ติดเชื้อกลับหลักร้อย ป่วยจากต่างประเทศ69ราย/ทูตสหรัฐชมมาตรการไทยเจ๋ง


เพิ่มเพื่อน    


    หัวใจพองโตได้แป๊บเดียว ศบค.เผยยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ดีดกลับ 111 ราย พบมาจากอินโดฯ ถึง 42 ราย ยอดสะสม 2,369 เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย แจงไม่ได้ตรวจเชื้อน้อยแต่เลือกตรวจในจุดที่มีความเสี่ยง ได้ผลไม่ต่างกัน ยันตัวเลขปิดซ่อนไม่ได้ส่งผลเสียต่อ ปชช. ส่วนผู้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิวลดลง สธ.จัดมาตรการเชิงรุก ค้นหาผู้ติดเชื้อถึงพื้นที่ "อนุทิน" เยี่ยมชมระบบบริการตรวจรักษา รพ.จุฬาฯ น้อมนำพระราชดำรัสสู้โควิดอย่างเป็นระบบ เอกอัครราชทูตสหรัฐเข้าคารวะนายกฯ ชื่นชมมาตรการรัฐบาลไทย "บิ๊กตู่" รุดเยี่ยมให้กำลังใจ สอบถามปัญหาคนไทยถูกกักกันหลังกลับจากตปท. ก่อนนำเข้าหารือ ศบค. ด้าน กห.พร้อมชะลอจัดซื้ออาวุธร่วมฟื้นฟูประเทศ
    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่  8 เมษายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีมติออกมาให้การแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องร่วมมือร่วมแรงของคนในชาติ ผู้ประกอบการต้องได้รับการดูแล และผู้ได้รับผลกระทบต้องได้รับการเยียวยา
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 111 ราย ยอดสะสม 2,369 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย เสียชีวิตสะสม 30 ราย โดยรายที่ 28 เป็นชายชาวรัสเซีย อายุ 48 ปี วันที่ 18-21 มี.ค. เดินทางไป จ.ภูเก็ต วันที่ 22 มี.ค. อาการป่วย และเดินทางกลับพัทยา ชลบุรี จากนั้นวันที่ 25 มี.ค. เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชน แต่ไม่ได้นอนพักรักษาที่โรงพยาบาล มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ กลับไปกักตัวที่บ้าน เสียชีวิตวันที่ 5 เม.ย. รายที่ 29 มี.ค. เป็นชายไทยชาวอินเดียอายุ 69 ปี ทำธุรกิจส่วนตัว มีโรคเบาหวาน โรคหัวใจ วันที่ 17 มี.ค. มีอาการป่วย วันที่ 21 มี.ค. ไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนใน กทม. ด้วยอาการไข้ 39.3 ไอ มีน้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ ถ่ายเหลว ซึ่งเป็นอาการที่มากกว่าคนอื่น และย้ายไปรักษาในห้องไอซียูวันเดียว จากนั้นวันที่ 29 มี.ค.ส่งไปตัวโรงพยาบาลเอกชนอีกแห่ง อาการไม่ดีขึ้น และเสียชีวิตในวันที่ 7 เม.ย. และรายที่ 30 เป็นชายชาวอเมริกัน อายุ 69 ปี เริ่มป่วยวันที่ 9 มี.ค. เป็นโรคไตเรื้อรัง มีอาการไอ ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก วันที่ 21-22 ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.บุรีรัมย์ หายใจหอบเหนื่อยมากขึ้น วันที่ 23 มี.ค.ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตในวันที่ 7 เม.ย. จะเห็นว่าทั้ง 3 ราย เป็นชาวต่างชาติทั้งสิ้น จะเห็นว่าตัวเลขเชื่อมโยงกับตัวเลขผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
