ไว้วางใจยังไม่ได้! ไทยติดเชื้อขึ้นๆลงๆ/อาเซียนผนึกต้าน


เพิ่มเพื่อน    

    "ประยุทธ์" ประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษทางไกล เสนอ 5 แนวทางสู้ไวรัสมรณะ ชงตั้งกองทุนรับมือโควิด-19 ชี้ต้องผนึกกำลังเพื่อให้รอดและเข้มแข็ง "ศบค." แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 34 ราย ชี้กราฟผู้ป่วยแม้ไม่ชันแต่ก็ขึ้นๆ ลงๆ ไว้วางใจไม่ได้ มวยโคโรนามี 12  ยก ไม่รู้แต่ละยกยาวเท่าใด เผยกรณีกลับจากต่างประเทศน่ากลัวมาก ผู้เข้ามาจึงต้องกักกันอย่าหนีเหมือนเคสสุวรรณภูมิ "กรมควบคุมโรค" บอกผู้โดยสารรถเมล์สาย 140 ต้องประเมินตัวเองถ้าเสี่ยงรีบพบหมอ
    เมื่อวันอังคารที่ 14 เมษายน เวลา 08.00 น. ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (กห.) ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วยการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่าได้ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อทั้งชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน รวมถึงต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยสถาบันวิจัยเอกชนชั้นนำอย่างแมกคินซีได้คาดการณ์ว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีโลกในปีนี้อาจติดลบถึง 1.5% และหากวิกฤติโควิด-19 ยังยืดเยื้อต่อไปก็อาจติดลบถึง 4.7% ซึ่ง UNDP ระบุว่าประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยอาจสูญเสียรายได้กว่า 200,000 ล้านดอลลาร์
    นายกฯ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเห็นว่าทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด  ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ ตลอดจนหาแนวทางร่วมกันในการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรอบด้าน โดยเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ภายในไทยจึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. - 30 เม.ย. และจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ให้ความสำคัญกับการรับมือและแก้ไขปัญหา ทั้งต้นทางที่เน้นควบคุมการเดินทางและคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ กลางทางโดยการรณรงค์มาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และปลายทางให้ความสำคัญกับการรักษาผู้ป่วย และเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันรัฐบาลยังสนับสนุนการวิจัยเชิงรุกเพื่อพัฒนาและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ การพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 และการพัฒนาระบบสนับสนุนโดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ไม่มีประเทศใดสามารถต่อสู้กับภัยคุกคามนี้ได้โดยลำพัง จึงขอเสนอแนวทางที่สำคัญ 5 ประการ คือ 1.อาเซียนต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาแบบองค์รวม พร้อมเสนอให้อาเซียนและประเทศบวกสามร่วมกันจัดตั้งกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยจัดสรรเงินที่มีอยู่แล้วเท่าที่สามารถตกลงกันได้มาใช้ในการรับมือกับโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการจัดซื้อชุดตรวจ  อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และอุปกรณ์การแพทย์ ตลอดจนเพื่อการศึกษาวิจัยคิดค้นยาและวัคซีน เพื่อให้อาเซียนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
ปลุกอาเซียนร่วมสู้โควิด
    2.อาเซียนควรต้องร่วมกันอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ การผ่านพิธีการศุลกากร และการค้าชายแดนระหว่างกัน เพื่อให้ผู้บริโภคของเราได้เข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าที่จำเป็นในช่วงวิกฤติอย่างเพียงพอและทันท่วงที 3.เราควรสนับสนุนให้อาเซียนใช้เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ๆ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาคให้มากขึ้น โดยให้เร่งรัดการเชื่อมโยงการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการใช้มาตรฐานรหัสคิวอาร์ที่เชื่อมโยงกันได้ ให้การค้าภายในภูมิภาคของเรามีความคล่องตัวมากขึ้น
    4.ขอเสนอให้อาเซียนถอดบทเรียนและประสบการณ์จากการต่อสู้กับโควิด-19 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่อาจคุกคามชีวิตของประชาชนในอนาคต โดยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งจากภายในและการพึ่งพาตนเองของภูมิภาคในระยะยาวให้มากขึ้น และ 5.เราควรเสริมสร้างบทบาทของท่านเลขาธิการอาเซียน ในการเป็นผู้ประสานงานการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมถึงสถานการณ์วิกฤติอื่นๆ ให้เป็นไปอย่างมีระบบและทันเหตุการณ์
    "อาเซียนควรใช้โอกาสนี้มุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคนิยมและพหุภาคีนิยม โดยเน้นความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภายในอาเซียนและกับภาคีภายนอก ในวันนี้เราต้องรอด วันหน้าเราต้องเข้มแข็ง" นายกฯ กล่าวทิ้งท้ายการประชุม
    วันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์ผู้ป่วยในไทยว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 34 ราย  โดยเป็นผู้กลับมาจากต่างประเทศและกักตัวอยู่ในสถานที่ของรัฐ 3 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่  2,613 ราย หายป่วยและกลับบ้านแล้ว 1,405 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เสียชีวิตสะสม 41 ราย 
    สำหรับผู้เสียชีวิตรายใหม่เป็นหญิงไทยอายุ 52 ปี อาชีพขับรถ ขสมก.สาย 140 มีโรคประจำตัวคือ  ความดันโลหิตสูง หัวใจโต มีประวัติสังสรรค์ดื่มสุราในวงเพื่อน ซึ่ง 1 ในวงสุราดังกล่าวมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ทำให้มีการติดเชื้อจากวงสุรา 10 ราย ผู้เสียชีวิตมีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. มีไข้ ไอ เจ็บคอ  มีน้ำมูก มีเสมหะ ไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ แล้วกลับมาทำงานปกติ แต่ต่อมาวันที่ 3 เม.ย.มีไข้ ถ่ายเหลว หายใจหอบเหนื่อย และไปตรวจอีกครั้งที่โรงพยาบาลย่านธนบุรี มีการยืนยันพบเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 4 เม.ย. จากนั้นอาการแย่ลงเรื่อยๆ และเสียชีวิตในวันที่ 12 เม.ย.               
