happinet clubสื่อกลางครอบครัวเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสสอนเด็กให้เข้าใจโดวิด-19


เพิ่มเพื่อน    

happinet clubสื่อกลางครอบครัวเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสสอนเด็กให้เข้าใจโดวิด-19

 

        สสส.เปิด happinet club ให้ความรู้เรื่องโควิด-19 เป็นสื่อกลางให้ความรู้เข้าใจง่ายๆ สำหรับเด็กและครอบครัว 8 หัวข้อ #ไทยรู้สู้โควิด #ครอบครัวเข้มแข็งสู้ภัยโควิด ช่วยกันทำให้เด็กเข้าใจ สามารถรับมือและมีส่วนช่วยเหลือ สนับสนุนในด้านดีให้กับคนอื่น

 

       โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 #โควิด-19 เป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสนใจ ขณะนี้มีข้อมูลข่าวสารมากมายหลั่งไหลเข้ามาให้คุณได้เลือกอ่านและตัดสินใจตลอดเวลา ด้วยการสื่อสารกับเด็กสามารถทำได้ดังนี้ 1.ถามคำถามแบบเปิดแล้วตั้งใจฟัง เริ่มจากชวนเด็กในบ้านคุยถึงเรื่องนี้ เพื่อประเมินว่าเด็กรู้มากแค่ไหน โดยให้เด็กเป็นฝ่ายนำการสนทนาซึ่งนำได้ด้วยคำถามที่ขึ้นต้นหรือลงท้ายว่า “ทำไม” “อย่างไร” ปล่อยให้ลูกได้พูดคุยอย่างอิสระ ใช้การวาดภาพ การเล่าเรื่องจากหนังสือและกิจกรรมอื่นๆ เพื่อช่วยให้เริ่มการสนทนาง่ายขึ้น แต่ถ้าเด็กยังเด็กอยู่มาก ไม่เคยรู้เรื่องการระบาดของโรคนี้มาก่อนเลย ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดประเด็นขึ้นมา แต่ให้เตือนเด็กเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตนเพื่อสุขอนามัย โดยไม่ก่อให้เกิดความหวาดกลัวใหม่ๆ อีก ที่สำคัญต้องมั่นใจด้วยว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย

      2.อธิบายความจริงในแบบที่เหมาะสมกับเด็ก เด็กมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ผู้ใหญ่ก็มีภาระที่จะต้องปกป้องเด็กให้พ้นจากความทุกข์ใจด้วย โดยใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัย ดูปฏิกิริยาตอบสนองของเด็กและไวต่อความรับรู้ระดับความกังวลของเด็ก อย่าพยายามพูดกลบเกลื่อนหรือหลีกเลี่ยงความกังวลของเด็ก รับรู้ถึงความรู้สึกของเด็กและให้ความมั่นใจว่าความรู้สึกหวาดกลัวต่อสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ และอย่าใช้วิธีคาดเดา หากคุณไม่สามารถตอบคำถามได้ ขอให้หาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ชวนเด็กหาคำตอบไปพร้อมๆ กันจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นตัวอย่างแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

      3.แสดงวิธีการป้องกันตนเองให้เด็กดู วิธีการที่ดีที่สุดทำให้เด็กปลอดภัยจากไวรัส คือเตือนให้ล้างมือเป็นประจำ โดยไม่ต้องใช้วิธีพูดคุยแบบสร้างความกลัว หรือใช้เพลงเพื่อช่วยสร้างความสนุกสนานให้กับการเรียนรู้ สาธิตให้เด็กดูว่าจะใช้ข้อศอกป้องปากหรือจมูกเวลาไอจามอย่างไร อธิบายให้เข้าใจว่าการไม่เข้าอยู่ใกล้ชิดจนเกินไปกับคนที่มีอาการดังกล่าวคือวิธีที่ดีที่สุด หากรู้สึกว่าตัวร้อนไอจนหายใจลำบากให้บอกผู้ใหญ่

      4.ช่วยสร้างความมั่นใจ เมื่อเราเห็นภาพที่ชวนให้ไม่สบายใจจำนวนมากทางโทรทัศน์หรือทางออนไลน์ บางครั้งชวนให้รู้สึกเหมือนว่าวิกฤตการณ์อยู่รอบตัวเรา เด็กอาจแยกไม่ออกระหว่างภาพในหน้าจอและความเป็นจริงส่วนตัวของตนเอง และอาจเชื่อว่าตนตกอยู่ในอันตรายที่ใกล้เข้ามา คุณสามารถช่วยให้เด็กรับมือกับความเครียดดังกล่าวได้ โดยหาโอกาสให้พวกเขาเล่นเพื่อการผ่อนคลายระหว่างทำสิ่งต่างๆ ตามกิจวัตรประจำวันและตารางให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนเด็กเข้านอน หรือช่วยกันสร้างอะไรใหม่ๆ ในสภาพแวดล้อมใหม่ หากในบริเวณที่คุณอยู่เกิดการระบาดของโรค บอกให้เด็กเข้าใจว่าไม่ได้แปลว่าเด็กต้องติดโรคเสมอไป คนส่วนใหญ่ที่ติดโรคไม่ได้ป่วยหนัก และยังมีผู้ใหญ่จำนวนมากที่ทำงานหนักเพื่อช่วยให้ครอบครัวของคุณปลอดภัย

      5.ตรวจสอบว่าเด็กรังแกหรือไปรังแกผู้อื่นหรือไม่? อธิบายให้เด็กฟังว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 #โควิด-19 ไม่เกี่ยวกับหน้าตา ถิ่นที่มา และภาษาที่คนนั้นพูด บอกเด็กว่าถ้าถูกด่าว่าหรือถูกกลั่นแกล้งรังแกให้มาเล่าให้คุณฟังทันที และต้องไม่ลืมว่าการรังแก กลั่นแกล้งผู้อื่น เป็นเรื่องไม่ถูกต้องเช่นกัน

      6.มองหาผู้ช่วย การที่เด็กรับรู้ว่ามีคนช่วยเหลือกันอยู่ในภาวะวิกฤติ ด้วยการกระทำที่มีเมตตา กรุณา และความใจกว้างเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นอย่าลืมแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับบุคลากรด้านสาธารณสุข นักวิทยาศาสตร์ หรือคนทั่วไปที่ทำงานเพื่อช่วยหยุดการระบาดของโรคและทำให้ชุมชนปลอดภัย การที่ได้รับรู้ว่าคนที่มีความเห็นอกเห็นใจกำลังทำหน้าที่อยู่ ถือเป็นสิ่งที่ช่วยปลอบประโลมจิตใจเป็นอย่างมาก