    “จากตัวเลขผู้ติดเชื้อเมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่เพิ่มขึ้นมาแค่ 38 คน ทำให้หัวใจพองโตได้แป๊บเดียว ผมจึงบอกว่าอย่าให้การ์ดตก แต่วันนี้ไม่อยากจะพูดเลยว่าเห็นแล้วมั้ยล่ะ ว่าแล้วมั้ยล่ะ ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อสามหลักเป็นตัวเลขที่ผมไม่อยากเจอเลย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
    โฆษก ศบค.ระบุว่า ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่วันนี้พบว่ากลับจากเดินทางจากประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 7 เม.ย. จำนวน 42 ราย แม้จะมีใบรับรองแพทย์ยืนยันจากต้นทาง แต่เมื่อมาถึงไทยเราตรวจแล้วเจอ เราก็จะรับมาดูแล นอกจากนี้เป็นผู้ที่อยู่ระหว่างสอบสวนโรคในพื้นที่ จ.ภูเก็ต 21 ราย ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ทำให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่วันนี้มี 111 คน นอกจากนี้ ในวันที่ 7 เม.ย. ยังพบว่ามีผู้กลับมาจากเกาหลีใต้ 57 คน ไม่ผ่านการคัดกรองถึง 8 คน อยู่ระหว่างรอผลตรวจ ขณะที่ผู้กลับจากการ์ตา 14 คน ผ่านการคัดกรอง ส่งตัวไปที่สถานกักตัวที่รัฐจัดไว้ให้แล้ว เหล่านี้คือคนที่กลับมาจากต่างประเทศ แต่คนไทยที่อยู่ในประเทศกว่า 60 ล้านคนเราก็ต้องเฝ้าระวัง เพราะในตัวเลข 111 คน มี 69 คนเป็นผู้ติดเชื้ออยู่ในประเทศ อย่างไรก็ตาม นายกฯ ยืนยันว่าจะดูแลทุกคน ทั้งคนไทยที่กลับจากต่างประเทศและคนไทยในประเทศ
มีทั้งศึกในศึกนอก
    เขาบอกว่า ถ้านับจำนวนผู้ติดเชื้อเทียบกับจำนวนประชากรในพื้นที่นั้นๆ จะเห็นว่าตัวเลขสูงสุดคือ จ.ภูเก็ต จึงมีมาตรการสแกนหาโดยเร็ว โดยจะทำการตรวจบางพื้นที่ เจาะบางพื้นที่ ขีดวง ตามวิธีของระบาดวิทยา แต่ไม่ได้ตรวจทุกคน ขณะนี้ที่ จ.ภูเก็ตสามารถตรวจได้วันละ 2,000 คนต่อวัน จึงเห็นได้ว่ามีตัวเลขพุ่งขึ้นมา วิธีการเหล่านี้ยังต้องเดินหน้าไปเรื่อยๆ สามารถเป็นโมเดลได้ จังหวัดอื่นๆ ก็สามารถทำได้ จะเรียกว่าปิดเมืองของท่านก็แล้วแต่ถ้าท่านต้องการ 
    “ถ้าดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายแรกของจังหวัดมีถึง 25 จังหวัดที่ติดจากผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ รวมถึง จ.สตูล ที่ผู้ติดเชื้อรายแรกกลับจากอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 7 เม.ย. ส่วนอีก 41 จังหวัด ผู้ติดเชื้อรายแรกจะมาจากปัจจัยภายในประเทศ ทั้งสนามมวยและสถานบันเทิง ดังนั้นมันมีทั้งศึกในและศึกนอก เชื้อโรคไม่มีพรมแดน ไม่มีช่วงเวลาทำงาน จึงต้องระวังด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม และสวมใส่หน้ากากอนามัยที่องค์การอนามัยโลกยืนยันว่าสามารถป้องกันได้ ทั้งนี้ ตอนนี้เหลือ 10 จังหวัดที่ยังไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อ”
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีการขยายขอบเขตนิยามผู้ป่วยที่ต้องสอบสวนโรค ซึ่งจะได้รับการตรวจฟรีจากรัฐบาล เพิ่มเป็นกลุ่มก้อนที่มาจากต่างประเทศ มีอุณหภูมิ 37.3 ขึ้น หรือมีการของระบบทางเดินหายใจ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อย หายใจลำบาก จะมีไข้หรือไม่หากมีอาการนี้สามารถตรวจได้, กลุ่มที่เฝ้าระวังในสถานพยาบาล มีอุณหภูมิ 37.5 ขึ้นไป มีไข้ และมีอาการข้างต้น หรือปอดอักเสบ หรือมีประวัติเดินทางไปพื้นที่ที่มีการติดเชื้อ, กลุ่มเฝ้าระวังบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ให้อำนาจแพทย์ผู้ตรวจหากสงสัยสามารถตรวจได้เลย, กลุ่มเฝ้าระวังการป่วยเป็นกลุ่มก้อน หากใครอยู่รวมตัวกันเป็นกลุ่มในสถานที่ทำงาน หากมีอาการป่วยพร้อมๆ กันสามารถเข้าไปตรวจได้เลย 