กลับจาก ตปท.น่ากลัวมาก
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ในผู้ป่วยรายใหม่ 34 ราย มี 1 คนอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐในจังหวัดสตูล  ซึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศอินโดนีเซีย ทำให้ขณะนี้มีผู้เดินทางที่กลับมาจากอินโดนีเซียติดโควิด-19  จำนวน 61 คน จากกว่า 70 คน ถือว่าน่ากลัวมาก ถ้าสถานที่กักตัวของรัฐเราทำไม่ดี แล้วคนเหล่านั้นกระจายไปจะเกิดอะไรขึ้น ต้องย้ำตรงนี้ว่าการติดเชื้อมันไม่ได้ติดภายในวันเดียว จะค่อยๆ ติดไปยังคนใกล้ชิด และจากคนใกล้ชิดหากไปสัมผัสใครจะนำไปสู่อีกทอดหนึ่งได้ เหมือนผู้ที่เดินทางกลับจากการทำพิธีกรรมทางศาสนาในต่างประเทศที่ยะลาและปัตตานี ดังนั้นเราจึงขอให้ทุกคนสมัครใจเข้ามาอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ เราจะดูแลอย่างดี จะได้ไม่ต้องไปวิ่งไล่ตามจับเหมือนกรณี 156 คนที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อนหน้านี้ เพราะเมื่อท่านปลอดภัย สังคมก็ปลอดภัย 
    "การติดเชื้อใน 2-3 วันที่ผ่านมายังขึ้นๆ ลงๆ เมื่อวันที่ 12 เม.ย.มี 33 คน วันที่ 13 เม.ย.มี 28 คน  วันนี้ 34 คน มันแสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อยังไม่น่าไว้วางใจ ใครที่คิดว่าเห็นตัวเลขเมื่อวานแล้วดีใจแล้วผ่อนตัวเองลงสักนิด อย่าทำอย่างนั้นเลย นี่คือผลการผ่อนคลายด้วยหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ เพราะผลของวันนี้คือพฤติกรรมของเมื่อ 7 วันที่แล้ว ถ้าผ่อนคลายวันนี้จะเกิดผลในอีก 7 วันข้างหน้า ที่เราทำวันนี้กันอย่างเข้มข้นจะบอกอนาคตของเราได้ ถ้าเราเข้มข้นจริงๆ อนาคตตัวเลขลดลงแน่ๆ แต่ถ้าผ่อนคลายจะไม่เป็นอย่างที่ว่า" นพ.ทวีศิลป์กล่าว               
    โฆษก ศบค.กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลกยังพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง อย่างอินโดนีเซียล่าสุดเขาออกมายอมรับว่ามีการปิดบังตัวเลขผู้ติดเชื้อ แต่ตอนนี้ต้องเปิดเผยทุกอย่างให้ประชาชนรับทราบตัวเลขที่แท้จริง เพราะหลักการจัดการวิกฤติคือต้องโปร่งใส พิสูจน์ได้ ให้เห็นภาพความเป็นจริงให้มากที่สุด ซึ่งไทยทำมาตั้งแต่ต้น ไม่มีใครคุมตัวเลข เราเปิดเผยหมด เพื่อให้ประชาชนรับทราบและเป็นพลังในการร่วมมือกันป้องกัน ส่วนอันดับโลกปัจจุบันเรามีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่อันดับ 50 ซึ่งเราได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลกประจำไทยว่ามีระบบดูแลสุขภาพถึงระดับครอบครัว มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวนกว่า 1,040,000 คน ทำให้มีการดูแลในระดับครัวเรือนอย่างใกล้ชิด ถือเป็นความภาคภูมิใจของไทย เพราะองค์การสาธารณสุขระดับโลกที่มาประจำในไทยได้รายงานศักยภาพของเราให้ไปสู่เวทีโลก จึงต้องขอบคุณ อสม.และทุกๆ ฝ่ายที่ช่วยกัน 
มวยมี 12 ยกอย่ารีบ