      7.ดูแลตนเอง คุณช่วยเด็กๆ ได้ ถ้าคุณเองสามารถรับมือได้เช่นกัน เด็กๆ จะให้ความสนใจเป็นพิเศษกับปฏิกิริยาของคุณที่มีต่อข่าว ดังนั้นถ้าคุณสงบและควบคุมตนเองได้ก็จะช่วยเด็กได้มาก 8.จบการสนทนาด้วยความห่วงใย การที่ได้รู้ว่าเราไม่ได้ทิ้งให้เด็กต้องจมอยู่ในสภาวะทุกข์ใจถือเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อการสนทนาใกล้ถึงบทสรุป ขอให้วัดระดับความกังวลของเด็กโดยดูจากภาษากาย พิจารณาดูว่าเด็กใช้น้ำเสียงตามปกติหรือไม่ สังเกตดูการหายใจของเด็ก อย่าลืมบอกเด็กๆ ให้รู้ว่าคุณพร้อมให้เวลากับการพูดคุย รับฟังเสมออย่างเต็มใจ.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) : ภาพ

 

 

 

             หยุดแพร่โควิด-19งดพาเด็กต่ำกว่า5ขวบออกนอกบ้าน

        สสส.จัดทำคู่มือเคล็ดลับสุขภาพดีสมวัยเด็กเลี้ยงลูกให้สุขกัน

        ผู้ใหญ่วัย 70 ปีขึ้นไป และเด็กต่ำกว่า 5 ขวบงดออกนอกบ้าน สสส.ได้จัดทำคู่มือเคล็ดลับสุขภาพดีสมวัยเด็ก มาเลี้ยงลูกให้สุขกันเถอะเรา พลิกอ่านและปฏิบัติตาม เริ่มต้นด้วย อ.อาหาร อ.ออกกำลังกาย อ.อารมณ์ จัดการอารมณ์ตัวเองเพื่อให้เติบโตสมวัย ฉลาด แข็งแรง และเรียนเก่ง ทารกควรได้รับการเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน

      สสส.และโครงการจัดการความรู้สุขภาพผ่านสื่อเทคโนโลยีออนไลน์ มูลนิธิหมอชาวบ้าน เว็บไซต์ออกมาเล่น www.kidactiveplay.com เคล็ดลับการดูแลสุขภาพเด็กวัยก่อนเรียน มาเลี้ยงลูกให้สุขกันเถอะเรา เด็กวัยก่อนเรียนเริ่มมาพัฒนาการทางด้านรูปร่าง จินตนาการ การสื่อสารเพิ่มมากขึ้นและมีรูปร่างที่เปลี่ยนไป จากอ้วน เตี้ย ไปผอม สูง แขน-ขายาว ผู้ดูแลจึงต้องใส่ใจโภชนาการทางด้านอาหารให้ครบหมู่ให้เหมาะสม สังเกตพฤติกรรมเพื่อพัฒนาการที่ดีของเด็กในวัยก่อนเรียนอย่างสมบูรณ์แบบ

      เด็กวัยก่อนเรียนคือเด็กที่อยู่ในช่วงอายุ 3-5 ปี ซึ่งมีพัฒนาการต่อเนื่อง จากเด็กวัยหัดเดินจะมีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวและความสูงช้ากว่าวัยทารก และวัยหัดเดินเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีระจากอ้วน เตี้ย เป็นผอม สูง แขน-ขายาวขึ้น และมีการแสดงออกถึงความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองเพิ่มมากขึ้น มีจินตนาการและสามารถสื่อสารได้มากขึ้น มักจะมีการตั้งคำถามว่า ทำไม อะไร ยังไง และเริ่มที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

      เคล็ดลับสุขภาพดีสมวัยเด็ก สุขภาพดีเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการดำเนินชีวิตใน 3 เรื่องหลัก อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ หากรักษาความสมดุล 3 อ.นี้ได้ดี เราก็จะมีปราการต้านโรคภัยที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งคือวัยเริ่มแรกของการเรียนรู้ เราจึงควรปลูกฝังให้เด็กๆ เรียนรู้การกินอาหารที่เหมาะสม หมั่นออกกำลังกาย และจัดการอารมณ์ของตนเอง เพื่อที่พวกเขาจะเติบโตด้วยพัฒนาการที่ดีต่อไป

      สุขภาพดีสมวัยด้วย อ.อาหาร อาหารสำหรับเด็กแบ่งออกเป็น 3 ช่วงวัย ในช่วงแรกเกิด-6 เดือน นมแม่อย่างเดียว อายุ 6 เดือนขึ้นไป (อาหารตามวัยควบคู่นมแม่) อาหาร 1 มื้อ/วัน ควรมีสารอาหารครบ 5 หมู่ ประกอบด้วย ข้าวบดละเอียด 3 ช้อนกินข้าว ไข่แดง หรือเนื้อปลา หรือตับบด 1 ช้อนกินข้าว ผักใบเขียว หรือสีเหลืองส้มครึ่งช้อนกินข้าว น้ำมันพืชครึ่งช้อนชา ในอาหารที่ปรุงสุก อาหารว่าง เป็นผลไม้ กล้วยสุก มะละกอสุก 1-2 ชิ้นบดละเอียด (เต้าหู้ และถั่วต้มเปื่อยต่างๆ ใช้แทนเนื้อสัตว์ได้บ้าง)

        วัย 7 เดือน : อาหาร 1 มื้อ/วัน ประกอบด้วย ข้าวบดละเอียด 4 ช้อนกินข้าว ไข่ต้มสุกครึ่งฟองสลับกับตับบด หรือเนื้อสัตว์ 1 ช้อนกินข้าว ผักสุก เช่น ตำลึง ฟักทอง 1 ช้อนกินข้าว น้ำมันพืชครึ่งช้อนชาในอาหารที่ปรุงสุก อาหารว่าง ผลไม้เสริม เช่น มะละกอสุก มะม่วงสุก 2 ชิ้น วัย 8-9 เดือน : อาหาร 2 มื้อ/วัน 1 มื้อ ประกอบด้วย ข้าวสวยนิ่มๆ 4 ช้อนกินข้าว ไข่ต้มสุกครึ่งฟองสลับกับตับบด หรือเนื้อสัตว์ 1 ช้อนกินข้าว ผักสุกใบเขียวหรือสีเหลืองส้ม 1 ช้อนกินข้าว น้ำมันพืชครึ่งช้อนชาในอาหารที่ปรุงสุก อาหารว่าง ผลไม้เสริม 1 มื้อ เช่น มะละกอ 3 ชิ้น หรือกล้วยสุก 1 ผล บดหยาบ