    “ส่วนที่กังวลกันว่าประเทศไทยตรวจน้อยเลยพบผู้ป่วยน้อยนั้นจากการประเมินตัวเลขทั่วโลกจะพบว่าถ้าเราเลือกตรวจในจุดที่มีความเสี่ยงจะได้ผลไม่ต่างกัน ยกตัวอย่างอิตาลี มีการตรวจ 11,429 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งอิตาลีมีประชากร 60.5 ล้านคน ตรวจเจอ 18.65% ขณะที่เกาหลีใต้มีการตรวจ 9,999 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน ตรวจเจอ 2.19% เมื่อเทียบเคียงกับไทย เราตรวจ 1,079 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ตรวจเจอ 2.88% เรากับเกาหลีใต้ไม่ต่างกัน ถึงแม้ในห้องปฏิบัติการเราจะตรวจได้กว่า 7 หมื่นคน แต่ก็ได้ผลใกล้เคียงกัน เหมือนกับที่ จ.ภูเก็ต ต้องขีดวงใกล้ๆ คนอื่นที่ไม่เสี่ยงก็ไม่ต้องตรวจให้เสียเงิน ประเทศจะได้ประหยัดและเหมาะสม ส่วนข้อสังเกตว่ารัฐบาลหลอกตัวเลขว่าผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นไข้หวัดใหญ่หรือไม่นั้น ยืนยันเราซ่อนตัวเลขไม่ได้ เพราะแพทย์ผู้ตรวจรู้ว่าคนไข้เป็นอะไร ถ้ารู้ว่าเป็นโควิด-19 ทุกคนกังวลหมด แพทย์ก็กลัว คนไข้ก็กลัว เพราะมีคนตายจึงปิดไม่มิด ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวปิดไม่มิด แต่นี่เชื้อโรคตัวนิดหน่อย ปิดนิดหน่อยที่ไหนก็รู้ ยิ่งมีโซเชียลยิ่งปิดไม่ได้ คนที่ทำงานในห้องแล็บก็กลัว ถ้าเป็นแล้วมาปิดกันก็มีเคืองกัน มันไม่มีทางปิดซ่อนได้ เราได้รับนโยบายมาทุกระดับ ไม่เคยให้ซ่อน เพราะถ้าซ่อนผลเสียจะอยู่กับประชาชน ขอให้มั่นใจ”
     ทั้งนี้ ปัจจุบันเราจะเพิ่มห้องปฏิบัติการจากเดิมวันที่ 7 เม.ย. มี 80 ห้อง วันที่ 8 เม.ย. จะเปิดให้ได้ 110 ห้องทั่วประเทศ ส่วนที่ในต่างประเทศมีการพัฒนาการตรวจ เช่นไดรฟ์ทรู ซึ่งเอกชนบางแห่งทำแล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาขึ้นมา
ที่กักตัวเลือกเตียงไม่ได้
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานช่วงประกาศเคอร์ฟิววันที่ 7 เม.ย. ต่อเนื่องวันที่ 8 เม.ย. พบว่าผู้ฝ่าฝืนประกาศเคอร์ฟิวลดน้อยลง เหลือ 1,156 ราย ถือว่ายังไม่น่าดีใจ ต้องลดลงให้เหลือหลักร้อยหรือหลักหน่วยให้ได้ โดยพบว่ามีการมั่วสุม ชุมนุม รวมกลุ่ม 72 ราย ตักเตือน 135 ราย ดำเนินคดี 949 ราย ส่วนในช่วงเทศสงกรานต์จะมีการคุมเข้มเรื่องการจำหน่ายสุรา หรือเมาไม่ขับหรือไม่นั้น เราอยู่ในช่วงโรคระบาด แค่นี้ก็สาหัสแล้ว ส่วนด้านอื่นๆ ขอให้ลดลง ซึ่งอยู่ที่แต่ละจังหวัดจะมีการประกาศในเรื่องของการห้ามจำหน่ายสุราหรือไม่อย่างไร แต่กระทรวงวัฒนธรรมได้รณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมสงกรานต์ปีนี้ไปก่อน แทนที่จะรดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ก็ให้เว้นระยะห่างผู้ใหญ่ก่อน 