    "กราฟผู้ติดเชื้อของไทยค่อยๆ ขยับขึ้นไป แต่ยังไม่ชัน และหากลงมากกว่านี้ยิ่งดี ตอนนี้ไม่มีประเทศไหนเป็นอย่างเรา จะมีก็ฮ่องกงที่คล้ายกับเรา ขนาดญี่ปุ่นกับสิงคโปร์ก็ชันขึ้น ดังนั้นเราต้องเลี้ยงไปสักระยะ การ์ดอย่าตก ทำคะแนนไปเรื่อยๆ มวยมี 12 ยก ของเราไม่รู้ว่ายกหนึ่งจะยาวนานแค่ไหน  แต่ไม่ใช่วันนี้พรุ่งนี้ 7 วันนี้ยังไม่ได้แน่นอน ต้องใช้เวลาเป็นเดือน เราต้องซีลไม่ให้เชื้อโรคเข้า" นพ.ทวีศิลป์กล่าว 
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วันนี้มีผู้ป่วยหนัก 48 ราย อยู่ในโรงพยาบาลรัฐ 37 ราย เอกชน 11 ราย ค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องใช้กับผู้ป่วยอาการหนักอยู่ที่รายละ 1 ล้านบาท เราจึงขอให้ประชาชนทุกคนรักษาตัวเองให้ดีๆ ส่วนจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยและเครื่องช่วยหายใจนั้น ตอนนี้ยืนยันว่ายังมีเพียงพอทั่วทุกภาค แต่ถ้าเราป่วยเหมือนสหรัฐอเมริกาและอังกฤษไม่เพียงพอแน่นอน วันนี้เราจึงต้องดูแลกันอย่างดี ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าการเดินทางไปตรวจโควิด-19 มีกระบวนการขั้นตอนที่ใช้เวลานานนั้น เพราะโรคนี้เป็นโรคระบาดใหม่ จำเป็นต้องเก็บข้อมูล และไม่ใช่แค่ประชาชนที่บ่นเรื่องนี้ ทราบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ก็บ่นเหมือนกันผ่านโซเชียลมีเดีย จึงขอร้องหากติดขัดอะไรให้บอกผ่านมาโดยตรงจะได้ช่วยกัน หากไปพูดในโซเชียลเราอาจไม่ได้ฟังกัน และการกรอกข้อมูลต่างๆ ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปเป็นเรื่องเบิกจ่าย  เราต้องทำให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะถูกตรวจสอบภายหลัง แต่ขณะนี้มีการพัฒนาใช้ระบบโค้ดอัตโนมัติ ทำให้กระบวนการรวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ข้อมูลการตรวจโรคตั้งแต่เดือน ก.พ.- 3 เม.ย.ตรวจไปแล้ว 84,008  ตัวอย่าง และจากวันที่ 4-10 เม.ย.ตรวจไปแล้ว 16,490 ตัวอย่าง ทำให้มีการตรวจไปแล้ว 100,498  ตัวอย่าง โดยเราจะตรวจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 
    นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ผลการปฏิบัติงานของฝ่ายความมั่นคงช่วงเคอร์ฟิว คืนวันที่ 13 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 14 เม.ย. มีผู้ออกนอกเคหสถาน 806 คน น้อยลงกว่าคืนก่อน 14 ราย มีการรวมกลุ่ม ชุมนุม มั่วสุม 155 ราย มากกว่าคืนก่อน 20 ราย พบว่าผู้ชุมนุม มั่วสุม ส่วนใหญ่จะตั้งวงพนัน ดื่มสุรา และเสพยาเสพติด ถือเป็นเรื่องที่ผิดจริยธรรมและเสียสุขภาพ ขอให้บุคคลในครอบครัวช่วยกันเตือน               
    เมื่อถามถึงมาตรการคัดกรองคนไทยเข้าประเทศ ข้อกำหนดเรื่องเอกสารต่างๆ และการระงับอากาศยานเข้าประเทศชั่วคราว จะเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 39 ที่ห้ามคนสัญชาติไทยจะกระทำไม่ได้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่าเรื่องนี้เรามีการคุยกันตั้งแต่แรก ยืนยันว่าเรายินดีต้อนรับคนไทยทุกคนกลับประเทศ ไม่มีคำสั่งห้ามแต่อย่างใด มีเที่ยวบินเข้ามาตลอด จะป่วยหรือติดเชื้อเข้ามาก็จะรับมาช่วยดูแล แต่ขอว่าก่อนเข้ามาต้องดูแลตัวเองกันก่อนและทยอยเข้ามา เรามีมาตรการเหล่านี้มาตลอด ไม่มีขัดมาตราหรือกฎหมายตัวไหน เราเพียงจัดระเบียบเพื่อจะดูแลท่านและดูแลคนไทยอีกกว่า 60 ล้านคนไม่ให้เกิดการระบาด เราไม่โทษใคร แต่ศักยภาพการดูแลของเรารับผู้เดินทางจากต่างประเทศได้ไม่เกินวันละ 200 คน โดยในวันที่ 14 ม.ย.จะมีผู้เดินทางกลับจากเกาหลีใต้เวลา 21.00 น. จำนวน 135 คน       
