เข็น3พรก.-กันเงิน1.9ล้านล. สู้โควิด-19'สมคิด'เทหมดหน้าตัก


เพิ่มเพื่อน    

      หลังจากนี้คงมีเสียงสะท้อนทั้งเห็นด้วย-เสียงท้วงติงต่อมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ที่มีการออกมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบต่อประชาชนและภาคธุรกิจที่รัฐบาลระดมออกมาเป็นชุดๆ ภายใต้การกุมบังเหียน การออกนโยบายและมาตรการต่างๆ จาก สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

      มติ ครม.ดังกล่าวที่สำคัญก็คือการที่ ครม.เห็นชอบการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนและพยุงเศรษฐกิจไทยทั้งระบบไม่ให้ล้มครืนลงมา ผ่านการออกเป็น "พระราชกำหนด” (พ.ร.ก) ที่เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารตาม รธน.มาตรา 172 ในการออก พ.ร.ก.กรณีเร่งด่วน-มีเหตุจำเป็นฯ โดยไม่ต้องรอออกเป็นพระราชบัญญัติ เพราะจะไม่ทันการณ์ ซึ่งวิกฤติสงครามไวรัสโควิด-19 เวลานี้ที่ยังมีผู้ป่วย-ผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อย และยังต้องเฝ้าระวังไม่ให้มีการติดเชื้อเพิ่ม ถือว่าเข้าข่ายที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะออก พ.ร.ก.ได้แน่นอน และคงไม่มีใครทัดทาน เพียงแต่อาจมีความเห็น ข้อเสนอแนะบางอย่างเพื่อให้การออก พ.ร.ก.ดังกล่าวมีความรอบคอบ รัดกุมขึ้น ภายใต้วงเงินที่จะมีการประมาณการไว้ว่าอาจจะต้องกันเงินไว้สำหรับการนี้ 1.9 ล้านล้านบาท

      สำหรับ พ.ร.ก.ทั้งสามฉบับดังกล่าวแยกเป็นของกระทรวงการคลัง 1 ฉบับ และของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อีกหนึ่งฉบับ ดังนี้

      1.ร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.ก.กู้เงินฯ) ซึ่งรัฐบาลอ้างเหตุผลในการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ ว่าเพราะรัฐบาลมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และควบคุมการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ แต่ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนเวลาการงบประมาณ รัฐบาลจำเป็นต้องตราร่าง พ.ร.ก.กู้เงินฯ โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1,000,000 ล้านบาท เพื่อเป็นงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

      2.ร่าง พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.ก. soft loan 500,000 ล้านบาท) สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ให้ ธปท.สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มียอดสินเชื่อคงค้างเดิมไม่เกิน 500 ล้านบาท ที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับสินเชื่อเพิ่มเติมไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดสินเชื่อเดิม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ได้เพิ่มเติมในระยะ 6 เดือนแรก เป็นต้น

      3.ร่าง พ.ร.ก.สนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ ภาคเอกชน พ.ศ. .... (ร่าง พ.ร.ก. BSF) ที่ให้จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF) และให้ ธปท.สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ในตลาดแรกให้ทำงานได้เป็นปกติ (Market functioning) โดยกองทุนจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราวจากวิกฤติโควิด-19 ให้บริษัทสามารถ rollover หุ้นกู้ต่อไปได้ โดย ธปท.สามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวได้ไม่เกิน 400,000 ล้านบาท รวมถึงให้อำนาจ ธปท.ในการซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดรองในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อการรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงิน

      นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังได้รับทราบแนวทางที่รัฐบาลจะจัดทำ "ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563” ที่ก็คือเป็นงบที่มีการไปตัดงบแต่ละกระทรวงใน พ.ร.บ.งบฯ ปี 2563 ออกมาเป็นงบกลางที่จะขยายวงเงินให้มากขึ้น ที่ตอนนี้รัฐบาลเหลือเงินในหน้าตักอยู่ที่ 80,000-100,000 ล้านบาท ก็จะออกเป็น พ.ร.บ.โอนงบฯ มาเพิ่มไว้ที่งบกลางเพื่อใช้สู้วิกฤตโควิด ที่รัฐบาลจะนำเสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาฯ หลังเปิดสภาฯ ช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้ เท่ากับรัฐบาลเตรียมหน้าตักไว้แล้วสำหรับรับมือวิกฤติไวรัสโควิดที่ 1.9 ล้านล้านบาท ที่บางฝ่ายเชื่อว่าน่าจะเพียงพอ แต่หากยังไม่พอก็เชื่อว่าคงมีอีกหลายมาตรการที่รัฐบาลจะเข็นออกมาอีกตามสถานการณ์ในแต่ละช่วง

      เห็นได้จากผลตอบรับการเข้าร่วมโครงการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน "เราไม่ทิ้งกัน” ที่รัฐบาลให้เงิน 5 พันบาทต่อเดือน รวมสามเดือน 15,000 บาท ก็ปรากฏว่าที่ประชุม ครม.ซื้อใจประชาชนแบบจัดเต็ม ด้วยการขยายระยะมาตรการเยียวยาดังกล่าว จากเดิมให้ 3 เดือนขยายเป็น 6 เดือน ทำให้คนที่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าวจะได้เงินจากมาตรการนี้ 30,000 บาท โดยยังคงจำกัดผู้ที่ได้รับสิทธิ์ที่ 9 ล้านคนตามเดิม

      มาตรการจัดเต็ม-ทุ่มไม่อั้น-เทหมดหน้าตักผ่านการผลักดันของสมคิด และไฟเขียวโดยพลเอกประยุทธ์ แบบนี้คาดว่าอย่างน้อยคงซื้อใจคนได้ไม่มากก็น้อย แม้อาจจะมีเสียงท้วงติงบ้างจากบางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับบางมาตรการ เช่น การตั้งกองทุน BSF เพื่อให้แบงก์ชาติรับซื้อหุ้นกู้เอกชนไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ที่เริ่มมีเสียงทักท้วงว่าเอาเงินของประชาชนไปแก้ปัญหาวิกฤติหุ้นกู้ ที่แม้จะเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติตลาดทุน-ตลาดเงิน แต่ก็ทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศแค่บางกลุ่ม รวมถึงกลุ่มทุนได้ประโยชน์ อันเป็นข้อท้วงติงที่ ธปท.คงต้องเคลียร์ให้ชัดต่อไป. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"