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 8 เม.ย. เวลา 15.30 น. จะมีคนไทยเดินทางกลับจากญี่ปุ่นมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 32 คน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการไว้ทุกอย่างแล้ว เมื่อกลับมาต้องไปสถานที่ที่รัฐจัดให้เท่านั้น มีหลายคนไม่เคยนอนสองคน แต่เนื่องจากที่พักมีข้อจำกัด ท่านต้องอยู่ในข้อตกลงของเรา ไม่ใช่โรงแรมที่จะมาเลือกเตียงเดียว เตียงคู่ เตียงคิงไซส์ ไม่ได้ เพราะเป้าหมายของเราคือการควบคุมโรคมากกว่าความสะดวกความสบาย จึงต้องแลกกัน
    ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ จากนี้จะต้องถูกนำไปกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ในสถานที่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้ ซึ่งขณะนี้มีการเตรียมสถานที่ไว้รองรับแล้ว รวมทั้งหมด 1,883 ห้อง แบ่งเป็นของภาครัฐ 136 ห้อง และภาคเอกชน 1,747 ห้อง เพื่อเฝ้าระวังอาการและลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศ ซึ่งข้อมูลวันที่ 8 เม.ย. มีผู้เข้าพักในส่วนของรัฐ รวม 358 คน แบ่งเป็นโรงเรียนการบินกำแพงแสน 36 ห้อง 75 คน, อาคารรับรองสัตหีบ 100 ห้อง 283 คน และในส่วนของเอกชน มีผู้เข้าพัก 307 ห้อง ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่ามีห้องเหลืออีกกว่า 1,300 ห้อง
    “สถานการณ์การควบคุมโรคในประเทศพบว่าดีขึ้นตามลำดับแต่บางพื้นที่ต้องมีการควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้น อย่างเช่นที่ จ.ภูเก็ต โดยปัจจุบัน สธ.ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (Active Case Finding) เพื่อเก็บตัวอย่างทุกคนในพื้นที่เสี่ยงเบื้องต้นมีการเก็บตัวอย่างไปกว่า 1,500 ตัวอย่าง สำหรับดูว่ามีเชื้อแฝงอยู่หรือไม่ เนื่องจากเป็น จ.ภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยว มีชาวต่างชาติจำนวนมาก รวมถึงมีการระบาดคล้ายกับ กทม. ซึ่งในส่วนของ กทม. จากนี้ไปก็จะมีการลงพื้นที่ที่พบผู้ป่วย, พื้นที่เสี่ยง, พื้นที่เฝ้าระวัง ไปเก็บตัวอย่างในลักษณะนี้เช่นกัน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
    ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาฯ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการคุ้มครองค่าใช้จ่ายรักษาโควิด-19 ว่า ครม.มีมติเห็นชอบบรรจุโรคโควิด-19 ให้จัดอยู่ในสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล โดยทุ่มงบประมาณ 4,280 ล้านบาทให้กับ สปสช.จ่ายเงินชดเชยให้กับประชาชนที่มีสิทธิรักษาตามกองทุนบัตรทอง 
    ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข รับมอบสิ่งของประกอบด้วย 1.กรมธรรม์ประกันสุขภาพ 100,000 ฉบับ จากบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2.อาหารกล่อง มูลค่ารวม 100,000 บาท จากบริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) และ 3.รถจักรยานยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า จำนวน 100 คัน จากบริษัท ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยนายอนุทินได้กล่าวขอบคุณที่ห่วงใยที่นำมามอบให้พี่น้องนักรบชุดขาว หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ต่อสู้และให้การรักษาผู้ป่วยอยู่ตอนนี้ รับรู้ว่าทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่ไม่โดดเดี่ยว ยังมีหน่วยงานต่างๆ และประชาชนคอยให้กำลังใจอยู่