        วัย 10 เดือน-1 ปี : อาหาร 3 มื้อ/วัน 1 มื้อ ประกอบด้วย : ข้าวสวยนิ่มๆ 4 ช้อนกินข้าว ไข่ต้มสุกครึ่งฟองสลับกับตับบดหรือเนื้อสัตว์ 1 ช้อนกินข้าว ผักสุก 1 ช้อนครึ่งกินข้าว น้ำมันพืชครึ่งช้อนชาในอาหารที่ปรุงสุก อาหารว่าง : ผลไม้เนื้อนิ่ม เช่น มะม่วง หรือมะละกอ 3-4 ชิ้น หรือส้ม 1 ผล วัย 1-2 ปี : อาหาร  3 มื้อ/วัน (อาหารแบบผู้ใหญ่ไม่ใส่สารปรุงแต่งรสชาติ) 1 มื้อ ประกอบด้วย : ข้าวสวยนิ่มๆ 1 ทัพพี ไข่หรือเนื้อสัตว์ต่างๆ 1 ช้อนกินข้าว ผักใบเขียว หรือผักสีส้มเหลืองครึ่งทัพพี น้ำมันพืชแต่น้อย นมรสจืดวันละ 2-3 แก้ว (400-600 มิลลิลิตร) วัยนี้เด็กเริ่มใช้ช้อนตักอาหารกินได้ด้วยตนเอง จึงควรฝึกให้เด็กกินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ เนื้อปลา และควรสร้างบรรยากาศและจูงใจเด็กให้ได้ลองกินอาหารใหม่ๆ ทารกควรได้รับการเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน หลังจากนั้นจึงให้เริ่มอาหารตามวัยควบคู่ไปกับนมแม่จนเด็กอายุ 2 ปี

      เด็กอายุ 3-5 ปี เด็กวัยนี้มีความต้องการสารอาหารต่างๆ เพิ่มขึ้น เพราะเป็นวัยที่มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวและเล่นมากขึ้น จึงต้องการพลังงานวันละ 1,000-3,000 กิโลแคลอรี ใน 1 วัน เด็กควรได้รับอาหารหลัก 3 มื้อ 1 มื้อ ประกอบด้วย : ข้าวกล้องหรือข้าวสวย 1-1 1/2 ทัพพี เนื้อสัตว์ 1 ช้อนกินข้าว (สลับกับไข่ หรืออาหารทะเล) ผักใบเขียวต่างๆ 3/4-1 ทัพพี ผลไม้ 1 ส่วน (ส้มขนาดกลาง 2 ผล หรือมะละกอสุก 8 ชิ้น หรือกล้วยน้ำว้าขนาดกลาง 1 ผล) นมจืดวันละ 2-3 แก้ว (400-600 มิลลิลิตร) ฝึกพฤติกรรมดีให้เด็กติดเป็นนิสัย ไม่กินอาหารรสจัดและมัน อย่าให้ติดขนมกรุบกรอบหรือน้ำหวาน และระหว่างมื้ออาหารควรเน้นเป็นผลไม้แทนขนม ฝึกให้กินผักผลไม้จนเป็นนิสัย ล้างมือทุกครั้งก่อนกินข้าว สอนให้เด็กฝึกเป็นนิสัยเพื่อสุขลักษณะอนามัยที่ดี

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) : ภาพ

 

 

 

 

สุขภาพดีสมวัยด้วย อ.ออกกำลังกาย...

      สุขภาพดีสมวัยด้วย อ.ออกกำลังกาย ผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เด็กสนใจการออกกำลังกาย และไม่ควรให้เด็กดูทีวีเกินวันละ 2 ชั่วโมง เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นและพัฒนาการทางสมอง เคล็ดลับสำคัญที่จะทำให้เด็กสนใจการออกกำลังกายคือ ต้องให้เด็กรู้สึกสนุกเหมือนกับการเล่น และควรเลือกกิจกรรมหรือการเล่นที่เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการของเด็ก โดยควรให้เด็กๆ มีกิจกรรมทางกาย ระดับปานกลาง-หนักอย่างน้อยวันละ 60 นาที รวม 5 วัน/สัปดาห์ 60 นาทีนี้สามารถแบ่งช่วงเวลาเล่น/วันได้ ไม่จำเป็นต้องเล่นในครั้งเดียว โดยใช้หลักสูตร 10-20-30

      สูตร 10-20-30 แบ่งเวลาเล่น : 10 นาที ก่อนเข้าเรียน เช่น เดินหรือปั่นจักรยานไปโรงเรียน ออกกำลังกายประกอบเพลง วิ่งไล่จับก่อนเข้าชั้นเรียน 20 นาที ระหว่างวัน เช่น วิ่งเล่น เตะฟุตบอล ปีนป่าย กระโดดหนังยาง เล่นเกมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย 30 นาที หลังเลิกเรียน เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน เต้น วิ่งจ๊อกกิ้ง เต้นแอโรบิก วอลเลย์บอล ใช้สูตรการเล่นนี้ในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ได้ กิจกรรมการออกกำลังกายสำหรับเด็กเล็ก 2-6 ปี เด็กวัยนี้เริ่มมีพัฒนาการทางกล้ามเนื้อดีขึ้น ควรมีกิจกรรมทางกายที่กระฉับกระเฉงทุกวัน แต่ไม่จำเป็นต้องทำต่อเนื่องรวดเดียว กิจกรรมการเล่นอาจจะเป็นวิ่งเล่นไล่จับ กระต่ายขาเดียว หรือกระโดดเชือก ขว้างลูกบอล หรือเตะลูกบอล ปีนป่ายเครื่องเล่นต่างๆ.

 

 

 

สุขภาพดีสมวัยด้วยอ.อารมณ์

      สุขภาพดีสมวัยด้วย อ.อารมณ์ เด็กๆ จะเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีอารมณ์มั่นคง รับมือกับความเครียดในชีวิตประจำวันได้ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ ขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยงดู การให้ความรักและเอาใจใส่ของพ่อแม่ตั้งแต่ยังแบเบาะ เด็กวัยแรกเกิด-6 เดือนแรก เด็กวัยนี้ใช้แค่การร้องไห้เพื่อสื่อสาร และมักจะหยุดร้องไห้เมื่อได้รับการปลอบโยน ควรร้องเพลง เห่กล่อมเบาๆ ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน อุ้มเด็กให้หันหน้ามาสบตา ยิ้มพูดคุยกับเขา เล่นเกมง่ายๆ เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ เด็กอายุ 6 เดือน-1 ปี เด็กวัยนี้เริ่มตอบสนองเวลาที่เรายิ้มให้ และเริ่มออกเสียง 2 เสียงติดกันได้ เช่น “มามามา” “บาบาบา” และยังชอบที่จะถูกสัมผัสโอบกอดโดยควรทำสิ่งเหล่านี้ เรียนรู้ตารางชีวิตของเด็ก และปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เช่น เวลากินนม เวลานอน เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม จะทำให้เด็กรู้สึกมั่นคง มีความสุข นอนลงบนพื้นข้างๆ เล่นกับเขา สร้างช่วงเวลาที่ดีระหว่างกัน เด็กวัยนี้จะสนใจเสียงใหม่ๆ ที่ได้ยิน บอกเขาว่ากำลังได้ยินเสียงอะไร ให้เด็กฝึกป้อนอาหารตัวเอง เขาจะรู้สึกสนุกเมื่อได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ขณะแต่งตัวให้เด็กหรือป้อนข้าวให้พูดว่า “นี่ขาของ...(ชื่อเขา)” “นี่ปากของ...” ให้เด็กได้สำรวจสิ่งใหม่ๆ หรือพาไปรู้จักคนใหม่ๆ

