สว.คนละ'5หมื่น' บริจาคสู้โคโรนา สส.ชิ่งไม่เอาด้วย


เพิ่มเพื่อน    


     "พรเพชร" ขอความร่วมมือ ส.ว.​หักเงินเดือน เม.ย.ขั้นต่ำคนละ 5 หมื่นบาท ตั้งกองทุนช่วยต้านโควิด-19 แต่กลับเสียงแตก "เสรี" หนุนเต็มที่ "กิตติศักดิ์" ไม่เอาด้วย อ้างอย่าแค่เอามันทางการเมือง ส่วน "ส.ส." โอดต้องใช้จ่ายในการลงพื้นที่ "สุทิน" หวั่นบริจาคแล้วใช้ไม่คุ้มค่า ทั้งอาจถูกหักหัวคิวอีก
     เมื่อวันที่ 7 เม.ย.63  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ทำหนังสือถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทุกคน โดยระบุว่าตามที่เกิดสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ  เพื่อให้ ส.ว.ได้มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ดังกล่าวของประเทศ นายพรเพชร  วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้ประชุมหารือร่วมกับ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1  นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 และ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) มีความเห็นว่า สมาชิก ส.ว.ทุกคนควรมีบทบาทร่วมกันในนามของวุฒิสภาเพื่อที่จะหาหนทางช่วยกันคลี่คลาย และแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ดังกล่าวของประเทศ 
    โดยจะได้ขอความร่วมมือจากสมาชิก ส.ว.ทุกคนร่วมกันบริจาคเงินขั้นต่ำคนละ 50,000 บาท เพื่อเป็นกองทุนบรรเทาทุกข์ประชาชนในนามของวุฒิสภา โดยจะมีการหักเงินจำนวนดังกล่าวจากเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งประจำเดือนเมษายน 2563 ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับเงินบริจาคจะได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาในรายละเอียดตามความเหมาะสมต่อไป โดยมอบหมายให้เลขาธิการวุฒิสภาชี้แจงรายละเอียดกับประธานกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาทุกคณะ เพื่อแจ้งให้สมาชิก ส.ว.ในแต่ละคณะกรรมาธิการทราบต่อไป
    นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวว่า ส่วนตัวยินดีสละเงินเดือน ส.ว.ทั้งหมด เพื่อนำไปช่วยเหลือคลี่คลายการระบาดของเชื้อโควิด-19 และเชื่อว่า ส.ว.ทุกคนก็เห็นด้วยกับหลักการสละเงินเดือนเพื่อนำไปช่วยเหลือจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือให้รัฐบาลนำไปใช้จ่ายในการหยุดยั้งการแพร่ระบาด ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะสละเงินเดือนได้มากน้อยเพียงใด เพราะแต่ละคนมีภาระความจำเป็นในการใช้จ่ายไม่เหมือนกัน
    นายเสรีกล่าวว่า ในสภาวะโรคระบาดเช่นนี้การช่วยเหลือกันเป็นสิ่งสมควร ส.ว.ทุกคนทำงานกันตลอด ไม่ได้อยู่เฉยๆ มีการหารือกันตลอดเวลา ที่ผ่านมานำสิ่งของไปแจกประชาชนตลอด มีทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว ส่วนที่รัฐบาลจะกู้เงิน 1.6 ล้านล้านบาทมาใช้แก้สถานการณ์โควิด-19 นั้น ถือเป็นความจำเป็น แต่เมื่อกู้แล้วต้องบริหารจัดการใช้เงินให้ดี มีความระมัดระวังในการใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนจริงๆ ไม่ไปเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดหรือไปสร้างภาระในอนาคตมากเกินไป แต่ถ้าจะไม่ให้กู้เลยก็คงไม่ได้ เพราะถ้ากลัวไปหมดทุกเรื่องก็แก้ปัญหาไม่ได้
