ชงคสช.อุ้มทรู-AIS กสทช.ยืดเวลาจ่ายค่างวด อ้างเงินกู้เต็มประมูลไม่ได้


เพิ่มเพื่อน    

    เลขาธิการ กสทช.ย้ำต้องอุ้ม "ทรู-เอไอเอส" เตรียมชง คสช.ให้ยืดระยะเวลาจ่ายค่างวด อ้างจะกระทบการประมูลใบอนุญาตรอบใหม่ ทั้งสองค่ายติดปัญหากู้เต็มวงเงินแล้วทำให้เข้าร่วมประมูลไม่ได้ เชื่อดีแทคไม่ฟ้องร้อง คาดรัฐมีรายได้ 2.9 แสนล้าน พร้อมชงบอร์ดพิจารณาเดินหน้าประมูลคลื่น  1800 MHz วันที่ 11 เม.ย.ยืนเกณฑ์เดิม 3 ใบอนุญาต โดยใช้เงื่อนไข N-1 ไม่เปิดโอกาสให้ "แจส" เข้ามาประมูล ฟาก "ทรู" หอบเงิน 4 พันล้านจ่ายค่างวดรอบสอง
    เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชี้แจงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมว่า สำนักงาน กสทช.อยู่ระหว่างทำรายละเอียดมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อกลับไปร่วมประชุมกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 2 เม.ย.นี้ จากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังจากเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุม คสช.ยังไม่ได้ข้อสรุป และให้สำนักงาน กสทช.ทำข้อมูลมาเสนออีกครั้ง
    นายฐากรกล่าวว่า เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสงสัยที่เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือ ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่ามีการพ่วงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคมเข้ากับการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งความจริงแล้วผู้ประกอบการโทรคมนาคมได้ยื่นเรื่องมาถึงคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและอยู่ระหว่างการพิจารณา อย่างไรก็ดี กสทช.คำนึงว่าทั้งอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลและโทรคมนาคมมีความสำคัญและจำเป็นพอๆ กัน
      "หลายฝ่ายสงสัยว่ามาตรการช่วยทีวีดิจิทัล เหตุใดไม่รอให้ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์คดีของบริษัทไทยทีวีก่อน ขอให้ทำความเข้าใจว่าผลของคดีในชั้นอุทธรณ์นั้นไม่เกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือ เมื่อเอกชนยื่นขอความช่วยเหลือมาก็ต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรม ดังนั้นอย่าว่ามาตรการครั้งนี้เป็นการช่วยทีวีพ่วงโทรคมนาคมเลย เพราะถ้าจะทำอย่างนั้นจริงๆ ต้องเรียกว่าช่วยโทรคมนาคมพ่วงทีวีถึงจะถูก"
      เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า เหตุผลที่ผู้ประกอบการขอให้รัฐช่วยเหลือเนื่องจากมีภาระเงินกู้เพื่อนำมาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยหากไม่ขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตผู้ประกอบการจะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากมีภาระเงินกู้ประมาณ 120,000  ล้านบาท (ทรู 60,218 ล้านบาท เอดับบลิวเอ็น 59,000 ล้านบาท) วงเงินกู้เต็มกรอบวงเงิน 
      "ถ้ากรณี คสช.ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่างวดคลื่น 900 MHz งวดที่ 4 ในปี 2563  ออกไปอีก 5 ปี จนถึงปี 2567 โดยคิดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% รัฐจะมีรายได้ดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 3,593.76 ล้านบาท และเมื่อขยายระยะเวลาการชำระเงินค่างวดดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงที่ 2 บริษัทจะกลับมาเข้าร่วมประมูล" 
    ส่วนข้อเป็นห่วงว่าในกรณีจะเกิดการฟ้องร้องในภายหลังนั้น นายฐากรกล่าวว่า กสทช.ประเมินว่าการฟ้องร้องไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจากบริษัทที่เคยชนะประมูลแต่ทิ้งใบอนุญาต คือ บมจ.จัสมิน  อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ขาดสิทธิในการฟ้องร้อง ทั้งนี้ดีแทคจะได้รับสิทธิในเงื่อนไขการชำระค่าประมูลที่ กสทช.กำหนดไว้ในการประมูลครั้งต่อไป ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเท่าเทียม อีกทั้งผู้บริหารของดีแทคยืนยันผ่านสื่อว่า การประมูลครั้งที่ผ่านมาสูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6 เท่าตัว ดังนั้นการขยายระยะเวลาการชำระเงินให้แก่ผู้ชนะประมูลทางดีแทคไม่ขัดข้อง แต่ให้นำเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไปใส่ในการประมูลคลื่น 1800 หรือ 900 เมกะเฮิรตซ์ในครั้งต่อไป และหากนำคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์มาประมูล จะทำให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอีก 90 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5G,  Internet of Things จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวดเร็วยิ่งขึ้น
    นายฐากรกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการเดินหน้าจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นั้น ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับหนังสือมายังสำนักงาน กสทช. โดยยืนยันว่า กสทช.สามารถดำเนินการได้ ดังนั้น กสทช.จึงได้เตรียมส่งหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวเสนอให้ที่ประชุม กสทช.พิจารณาในวันที่ 11 เม.ย.นี้ คาดว่า กสทช.จะได้คณะกรรมการชุดใหม่จากการคัดเลือกของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงเชื่อว่าการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการชุดใหม่ แต่ที่สำนักงาน กสทช.ต้องเร่งส่งหลักเกณฑ์เข้าที่ประชุมบอร์ดชุดปัจจุบันก่อน เนื่องจากต้องดำเนินการตามหลักการเมื่อกฤษฎีกาตอบกลับมาแล้ว เพราะหากไม่ทำอาจถูกกล่าวหาว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ โดยอาจมีความผิดตามมาตรา 157 ได้
    สำหรับหลักเกณฑ์การประมูลนั้น กสทช.ยังคงยืนยันใช้หลักเกณฑ์การประมูลเดิมที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา คือเปิดประมูลคลื่น 1800 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz โดยใช้เงื่อนไข N-1 และไม่เปิดโอกาสให้บริษัท แจส โมบาย  บรอดแบรนด์ จำกัด เข้ามาประมูล เนื่องจากเป็นต้นเหตุให้ราคาประมูลครั้งที่แล้วสูงเกินจริง หากครั้งนี้เข้ามาประมูลอีกเกรงว่าเอกชนจะไม่มีความมั่นใจในการเข้าร่วมประมูล
    นายฐากรกล่าวด้วยว่า กสทช.ประเมินว่าหากประมูลได้ทั้ง 3 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จะได้เงิน 120,477.72 ล้านบาท ถ้าประมูล 2 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 80,318.48 ล้านบาท ประมูล 1 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 40,159.24 ล้านบาท ทั้งนี้กรณีไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่และ คสช.ไม่ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ จะมีรายได้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ยอดเงิน 166,991.16 ล้านบาทในปี 2563 แต่หาก คสช.ให้ขยายเวลาชำระค่างวดใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ออกไป โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปีไปจนถึงปี 2567 และมีการจัดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ได้ 3 ใบอนุญาต รัฐจะมีรายได้ 291,314.20 ล้านบาท แต่หากประมูล 2 ใบอนุญาต รัฐจะมีรายได้ 251,154.96  ล้านบาท 
     ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิวเคชั่น จำกัด ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz ชุดที่ 2 คลื่นความถี่ 905-915  MHz คู่กับ 950-960 MHz ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 2 จำนวน 4,301.40 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) พร้อมกับหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือ วงเงิน 64,433.26 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) มามอบให้แก่สำนักงาน กสทช.ตามเงื่อนไขของการชำระเงินประมูล โดยเงินค่าประมูลดังกล่าวสำนักงาน กสทช.จะรีบนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป
    สำหรับการชำระเงินประมูลงวดที่ 3 จะต้องชำระจำนวน 4,020 ล้านบาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม  281.40 ล้านบาท รวมเป็นจำนวน 4,301.40 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ส่วนที่เหลือภายในวันที่ 31 มี.ค.62 โดยสำนักงาน กสทช.จะคืนหนังสือค้ำประกันที่ได้นำส่งในงวดที่สองภายใน 15 วัน และสำหรับงวดสุดท้าย (งวดที่ 4) จะต้องชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ส่วนที่เหลือทั้งหมดจำนวน 60,218 ล้านบาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม 4,215.26 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 64,433.26 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 มี.ค.63
     ส่วนแนวทางการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลยังยืนยันแนวทางล่าสุดที่ออกมาเรื่องแรก เป็นการพักชำระหนี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลภายในระยะเวลา 3 ปี โดยที่ผู้ประกอบการที่ประสงค์ขอพักชำระหนี้จะต้องยื่นเอกสารภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ต่อมาเป็นการสนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล หรือมักซ์ 50% ระยะเวลา 24 เดือน
       ส่วนแนวทางการช่วยเหลือระยะยาวจะเสนอ คสช.ให้ใบอนุญาติทีวีดิจิทัลสามารถเปลี่ยนมือได้ เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ให้ผู้อื่นมารับช่วงต่อ โดยจะต้องมีการแก้กฎหมายและอนาคตให้มีการหลอมรวมใบอนุญาตโทรคมนาคม กรณีไม่มีการประมูลและ คสช.ไม่ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาชำระค่างวด รัฐจะมีรายได้ปี 2561-2567 จำนวน 166,991.16 ล้านบาท
       ส่วนกรณี คสช.ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่างวดคลื่น 900 MHz งวดที่ 4 ในปี  2563 ออกไปอีก 5 ปี จนถึงปี 2567 โดยคิดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  ปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% รัฐจะมีรายได้ดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 3,593.76 ล้านบาท และเมื่อขยายระยะเวลาการชำระเงินค่างวดดังกล่าว มีความเป็นไปได้สูงที่ 2 บริษัทจะกลับเข้ามาร่วมประมูล.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"