      เด็กอายุ 1-2 ปี เด็กแสดงอารมณ์ได้หลากหลาย ช่างพูดคุย ชอบกอดจูบพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู เริ่มแสดงให้รู้ได้ว่าชอบหรือไม่ชอบสิ่งใด โดยควรทำสิ่งเหล่านี้ เช่น กอดและพูดบอกเขาว่าคุณรักเขามากแค่ไหน ให้เด็กได้เลือกสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเอง เช่น อาหาร เสื้อผ้า ให้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เช่น กินอาหาร ดื่มน้ำ มอบหมายหน้าที่ให้ช่วยทำงานบ้านง่ายๆ อ่านหนังสือหรือเล่านิทานที่เด็กเลือกทุกวันก่อนเข้านอน

      เด็กอายุ 2-3 ปี เด็กช่วงวัยนี้ชอบเลียนแบบ ต้องการทำทุกอย่างด้วยตัวเอง มีจินตนาการมากขี้น สนใจทำสิ่งแปลกใหม่ หรือไปในที่ใหม่ๆ มีอารมณ์หลากหลาย และแสดงออกมาอย่างเต็มที่ เริ่มเข้าใจอารมณ์ของคนอื่นโดยควรทำสิ่งเหล่านี้ เช่น ตั้งกฎระเบียบง่ายๆ ให้เด็กลองทำตาม ชื่นชมเวลาเด็กทำอะไรใหม่ๆ ได้ ช่วยให้เด็กเข้าใจอารมณ์ตัวเองมากขึ้น โดยการสะท้อนอารมณ์ให้เขาฟัง เช่น หนูดูมีความสุข หนูกำลังโกรธ เวลาที่เด็กร้องหรือลงไปนอนดิ้นกับพื้น คุณควรสงบแล้วพูดกับเขานิ่งๆ หรือเพิกเฉยจนเขาหยุดไปเอง

      เด็กอายุ 3-4 ปี เด็กวัยนี้สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เรียนรู้การทำตามกฎเกณฑ์ เล่นกับเพื่อนได้ในช่วงเวลาสั้นๆ และชอบเล่นสมมติกับตุ๊กตาหรือของเล่น ไม่ควรทำสิ่งเหล่านี้ เล่าเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับเด็ก แล้วสังเกตว่าเขาเล่าเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับตัวเองได้หรือเปล่า ให้เล่นเกมที่ต้องสลับกันเล่น หรือเล่นสมมติกับตุ๊กตา 2 ตัวที่ทะเลาะกัน แล้วคุยกับเด็กว่าอะไรเกิดขึ้น แต่ละตัวรู้สึกอย่างไรและจะแก้ปัญหานี้อย่างไร มีช่วงเวลา “พิเศษ” ทุกวัน นอนขดตัวใกล้กันแล้วอ่านหนังสือร่วมกัน ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาขี้นทีละน้อยเท่าที่เด็กสนใจฟังได้

      เด็กอายุ 4-5 ปี เด็กวันนี้ชอบเล่นกับเด็กอื่น เริ่มรู้จักการแบ่งปันและสลับกันเล่นกับเพื่อนได้ เริ่มเข้าใจกฎระเบียบง่ายๆ ควรทำสิ่งเหล่านี้ ให้เขาได้เล่นกับเด็กคนอื่นมากขึ้น และกระตุ้นให้เขารู้จักแบ่งปัน เช่น ดินสอสี ดินน้ำมัน ให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผ่านงานประดิษฐ์สิ่งของ พาเด็กออกไปเปิดหูเปิดตาสถานที่หรือผู้คนใหม่ๆ ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ให้ช่วยทำงานบ้านหรือทำสวน โดยแบ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเด็ก

      เด็กวัย 5-6 ปี เด็กวัยนี้เลือกสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ชอบพูดกับคนคุ้นเคย และเริ่มรู้จักการแบ่งปันสลับกันเล่น เริ่มเข้าใจว่าอะไร “ถูก” และ “ผิด” แต่ยังทำไม่ได้ถูกต้องทุกครั้งและการได้รับอนุญาตจากผู้ใหญ่เป็นสิ่งสำคัญ ควรให้เด็กได้ช่วยงานบ้าน และอย่าลืมชมเชยว่าพวกเขาเก่ง หากเด็กมีปัญหา เช่นการทะเลาะกับเพื่อน คุณควรกระตุ้นให้เด็กเป็นคนพูดเอง โดยมีคุณคอยชี้แนะ ให้เด็กดูรูปในหนังสือที่เกี่ยวกับคนต่างวัฒนธรรม หรือพูดคุยถึงความแตกต่างระหว่างครอบครัวของเขากับคนอื่น เล่นเกมที่มีกฎตั้งแต่ 3 ข้อขึ้นไป เช่น งูตกบันได บิงโก หรือใช้กล่องเปล่าสร้างเป็นร้านค้าหรือบ้านแล้วให้เด็กชวนเพื่อนมาเล่น.

     

สสส.-Tiktok Thailand ศิลปินภาคีชวนชาเลนจ์เต้นล้างมือ40วินาที

     สสส.ร่วมกับ Tiktok Thailand ศิลปิน ภาคีเครือข่ายชวนชาเลนจ์เต้นล้างมือ 40 วินาทีอย่างถูกวิธี วัยรุ่นทั่วโลกทำยอดได้ถึง 3,000 ล้านวิว คลายเครียดช่วงโควิด-19 ระบาดผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ยอดฮิต Tik-Tok-อินสตาแกรม-เฟซบุ๊ก ชวนติดแฮชแท็ก #ล้างมือ40วิ #ไทยรู้สู้โควิด #ถ้าเธอแคร์มาแชร์กัน แนะวัยรุ่นปฏิบัติตาม ก.สธ.ติดตามข้อมูลจากสสส., สภาเด็กพร้อมสร้าง Challenger ไม่ให้เบื่อ เปลี่ยนปิดเทอมสร้างสรรค์อัศจรรย์วันว่างอยู่กับบ้าน สอนออนไลน์“DIY” ง่ายๆ ด้วยตนเอง งานประดิษฐ์ ทำอาหาร ไอศกรีมหวานเย็น หนุนสภาเด็กและเยาวชนฯ ตื่นตัวไวรัสโควิด-19 Liveสดสองทุ่ม 31 มี.ค. รายการ#อยู่นิ่งไม่ได้แล้ว EP.8 ตอนบ้านเรา บ้านเขา กับแขกพิเศษคนไทยจากต่างแดน  จากสหราชอาณาจักร สหรัฐ    

ในขณะนี้การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบครึ่งโลก หรือ 3,600 ล้านคน จากการรวบรวมแบบเรียลไทม์ของมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ในสหรัฐเมื่อเวลา 20.00 น. ของวันอังคารที่ 31 มี.ค.2563 ตามเวลาประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อสะสม 801,400 ราย (ล่าสุดเกินกว่าล้านคนแล้ว)  เสียชีวิตแล้ว 38,743 ราย หายแล้ว 172,657ราย อิตาลีมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในโลกรวม 11,591 ราย  (เสียชีวิต 11,500 คนในเวลา 1 เดือน) ผู้ติดเชื้อสะสม 101,739 ราย หายแล้ว 14,620 ราย นับได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมการสูญเสียจากภัยพิบัติคราวเดียวอย่างเลวร้ายที่สุดของอิตาลีนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

(ณัฐยา บุญภักดี (ผึ้ง) ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.))