    ขณะที่นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว.กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยหากจะให้ ส.ว.สละเงินเดือนทั้งหมดไปช่วยแก้ไขสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด ต่อให้ ส.ส.-ส.ว.สละเงินเดือน 3 เดือนก็ได้เงินมากสุดแค่  300 กว่าล้านบาท ไม่สามารถนำไปแก้ไขอะไรได้มาก ส.ส.และ ส.ว.ทุกคนไม่ได้รวยเหมือนกันทุกคน  บางคนมีแค่เงินเดือนอย่างเดียว แต่มีภาระค่าใช้จ่ายในการลงพื้นที่มาก ดังนั้นการสละเงินเดือนจึงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาได้ 
    "ประเทศไทยยังไม่สิ้นไร้ไม้ตอก ถังแตกถึงขนาดที่ต้องให้ ส.ส., ส.ว.และข้าราชการต้องสละเงินเดือนทั้งหมด รัฐบาลมีงบประมาณช่วยเหลืออยู่แล้ว คนที่เสนอประเด็นนี้มาอย่าแค่เอามันทางการเมือง   ที่ผ่านมา ส.ว.ทุกคนสละเงินเดือนบางส่วนนำไปบริจาค ซื้อของและหน้ากากแจกชาวบ้าน ทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ไม่ประกาศตัวเป็นข่าว เราไม่ได้อยู่เฉยๆ โดยไม่ช่วยเหลือประชาชนเลย คนที่ไม่ชอบส.ว.อย่ามาจุดประเด็นเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องดรามา" นายกิตติศักดิ์กล่าว
    ด้านนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ขอความร่วมมือ ส.ว.หักเงินเดือนขั้นต่ำ 5 หมื่นบาทต่อคน เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ในส่วน ส.ส.แต่ละคนได้ช่วยเหลือในพื้นที่อยู่แล้ว ไม่เหมือนกับ ส.ว.ที่ไม่ได้ทำพื้นที่  ก่อนหน้านี้ ส.ส.จัดซื้อทั้งหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และอื่นๆ ดูแลประชาชน ซึ่งนั่นคือเรื่องส่วนตัว 
    อย่างไรก็ตาม ในนามส่วนรวมก็คงต้องมีด้วย โดยตนจะได้หารือเรื่องนี้กับ ส.ส.อีก 4-5 คนในวันที่ 10 เม.ย. ว่าจะมีการบริจาคในนามพรรคให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเราจะสอบถามก่อนว่าขาดอะไรบ้าง แล้วจะได้เติมเต็มให้
     ขณะที่นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า การบริจาคของ ส.ว.เป็นเรื่องที่น่าส่งเสริม มีข้อดีทางด้านจิตวิทยา สร้างขวัญกำลังใจแก่ประชาชน แต่เมื่อนำจำนวนเงินไปเทียบกับปัญหาการแพร่ระบาดโควิด ถือว่าน้อยมากและไม่น่าจะเพียงพอ รวมถึงยังห่างไกลกับขนาดของปัญหาด้วย 
    นายสุทินเสนอว่า นอกเหนือจากการบริจาคแล้ว อยากให้รัฐบาลออกมายืนยันและสร้างความสบายใจให้ผู้บริจาคว่าจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า และต่อไปจะไม่มีข่าวการทุจริตเครื่องมือแพทย์ หรือหักหัวคิวชุดตรวจโควิด เพราะวันนี้คนได้ยินว่ามีทุจริตหักหัวคิวคนจึงไม่อยากบริจาค ทั้งนี้ถ้าจัดการเรื่องทุจริตหักหัวคิวได้จริงจะทำให้ได้เงินมากกว่าการบริจาคของ ส.ส.และ ส.ว.รวมกันหลายเท่า
    "ผมคิดว่าในส่วนของ ส.ส.ไม่มีใครแล้งน้ำใจ แต่ธรรมชาติของ ส.ส.และ ส.ว.ต่างกัน อาทิ ส.ส.หลายคนใช้เงินลงพื้นที่แจกหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ แต่ ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่ได้ลงพื้นที่อาจจะเลือกใช้วิธีการบริจาค" นายสุทินกล่าว
