ปรับตัวค้าออนไลน์สู้โควิด


เพิ่มเพื่อน    

 

           จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันที่ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ซึ่งไทยเองก็มีผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศในด้านต่างๆ กดดันความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

                สำหรับประเทศไทยเองนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่าหนึ่งพันรายแล้ว ส่งผลกระทบและสร้างความวิตกไปทั่ว ทำให้รัฐบาลต้องใช้ยาแรงสะกัดกั้นการแพร่ระบาดโดย​การออกมาตรการภาครัฐ ทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาตรการขอความร่วมมือปิดสถานประกอบการในช่วงระหว่างวันที่ 22 มี.ค.-30 เม.ย.2563 เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อบรรดาธุรกิจทั้งหลาย รวมถึงธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจร้านอาหาร เนื่องจากช่องทางรายได้หลักของธุรกิจมาจากการขายหน้าร้าน อย่างไรก็ดี ยังมีช่องทางการตลาดอื่นที่จะเข้ามา

                ช่วยสร้างรายได้ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวยังอนุญาตให้สามารถประกอบกิจการได้แต่ต้องปรับรูปแบบการให้บริการ ซึ่งผู้ประกอบการบางรายได้มีการเร่งปรับตัวไปบ้างแล้ว อาทิ การเพิ่มช่องทางการขายทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อที่จะช่วยชดเชยรายได้ที่หายไป และประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด

                ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้มองในส่วนของธุรกิจค้าปลีกว่า ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว เกิดกับยอดขายในบางส่วน เนื่องจากไม่สามารถเปิดกิจการได้เลย ได้แก่ ร้านค้าที่เปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าเฉพาะอย่าง  เช่น ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ร้านเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ร้านสุขภาพและความงาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มค้าปลีกที่ไม่ใช่อาหาร (Non-Food) เป็นหลัก

                ในขณะที่ค้าปลีกในกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้าออนไลน์ (E-Commerce) ยังได้รับอนุญาตให้เปิดบริการ และน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าค้าปลีกกลุ่ม อื่นๆ โดยกลุ่มร้านค้าออนไลน์นั้น น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 20-30% หรือเพิ่มขึ้นราว 6,800 ล้านบาท

                เช่นเดียวกับในกลุ่มของธุรกิจร้านอาหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบที่จะได้รับมีความแตกต่างกันตามรูปแบบการให้บริการของแต่ละร้านอาหาร โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มร้านอาหารที่ให้บริการแบบนั่งทานในร้าน แต่ในกลุ่มนี้ก็สามารถปรับตัวมาให้บริการเป็นแบบการซื้อกลับ (Takeaway) และการให้บริการส่งอาหาร (Food Delivery) แทน คาดว่าในส่วนของเดลิเวอรีน่าจะขยายตัวประมาณ 35-40% หรือเพิ่มขึ้นราว 1,200 ล้านบาท

                ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ากลุ่ม ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีการให้บริการดังกล่าวควรปรับตัวเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้และเพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ไม่ว่าจะผ่านช่องทางของตนเอง หรือเข้าร่วมกับผู้ประกอบการที่พัฒนาแอปพลิเคชันส่งอาหาร รวมถึงปรับหน้าที่ของพนักงานในร้านให้เป็นผู้จัดส่งอาหารในละแวกใกล้เคียง

                ต้องยอมรับกันว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ได้เข้ามากระทบวิถีชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพและชีวิตของประชาชนในประเทศไทย และกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น ธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจร้านอาหารต้องได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ชะลอตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้รายได้จากช่องทาง ขายออนไลน์ และเดลิเวอรี จะเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาปกติราว 8,000 ล้านบาท แต่ก็คงไม่สามารถทดแทนรายได้หลักจากช่องทางหน้าร้านที่สูญเสียไป จึงทำให้โดยสุทธิแล้ว คาดว่าภาพรวมมูลค่าตลาดค้าปลีกและตลาดร้านอาหารจะลดลงรวม 72,000 ล้านบาท ในช่วงระหว่างการบังคับใช้มาตรการ

                ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้จะแก้ไขปัญหาไปได้ทั้งหมด ต้องอยู่ที่ความร่วมมือกับของประชาชน ต้องอดทนกับเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น   พร้อมขอให้ทุกๆ คนควรที่จะให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐ และที่สำคัญต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อไวรัส ช่วยชาติ.

 บุญช่วย ค้ายาดี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"