'แท็บเล็ต' เพื่อการศึกษาคืนชีพ จาก 'รัฐบาลปู' ถึง 'รัฐบาลบิ๊กตู่'


เพิ่มเพื่อน    

    การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ครม.รับทราบสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง จากวันที่ 16 พ.ค. เป็นวันที่ 1 ก.ค. และจะไม่มีการปิดเทอมในเดือน ต.ค.63 และเดือน เม.ย.64 เนื่องจากมีการเลื่อนเปิดภาคเรียนล่าช้าไป 1 เดือนครึ่งแล้วนั้น
    “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยังเปิดเผยเรื่องที่สำคัญคือ การเรียนการสอนออนไลน์ผ่านทีวี 7 ช่อง ซึ่งจะเริ่มปล่อยสัญญาณในช่วงเดือน พ.ค.นี้ เพื่อทดลองระบบและหาจุดบกพร่อง
ทว่า เจ้ากระทรวงยังผุดไอเดีย เปิดเผย....
    “ทางกระทรวงเตรียมที่จะจัดหาอุปกรณ์สำหรับการเรียนการสอนออนไลน์ที่มีความเหมาะสม อาจจะเป็น Tablet หรือ Laptop ที่มีความแตกต่างจากที่เคยแจกในครั้งที่แล้ว โดยสามารถใช้เรียนออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้การจัดหาอุปกรณ์ที่มีความเหมาะสมกับเทคโนโลยีในปัจจุบันมีประสิทธิภาพ คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ไป โดย ศธ.ต้องบริหารจัดการงบประมาณภายในกระทรวงเอง ไม่ของบประมาณเพิ่ม” 
    ทันทีที่ข่าวนี้เผยแพร่ ชาวโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์หนักและต่างไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เนื่องจากมีบทเรียนจากรัฐบาลสมัย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาแล้ว
    จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่าแท็บเล็ตสมัยนั้นกำจัดหมดประเทศไปแล้วหรือยัง
    เพราะเอาเข้าจริงเมื่อแจกจ่ายไปยังเด็กนักเรียนแล้วกลับใช้งานได้อย่างไร้ประสิทธิภาพ เมื่อเครื่องที่จัดซื้อมีสเปกต่ำ จึงทำให้แท็บเล็ตอืด ช้า แบตเตอรี่หมดเร็ว
    และซวยซ้ำกรรมซัด ใช้ไปได้ไม่เท่าไหร่ เกิดเสียไม่มีศูนย์รับซ่อม เท่ากับว่าแท็บเล็ตรัฐบาลในชุดนั้นกลายเป็นที่ทับกระดาษไป และเกิดเป็นภาระของสังคมที่ต้องมานั่งกำจัดเป็นล้านๆ เครื่อง
    นอกจากนี้ ที่ร้ายสุดที่สุดเห็นจะเป็น “การจัดซื้อจัดจ้าง” ผลปรากฏว่าบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูลกลับไม่สามารถส่งแท็บเล็ตได้ตามกำหนด ถึงขนาดนักเรียนชั้น ป.1 เลื่อนชั้นไป ป.2 กันเลยทีเดียว บางล็อตก็ส่อฮั้วประมูล อย่างเช่น การประมูลในโซน 3 นักเรียนชั้น ม.1 (ภาคกลางและภาคใต้) จำนวน 426,683 เครื่อง
    เห็นแบบนี้แล้วก็ยังรู้สึกประหลาด ทำไม “ณัฏฐพล” ถึงยังติดใจเสนอโครงการในลักษณะแบบนี้ และเหตุใด พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำถึงเปิดช่องให้ทำตามที่ “รมว.ศธ.” ออกมาให้สัมภาษณ์
    ทั้งที่ก่อนหน้านี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งก็มีหัวหน้าเป็นคนเดียวกันกับรัฐบาลชุดนี้ ออกคำสั่งยกเลิกนโยบายประชานิยมโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียนไปแล้ว พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) อดีตรองหัวหน้า คสช. ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปไตร่ตรองถึงข้อดี-ข้อเสีย และความคุ้มค่าของโครงการประชานิยมดังกล่าว
    จากนั้นจึงสั่งให้ยุติกระบวนการดำเนินการทุกอย่างในโครงการแท็บเล็ต ทั้งการประมูลในโซนที่ 4 ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 1.1 พันล้านบาท และโครงการแท็บเล็ตในปีงบประมาณ 2557 กว่า 5.8 พันล้านบาท
    คิดเอาแล้วกันว่า หากมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย หรือเป็นการลงทุนการศึกษาที่คุ้มค่า คสช.จะยกเลิกทำไม ตัวอย่างมีให้เห็น ถามว่ากล้าซ้ำรอยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่
    อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากเหตุผลโครงการจัดซื้อแท็บเล็ตของ “ณัฏฐพล” อ้างว่าอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 หากมีอุปกรณ์นี้จะทำให้นักเรียนศึกษาผ่านระบบออนไลน์ได้
    ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด และจะมีปัญหาวุ่นวายตามมาทีหลังค่อนข้างมาก 
    นอกจากปัญหาที่กล่าวข้างต้นยังพบว่า หากแจกให้ทุกคนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายในพื้นที่ห่างไกล ถามว่าจะเอาสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากที่ไหน กับแค่คลื่นสัญญาณโทรศัพท์ยังติดๆ ดับๆ
    หรือแม้แต่แจกเด็กในเมือง พื้นที่พัฒนาแล้วก็ตาม ยังจำเป็นต้องอาศัยแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต/ไวไฟ ถามว่าถ้าอินเทอร์เน็ตหมดจะทำอย่างไร ต้องเป็นหน้าที่รับผิดชอบของงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการในการจัดหาแพ็กเกจอีกใช่หรือไม่
    เหตุใดจึงไม่ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า ทั้งยังเป็นทรัพยากรที่มีศักยภาพเสียด้วย เช่น “ครูตู้” การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ให้นักเรียนเปิดทีวีดูครูสอนยังดีกว่า เป็นต้น หรือจะขอความร่วมมือกับช่องโทรทัศน์ของภาครัฐในการเผยแพร่การเรียนการสอนอีกทางก็ย่อมได้
    หากอ้างว่าแนวทางนี้มีข้อเสีย คือถ้านักเรียนไม่ตั้งใจฟังในบทเรียนนั้นๆ จะไม่สามารถย้อนดูทีหลังได้นั้น ก็มีแนวทางแก้ไขโดยการใช้วิธีการบริหารจัดการอัดเป็นวิดีโอ เปิดช่องในยูทูบเพื่ออัพโหลดคลิปวิชาต่างๆ สำหรับนักเรียนที่พลาดหรือไม่เข้าสามารถเข้าไปเปิดย้อนหลังหรือทบทวนบทเรียนได้
    การแก้ไขการศึกษาควรต้องแก้เป็นกลุ่มๆ ให้เหมาะสม ไม่ใช่การหว่านแหแจกแท็บเล็ต 1 เครื่องแล้วจบ 
    ในยามที่บ้านเมืองต้องใช้งบประมาณจำนวนมากมายมหาศาลในการกู้วิกฤติครั้งนี้ ขอร้องนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทุกคนช่วยใช้เงินของประเทศชติอย่างประหยัดและคุ้มค่าได้หรือไม่ 
    โดยเฉพาะ “รมว.ศธ.” ขอได้ไหม ทบทวนอีกครั้ง เพื่อเห็นแก่นักเรียนและประชาชนตาดำๆ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"