    วันเดียวกัน นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า อดีต ส.ส.และอดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ตนเองพูดเรื่องรัฐประหารโควิด เสรีภาพกับสุขภาพสำคัญเท่ากัน แล้วถูกฝ่ายตรงข้ามเยาะเย้ยว่า ถ้าได้ฟังตนพูดทั้งหมดในรายการ Interregnum ผ่าน Podcast ประมาณ 35  นาที จะเห็นได้ชัดว่าตนไม่ได้ตำหนิติเตียนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใดๆ เลย มีแต่การวิพากษ์วิจารณ์การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลที่ผ่านมานั้นมีความบกพร่องจริงๆ เป็นการแก้ไขปัญหาในลักษณะวิ่งตามไปเรื่อยๆ ออกมาตรการแต่ละอย่างคิดได้แบบไม่ครบถ้วนทั้งระบบ พอออกมาตรการเรื่องหนึ่ง เกิดผลร้ายจากมาตรการนั้น ต้องไปตามแก้อีก แทนที่การใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะสามารถทำให้รัฐบาลมีอำนาจมากขึ้นในการแก้ปัญหาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงกันข้ามทุกท่านเห็นแล้วว่าแม้จะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมาแล้ว แต่สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น
    "ผมยืนยันว่าในท้ายที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาครั้งนี้ถ้าหากเรามีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพจริงๆ ผมคิดว่าถ้าคุณประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินขนาดนี้แล้ว มันน่าจะแก้ไขได้ ตรงกันข้ามตอนนี้ทำไปทำมาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประกาศขึ้นไปมันอาจจะแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ แต่ท้ายที่สุดยืนยันว่าเอาใจช่วยรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาเรื่องวิกฤติโควิดให้ได้ เพราะเรื่องนี้มันหนักจริงๆ" นายปิยบุตรกล่าว
    นายปิยบุตรกล่าวด้วยว่า เราวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลด้วยความปรารถนาดีหวังดีทั้งนั้น มีข้อเสนอแนะโดยตลอด ส.ส.พรรคฝ่ายค้านหลายคนก็ทำข้อเสนอ อยากจะให้มองว่าการวิพากษ์วิจารณ์เสนอแนะต่างๆ ทำด้วยความหวังดีทั้งนั้น ทำงานร่วมกับรัฐบาลนั่นเอง ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ถ้าไม่เสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์กันเลย ตนคิดว่ามันอาจจะไม่ดี ต้องช่วยกัน เท่าที่ตนพบเจอกับพี่น้องประชาชนและคุยกับพวกเราด้วย ไม่มีใครที่จะไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล เพียงแต่ขอมาตรการให้ชัดเจน คิดรอบด้านทั้งระบบ ถ้าตัดสินใจทำทุกคนเจ็บไปด้วยกัน ถูกจำกัดเสรีภาพด้วยกัน ต้องมีมาตรการต่างๆ รองรับตามมาด้วย ทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือ
    ด้านนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า สถานการณ์ตอนนี้เปรียบเสมือนประชาชนกำลังกลั้นหายใจอยู่ การล็อกดาวน์มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลต้องใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องมีการตรวจเชิงรุก ทำสต๊อกอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้อง มีการคิดล่วงหน้า  ถ้าล็อกดาวน์มากกว่านี้ต้องเตรียมระบบโลจิสติกส์ครั้งใหญ่ ที่จะต้องเอาปัจจัย 4 ไปถึงพี่น้องประชาชนให้ได้ ความสำเร็จของรัฐบาลคือความสำเร็จของประเทศไทย จากนี้ตนก็จะไปประชุม ส.ส.ผ่านระบบ  Zoom เพื่อประเมินสถานการณ์และทำกิจกรรมที่เหมาะสม เป็นฝ่ายค้านสร้างสรรค์ ทำให้ประเทศไทยกลั้นหายใจให้น้อยที่สุด กลับมาหายใจได้อีกครั้ง