 

     สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยรายงานสด Face Live วันที่ 31 มี.ค. เวลาสองทุ่ม ณัฐยา บุญภักดี (ผึ้ง) ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พงศ์ธร จันทรัศมี (พี่ชาย)ผจก.โครงการด้านสุขภาพเด็กและเยาวชน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) ทั้งนี้ ธนวัฒน์ พรหมโชติ เป็นผู้ซักประเด็น

สภาเด็กและเยาวชนฯ นำเสนอข้อมูลจากอมรินทร์ทีวีเรื่องการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ด้วยการดูจากแผนที่ประเทศไทยเปรียบเทียบวันที่ 1 มี.ค.63 วันที่ 21 มี.ค.63 และวันที่ 31มี.ค.63 จากเดิมที่ไม่มีการแพร่ระบาดจนถึงวันที่ 31 มี.ค. เป็นสีแดงเกือบทั่วประเทศ เห็นได้ว่าการแพร่ระบาดไปเกือบทุกจังหวัดยกเว้นเพียง 14 จังหวัด สมุทรสาคร สิงห์บุรี ชัยนาท อ่างทอง กำแพงเพชร พิจิตร น่าน ลำปาง บึงกาฬ สกลนคร ตราด สตูล พังงา ระนอง

ณัฐยา บุญภักดี (ผึ้ง) ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว (สำนัก 4) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้สัมภาษณ์สดว่า ดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างเพื่อสังคม เก็บตัวเองอยู่ในบ้าน จะเข้าสำนักงาน สสส.เมื่อมีการประชุม เมื่อเริ่มมีไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ สสส.ร่วมกับ Tiktok Thailand ศิลปิน พิธีกรหลักจากรายการโต๊ะแชร์และเครือข่ายภาคีประชาสังคมร่วมกันจัดกิจกรรมชาเลนจ์เต้นประกอบเพลงการล้างมือที่ถูกวิธี 40 วินาที ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ขณะนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นอย่าง TikTok อินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้กลุ่มวัยรุ่นตระหนักถึงการป้องกันและดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากโควิด-19ด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น การล้างมือที่ถูกวิธี การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distance) และการป้องกันการนำโรคแพร่สู่ผู้สูงอายุ การร้องเพลง Happy Birthday ขณะล้างมือครบ 20 วินาทีตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รณรงค์ให้มีการล้างมือให้สะอาด พร้อมกับการร้องเพลง Happy Birth Day

ขอเชิญทุกครอบครัวเปิดพื้นที่ให้มีกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ในช่วงที่ต้องกักตัว โดยปล่อยเพลงล้างมือบ่อยๆ ไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ปัจจุบันผู้ใช้โดยสำนัก 4 ชื่อ Happinetclub และผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล (อินฟลูเอนเซอร์) กลุ่มศิลปินดาราที่เข้าร่วมแคมเปญมียอดผู้ติดตามรวมกันทั้งสิ้น 417,966 ผู้ติดตาม ทั้งนี้ มีกลุ่มวัยรุ่นที่โหลดแอปพลิเคชันเข้าร่วมกิจกรรมแคมเปญโดกยการเต้นและโพสต์แอปพลิเคชันลงบัญชีผู้ใช้ของตนเองจำนวน 220 คลิป มียอดผู้รับชมคลิปของแคมเปญรวม 2,284,039 ครั้ง

นอกจากนี้ มีกิจกรรมระดมทุนระหว่าง Live Streaming เพื่อสนับสนุนการทำงานให้กับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาชุดตรวจโควิด-19 โดยมีการส่งมอบเงินบริจาคในวันที่ 31 มี.ค.2563 ยอดบริจาครวมทั้งสิ้น 158,191.71 บาท

“สสส.และภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมให้ผู้ที่เก็บตัวอยู่ที่บ้าน ร่วมกันทำกิจกรรมสร้างสรรค์คลายเครียดด้วยการเต้นประกอบเพลงล้างมือบ่อยๆ เน้นการล้างมือที่ถูกวิธี หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มเพื่อน ลดการติดเชื้อโควิด-19 ขณะนี้วัยรุ่นทั่วโลกเข้าไปเล่นทำยอดได้ถึง 3,000 ล้านวิว สสส.มีบัญชีติ๊กต๊อกคุยกับวัยรุ่น สร้างแคมเปญล้างมือ 40 วิ ครบ 7 วัน ยอดวิว 6 แสน เรามีใบเตย อาร์สยาม เล่นล้างมือกับเขาด้วย ล่าสุด สสส.ได้ส่งคำท้าไปยังสภาเด็กและเยาวชนที่มีอยู่ทั่วประเทศนับแสนคนได้เข้าร่วมชาเลนจ์นี้” ณัฐยากล่าว

ณัฐยากล่าวว่า จากเดิมที่สำนัก 4 สสส.และภาคีเครือข่ายกว่า 200 หน่วยงาน ร่วมกันจัดกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์อัศจรรย์วันว่างปีที่ 2 จำนวน 2,300 กิจกรรม เพื่อความปลอดภัยของน้องๆ ต้องหยุดกิจกรรมทุกอย่าง เปลี่ยนเป็นปิดเทอมสร้างสรรค์อยู่กับบ้าน “DIY” ง่ายๆ ด้วยตนเอง หาสารพัดกิจกรรมทำที่บ้าน งานประดิษฐ์ ทำอาหาร ทำหน้ากาก ผ้าปิดตาจากเศษผ้า ขั้นตอนการทำสบู่ ไอศกรีมหวานเย็น สสส.เชิญภาคีหลายกลุ่มทำ connect กิจกรรมการเรียนรู้อยู่ที่บ้าน เราไม่รู้ว่าจะเปิดเทอมเมื่อไหร่ อาจจะเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้อยู่กับบ้าน ทำบอร์ดเกม ทำนิทาน ละครหุ่นเผยแพร่ คนที่ไม่สะดวกในการใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงกับงานพื้นที่ สื่อการเรียนรู้ให้ส่งถึงบ้าน ทั้งระบบออฟไลน์และออนไลน์ เปิดตัวให้ทันสงกรานต์

