วอนผู้ว่าฯกทม.เข้ม เล่นน้ำลวนลามสตรี


เพิ่มเพื่อน    

    เผยผู้หญิง 59% ถูกลวนลามคุกคามทางเพศในช่วงสงกรานต์ เพียง 1 ใน 4 ที่กล้าแจ้งความ จี้ กทม.เป็นต้นแบบจัดการพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย เกิดกลไกช่วยเหลือชัดเจนทันเหตุการณ์ เร่งบูรณาการ พม. ตำรวจ ฝ่ายปกครอง
    วันที่ 2 เมษายนนี้ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พร้อมด้วยกลุ่มเหยื่อผู้หญิงที่ถูกฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมา เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และภาคประชาชน กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผ่านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าฯ เพื่อเรียกร้องให้ออกมาตรการป้องกันแก้ปัญหาสงกรานต์ไม่ปลอดภัย ไม่สร้างสรรค์ หยุดการฉวยโอกาสคุกคามทางเพศ
    นายจะเด็จกล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจทัศนคติผู้หญิงไทยต่อเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสำรวจผู้หญิง 1,650 ราย อายุระหว่าง 10-40 ปี พบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง หรือร้อยละ 59.3 เคยถูกฉวยโอกาส ถูกลวนลาม คุกคามทางเพศ คือ ถูกจับแก้ม ร้อยละ 33.8 เบียดเสียด/จับมือ/จับแขน และใช้สายตาจ้องมองแทะโลม ร้อยละ 18.0 ถูกสัมผัสร่างกาย/ล้วงอวัยวะ/อื่นๆ ร้อยละ 9.6 ส่วนเหตุการณ์อื่นๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เช่น ถูกก่อกวนจากคนเมาสุรา/บังคับให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหาอุบัติเหตุ และที่สำคัญเมื่อถูกลวนลาม คุกคามทางเพศ มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เลือกจะแจ้งความดำเนินคดี สำหรับพื้นที่ยอดฮิตที่นิยมไปเล่นน้ำสงกรานต์มากที่สุดคือ ถนนข้าวสารและสีลม รองลงมา สยามและเซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากนี้ในกลุ่มตัวอย่างที่ไม่เล่นสงกรานต์ให้เหตุผลว่า เพราะเคยถูกแต๊ะอั๋ง จึงไม่อยากเล่นสงกรานต์/กลัวถูกฉวยโอกาสลวนลาม ร้อยละ 28.10   
    นายจะเด็จกล่าวว่า จากผลสำรวจที่น่าห่วงนี้บ่งบอกว่าปัญหาการฉวยโอกาสลวนลาม คุกคามทางเพศ กลายเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทยที่เราแก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก ทำเป็นมองไม่เห็น เป็นการส่งต่อพฤติกรรมค่านิยมที่ผิดๆ การไม่เคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกายของผู้อื่น ตนจึงมีข้อเสนอ ดังนี้ 1.ขอให้รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เล่นน้ำในกรุงเทพฯ ให้รับรู้ว่าการคุกคามทางเพศเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และขอให้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงมหาดไทย และภาคประชาสังคม ต้องร่วมกันเป็นเครือขายเฝ้าระวังให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหา โดยกำหนดจุดรับเรื่องร้องเรียนช่วยเหลือในพื้นที่เล่นน้ำทุกแห่ง 
    2.ขอให้ท่านในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กทม. มีบทบาทในการเฝ้าระวัง กำกับและติดตามการทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อาทิ ไม่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี รวมถึงคนเมาครองสติไม่ได้ ควบคุมโฆษณา การดื่มและการขายตามเวลาที่กฎหมายกำหนด และ 3.มูลนิธิฯ และภาคีเครือข่ายยินดีร่วมมือสนับสนุนการทำงานของกรุงเทพมหานคร เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการลวนลาม คุกคามทางเพศในพื้นที่เล่นน้ำ การกำหนดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้า และการกระทำที่ผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551
    ด้านนางสาวปาลิณี ต่างสี แกนนำเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังปัญหาช่วงสงกรานต์หลายปีที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่า หากจัดพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะลดปัญหาที่ตามมาได้มาก ทั้งปัญหาการลวนลาม คุกคามทางเพศ ทะเลาะวิวาท รวมถึงอุบัติเหตุ เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่จัดโดยไม่มีการควบคุมหรือพื้นที่ที่เอกชนจัดโดยผู้ประกอบการ หรือธุรกิจเหล้า-เบียร์เป็นคนจัด ซึ่งมีการควบคุมเพียงแค่พิธีกรรม บางแห่งทำเหมือนจะมีการตรวจบัตรเข้มด้านหน้า แต่เมื่อเข้าไปดูภายในกลับพบเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าไปกินดื่มอยู่ในกิจกรรมหรือคอนเสิร์ตจำนวนมาก จึงอยากเห็น กทม.มีมาตรการเชิงรุกของในเรื่องนี้
    ขณะที่นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า กทม.เตรียมพร้อมคุมเข้มพื้นที่เล่นน้ำให้ปลอดภัยมาต่อเนื่องทุกปี เพื่อลดปัญหาการลวนลาม คุกคามทางเพศ และปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมาย และปีนี้เราเน้นสืบสานการแต่งกายประเพณีไทย และคงต้องเฝ้าระวังตามพื้นที่ยอดนิยมของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น ถนนข้าวสาร สีลม เอเชียทีค. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"