รมว.สธ.น้อมนำพระราชดำรัส
    วันเดียวกัน นายอนุทินเยี่ยมชมระบบบริการตรวจรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย การตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยระบบปรึกษาทางไกลคลินิกควบคุมการติดเชื้อทางเดินหายใจ ห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยเครื่อง RT-PCR โดยมี ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมต้อนรับ
    นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ตั้งใจมาเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 และจะไปให้กำลังใจ สนับสนุนทุกด้านกับเครือข่ายโรงเรียนแพทย์ทั้งหมด เพื่อสร้างความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข เพราะระบบสาธารณสุขไม่ได้มีเพียงแค่ สธ.เท่านั้น ยังมีเครือข่ายโรงพยาบาลในทุกสังกัด ที่ล้วนเป็นด่านหน้าในการดูแลรักษาผู้ป่วย ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ต่างก็ทำงานอย่างทุ่มเท สธ.ซึ่งเป็นผู้ดูแลจัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ พร้อมสนับสนุนภารกิจหน่วยงานด้านการแพทย์ในทุกองค์กร ยืนยันว่าจะไม่ปล่อยให้การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ต้องสะดุด รัฐบาลจะทำทุกวิถีทาง และใช้ทุกความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศผู้ผลิต เพื่อเจรจาจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นและมีมาตรฐานให้ได้มาอย่างเพียงพอเพื่อกระจายให้ทุกโรงพยาบาล
     “ขอน้อมนำพระราชดำรัสจากพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้พระราชทานให้เห็นว่าการต่อสู้กับสถานการณ์ครั้งนี้ต้องร่วมมือกันทุกส่วน ต้องทำงานอย่างเป็นระบบ ผมต้องบอกว่า พวกเราเป็นทีมเดียวกัน เป็นทีมประเทศไทย ที่จะร่วมกันต่อสู้กับสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 และเชื่อว่าจะทำให้ระบบสาธารณสุขของประเทศไทยแข็งแกร่ง ด้วยความร่วมมือของทุกเครือข่ายการแพทย์ เราจะผ่านพ้นสถานการณ์เหล่านี้ไปด้วยกัน” นายอนุทินกล่าว
    วันเดียวกัน เวลา 09.30 น. ที่ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายไมเคิล จอร์จ ดีซอมเบร เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับหน้าที่ โดยนายกฯ กล่าวยินดีต้อนรับเอกอัครราชทูตฯ มั่นใจว่าเอกอัครราชทูตฯ จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนามิตรภาพไทย-สหรัฐให้แน่นแฟ้นเหมือนเช่นที่เป็นมาตลอดกว่า 180 ปี ขอฝากความปรารถนาดี ความห่วงใยไปยังประธานาธิบดีทรัมป์และภริยา ให้กำลังใจในการบริหารประเทศเพื่อต่อสู้กับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นในเร็ววัน
