บริจาคส่อหัวทิ่ม ชี้เป็น'ค่าใช้จ่าย' เลือกตั้งรอบใหม่


เพิ่มเพื่อน    

     เพจ กกต.เตือนนักบุญในคราบนักการเมืองบริจาคช่วยโควิด-19 ต้องคำนึงกฎหมายเป็นหลัก ชี้กฎเหล็กเกินกำหนดรวมเป็นค่าใช้จ่ายเลือกตั้งรอบหน้า ขณะที่ศรีสุวรรณกังขา ส.ส.เต้ทุ่มเงินเดือนให้เกินเงิน 3 แสนผิดระเบียบหรือไม่ จี้เร่งสร้างความกระจ่าง ด้านชวนย้ำไม่บังคับหักเงินท่านผู้มีเกียรติในสภาเข้ากองทุนรัฐบาล มีจิตสำนึกโปรดแจ้งความจำนงได้ 
     เมื่อวันศุกร์ เพจเฟซบุ๊กพรรคการเมืองดี การเมืองดี บ้านเมืองดี สร้างการเมืองที่ดีด้วยพลเมือง ซึ่งอยู่ในการดูแลของด้านกิจการพรรคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้โพสต์ข้อความให้ความรู้กรณีที่ขณะนี้มีการเรียกร้องให้พรรคการเมือง ส.ส. บริจาคเงินเดือน เพื่อช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า ในทางกฎหมาย ส.ส. หรือพรรคการเมืองช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยพิบัติได้   โดยพรรคการเมืองสามารถช่วยเหลือ ในแต่ละโอกาสเป็นเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือในแต่ละโอกาสได้ไม่เกิน 3 แสนบาท แต่ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าว กฎหมายกำหนดให้นำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป   
ซึ่งมีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้คือ ต้องนำเงินทั้งจำนวนที่ให้เกิน ไปรวมเป็นค่าใช้จ่าย เช่น พรรคการเมืองให้เงินช่วยเหลือ 3,500,000 บาท หรือกรณีเป็น ส.ส. ให้เงินช่วยเหลือ 350,000 บาท ก็ต้องนำเงิน 3,500,000 บาท หรือ 350,000 บาท ไปรวมเป็นค่าใช้จ่าย ไม่ใช่เอาเฉพาะส่วนที่เกินไปรวม แต่หากการช่วยเหลือของพรรคการเมือง ไม่เกิน 3 ล้าน และของ ส.ส.ไม่เกิน 3 แสน ก็ไม่ต้องนำเงินส่วนนี้ไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ส่วนพรรคการเมืองหรือ ส.ส.จะให้เกินเป็นจำนวนเท่าใด ให้คำนึงถึงจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา ที่พรรคการเมืองใช้จ่ายได้ไม่เกินพรรคละ 35 ล้านบาท แบบแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เกินคนละ 1.5 ล้านบาทเป็นแนวทาง 
     ทั้งนี้ ในส่วนของ ส.ส.แบบแบ่งเขต มีเงื่อนไขที่ต้องคำนึงเพิ่มเติม คือเป็นการให้ความช่วยเหลือในเขตเลือกตั้งของตน หรือนอกเขตเลือกตั้งของตน เพราะจะมีผลทางกฎหมายต่างกัน โดยเงินที่พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ความช่วยเหลือนอกเขตเลือกตั้งของตน กฎหมายก็กำหนดให้ถือเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง แต่สำหรับ ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หากให้ความช่วยเหลือในเขตเลือกตั้งของตน  ให้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายของ ส.ส.ผู้นั้น โดยนำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
     “ซึ่งรายละเอียดการให้ความช่วยเหลือพรรคการเมืองสามารถศึกษาจาก พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส.2561 และระเบียบ กกต.ว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขของการให้ตามประเพณี หรือเมื่อมีเหตุอันสมควร และการยื่นคัดค้านเกี่ยวกับการบันทึกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งต่อไป พ.ศ.2561 เมื่อถึงคราวการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป พรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จะได้รายงานค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่เกินวงเงินค่าใช้จ่ายตามที่ กกต.กำหนด” เพจ กกต.ระบุ 
     ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแสดงความประสงค์ให้หักเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ส.ส. บริจาคเข้าสมทบกองทุนแก้ไขปัญหาโควิด-19 รวม 4,088,160 บาท หรือทุกเดือนจนกว่าจะยุบสภา หรือหมดวาวะการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ 30 เมษายน ถึง 31 มีนาคม 2566 ซึ่งเป็นเงินภาษีคืนให้ประชาชนนั้น การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้นักการเมือง  
