบาล จะอยู่กันอย่างไร ยังประเมินไม่ถูก แต่ที่เห็นก็คือเสียง ส.ส.จะกระจัดกระจาย แล้วการตั้งรัฐบาลก็จะเป็นรัฐบาลผสม อาจเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคที่เกี่ยวเนื่องกับทหารอยู่บ้าง มีพรรคการเมืองเก่า พรรคการเมืองใหม่ รัฐบาลหน้าเสถียรภาพก็อาจจะมีปัญหา แต่การเมืองหลังการเลือกตั้งจะเป็นการเมืองช่วงรอยต่อห้าปี รัฐสภาก็จะมี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 150 คน อยู่ใต้บริบทของการปฏิรูปประเทศและการมียุทธศาสตร์ชาติ เป็นการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะมีไม่มาก เพราะถูกล็อกด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น รัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ชาติ 

สำหรับความเป็นไปได้ที่จะเกิดนายกฯ คนนอก นิกร วิเคราะห์ว่า นายกรัฐมนตรีที่จะมาจากคนในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองหรือคนนอกโอกาสมันเหลื่อมๆ กัน บางจังหวะก็คนนอก 60 เปอร์เซ็นต์  มาจากคนใน 40 เปอร์เซ็นต์ แต่บางจังหวะก็คนนอก 40 คนใน 60 คือเหมือนกับเสมอๆ ก้ำกึ่งๆ กัน แต่เรื่องนายกฯ คนนอก แม้การเห็นชอบจะใช้เสียงที่ประชุมร่วมรัฐสภาคือ ส.ส.กับ ส.ว. แต่การปลดนายกฯ ใช้เสียง ส.ส. เช่นตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้การฟอร์มรัฐบาลแม้จะไม่เอานายกฯ ที่อยู่ในรายชื่อพรรคการเมืองมาเป็นนายกฯ แต่ต้องอาศัย ส.ส.มาคอยประคองสถานการณ์ให้ได้ ไม่อย่างนั้นสุ่มเสี่ยงมาก จึงต้องมีเสียง ส.ส.ในสภามาก หากไม่เกินครึ่งหนึ่งก็อยู่ไม่ได้

      ถามถึงความเป็นไปได้ที่พลเอกประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบในรูปแบบนายกฯ คนนอก  นิกร บอกว่ายังมองไม่ออกเพราะการเลือกตั้งยังไม่ชัด แล้วสถานการณ์การเมืองมันเปลี่ยนแปลง หากจะให้มองไปถึงตรงนั้นยังมองไม่เห็น

      - โอกาสที่พลเอกประยุทธ์จะเข้ามาสู่ถนนการเมือง?

มันจะเกิดขึ้นเองจากสภาวะการเมือง ตอนนี้เขาก็อาจมีความรู้สึกอยากทำอะไรต่อ ก็เป็นเรื่องที่คิดได้ แต่การจะมาก็มีกลไกอย่างที่ว่า การจะเข้ามาก็ต้องยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อ หากยอมก็จะแย้งกับอำนาจที่ใช้อยู่ เพราะหากมาแบบนั้นก็เท่ากับมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว ก็ทำให้การบริหารงาน การใช้อำนาจในฐานะหัวหน้า คสช.บางทีก็อาจมีปัญหาเพราะก็จะกลายเป็นการเมืองเต็มตัว

- หากจะมาโดยเป็นนายกฯ คนนอก?

ก็มีความเป็นไปได้ แต่เราก็ยังไม่รู้ ยังบอกไม่ได้ ก็อย่างที่บอกงานที่ทำ ก็มีสิทธิ์ที่จะคิดที่จะทำงานที่ค้างต่อ เป็นเรื่องที่คิดได้ แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ก็อยู่ที่สถานการณ์การเมือง

ส่วนมุมมองเรื่องความเป็นไปได้ที่จะมีพรรคทหาร นิกร ประเมินว่า หากจะเป็นพรรคขนาดใหญ่แบบสามัคคีธรรมคงไม่มี แต่จะไปทำแบบเหมือนกับไปพึ่งพรรคการเมืองทั่วไปเต็มร้อย โดยไม่มีฝ่ายของตัวเองอยู่บ้างมันก็สุ่มเสี่ยง ก็อาจจะมีเป็นภาคี เป็นพรรคที่สนับสนุนแต่ไม่โดยตรง ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเมือง ตอนนี้ระยะทางยังอีกไกล.

