พท.สกรัม'บิ๊กตู่'โง่ไม่แบ่งปัน 


เพิ่มเพื่อน    

     ถูกรุมสกรัมสมใจ เพื่อไทยจัดให้ ถล่ม "บิ๊กตู่" ยึดอำนาจ 4 ปี จะอยู่ต่อ "วัฒนา" อัด โง่ไม่แบ่งปัน ไม่อยากเสวนาเพราะไม่เกิดประโยชน์ทางภูมิปัญญา แต่โพสต์ข้อความด่ายับ ไม่มีน้ำใจนักกีฬา สมคบกันยึดอำนาจ บังอาจอวดรู้ ไม่ให้ใช้คำว่าเล่นการเมือง 
     หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ถูกพรรคการเมืองรุมสกรัม และไม่อยากให้พูดคำว่าเล่นการเมือง เพราะการเมืองไม่ได้มีไว้เล่นนั้น สร้างความไม่พอใจให้กับนักการเมืองที่พากันรุมสกรัมกลับทันที
    เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ “โง่ไม่แบ่งปัน” ระบุว่า ผมไม่อยากเสวนากับคนอย่างพลเอกประยุทธ์ เพราะไม่เกิดประโยชน์ทางภูมิปัญญา แต่การที่พลเอกประยุทธ์พูดในรายการคืนวันศุกร์ว่า  คสช.ไม่เคยไปจำกัดสิทธิและเสรีภาพมากเกินไป มีการโจมตีเร่งรัดโรดแมป กดดันมากไปหรือไม่ หรือมีเจตนาอื่นแอบแฝงหรือไม่ ทำให้ผมจำเป็นต้องชี้แจงกับประชาชน
    พลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจประชาชนมาเกือบ 4 ปีทั้งยังแสดงท่าทีว่าจะถ่วงเวลาการเลือกตั้ง นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ประชาชนต้องออกมาเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้ง จึงถือเป็นความชอบธรรมทุกประการ แต่การที่ คสช.มาแจ้งความดำเนินคดีกับประชาชนต่างหากที่มีเจตนาอื่นแอบแฝง เพราะเป็นการลุแก่อำนาจและจำกัดเสรีภาพของประชาชน 
    ส่วนที่พาดพิงถึงพรรคการเมืองใหม่ว่าต้องไม่ล้มล้างจารีตประเพณีและวัฒนธรรมไทยนั้น ผมยังไม่เห็นมีพรรคการเมืองแนวทางประชาธิปไตยมีแนวทางแบบที่ท่านว่า ที่คิดจะล้มล้างคือระบอบเผด็จการและเอาเผด็จการเข้าคุกหลังจากประชาชนได้อำนาจคืนแล้วซึ่งผมเห็นด้วย
    ประเด็นสุดท้ายคือ การบังอาจอวดรู้ว่าต้องไม่ใช้คำว่า “เล่น” กับการเมืองนั้น ผมขอให้ความรู้เป็นวิทยาทานว่า “เล่น” เป็นคำกริยาที่ใช้กับอาชีพทุกชนิดที่ถูกจำกัดด้วยระยะเวลาและมีบุคคลอื่นเป็นผู้ตัดสิน เช่น เล่นฟุตบอล เล่นดนตรี เล่นละคร เล่นลิเก รวมถึงเล่นการเมืองที่มีเวลาจำกัดไว้เพียงครั้งละ 4 ปี โดยประชาชนเป็นผู้ตัดสินด้วยการลงคะแนนให้ 
เล่นการเมือง
    "คำว่า “เล่น” หมายถึงเล่นให้สมบทบาท เล่นอย่างมืออาชีพ และเล่นให้มีน้ำใจนักกีฬา ไม่ใช่แพ้เลือกตั้งแล้วสมคบกันยึดอำนาจแล้วหาเรื่องถ่วงเวลาไม่คืนอำนาจให้ประชาชน จนปัจจุบันผมยังไม่เคยเห็นใครปัญญาอ่อนบอกว่าผมทำงานฟุตบอล หรือทำงานละครเรื่องออเจ้า ต่อไปก่อนจะพูดอะไรหัดศึกษาหาความรู้ อย่าได้แสดงความด้อยปัญญาแบบท่องกลอนสุนทรภู่เป็นจินดามณีอีก หัดอายให้เป็นบ้าง" นายวัฒนาระบุ
    ด้านนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่ พล.อ.ประยุทธ์พูดเช่นนี้จะหมายความว่าปัญหาทุกอย่างเกิดจากนักการเมือง ที่ทำให้ประเทศเกิดความขัดแย้ง มีการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการรัฐบาล จนทำให้ประเทศติดหล่มใช่หรือไม่ แต่แท้ที่จริงแล้วคนที่ทำให้ประเทศติดหล่มคือรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เข้ามายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง บอกว่าจะรีบคืนอำนาจ แต่นี้จะสี่ปีแล้ว การเลือกตั้งจะเกิดเมื่อไหร่ยังไม่ชัดเจน
    เขากล่าวว่า การบริหารราชการก็มีโครงการต่างๆออกมา ซึ่งไม่แตกต่างจากประชานิยม มีการลงพื้นที่ใช้นโยบายหาเสียงที่มากกว่านักการเมืองเสียอีก อีกทั้งยังมีข่าวการทุจริตจำนวนมาก 
    "ถ้ารัฐบาลท่านยิ่งอยู่นานไปการทุจริตก็จะมีเพิ่ม หนี้สินครัวเรือนก็มีสูงขึ้น แบบนี้แล้วท่านจะมีหน้ามาว่านักการเมืองอีกหรือ ทางที่ดีการทำให้ประเทศออกจากหล่ม พล.อ.ประยุทธ์ควรไปพูดคุยกับคนในแม่น้ำห้าสายให้เกิดความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลที่สามารถตรวจสอบได้มาทำหน้าที่เรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกลับมา จะดีกว่ามาพูดให้ร้ายแต่ฝ่ายการเมืองเช่นนี้" นายวรชัยกล่าว