     “แต่เนื่องจากระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยจำนวน หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการให้ตามประเพณีหรือเมื่อมีเหตุอันสมควร และการยื่นคัดค้านเกี่ยวกับการบันทึกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป พ.ศ.2561 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ได้ไม่เกิน 3 แสนบาท ดังนั้น กรณีของการบริจาคเงินเกินกว่า 3 แสนบาท ในนามของนายมงคลกิตติ์คนเดียวไม่เกี่ยวกับพรรคดังกล่าว เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องวินิจฉัยให้สังคมรับรู้โดยเร็วว่ากระทำได้หรือไม่ อย่างไร เพื่อที่ ส.ส.หรือ ส.ว.ที่มีจิตสำนึกที่ดีบางคนจะได้มาช่วยกันบริจาคเงินเดือนตัวเองกันมากกว่านี้” นายศรีสุวรรณระบุ 
     นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จะไม่มีการหักเงินเดือน ส.ส.เข้ากองทุนโควิด-19 ของรัฐบาล แต่ให้เป็นความสมัครใจของสมาชิก โดยสามารถแสดงเจตจำนงตามขั้นตอน มาที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ก็พร้อมจะหักให้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครแสดงความจำนงมาที่ตนเอง มีเพียงนายมงคลกิตติ์ 
    “วันนี้สภาผู้แทนราษฎรได้มีการเกลี่ยงบประมาณที่ไม่จำเป็นต้องใช้ อย่างน้อยร้อยละ 10 ของทุกหน่วยงาน ส่งคืนคลัง เพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยจะต้องออกเป็นกฎหมาย เพราะเป็นการโยกงบข้ามหน่วยงาน แต่ในการพิจารณาได้กำชับว่า ขออย่าให้กระทบกับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ที่จะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะห้องประชุมสุริยัน” นายชวนกล่าว
    วันเดียวกัน นายไชยา พรหมา ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า มีการสอบถาม แนวทางปฏิบัติการเบิกจ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้อ้างประกาศกระทรวงสาธารณสุข 26 ก.พ.63 ด้วยเหตุผลว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย แต่ไม่เข้าข่ายเป็นโรคระบาดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 จึงถือว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ยังไม่เข้าข่ายเป็นสาธารณภัย ซึ่ง ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน 2562 ให้คำจำกัดความว่า ภัยพิบัติ หมายถึงสาธารณภัย อันเป็นภัยที่เกิดจากโรคที่แพร่ระบาดในมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตและร่างกายของประชาชน น่าจะเพียงพอกับคำว่าสาธารณภัย 
     นายไชยาระบุด้วยว่า อีกทั้งองค์การอนามัยโลกยังประกาศให้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ ดังนั้นรัฐจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดและเร่งด่วนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโดยเร็ว แต่การตีความของกระทรวงมหาดไทย กลับทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหมดโอกาสในการขอรับการสนับสนุนงบกลางจากรัฐบาล เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เท่ากับรัฐบาลไม่ให้เครื่องมือหรืออาวุธแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ต่อสู้ในครั้งนี้ 
     “เป็นที่สังเกตว่า การตีความสาธารณภัยของกระทรวงมหาดไทยในครั้งนี้ อาจเป็นความพยายามที่จะดึงงบกลางไว้ใช้เองแต่เพียงผู้เดียว เป็นการปิดโอกาสขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะใช้งบกลางมาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง จึงอยากจะให้กระทรวงมหาดไทยได้ทบทวนเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วน” นายไชยาระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"