 

ชาติไทยพัฒนาสู่ยุคไฮบริด

มีหลายคนติดต่อขอย้ายมา

      พรรคชาติไทยพัฒนาหรือพรรคชาติไทยเดิม ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 โดยมีหัวหน้าพรรคเคยเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 คนคือ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และบรรหาร ศิลปอาชา สิ่งที่หลายคนตั้งคำถามกันในวันนี้ก็คือ ยามเมื่อพรรคชาติไทยพัฒนาไร้ซึ่ง บรรหาร ศิลปอาชา อนาคตของพรรคต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร

      นิกร จำนง-แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ที่อยู่กับพรรคชาติไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 จนเป็นชาติไทยพัฒนาในตอนนี้ รวมเวลาร่วม 30 ปีย้ำว่า อนาคตของพรรคชาติไทยพัฒนาสิ่งที่ต้องทำคือ รักษาความเป็นพรรค สถาบันการเมืองไว้ให้ได้ ไม่ให้ล้มหายตายจากไป ดังนั้นพรรคชาติไทยพัฒนาก็ต้องเข้าสู้ในการเลือกตั้ง ในการเข้าสู่การเลือกตั้งสิ่งที่พรรคต้องปรับตัวก็คือ ปรับให้เข้ากับกฎหมายที่ใช้ตอนนี้ ไม่อย่างนั้นก็อยู่ไม่ได้ ซึ่งพรรคเราทำได้ ส่วนการปรับให้เข้ากับบริบทการเมืองใหม่ อย่างเรื่องนโยบายเราก็คงไม่เปลี่ยนแปลงมาก นโยบายพื้นฐานต้องยังอยู่เช่น นโยบายภาคการเกษตร ก็ต้องมีอยู่เพราะเราถือว่าภาคเกษตรมีความสำคัญ

นิกร กล่าวต่อไปว่า พรรคชาติไทยพัฒนาตอนนี้เปลี่ยนแปลงเยอะ เช่นเรื่องกลไกการบริหาร ในอดีตคนในพรรคอย่างผม หรือบางคนเช่นคุณกัญจนา ศิลปอาชา เคยเป็นยังบลัดของพรรคชาติไทย  ตอนนั้นเรายังหนุ่มยังสาวมากกว่านี้ แต่ตอนนี้ก็เป็นยุคนิวบลัด พรรคเราพูดเรื่องนี้มาก่อนพรรคใหม่ที่กำลังจะตั้งขึ้นมา คือทางพรรคจะนำคนหนุ่มสาวขึ้นมา ที่จะสอดรับกับความต้องการของประชาชนที่ต้องการสิ่งใหม่ๆ

...คนรุ่นใหม่ของพรรคชาติไทยพัฒนาที่จะขึ้นมาเหล่านี้จะเป็นไฮบริด โดยส่วนหนึ่งก็จะมาจากลูกหลานนักการเมือง หลายคนก็เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีมาก่อนแม้จะเป็นช่วงสั้นๆ หลายคนก็เคยเป็นอดีต ส.ส.มาก่อน ก็จะเป็นพลังอย่างหนึ่งของพรรค หลายคนจบการศึกษาจากต่างประเทศ เห็นโลกมาเยอะ มีความคิดแบบใหม่ๆ เป็นแนวไฮบริด แต่ไม่ลืมรากของตัวเอง ไม่ได้เหาะแต่วิ่งไปด้วยความเร็วเพราะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ขาไม่ลอยจากพื้น พุ่งไปข้างหน้า

เราก็หวังว่าในการเลือกตั้ง นักการเมืองรุ่นเดิมที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง ก็อาจจะให้ลูกหลานของเขามาร่วมกับเรา คนรุ่นใหม่ของพรรคก็จะมีลักษณะแบบนี้ ติดดิน พุ่งไปด้วยความเร็ว เป็นนิวบลัด  ที่สำคัญคือไม่ขัดแย้งกับใคร ไม่เพาะศัตรู ไม่ไปวิ่งแซะใคร เราวิ่งในลู่ของเรา ไม่ใช่วิ่งแล้วไปเตะขาไปแทรกคนอื่น พรรคชาติไทยพัฒนาตั้งแต่ในอดีตเราไม่เคยเป็นศัตรูกับใคร ที่พรรคเป็นรัฐบาลมาตลอดก็เพราะเรารักษาการนี้ คือเราอยู่กับใครเราก็อยู่กันจนจบ ไม่เคยทิ้งใคร อยู่จนจบแล้วไปเลือกตั้งใหม่จนเสมอ ทำให้เขามั่นใจไม่เคยหักหลังใคร ไม่ปะทะ ไม่สุดขั้ว ก็เชื่อว่าพรรคน่าจะไปได้ดี