       ด้านนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ อดีต ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี สนช.เข้าชื่อเตรียมยืนตีความ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ว่าไม่รู้สึกแปลกใจท่าทีดังกล่าว เพราะการยื่นตีความจะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป ซึ่งเป็นผลดีกับผู้อยู่ในอำนาจตอนนี้ แต่รู้สึกเสียดายเวลาเพราะท่าที สนช.ก่อนหน้านี้ต่างพูดชัดเจนว่ากฎหมายดังกล่าวไม่มีปัญหาและจะไม่ยื่นตีความ 
    แต่สุดท้ายเมื่อมีคนออกมาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกฎหมายที่ท่านมีมติเห็นชอบ ก็กลับลำมาส่งร่างตีความ โดยอ้างเหตุผลเพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย สิ่งที่ต้องถามก็คือ สนช.พิจารณากฎหมายฉบับนี้อย่างรอบคอบจริงหรือไม่ ถ้ามีคนออกมาตั้งข้อสังเกตอะไรอีก จะไม่มีการยื่นตีความอีกใช่หรือไม่ 
    "เรื่องนี้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเกมการเมือง ต้องการอยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุด เพราะหลงในอำนาจและผลประโยชน์ที่มาจากภาษีประชาชน โดยใช้การเลือกตั้งเป็นตัวประกัน" อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าว
เห็นด้วยส่ง กม.ลูกตีความ
    นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ควรยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อมีการจัดการเลือกตั้งที่ต้องใช้งบประมาณมาก อีกทั้งการเลือกตั้งครั้งนี้น่าจะมีการแข่งขันกันสูง หากมีปัญหาในภายหลัง แล้วการเลือกตั้งเป็นโมฆะจะสูญเปล่า 
    ส่วนการยื่นตีความกฎหมายนั้น หากมีผลกระทบโรดแมปเลือกตั้ง จนต้องเสนอให้ กกต.ใช้กรอบเวลา 150 วัน ก็สามารถทำได้ แต่ต้องดูความพร้อมทุกอย่าง ทั้งพรรคการเมืองที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพราะประชาชนมุ่งหวังว่าเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 จะมีการเลือกตั้ง
    นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์เคยยื่นคำร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ถึงแม้จะเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะส่งเรื่องต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เป็นการลิดรอนสิทธิของสมาชิกพรรค และเพิ่มภาระให้กับสมาชิก มีระยะเวลาดำเนินการกระชั้นชิด เป็นการสร้างภาระให้แก่พรรคการเมืองเกินสมควร  แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินก็สามารถส่งเรื่องให้ คสช. ผู้ออกคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เพื่อรับทราบถึงเนื้อหาของคำสั่งที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหลายประการซึ่ง เมื่อ คสช.ทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว ก็อาจแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ได้ทันที เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินใช้ช่องทางส่งไปให้ คสช.แก้ไขด้วย ก็จะช่วยทำให้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้พรรคการเมืองสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองอย่างถูกต้องต่อไป
    จึงขอฝากให้ผู้ตรวจการแผ่นดินสรุปความเห็นส่งให้ คสช.ที่เป็นผู้ออกคำสั่งด้วย จะช่วยทำให้เกิดความสมบูรณ์ จะได้ไม่ต้องมีเรื่องไปให้รกศาลรัฐธรรมนูญโดยเปล่าประโยชน์
    นายองอาจกล่าวต่อไปว่า การพิจารณาคำร้องจากพรรคประชาธิปัตย์โดยผู้ตรวจการแผ่นดินครั้งนี้   มีเพียง สนช.และ กกต.ยื่นคำชี้แจงมายังผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่หัวหน้า คสช.ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งที่ 53/ 2560 ที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 25, 26, 27 ประกอบมาตรา 45 กลับไม่ส่งคำชี้แจงไปให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น
