ซัด'ไทยนิยม'หาเสียงเหมือนยุคแม้ว


เพิ่มเพื่อน    

โพลตอกรัฐบาลบิ๊กตู่หน้าหงาย ประชาชนถึง 41% ไม่รู้จักโครงการไทยนิยมยั่งยืน ซ้ำร้ายเกือบ 49% ระบุชัดไม่ต่างจากนโยบายประชานิยมยุคเพื่อแม้ว แก้ปัญหาเฉพาะหน้า คนเกินครึ่งมอง “ประยุทธ์” ใช้โครงการลงพื้นที่หาเสียงช่วงโค้งสุดท้าย
เมื่อวันอาทิตย์ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล   สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ไทยนิยมยั่งยืน VS ประชานิยม” โดยสำรวจประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปกระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับโครงการไทยนิยมยั่งยืน และประชานิยม 
โดยเมื่อถามถึงการรับรู้หรือได้ยินข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการไทยนิยมยั่งยืนที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 41.04% ระบุว่าไม่เคยได้ยิน/ไม่รู้จัก, 32.24% ระบุว่ารู้จักโครงการไทยนิยมยั่งยืน และ 26.72% ระบุว่าเคยได้ยินชื่อโครงการ แต่ไม่รู้ว่าทำเกี่ยวกับอะไร และเมื่อถามถึงความคาดหวังของประชาชนต่อสิ่งที่จะได้รับจากโครงการไทยนิยมยั่งยืน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 38.08% ระบุว่าเป็นการแก้ปัญหาและพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงอย่างยั่งยืน, 33.44% ระบุว่าไม่คาดหวังอะไรกับโครงการนี้, 11.44% ระบุว่าการจัดสรรงบประมาณลงไปในแต่ละพื้นที่อย่างเท่าเทียมตามความต้องการของประชาชน, 9.20% ระบุว่า ประชาชนตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย, 6.40% ระบุว่าลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ และ 1.44% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการไทยนิยมยั่งยืนจะสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้พ้นจากปัญหาความยากจนได้หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 54.16% มองว่าสามารถแก้ไขได้ เพราะเชื่อมั่นในการทำงานของรัฐบาลว่าจะพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น และจะนำงบประมาณไปแก้ไขปัญหาของแต่ละชุมชนให้พ้นจากความยากจนได้, 42.16% ระบุว่าไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ตรงจุด แก้ได้เฉพาะคนกลุ่มน้อย ไม่สามารถแก้ไขในระยะยาวได้ อีกทั้งงบประมาณที่ได้ไม่ถึงประชาชน มีการทุจริตคอร์รัปชัน โดยที่ผ่านมายังไม่สามารถทำได้จริง ไม่เห็นเป็นรูปธรรม และ 3.68% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อสอบถามถึงความแตกต่างระหว่างโครงการไทยนิยมยั่งยืนกับนโยบายประชานิยม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 48.96% มองว่าไม่แตกต่าง เพราะเป็นโครงการที่มีลักษณะและวิธีการแก้ไขปัญหาคล้ายคลึงกัน คือทำเพื่อช่วยเหลือประชาชน โดยเปลี่ยนจากนโยบายเป็นโครงการเท่านั้น ทั้งยังเป็นการช่วยเหลือประชาชนแบบเฉพาะหน้าทั้ง 2 โครงการ และไม่สามารถช่วยเหลือในระยะยาวได้จริง, 43.44% ระบุว่าแตกต่าง เพราะการบริหารงานและรายละเอียดของโครงการแตกต่างกัน โดยนโยบายประชานิยมเป็นการให้ความหวังกับประชาชน ดูฉาบฉวยและเกิดประโยชน์ส่วนบุคคลเท่านั้น แต่โครงการไทยนิยมยั่งยืน เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ส่งผลให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นโครงการที่ช่วยเหลือประชาชนได้จริง เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม และ 7.60% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
“สุดท้ายเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงพื้นที่พบปะประชาชนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง ปี 2562 หรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 50.48% มองว่าเป็นการหาเสียง เพราะโครงการนี้เป็นนโยบายการหาเสียงอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับนักการเมืองที่มีการลงพื้นที่บ่อย เป็นการพบปะประชาชนช่วงใกล้เลือกตั้งเพื่อหวังคะแนนนิยมจากประชาชน และลงพื้นที่บ่อยเกินไป, 42.32% ระบุว่าไม่เป็นการหาเสียง เพราะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของนายกฯ โดยมองว่ารัฐบาลทำเพื่อประชาชนจริงๆ อยากพบปะใกล้ชิดกับประชาชน ขณะที่บางส่วนระบุว่า นายกฯ จะไม่ลงเล่นการเมืองอย่างแน่นอน และ 7.20% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ” นิด้าโพลระบุ
ทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ของนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในโครงการคนรุ่นใหม่ไทยนิยมยั่งยืนขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา ที่บ้านสองธาร ต.แม่ทับ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา นายธีรศักดิ์ เมธีเรืองนาม หรือเซ ชาวไทยเชื้อสายปกากะญอร์ อายุ 24 ปี หนึ่งในชาวบ้านภายในบ้านสองธารที่เข้าร่วมโครงการ อธิบายปัญหาภายในพื้นที่ ว่าสาเหตุหลักๆ ที่เกษตรกรในพื้นที่โดยรอบ อ.แม่แจ่ม เลือกข้าวโพดเป็นพืชหลักสำหรับปลูก นอกจากพื้นดินบริเวณนี้มีความเหมาะสมแล้ว ข้อสำคัญอีกเรื่องคือความสะดวกในเรื่องการขนส่ง เพราะในช่วงที่ชาวบ้านขนข้าวโพดไปส่งยังพอค้าคนกลางในตัว อ.แม่แจ่มได้นั้นจะเป็นช่วงปลายปีช่วงฤดูหนาว ซึ่งสภาพถนนที่เข้าสู่ อ.แม่แจ่มนั้นมีสภาพทรุดโทรม มีหลุมบ่อปรากฏอยู่เกือบตลอดเส้นทาง การเดินทางโดยรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์นั้น หากไม่ใช่คนในพื้นที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ ขณะที่ในช่วงฤดูฝนสภาพทางยิ่งมีดินโคลน ทำให้ต้องใช้เวลาในการเดินทางมากกว่าเดิม 
“จากเดิมระยะทางประมาณ 7 กม. จะใช้เวลาเดินทาง 45 นาที แต่หากเป็นฤดูฝน จะใช้เวลาเดินทางถึง 90 นาที ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่ง รวมทั้งการนำลูกหลานของชาวบ้านเข้าไปเรียนที่โรงเรียนในตัว อ.แม่แจ่มเป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีมานานกว่า 7 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดที่เข้ามาแก้ไขแต่อย่างใด  นอกจากนี้ ปัญหาเอกสารสิทธิเจ้าของพื้นที่ที่เป็นไร่ข้าวโพดในบางแห่ง ยังคงไม่มีเอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษร เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากที่ถือครองที่ดินล้วนเป็นที่ดินเดิมอันเป็นมรดกตกทอดของบรรพบุรุษ จึงอยากให้รัฐเข้ามาจัดทำเอกสารสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย” นายธีรศักดิ์กล่าว และว่า นอกจากปัญหาเรื่องระบบโลจิสติกส์และปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว รูปแบบการรวมตัวกันของชาวบ้านกันยังอ่อนแอ ยังคงขาดผู้นำที่สามารถรวมตัวชาวบ้านให้เกิดความเข้มแข็งได้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"