     DIY การทำผ้าปิดตานำมาใช้ในชีวิตประจำวัน กิจกรรมค่ายเลื่อนออกไปยังไม่มีกำหนด เพราะกว่าจะเราจะผลิตวัคซีนไว้ใช้ป้องกันโควิด-19 เพื่อใช้ทั่วโลกคงใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เราต้องใช้ชีวิตด้วยความระวังอีก 1 ปี  เราช่วยกันทำ Challengeวัยรุ่นอยู่ห่างๆ มีไลฟสไตล์ จากเดิมที่วัยรุ่นชอบ hang out นอกบ้าน เมื่อไม่เจอกันจะทำอย่างไร ถ้าดูคลิปจากเมืองนอก นัดเดทกันคนละระเบียงด้วยวิถีชีวิตผู้คนเปลี่ยนไป เราไม่อยากให้วัยรุ่นเครียด ประกวดไอเดียที่จะได้ Social กับเพื่อนๆ พัฒนาเป็นแคมเปญที่ช่วยกันทำในระยะห่าง

     ปัญหาความเสี่ยงในการอยู่บ้านคือการนั่งจมจ่อมอยู่หน้าจอเป็นเวลานาน เป็นหลุมพรางเป็นชั่วโมงๆ เหมือนกับการถูกสิง มีอาการหงุดหงิด อึดอัดโดยไม่รู้ตัว เริ่มไม่สบายใจ อยู่ในโลกแคบลงไปเรื่อยๆ เราอยู่บ้านเล็กหรือบ้านใหญ่ต้องมีกิจกรรมออกกำลังกาย กิจกรรมทางกายได้สัมผัสอากาศบริสุทธิ์ เปิดหน้าต่างสัมผัสแสงแดด วิดีโอคอลกับเพื่อนๆ เฮฮาสลับกันบ้าง

     “เป็นเรื่องเข้าใจผิด อย่าเชื่อว่าวัยรุ่นติดไวรัสยาก ติดแล้วไม่เป็นไร เพราะวัยรุ่นยังแข็งแรง การติดไวรัสส่งผลต่อร่างกาย วัยหนุ่มสาวก็เข้า รพ.จำนวนไม่น้อย ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น วัยรุ่นมีความเสี่ยงไม่ต่างไปจากวัยอื่น แม้ว่าร่างกายจะแข็งแรง แต่เชื้ออยู่ในตัวเราโดยไม่รู้ตัว ไปติดคนที่เรารัก ปู่ย่าตายายพ่อแม่ ดังนั้นขอให้ดูแลตัวเองตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ ติดตามข้อมูลจาก สสส. และสภาเด็กจะสร้าง Challenger ไม่ให้เบื่ออย่างแน่นอน”

     พงศ์ธร จันทรัศมี (พี่ชาย) ผจก.โครงการด้านสุขภาพเด็กและเยาวชน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า มสช.ทำงานร่วมกับนักวิชาการ โรคอ้วนในเด็ก ทำสื่อเด็กและเยาวชนเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ให้ลดการเดินทางด้วย Work from home การคัดกรองตรวจอุณหภูมิ การทำเจลล้างมือด้วยการล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อความปลอดภัยของเด็ก การอยู่ในบ้านของตัวเองไม่ใช่ไปอยู่ที่บ้านของเพื่อนบ้าน ขณะนี้อากาศร้อน บ้านที่อยู่ใกล้หนอง คลอง บึง เล่นน้ำอาจจะเสี่ยงต่อการจมน้ำ ต้องระวัง ในช่วงนี้คนเดินทางน้อย ถนนโล่ง เมื่อขับรถออกไปไม่สวมหมวกกันน็อกเป็นอันตราย ไม่ระวังเรื่องความปลอดภัย โอกาสที่จะติดโรคเป็นพาหะนำมาสู่ผู้สูงอายุ เด็กๆ ในบ้านด้วย

     การใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย กินอาหารเยอะ ส่งผลให้เกิดโรคอ้วน น้ำตาลเกิน น้ำหนักมาก ควรดูแลสุขภาพเคลื่อนไหวร่างกาย 30 นาที การนั่งอยู่หน้าจอนานๆ ก็ทำให้หมดเงินได้ถ้าช็อปปิ้งออนไลน์ การเล่นเกมออนไลน์ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าเผลอจะติดเกมออนไลน์ได้ ขณะนี้หมอและพยาบาลอยู่ห่างจากครอบครัว ขอให้ส่งกำลังใจไปยังทีมแพทย์พยาบาล ในช่วงนี้เป็นโอกาสในการเรียนรู้โรคระบาด ที่ 100 ปีจะมีสักครั้งหนึ่ง

     อภิวัฒน์ พงษ์วาท OR1 ETC และผู้แต่งเพลงล้างมือบ่อยๆ เชิญชวนว่า “หากใครว่างอยู่ ขอช่วยมาแจมเต้นกัน เพลงพิเศษจากรายการโต๊ะแชร์สดๆ ร้อนๆ ช่วยทุกคนมาทำชาเลนจ์นี้แล้วแท็กเพื่อนต่อๆ กันไปอีก 5 คนนะครับ” กิจกรรมนี้ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากศิลปิน ดารารายการโต๊ะแชร์ทั้ง 8 คน ได้แก่ เป๊กซ์ วงชีล, หนึ่ง วงอีทีซี ตั้ม-วราเวช โดม-จารุวัฒน์  เดอะสตาร์ ทีวงเจ็ท เซทเดอรี่ สงกรานต์ รังสรรค์ เดอะวอยซ์ บอย วงโลโมโซนิค และเป้ มือแซ็ก วงมายด์ทีร่วมกันแต่งเพลงการล้างมือถูกวิธี 40 วินาที พร้อมท่าเต้นล้างมือง่ายๆ ผ่าน Live streaming ทางยูทูบและเฟซบุ๊ก ช่องเที่ยวอยู่ได้ X โต๊ะแชร์และเชิญชวนทุกคนร่วมกิจกรรมเต้นประกอบเพลงล้างมือที่แต่งขึ้นพร้อมใส่แฮชแท็ก #ล้างมือ40วิ #ไทยรู้สู้โควิด #ถ้าเธอแคร์มาแชร์กัน แล้วแบ่งปันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ TikTok อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก หรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ #สัญญาว่าจะอยู่บ้าน #ไทยรู้สู้โควิด ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดเพลงล้างมือบ่อยๆ ได้ที่ Link Download:https://drive.google.com/file/d/1vJuzsgacBOqYBwKBhDhtHK8h8smTidwI/view?USD=sharing

 

เนื้อเพลงล้างมือบ่อยๆ

     เหมือนฝันร้ายที่ฉันต้องการตื่น ภาวนาก่อนนอนทุกค่ำคืน  ระแวงทุกการนั่งระวังทุกการยืน ความทุกข์ที่ตัวฉันและเธอต้องกล้ำกลืน ตั้งแต่เช้ายันนอนนั่งดูแต่ซีรีส์ จากพัดแซรอยจนไปถึงฝูงซอมบี้ ติดตามสถานการณ์จะเอายังไงกันครับพี่ แฟนเฟินก็ไม่ได้เจอ....มีคำแนะนำดังนี้ ล้างมือกันบ่อยๆ แล้วก็คิดถึงกันสักหน่อย ไม่ได้เจอบ่อยๆ ไม่ได้แปลว่าไม่รัก ขอให้ทนอีกหน่อย เธออย่าเพิ่งเจอใครบ่อยๆ รักตัวเองสักหน่อย อีกไม่นานค่อยเจอกัน....