    นายพิธากล่าวด้วยว่า อีก 32 วันจะเข้าหน้าฝน ปกติผู้ป่วยไข้เลือดออก 15,000 คน ไข้หวัดใหญ่  20,000 คน ปอดบวม 14,000 คน เตียงทั้งประเทศมี 140,000 ไอซียู 7,700 เครื่องฟอกไต ปั๊มหัวใจมีอยู่เท่าไหร่ เป็นสิ่งที่พวกตนอยากเตรียม เราอยู่กับโควิดมา 100 วันแล้ว จะเอาเวลามาเตรียม 100 วันข้างหน้า โรงเรียนต้องเปิด เครดิตบูโร 90 วัน อาจจะเกิดหนี้เสียจำนวนมาก เราจะช่วยเตรียมเช็กลิสต์ให้รัฐบาล ไม่ให้เกิดการตามมาแก้ปัญหาภายหลัง จะเตรียมตัวเลขไว้ให้ช่วยกันคิด ถ้าเกิดสถานการณ์ผู้ป่วยจากหน้าฝนเกือบ 50,000 คน บวกกับโควิด เตียงในประเทศพอหรือไม่ ไอซียูในกรุงเทพฯ มี 2,000 จังหวัดน้อยที่สุดมีแค่ 3 ห้อง ถ้าโควิดไปอยู่ภาคใดที่มีไอซียูแค่ 3 เตียงจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราเตรียมตั้งแต่วันนี้จะแก้ได้
    ทางด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วทุกภูมิภาคของประเทศว่า หลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การใช้มาตรการเคอร์ฟิวเพื่อจำกัดการเดินทางของประชาชน ถ้าผลออกมาพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง ที่อาจเป็นสัญญาณว่า บุคลากรทางการแพทย์และระบบสาธารณสุขของประเทศเริ่มที่จะควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ หากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ภาครัฐต้องผ่อนปรนบางมาตรการเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางประเภทสามารถกลับมาขับเคลื่อนได้ ไม่ใช่ไปจับคนฝ่าฝืนเคอร์ฟิวคืนละร้อยกว่าคน แล้วพยายามสื่อสารในลักษณะข่มขู่ประชาชนว่า ถ้าประชาชนไม่ร่วมมือจะต้องประกาศเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง 
    นายอนุสรณ์กล่าวว่า กรณีการตีความจดหมายราชการของกระทรวงมหาดไทยที่ให้เตรียมพร้อมและยกระดับมาตรการรับมือโควิด-19 แล้วบอกว่าเป็นการตีความผิด แสดงว่าประชาชนบางส่วนตื่นตระหนกและไม่เชื่อมั่นในมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐออกมา เพราะที่ผ่านมาหลายมาตรการของภาครัฐ ลักลั่น สับสน ไม่มีมาตรการรองรับ ช้ากว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเสมอ หากการประกาศเคอร์ฟิว 4 ทุ่มถึงตี 4 ไม่ได้ผล ไม่สามารถควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อได้ แล้วรัฐบาลจะขยายเวลาในการประกาศเคอร์ฟิวเป็น 24 ชั่วโมง จะมีอะไรมาการันตีว่าการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจะได้ผล เกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดก็ไม่ได้ใช้วิธีการประกาศเคอร์ฟิว 24  ชั่วโมง ในขณะที่พบข้อมูลการติดเชื้อของคนในบ้านเป็นการติดเชื้อที่สูงที่สุด
    "หากรัฐมีมาตรการที่เข้มขึ้นถึงขนาดห้ามออกจากเคหสถาน 24 ชั่วโมง อยากถามว่ารัฐบาลเตรียมการรับมือในเรื่องนี้ไว้หรือไม่ อย่างไร" โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"