ปชป.พร้อมยืนยันสมาชิก
    อย่างไรก็ดี ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินส่งสรุปความเห็นคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ขัดรัฐธรรมนูญไปให้หัวหน้า คสช. ก็ขอให้หัวหน้า คสช.ปรับปรุงแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญด้วย ก็จะช่วยให้ทุกอย่างเดินหน้าไปตามโรดแมปด้วยความถูกต้องเหมาะสมต่อไป
    ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวระบุว่า ในวันที่ 1 เม.ย. เป็นวันเริ่มต้นที่กฎหมายพรรคการเมืองให้ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคเดิมอยู่แล้ว จะมีโอกาสยืนยันสมาชิกพรรคได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย. สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เปิดให้มีการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคได้ 3 วิธี คือ
       1.มายืนยันด้วยตัวเองที่สำนักงานใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ ถนนเศรษฐศิริ
        2.ยืนยันด้วยตัวเองที่จุดยืนยันสมาชิกทั่วประเทศ 307 จุด ซึ่งเป็นสาขาพรรคเดิมที่ตั้งเป็นสำนักงาน หรือสำนักงานของอดีต ส.ส.
        3.ใช้แอปพลิเคชันดี คอนเน็ค (D-Connect) ที่สามารถโหลดได้จากเว็บไซต์พรรคประชาธิปัตย์ลงสมาร์ทโฟน หรือไอแพด แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์เชื่อมไวไฟ ซึ่งแอปพลิเคชันนี้ ทางพรรคได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้อำนวยความสะดวกในการยืนยันการเป็นสมาชิกที่สำนักงานใหญ่ และจุดยืนยันกว่า 300 จุดทั่วประเทศ
         "ขณะนี้อยู่ระหว่างการรออนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้งานได้โดยสมบูรณ์ โดยในการยืนยันตัวตนการเป็นสมาชิกพรรคนั้น ต้องใช้บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมค่าสมาชิก 100 บาท สำหรับสมาชิกรายปี และ 2,000 บาท สำหรับสมาชิกตลอดชีพ" เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์กล่าว
        นายจุติยังกล่าวถึงกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเสนอเรื่องพร้อมความเห็นตามคำร้องของพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีลิดรอนสิทธิและเพิ่มภาระให้พรรคการเมืองเดิมนั้น เรื่องดังกล่าวที่เราทำไปไม่เป็นอุปสรรคต่อการยืนยันตัวตนการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แต่อย่างใด ส่วนเรื่องคำร้องถึงศาล ก็ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของการพิจารณาวินิจฉัยของศาล
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนายจุติได้พาสื่อมวลชนชมศูนย์ลงทะเบียนยืนยันการเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งทางพรรคได้มีการจัดเตรียมสถานที่ โดยมีการตั้งเต็นท์  พร้อมด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ เครื่องถ่ายเอกสาร และเจ้าหน้าที่ไว้คอยดูแลให้บริการกว่า 100 คน เพื่อรองรับสมาชิกพรรคที่จะเดินทางมายืนยันตัวตนในวันที่ 1 เม.ย.นี้ พร้อมกันนี้ นายจุติยังได้ทดลองระบบที่จะใช้สำหรับการลงทะเบียนด้วย โดยขอให้สมาชิกพรรคที่จะเดินทางมาเตรียมบัตรประจำตัวประชาชน และเงินค่าสมาชิกรายปี 100 บาท หรือตลอดชีพ 2,000 บาท  อย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัด สามารถยืนยันตัวตนได้ที่สาขาพรรค ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีสมาชิกพรรคประมาณ 80,000 คน และทั่วประเทศมีประมาณ 2 ล้านคน
"เสี่ยหนู" ชิลๆ
    ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการยืนยันสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคเก่าที่จะเริ่มในวันที่ 1 เม.ย.ว่า ในส่วนของพรรคภูมิใจไทยจะทำตามขั้นตอนทุกอย่าง ตนไม่ได้กังวลในเรื่องนี้มากเท่าไหร่ เพราะสมาชิกแต่ละคนก็มีหน้าที่ที่ต้องยืนยันสมาชิกภาพของตนเองอยู่แล้ว เราไปบังคับเขาไม่ได้ และเราไม่ได้ไปตั้งเป้าถึงการมาแสดงสมาชิกภาพของสมาชิกแต่อย่างใด ว่าจะมาแสดงตนด้วยตัวเองหรือยื่นเอกสาร รวมถึงการชำระค่าสมาชิกพรรค ตรงนี้เป็นไปตามกฎหมายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเท่าที่ตนได้รับรายงานจากเลขาธิการพรรคและผู้อำนวยการพรรคภูมิใจไทยที่ดูแลเรื่องดังกล่าว ตนก็ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องการยื่นสมาชิกภาพของพรรคจะติดขัดในเรื่องใด           
          เมื่อถามถึงการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการยืนยันสมาชิกพรรคและการประชุมพรรค นายอนุทินกล่าวว่า เมื่อยังไม่ชัดเจนทางพรรคก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะวันนี้ก็ยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมือง และการเลือกตั้งก็ยังไม่รู้ว่าจะมีเมื่อไหร่ ขณะนี้พรรคภูมิใจไทยคงต้องชิลๆไปก่อน แต่ยืนยันว่าเรามีบุคลากรที่พร้อมอยู่แล้ว
    "ณ เวลานี้หัวหน้า คสช.ก็ยังยืนยันว่าการดำเนินการยังอยู่ในโรดแมป ดังนั้นหากติดปัญหาตรงไหนค่อยมาพูดคุยกันว่ามีอุปสรรคใดบ้าง ถ้าเริ่มนับหนึ่งวันไหนเราก็เริ่มกันวันนั้น ซึ่งผมเชื่อว่าทุกพรรคมีแผนในการเตรียมรับมืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นแผน 1 แผน 2 หรือแผน 3 ซึ่งในส่วนของพรรคภูมิใจไทย เราพร้อมทุกแผน แต่จะต้องไม่ทำให้ขัดต่อกฎหมาย เพราะกฎหมายใหม่ที่ออกมาถือว่าน่ากลัวมาก จะเอาแค่ความสะใจของแฟนๆ คงไม่ได้ เพาะบทลงโทษให้เว้นวรรคทางการเมืองไม่น่ากลัวเท่ากับต้องเข้าคุกเข้าตะราง ตรงนี้น่ากลัวกว่าเยอะ ซึ่งผมหวังว่าหลังเลือกตั้งคงจะไม่มีเรื่องของความเกลียดชัง ความขัดแย้ง” นายอนุทินกล่าว
    นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว แกนนำพรรคเพื่อไทย ยอมรับว่า รู้สึกกังวลกับคำสั่ง คสช. จะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการยืนยันสมาชิกพรรคการเมืองในระหว่างวันที่ 1-30 เมษายนนี้ แต่ทางพรรคยังคงมีความพร้อมที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยจะใช้ช่องทางในสื่อโซเชียลมีเดียทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคที่มีมากกว่า 130,000 คน ให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน
    ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวตนไม่มีความเห็น เพราะไม่ได้มีความช่ำชองในเรื่องกฎหมาย แต่เชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นปัญหา และเชื่อว่าจะไม่กระทบต่อการเปิดให้มีการลงทะเบียนยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ที่ให้สมาชิกพรรคมีหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกต่อพรรคการเมือง และชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน ตามกำหนดในวันที่ 30 เม.ย. เพราะถึงอย่างไรก็ต้องเดินตามแผนงานเดิม เพราะมีการวางขั้นตอนไว้อยู่แล้ว
    โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า การเปิดให้มีการยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคในวันที่ 1 เม.ย.นี้ รัฐบาลไม่ได้สั่งให้มีการจับตาดูพรรคการเมืองเป็นพิเศษ และไม่ได้มีการกำชับเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องของ คสช.ที่จะต้องว่ากันไป ส่วนกรณีที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ผู้ตรวจฯ ส่งคำสั่ง คสช.ดังกล่าวให้หัวหน้า คสช.ทบทวนแก้ไขด้วยนั้น ถือเป็นความคิดของพรรคการเมือง ก็แล้วแต่ พรรคการเมืองสามารถแสดงความคิดเห็น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"