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) :

บทสรุปโควิด-19เจาะโลก180ประเทศรวมเมืองไทย

     การติดเชื้อโควิด-19 ใช้เวลา 5-6 วัน สามารถแพร่เชื้อได้ตั้งแต่วันแรกทิ่ติดเชื้อแล้ว แม้ไม่ได้มีอาการไข้ หรือไม่มีอาการแต่อย่างใด ดังนั้นด้วยมาตรการให้อยู่ห่างๆ กัน ระวังเชื้อกระโดด ไวรัสนี้ติดกันได้ทางน้ำลาย ดังนั้นจะต้องมีการล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลล้างมือซึ่งมีแอลกอฮอล์จะสลายไขมันได้ ขอให้ทุกคนพร้อมใจกันใช้ Mask ปิดจมูก ปาก เพื่อยุติสงครามไวรัสโควิด-19

     Social Distancing การปรับเปลี่ยนวิธีการสร้างระยะห่างทางบุคคล การที่มีผู้ป่วยทั่วโลกเป็นจำนวนแสนคนนั้นไม่ใช่เรื่องความรุนแรงของอาการ แต่คนที่ติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการในช่วงแรกกลายเป็นพาหะของโรค อาทิ A มีสุขภาพดี เดินทางด้วยรถไฟฟ้า ได้รับเชื้อจากเพื่อนร่วมงาน แต่ A ไม่มีอาการ ยังเข้าร่วมแข่งขันกีฬา เอาเชื้อติดต่อไปยังคนอื่นโดยไม่เจตนา แต่คนที่ติดเชื้อส่วนหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ กลุ่มหนึ่งที่ติดเชื้อแต่ไม่ปรากฏอาการยังใช้ชีวิตปกติขับรถขนส่งสาธารณะ คนที่ติดเชื้อไม่ปรากฏอาการแต่เป็นพาหะแบบนาย A มีเป็นสิบเป็นร้อยคน

     คนป่วยที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลมีตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการรุนแรง บางส่วนไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยโรคอื่นก็ไม่ได้รับการรักษาเช่นเดียวกัน ผู้ป่วยจากเดิมมีเป็นหลักร้อยพุ่งขึ้นเป็นหลักพันหลักหมื่น คนที่มีอาการน้อยอยู่บ้าน อาการรุนแรงจึงอยู่โรงพยาบาล ยอดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมาก เกิดจากการที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ

     เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม เลือกที่จะไม่ใช้รถขนส่งสาธารณะ ทำงานที่บ้าน ไม่เข้าไปในสถานที่ชุมชนแออัด ขณะเดียวกันทาง รพ.จะได้รองรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้ ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ การที่ประเทศจีนปิดเมืองได้ผลดี อิตาลีปิดเมืองแต่ยังมีปัญหา ขึ้นอยู่ที่ตัวเรายับยั้งได้ หยุดวงจรการแพร่ระบาด เราอยากเป็นเหมือนประเทศจีนหรือประเทศอิตาลี เราเลือกได้

    

 

รายงานสด Face Live จากดินแดนไกลโพ้นและพูดคุยกับผู้ใหญ่ใจดี ใครอยากรู้ว่าอังกฤษกับสหรัฐในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรายการ #อยู่นิ่งไม่ได้แล้ว EP.8ตอนบ้านเรา บ้านเขา กับแขกพิเศษคนไทยจากต่างแดนสดๆ จากสหราชอาณาจักร สหรัฐ รศ.ชานนท์ โกมลมาลย์ อ.ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำโครงการกับสภาเด็กฯ ขณะนี้ศึกษาต่อปริญญาเอกด้านนโยบายสังคมและสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ยอร์ก สหราชอาณาจักร ภัทรวดี ใจทอง (แนน) อดีตรองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และอดีตคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ปัจจุบันกำลังศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา    

     รศ.ชานนท์ โกมลมาลย์ อ.ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

 “Lock down Britain”  “House arrest”  “ Britain on Lockdown”  “You must stay at home”

     ในขณะสัมภาษณ์สดเป็นเวลาบ่าย 3 โมง ที่สหราชอาณาจักร เวลาห่างจากเมืองไทย  6 ชั่วโมง อุณหภูมิอากาศอยู่ที่ 7 องศาเซลเซียส เมืองยอร์กเป็นเมืองเก่าอยู่ทางตอนเหนือของสหราชอาณาจักร ห่างจากลอนดอน 2 ชั่วโมง ในภาพจะเป็นฤดูใบไม้ผลิ ดอกไม้บาน มีคนออกมาเดินอยู่บ้าง หากจะเปรียบเทียบเมืองยอร์กประมาณเมืองเก่าสุโขทัยของบ้านเรา ยามปกติเมืองยอร์กเมืองประวัติศาสตร์เก่าคึกคักมาก เป็นเมืองท่องเที่ยว คนจากเมือง Leeds ก็มาเที่ยวที่นี่ แต่ขณะนี้มีตำรวจคอยสอดส่องไม่ให้คนออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น และให้สวมหน้ากากอนามัย ควบคุมมิให้มีการรวมกลุ่มกัน ตักเตือนให้เว้นระยะห่างจากกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

     “ที่สหราชอาณาจักรมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 2 หมื่นราย ปิดเคสได้น้อยมาก มีอาการถึง 80% อัตราผู้เสียชีวิตสูงหลักร้อย ขณะนี้มีการเปิดเว็บไซต์ให้ข้อมูลแต่ละเขตพื้นที่มีคนติดเชื้อโควิด-19 จำนวนเท่าไหร่ ข้อมูลล่าสุดเมืองยอร์กในช่วง 4 ทุ่มมีผู้ติดเชื้อ 30 ราย ซึ่งถือว่าอยู่ในลำดับท้ายๆ จากประชากรกว่า 2 แสนคน แต่เมืองใหญ่บางเมืองติดเชื้อหลายร้อยคน”

     การรับมือเชื้อโควิด-19 ในสหราชอาณาจักรนั้น นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ก็ติดเชื้อไปแล้ว ใช้มาตรการกักตัวเองอยู่ภายในบ้าน ขณะนี้คนอังกฤษ สกอตแลนด์ ไอร์แลนด์เหนือ ออกมาซื้อของนอกบ้านเท่าที่จำเป็น ถ้าจะออกกำลังกายก็ออกไปคนเดียว หรือไปทั้งครอบครัวก็ไปจำนวนน้อยๆ ไม่ต้องไปกันมาก ส่วนใหญ่ก็อยู่แต่ในบ้าน ขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงก็ประกาศว่าให้ทุกคนอยู่บ้านกันต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง

     หนังสือพิมพ์มีการนำเสนอข่าว Lock down Britain  House arrest Britain on Lockdown  You must stay at home ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักร 220,141 คน อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 1.3 แสนคน ประชาชนทุกคนสามารถ Add line กับข้อมูลที่รัฐบาลให้ความรู้วิธีการรับมือ รู้ความคืบหน้าทุกอย่าง

     การเรียนปริญญาเอกในขณะที่สถานการณ์โควิดระบาดนั้น ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนเป็นอย่างมาก มหาวิทยาลัยทุกแห่งในสหราชอาณาจักรปิดทั้งหมด เปลี่ยนการเรียนการสอนทางออนไลน์ในช่วงซัมเมอร์ที่จะถึงนี้ การทำปริญญาเอกก็ต้องนั่งทำงานที่บ้าน ใช้กูเกิลโปรแกรมออนไลน์เพื่อประชุมกัน ถ้าไม่มีสถานการณ์โควิด นักศึกษาปริญญาเอกจะนั่งทำงานกันในออฟฟิศของมหาวิทยาลัย มีศูนย์ห้องทำงานของ นศ.ปริญญาเอก แต่ตอนนี้นักศึกษาทุกคนทำงานที่บ้าน ส่งงานทางออนไลน์ จากเดิมที่มหาวิทยาลัยมีตัวช่วยการทำงานวิจัย สอนการเขียน Proposal ทุกอย่างต้องยกเลิกให้ทำงานทางออนไลน์ทั้งหมด

     มหาวิทยาลัยที่สหราชอาณาจักรออกแบบให้นักศึกษาที่เรียนปริญญาเอกทำงานวิจัยแบบ face to face ตอนนี้เปลี่ยนแปลงใช้ระบบออนไลน์ทั้งหมด เราอยากจะถามข้อสงสัยก็พลาดที่จะถาม ขณะนี้ นศ.ปริญญาเอกที่นี่ทำเรื่องขอคืนค่าเทอม เพราะไม่ได้ใช้เครื่องมือเครื่องใช้ของมหาวิทยาลัย ที่นี่จึงเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ให้ทุนนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีการคืนเงินให้ 500 ปอนด์ หรือ 2 หมื่นบาท “ผมยังต้องใช้ชีวิตที่นี่อีก 3 ปี ขณะนี้ผมพาภริยาและลูกมาอยู่ที่บ้านพักด้วย”

     “ผมอยู่ในบ้านมา 2 สัปดาห์แล้ว การสั่งของทางออนไลน์ไม่ง่ายเหมือนอยู่ที่บ้านเรา ห้างสรรพสินค้าในเมืองยอร์กมีจำนวนไม่มากนัก มีห้างมอริสันในช่วงนี้จะเข้าไปช็อปปิ้งแทบไม่ได้ เพราะมี Demand สูงมาก  ต้องรอคิว ต้องสั่งล่วงหน้าต้องเลือกสลอตเวลา 3 วันข้างหน้า บางครั้งเราก็ไม่มีสมาธิในการทำงาน เพราะต้องคอยเช็กว่าจะสั่งของในช่วงไหนอย่างไร แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าสำหรับบ้านเราก็คือคนที่หาเช้ากินค่ำแล้วต้อง lock down ตัวเอง มาตรการเยียวยาคนในระบบประกันสังคม นอกระบบประกันสังคมที่ต้องเร่งการเยียวยา เพราะคนจำนวนนี้ได้รับผลกระทบ”

     หากจะสรุปสถานการณ์ในช่วงปี 2020 มีความรุนแรงตั้งแต่ต้นปี ปัญหาอิหร่านกับสหรัฐ ในเมืองไทยข่าวการกราดยิงประชาชนที่โคราช ปัญหาภัยธรรมชาติภัยพิบัติปีนี้รุนแรงมาก เราเองต้องมีสติและรับมือกับความเปลี่ยนแปลง อย่าทำตัวให้เสี่ยงจนเกินไป ทำอะไรต้องมีสติในการใช้ชีวิต ระวังการติดเชื้อและส่งผลกระทบต่อคนอื่น.

ภัทรวดี ใจทอง (แนน) อดีตรองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และอดีตคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ปัจจุบันกำลังศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในมลรัฐแมริแลนด์ ประเทศสหรัฐ

ขณะนี้อุณหภูมิที่มลรัฐแมริแลนด์ สหรัฐ อยู่ที่ 11 องศาเซลเซียส ฝนตก ที่สหรัฐมีคนติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1.604,000 คน นับวันจะระบาดมากขึ้นเรื่อยๆ คนเสียชีวิตกว่า  3,000 รา ยเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรจำนวน 300 ล้านคน ถือได้ว่ายังปลอดภัยอยู่ ที่สหรัฐประกาศรับมือให้อยู่ในระยะห่างตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.เป็นต้นมา

“เมื่อทุกคนรู้ข่าวว่าไวรัสระบาดหนัก  เราเตรียมตัวอยู่บ้าน 2สัปดาห์ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะประกาศ ขณะนี้มหาวิทยาลัยประกาศปิดจนถืงสิ้นเดือนเม.ย. มีข้อความที่เตือนมาทางโทรศัพท์มือถือให้อยู่แต่ในบ้าน ห้ามออกนอกบ้าน พร้อมแนะนำว่าเวลาที่ดีที่สุดควรออกมาซื้อของตั้งแต่หกโมงเช้าถึง 9 โมงเช้า ความรุนแรงของการติดเชื้อแต่ละรัฐมีตัวเลขที่แตกต่างกัน ส่วนบรรยากาศที่มีการตุนซื้อของกันไว้ทำให้ปัญหาทิชชูขาดแคลน และผู้คนหันไปซื้อสายฉีดแทนการใช้ทิชชูนั้นก็เป็นเรื่องจริง

ขณะนี้การเดินป่า แม่จะเตือนเด็กให้เดินห่างจากคนอื่นที่ไม่รู้จัก คือเว้นระยะห่าง ขณะนี้ทำงานด้าน Human Rights สิทธิมนุษยชน ด้วยการทำเป็นหนังสือเขียนโครงการด้วยข้อความเพื่อให้อ่านเข้าใจง่าย ดาวน์โหลดข้อมูลเพื่อชักชวนให้เด็กสนใจทำกิจกรรม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) : ภาพ

 

 

การสร้างกิจกรรม“บ้านเรา บ้านเขา”

1.เยาวชนไทยสู้กับโควิด-19 หลักสูตรออนไลน์ มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาหลักสูตรแนะนำเยาวชนรู้จักโควิด-19มากยิ่งขึ้น มีแพทย์และเจ้าหน้าที่สมัครหลักสูตรการรู้เท่าทันมากยิ่งขึ้นด้วยการเรียน e-learning โควิด-19

2.สภาเด็กและเยาวชนร่วมกับ UNICEF ออกแบบสอบถามผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อนำเสนอต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนทั้งประเทศ การเรียนรู้และเป็นจิตอาสากู้ภัยทางออนไลน์ ตั้งเป็นกลุ่มโซเชียลโครงการเยาวนไทยสู้ภัยโควิด-19


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"