    ด้านเอกอัครราชทูตฯ กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีที่อนุญาตให้เข้าเยี่ยมคารวะ แม้จะเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายของประเทศไทย และหลายๆ ประเทศในโลก ขอสนับสนุนและชื่นชมมาตรการของรัฐบาลไทย ที่ส่งผลให้มีแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นแนวราบ ทั้งนี้ ขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้การดูแลผู้อาศัยอยู่ในประเทศไทยให้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย 
    ทั้งสองฝ่ายต่างชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างกันในทุกๆ ด้าน ทั้งทางด้านความมั่นคง เป็นสาขาที่มีความร่วมมือกันมาอย่างยาวนานและแนบแน่น และด้านการสาธารณสุข เป็นสาขาความร่วมมือสำคัญที่พัฒนามายาวนานหลายทศวรรษ โดยสหรัฐมีศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ (CDC) มีสำนักงานนอกสหรัฐขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ทั้งสองฝ่ายมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยเหลือในทุกด้าน นายกรัฐมนตรียังขอบคุณสหรัฐ ที่ได้มอบอุปกรณ์ป้องกันร่างกายส่วนบุคคล (PPE) ให้ประเทศไทย รวมทั้งขอให้กำลังใจซึ่งกันและกันในช่วงเวลาของความท้าทายนี้ ทั้งนี้ ขอให้คำนึงถึงไม่เพียงแต่ความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐ แต่เป็นความร่วมมือกับทุกประเทศทั่วโลก
นายกฯ เยี่ยมผู้ถูกกักตัว
    เมื่อเวลา 15.30 น. ที่โรงแรมเดอะภัทรา พระราม 9 พล.อ.ประยุทธ์เดินทางตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ ให้กำลังใจประชาชนที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและต้องถูกกักกันตัวเพื่อดูอาการและเฝ้าระวังโรค ซึ่งทุกคนต่างยินดีให้ความร่วมมือและขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยเหลือพร้อมดูแลอย่างดีในที่ State Quarantine แห่งนี้และไม่มีอะไรติดขัด ไม่มีปัญหา สบายดีทุกคน
    ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้พูดคุยสอบถามเจ้าของโรงแรมว่าขาดเหลืออะไรหรือไม่ เพื่อจะได้ช่วยดูแล พร้อมสอบถามว่ากังวลหรือไม่ต้องใช้เป็นสถานที่แบบนี้ ซึ่งทางโรงแรมระบุว่าไม่เป็นกังวลเพราะมั่นใจในเรื่องสาธารณสุข
    นอกจากนี้ นายกฯ ยังสอบถามถึงการจัดห้องพักว่าแต่ละห้องมีกี่คน ซึ่งต้องดูว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร เพราะว่ามีเรื่องค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็อยากพักเดี่ยว แต่ต้องดูตามขนาดและมาตรฐานของโรงแรมด้วย ทั้งนี้ นายกฯ ยังกล่าวขอบคุณโรงแรมที่เสียสละและให้ความร่วมมือในการร่วมแก้ปัญหา ซึ่งคนไทยต่างซาบซึ้งในน้ำใจที่มีต่อกันในสภาวะเช่นนี้
    ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha" โดยระบุว่า "แวะมาเยี่ยมให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานที่ state quarantine โรงแรมภัทรา ได้มีโอกาสขอบคุณผู้บริหารโรงแรม และพบปะเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทหาร ตำรวจ สอบถามถึงปัญหาต่างๆ เพื่อนำเข้าหารือในที่ประชุม ศบค.วันพรุ่งนี้ครับ"