นิกร พูดถึงทิศทางพรรคต่อไปว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นพรรคไม่ได้มีธงว่าจะไปชิงกับใคร เราแค่รักษาพรรค รักษานโยบาย รักษาหน้าที่ซึ่งทำกับประชาชนไว้ ทำให้พรรคเราก็จะเดินได้ง่ายมาก

จำนวน ส.ส. เดิมเราก็มีอยู่ประมาณ 29-30 ที่นั่ง เราแค่ได้เท่าเดิมในการเมืองรอยต่อก็พอใจแล้ว เราทำการเมืองแบบรู้จักประมาณตน ก็เดินไปตามนี้เพราะเป็นการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน  ไม่ใช่การเมืองจริง

ถามไปว่าที่หลายคนตั้งคำถามพรรคชาติไทยพัฒนาว่า มีสิ่งใดกระทบหรือไม่เมื่อพรรคไม่มีนายบรรหาร-นายชุมพล ศิลปอาชาแล้ว นิกร ตอบว่า หลักของท่านบรรหารในเรื่องการไม่เป็นศัตรูกับใคร  การรักษาคำพูดยังอยู่ครบ ประสบการณ์ต่างๆ ที่ท่านเคยสอน ผมที่อยู่กับท่านมาหลายปี รวมถึงวราวุธ  ศิลปอาชา ที่อยู่กับท่านบรรหารมาชั่วชีวิต ก็ได้ดูดซึมไว้เยอะ เราก็เดินการเมืองแบบเดิมอย่างที่เราเคยเดิน

- ที่คนมักมองว่าพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นพรรคจังหวัด เช่นพรรคสุพรรณบุรี อ่างทอง  พรรคต้องรีแบรนด์ตัวเองหรือไม่?

ไม่ใช่การรีแบรนด์ เราก็ต้องเคลื่อนไป แต่มันต้องมีหลักไม่ใช่ว่าลอย มันต้องมีที่ยืน ก่อนหน้านี้เราเคยมี ส.ส.ตั้ง 92 คนในอีสาน อดีต ส.ส.หลายคนก็เคยอยู่กับพรรคเรามาหลายคน ภาคใต้เราก็มีอดีต ส.ส. พรรคเคยเป็นทั้งรัฐบาล มีคนของพรรคเป็นนายกฯ มาสองคน ฝ่ายค้านพรรคก็เคยเป็น เคยล้มรัฐบาลมาแล้ว พรรคก็มีเป้าหมายที่จะขยายการควบแน่นออกไปในหลายจังหวัด การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นพรรคจะส่งให้มากที่สุด หากส่งครบทั้ง 350 เขตก็จะดี

ส่วนความเคลื่อนไหวเรื่องอดีต ส.ส.ของพรรคจะย้ายออกไปหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลา เมื่อถึงตอนให้มีการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคก็จะเป็นการชี้ได้อย่างหนึ่งว่าใครจะอยู่ใครจะไป ก็ไม่มีปัญหา ในพรรคยังเหนียวแน่นกันอยู่ คนจะย้ายออกไปหรือไม่ยังไม่แน่ ไม่รู้ ยังไม่เห็นวี่แวว อาจมีเหตุผลจำเป็น แต่ก็อาจแค่ 1-2 คน แต่เรื่องจะมีคนย้ายมาเข้าพรรคชาติไทยพัฒนาดูเหมือนจะมีหลายคน การเมืองร้อนๆ แบบนี้เขาต้องการที่ซึ่งมันเย็น ไม่ใช่ว่าไปอยู่แล้วไม่รู้ว่าจะต้องไปรบกับใคร คนที่ต้องการอยู่แบบสงบ ต้องการทำงานการเมืองแบบไม่ปะทะมันก็มี เพราะที่พรรคชาติไทยพัฒนาเย็นมาก มีความเป็นพี่เป็นน้อง และการเดินก็ไม่ปะทะกับใคร ไม่มีศัตรู

- คนมองกันว่าพรรคมีความสัมพันธ์ที่ดีกับ คสช.กับนายกฯ ประยุทธ์?

ก็สัมพันธ์ที่ดีทั้งหมด กับพรรคการเมืองด้วยกันเองก็มีสัมพันธ์ที่ดี เพราะเราเป็นมิตรกับเขา แต่ไม่ใช่เพื่อการอะไร เป็นนิสัยประจำตัวของพรรคชาติไทยพัฒนา ตั้งแต่สมัยพรรคชาติไทย สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ, ท่านบรรหาร ศิลปอาชา พรรคเราก็เป็นแบบนี้มาตลอด ไม่เคยเอาเปรียบใคร ไม่หักหลังใคร.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"