ผู้โดยสารประเมินตัวเอง     
    เมื่อถามถึงกรณี ผอ.ขสมก.ออกมายอมรับว่ามีพนักงานขับรถเมล์ติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิต ถือเป็นการปกปิดข้อมูลหรือไม่ มีการสอบสวนโรคกับผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนเท่าไร และประชาชนที่กังวลว่าเคยขึ้นรถเมล์คันดังกล่าวต้องปฏิบัติตัวอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ช่วงแรกพนักงานขับรถคนดังกล่าวอาจไม่รู้สึกว่าตัวเองมีอาการอยู่ จึงไปทำงานและสังสรรค์กับเพื่อนจนทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นมา ส่วนจะปกปิดข้อมูลหรือไม่นั้น หากท่านรู้ตั้งแต่แรกก็ให้รีบแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชา หรือโรงพยาบาล หรือนายแพทย์สาธารณสุขประจำจังหวัด โดยรายนี้มีการแจ้งแล้วและทีมสอบสวนโรคได้เข้าไปสอบสวนโรคกลุ่มที่สังสรรค์ 9 คน เพื่อนที่ทำงาน 8 คน และสัมผัสผู้ร่วมงานอีก 20 คน แต่ไม่เคยสัมผัสคนในครอบครัว เพราะอยู่คนเดียว โดยทุกคนถูกติดตามมาเก็บตัวอย่างหาเชื้อ ส่วนประชาชนที่มาใช้บริการรถเมล์สายดังกล่าว ถ้าสงสัยหรือมีอาการไข้เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงรีบไปขอตรวจได้เลย
    นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวประเด็นนี้ว่า ผู้เสียชีวิตได้สังสรรค์กับเพื่อนสนิทกว่า 10 รายก่อนป่วย โดยกลุ่มนี้เจ้าหน้าที่ได้ตรวจโรคพบเชื้อโควิด-19 จำนวน 7 ราย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเพื่อนร่วมงานไม่ว่าจะเป็นกระเป๋ารถเมล์และผู้ที่อยู่ในกะเดียวกัน โดยตรวจแล้วไม่พบโควิด-19  ทั้งนี้พนักงานขับรถรายดังกล่าวมีอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. และตั้งแต่วันที่ป่วยจนถึงวันที่  2 เม.ย.ได้ออกมาทำงาน จนกระทั่งมีอาการป่วยหนักจึงเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และนอนที่โรงพยาบาลในวันที่ 3 เม.ย.หลังตรวจพบเชื้อโควิด-19 กระทั่งเสียชีวิตในวันที่ 12 เม.ย.
    "ผู้โดยสารที่เกี่ยวข้องกับพนักงานขับรถมีความเสี่ยงขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้โดยสารได้นั่งอยู่ใกล้ชิดกับพนักงานขับรถเป็นเวลานานหรือไม่ ถ้านั่งอยู่ส่วนหน้าของรถโดยสารก็อาจเป็นกลุ่มเสี่ยงน้อย  ซึ่งต่างกับกลุ่มเพื่อนสนิท ทั้งนี้ขอให้ผู้โดยสารประเมินตนเองด้วย" นพ.อนุพงศ์กล่าว
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ประเทศไทยควบคุมโรคได้ดีกว่าหลายประเทศ เพราะเรามี อสม.ในทุกจังหวัด ซึ่ง อสม.เป็นด่านหน้า ทำงานหนัก หาข่าวผู้มีความเสี่ยง เฝ้าระวัง ติดตาม กักตัวบุคคล และให้ความรู้ประชาชนว่าจะป้องกันการติดเชื้ออย่างไร ซึ่งการควบคุมโรคในจังหวัดต่างๆ เป็นไปด้วยดี เพราะ อสม.เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"