    พล.ต.ต.วีรพัฒน์ ศิวะแพทย์ ผบก.กองแผนงานความมั่นคง ได้มีบันทึกข้อความส่วนราชการ ถึง ผบ.ตร.จตช. และรอง ผบ.ตร. ผู้ช่วย ผบ.ตร. (บร 4), (มค 2) และ (มค 3) ผบช. หรือตำแหน่งเทียบเท่า ผบก. ระบุว่า ให้ส่วนปฏิบัติการที่ต้องปฏิบัติภารกิจในช่วงเวลาซึ่งห้ามบุคคลออกนอกเคหสถาน (curfew) หากพบเห็นรถยนต์ของคณะผู้แทนทางการทูต ที่ปฏิบัติหน้าที่ หรือออกจากที่พักอาศัยเท่าที่จำเป็น โดยหากมีเหตุผลที่ต้องปฏิบัติภารกิจในช่วงเวลาดังกล่าวให้ตรวจสอบบัตรประจำตัวนักการทูต และจะต้องใช้รถยนต์ป้ายทะเบียนทูตเท่านั้น จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและดำเนินการ
    มีรายงานข่าวว่า พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก พร้อมอ้างถึงข้อสั่งการ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธาน ศบค. จะไม่ประกาศห้ามออกนอกเคหสถาน ตลอด 24 ชั่งโมง เนื่องจากเป็นห่วงบุคคล 4 ประเภทคือ 1.คนแก่อยู่ตามลำพัง 2.คนป่วยติดเตียง 3.คนพิการ 4.คนหาเช้ากินค่ำ พร้อมย้ำ ให้แม่ทัพภาค (มทภ.), ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก (ผบ.มทบ.), รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในทัพภาค (รอง ผอ.กอ.รมน.(ท)) สามารถใช้สัสดีจังหวัด, สัสดีอำเภอ ในการขับเคลื่อนการปฏิบัติได้
     พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (กห.) กล่าวถึงการพิจารณาการตัดโอนงบประมาณ 2563 ในส่วนของโครงการและการจัดซื้อยุทโธปกรณ์เพื่อนำมาเยียวยาประชาชนจากผลการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า กห.ได้มองสถานการณ์และคิดไว้ล่วงหน้า และทราบดีถึงเหตุผลความจำเป็นของสถานการณ์เหล่านี้ดี ประเทศชาติต้องไปต่อ และต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม โครงการไหนสมควรชะลอก็ควรชะลอ โครงการไหนสามารถดำเนินการในปีต่อๆ ไป โดยไม่กระทบต่อสัญญากับต่างประเทศก็ต้องทำ ขณะนี้เหล่าทัพกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมีโครงการใดบ้างในงบประมาณปี 2563 และจะหารือกันต่อเนื่องไปถึงโครงการในงบปี 2564 ในภาพรวมด้วยหลักการทบทวนโครงการคือ ดูการดำรงสภาพความพร้อมต่อไป ส่วนการเพิ่มขีดความสามารถก็ให้ชะลอไปก่อน และต้องไม่กระทบต่อสัญญาที่ทำไว้กับต่างประเทศ
    บิ๊กโปรเจ็กต์อาวุธสะดุด
    จากมติคณะรัฐมนตรีให้กระทรวงต่างๆ พิจารณาตัดโอนงบประมาณเพื่อนำมาช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด โดยกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพถูกจับตามองเรื่องการปรับลดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธมาเพื่อนำมาสนับสนุนแผนงานช่วยประชาชน จากข้อมูลพบว่าในกรอบวงเงินงบประมาณ ปี 2563 กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณ 2.3 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นงบประจำ 70% และงบลงทุน 30 % ทั้งนี้ เหล่าทัพจะได้กลับไปทบทวนในภาพรวมทั้งหมดโดยไม่ให้กระทบในส่วนของงบประจำมากนัก ซึ่งงบประจำประกอบด้วยเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง การประชุม สัมมนา ดูงานต่างประเทศ แผนการฝึกศึกษาประจำปี ส่วนนี้อาจต้องมีการยกเลิกงบการดูงานต่างประเทศ การสัมมนาบางรายการ หรือปรับแผน-ลดขนาดการฝึกลง
