ต่อสู้ไวรัสระยะยาว


เพิ่มเพื่อน    

    
    สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด 19 นับเป็นมหันตภัยทางด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกอย่างแท้จริง สังเกตตัวเลขของผู้ติดเชื้อยังคงเป็นกราฟพุ่งชัน ที่มีการยืนยันผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้น 4-5 หมื่นคนต่อวัน
    แน่นอนการระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นเรื่องพิเศษที่ในรอบ 100 ปีจะเกิดขึ้นซักครั้ง ดังนั้นเราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ใหม่ อย่างการแย่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ซึ่งในช่วงเวลาปกติสิ่งเหล่านี้ถือเป็นการไม่มีมารยาททางการทูตอย่างร้ายแรง แต่ในสถานการณ์แบบนี้ ก็คงไม่มีใครสนกันแล้ว เพราะทุกประเทศก็พยายามที่จะเอาตัวเองให้รอด
    อย่างในไทยเอง เมืองท่องเที่ยวและศูนย์กลางการคมนาคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงกับมีการประกาศปิดน่านฟ้า ไม่ให้เครื่องบินมาลงจอดกว่าครึ่งเดือน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อจะเกิดขึ้น แต่มันก็เกิดขึ้นมาแล้ว
    อย่างไรก็ดี ก็ต้องยอมรับว่าการเข้มงวดทั้งประกาศเคอร์ฟิว ไม่ให้คนออกจากบ้านหลังสี่ทุ่ม และการปิดน่านฟ้า รวมถึงการขอความร่วมมือให้ปิดสถานที่ซึ่งมีคนมารวมอยู่มาก  ส่งผลให้รัฐบาลสามารถตัดยอดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ค่อนข้างดี จนล่าสุดต่ำจนไม่ถึง 50 ราย/วัน
    นับเป็นเรื่องดี เพราะยุทธศาสตร์แบบนี้มันช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้จริง แต่คำถามคือยุทธศาสตร์ปิดเมืองจะทำได้นานขนาดไหน เพราะต้องยอมรับข้อเท็จจริงก่อนว่า โลกเรายังจะต้องอยู่กับโควิด-19 อย่างน้อย 1-2 ปี ซึ่งคงไม่มีประเทศไหนสามารถจะล็อกดาวน์ได้นานขนาดนั้น เพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมหาศาล โดยเฉพาะเรื่องปากท้องซึ่งน่าห่วงมากกว่า
    ดังนั้น จึงเชื่อแน่ว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เคอร์ฟิว ปิดร้านค้า คงทำได้อย่างมากแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น จากนั้นก็ต้องปล่อยให้กลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติกันเหมือนเดิม ซึ่งรัฐบาลก็ต้องประเมินเพื่อวางแผนระยะกลางและระยะยาวว่า จะช่วยเหลือดูแล และไม่ทำให้คนในประเทศต้องเจอกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจซ้ำซ้อนตามมาอย่างไร ก็น่าดีใจอยู่บ้างที่ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติการขยายระยะมาตรการเยียวยา 5,000 บาทต่อเดือน ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com จากเดิมที่ให้ผู้ผ่านการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาเป็นระยะเวลา 3 เดือน เป็น 6 เดือน จากวงเงิน 15,000 บาท เป็น 30,000 บาท  เพราะต้องเข้าใจสถานการณ์ก่อนว่า สงครามกับไวรัสในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่จบในระยะสั้นแน่นอน อย่างน้อยๆ ต้องลากไปถึงปลายปี หรือไตรมาส 4 การเพิ่มความช่วยเหลือของรัฐนั้นทำถูกแล้ว
    แต่ปัญหาก็คือผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยามีเพียง 9 ล้านคน จากผู้ที่มาลงทะเบียนเกือบ 25 ล้านคน ที่เหลือซึ่งเชื่อว่ายังมีผู้เดือดร้อนที่ติดค้างตะแกรงร่อนของรัฐบาลในครั้งนี้อีกไม่น้อย ในส่วนนี้จะดูแลกันอย่างไร 
    โดยเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่าน ครม.ก็ได้อนุมัติมาตรการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 3 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท 2.พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกซอฟต์โลน เพื่อปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการวงเงิน 500,000 ล้านบาท 3.พ.ร.ก.ให้อำนาจ  ธปท.ซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดชำระโดยต้องเป็นตราสารของบริษัทที่มีคุณสมบัติดี 4 แสนล้านบาท รวมทั้งจะตัดงบประมาณกระทรวงต่างๆ วงเงิน 80,000-100,000 ล้านบาท จะทำให้มีงบประมาณดำเนินการดังกล่าว 2 ล้านล้านบาท
    แน่นอนวงเงินจำนวนดังกล่าวเป็นวงเงินที่มหาศาลมาก  แต่มันเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐจะต้องนำมาใช้ดูแลประชาชนภายใต้ภาวะวิกฤติที่ไม่สามารถทำมาหากินได้อย่างปกติ ซึ่งจะต้องจับตาดูการใช้เงินอย่างใกล้ชิดว่า รัฐบาลได้จ่ายเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงจุดกับความเดือดร้อนของประชาชนแค่ไหน เพราะในส่วนที่นำมาดูแลประชาชนนั้นมีเพียง 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น แถมที่นำมาจ่ายตรงให้ประชาชนมีเพียง 6 แสนล้าน ส่วนอีก 4 แสนล้านจะนำมาใช้ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ พัฒนาสินค้า ซึ่งในส่วนหลังจะต้องดูว่าสามารถใช้เงินได้เกิดมรรคผล และส่งผลดีต่อประชาชนทางอ้อมแค่ไหน
    แน่นอน สงครามกับไวรัสเป็นเกมที่ยาวแน่นอน ดังนั้นการบริหารงบ และใช้อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุดในสภาวะแบบนี้. 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"