     ส่วนงบลงทุนที่ต้องทบทวนและอาจต้องชะลอ ได้แก่ โครงการจัดหายุทโธปกรณ์ ที่หมายรวมถึงการซ่อมบำรุง และการปรับปรุงพัฒนาขีดความสามารถของอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อให้เกิดความพร้อมใช้ โดยมีแผนจัดซื้อยานเกราะลำเลียงพล หรือสไตรเกอร์ ล็อต 2 จำนวน 50 คัน วงเงิน 4,500 ล้านบาท แผนจัดซื้อปืนใหญ่ขนาด 155 มม. เพื่อทดแทนของเก่า วงเงิน 2,000 ล้านบาท โครงการจัดซื้อปืนใหญ่ขนาด 105 มม. วงเงิน 900 ล้านบาท โครงการจัดซื้อเครื่องบินแบบใช้งานทั่วไปวงเงิน 1,350 ล้านบาท รวมถึงการแผนจัดซื้อรถถังวีที 4 ล็อตที่ 3 วงเงิน 1,600 ล้านบาท
    ขณะที่กองทัพเรือ มีแผนจะจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2-3 จำนวน 2 ลำ ตามงบประมาณที่ตั้งไว้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท รวมถึงตั้งงบก่อสร้างที่จอดเรือไว้อีก 900 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปี 2563-2569 ส่วนกองทัพอากาศ สมุดปกขาวของกองทัพอากาศ ระบุว่า ในงบปี 2563 ได้แก่ โครงการจัดหาเครื่องฝึกทดแทน 12 เครื่อง ผูกพันงบประมาณ 4 ปี (2563-2566) วงเงิน 5,195 ล้านบาท, โครงการจัดหาเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T-50 (ระยะที่ 4) 2 เครื่องวงเงิน 2,450 เครื่อง วงเงิน 2,450 ล้านบาท (ผูกพันงบประมาณ 2563-2565 ) เป็นต้น
     มีรายงานว่า กระทรวงกลาโหมได้ให้เหล่าทัพพิจารณาความจำเป็นในแต่ละโครงการเอง โดยโครงการที่ตั้งต้นในปี 2563 และยังไม่ได้มีการอนุมัติโครงการก็ขอให้ดูข้อกฎหมาย และเจรจากับประเทศคู่สัญญา เพื่อขอชะลอโครงการออกไปก่อน ซึ่งประเทศทั่วโลกก็ประสบปัญหาเหมือนกันย่อมเข้าใจสถานะของกองทัพเราด้วย อีกทั้งต้องพิจารณาควบคู่กับการทำแผนงบประมาณปี 64 ที่ผ่านการพิจารณาไปแล้วว่า ควรจะไปบรรจุในงบฯ ปี 64 หรือไม่ รวมทั้งทำแผนสองหากสถานการณ์งบประมาณในปี 64 ยังไม่ดีขึ้น ก็ให้ชะลออกไปอีก โดยให้คำนึงถึงการดำรงความพร้อมขั้นต่ำของกองทัพเท่าที่ทำได้.
    นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาร่าง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทว่า เบื้องต้นเป็นอำนาจของ ครม. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ที่สามารถออกพระราชกำหนดได้กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอออกเป็นพระราชบัญญัติหรือต้องเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาทันที 
    “สอดคล้องกับกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า พ.ร.ก.กู้เงินจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนเมษายนนี้ น่าจะเป็นขั้นตอนการดำเนินการของฝ่ายบริหารที่จะทำให้ร่าง พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ จากนั้นจึงค่อยนำเข้าที่ประชุมสภาฯ และวุฒิสภาพิจารณาภายหลัง โดยที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้การพิจารณา พ.ร.ก.ของสภาฯ และวุฒิสภาจะต้องดำเนินการในวาระแรกของสภานั้นๆ ซึ่งการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน จะต้องพิจารณาทันทีที่เปิดประชุมสภาสมัยสามัญในเดือนพ.ค.นี้” นพ.สุกิจกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"