อัยการงัดข้อตร. 'เข็มชัย'ยอมรับ ยึดทางสายกลาง


เพิ่มเพื่อน    

    อสส.ชูทิศทางอัยการในอนาคต การสั่งฟ้องต้องประสบความสำเร็จได้มาตรฐานให้ศาลสั่งลงโทษได้ ยอมรับทะเลาะเรื่องปฏิรูปตำรวจกับบางองค์กรจนแทบไม่มองหน้ากัน แนะต้องยึดถือทางสายกลางที่สามารถรับกันได้ทุกฝ่ายแม้ไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุด "บวรศักดิ์" ซัดระบบราชการอืดยิ่งกว่าหอยทากคลาน ทำให้การปฏิรูปกฎหมายไม่สำเร็จ
    ที่ห้องประชุม 120 ปี สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 2 เมษายน นายเข็มชัย ชุติวงศ์  อัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ทิศทางองค์กรอัยการ" เนื่องในโอกาสสถาปนาองค์กรอัยการ 125 ปีว่า ในอดีตที่ผ่านมาพนักงานอัยการมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการอำนวยความยุติธรรมในทางอาญา ทิศทางขององค์กรอัยการตั้งแต่กำเนิดขึ้นจนถึงปัจจุบันมีการขับเคลื่อนในทางปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม มีความเที่ยงธรรมมากขึ้น สมัยเมื่อตนเป็นอัยการผู้ช่วย การสั่งฟ้องคดีสามารถทำได้ง่าย ซึ่งอัยการส่วนใหญ่ในสมัยนั้นมักมีคำสั่งที่จะฟ้องคดี 
    "แต่เมื่อเวลาผ่านไป อัยการมีความพิถีพิถันที่จะพิจารณาพยานหลักฐานในคดีมากขึ้น การสั่งฟ้องในสมัยนี้จะต้องประสบความสำเร็จ คือศาลสั่งลงโทษได้ สิ่งนี้เป็นทิศทางที่ต้องขับเคลื่อนต่อไปในอนาคต ขั้นตอนที่สำคัญของอัยการคือ การสั่งคดีจะต้องให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสังคม"
    นายเข็มชัยกล่าวว่า หน้าที่สำคัญของอัยการอีกหน้าที่หนึ่งคือการเป็นทนายแผ่นดิน จะต้องทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของรัฐ เราพยายามแสวงหาความเป็นมืออาชีพ ฝึกฝนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ  สามารถสนองตอบงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือว่าความแก้ต่างให้ดีที่สุด เรามีความจำเป็นที่จะต้องสร้างผู้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่มีความเก่งกาจสามารถในด้านนั้นๆ 
    อัยการสูงสุดกล่าวอีกว่า งานสำคัญของอัยการอีกเรื่องหนึ่งคือ งานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประชาชน ต้องยอมรับว่าคนไทยในชนบทที่ห่างไกลยังขาดความรู้ในทางกฎหมาย ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำสัญญา นิติกรรม หรือการเข้าร่วมธุรกิจต่างๆ ซึ่งบางทีคนเหล่านี้ไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร การที่จะแก้ปัญหาเช่นนี้จะต้องมีการนำความรู้ทางกฎหมายเบื้องต้นไปเผยแพร่ให้ประชาชนในชนบทที่ห่างไกล ซึ่งอัยการได้ทำงานนี้ติดต่อกันมาหลายสิบปี 
    นโยบายปฏิรูปล่าสุดที่กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพ คือการลดความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายระหว่างคนในสังคม ที่จะเน้นเกี่ยวกับเรื่องทำให้คนมีฐานะและไม่มีฐานะมีโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ก็จะต้องยึดเอารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เป็นหลัก ซึ่งมีบทบัญญัติที่ได้แสดงถึงทิศทางขององค์กรอัยการในมาตรา 248 จะเป็นเรื่องการพัฒนาองค์กรบริหารงาน พัฒนาบุคคลขององค์กรอัยการ ส่วนแผนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมซึ่งบัญญัติในมาตรา 258 ที่ได้ร่างแผนปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 20 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เคยปฏิบัติ ต้องมีความเสียสละ ซึ่งองค์กรอัยการควรจะต้องมีบทบาทนำในเรื่องนี้ เราจะต้องยอมละอัตตาส่วนตัว ความยึดมั่นถือมั่น และไปร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเราได้ทำสำเร็จในหลายเรื่อง 
     นายเข็มชัยกลาวอีกว่า ทิศทางขององค์กรอัยการจะต้องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรม ตามแนวคิดการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ ตนเชื่อในหลักทางสายกลาง เราไม่สามารถที่จะเน้นไปในแนวคิดสุดโต่ง การเปลี่ยนแปลงทุกเรื่องต้องเน้นทางสายกลาง
    "ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งนายกฯ ได้ให้โอกาสพูดในที่ประชุมถึงเรื่องการปฏิรูปองค์กรที่มีความสำคัญขณะนี้ มีแนวความคิดหลายด้าน ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการทะเลาะกันแทบจะไม่มองหน้ากันในบางองค์กรเกี่ยวกับเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ผมได้เสนอแนะว่าสิ่งที่จะเป็นไปได้ต้องยึดถือทางสายกลาง ทางที่สามารถรับกันได้ระหว่างทุกฝ่าย ซึ่งอาจจะไม่ใช่แนวทางที่ดีที่สุด แต่ว่าจะต้องดีขึ้น และแนวทางที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจได้เสนอไปอาจจะไม่เป็นที่พอใจของคนในสังคม มีคนพยายามเสนอทางที่จะแก้ไขแบบเปลี่ยนแปลงฉับพลันทันทีจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งความจริงมันคงเกิดขึ้นไม่ได้"
     นายเข็มชัยกล่าวต่อว่า อย่างองค์กรอัยการก็เช่นกัน แม้ตนอาจจะมีแนวความคิดหลายอย่างที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด แต่ทุกคนในองค์กรอัยการก็จะต้องมีฉันทามติร่วมกันเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรของเราในอนาคต ตนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะพยายามนำแนวความคิดที่ได้ตกผลึกร่วมกันมาขับเคลื่อนให้เป็นจริง 
     เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ในการเสวนาหัวข้อ "ตรวจการบ้าน 1 ปีปฏิรูปตำรวจ แก้ปัญหาประชาชนได้จริงหรือไม่" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ดร.น้ำแท้ มีบุญสร้าง อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกาญจนบุรี และเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ยอมรับว่าการทำงานมีความขัดแย้งกับคณะกรรมการฝ่ายตำรวจ การเรียกร้องให้อัยการเข้าไปตรวจสอบสำนวนคดีก็ไม่เป็นผล และยืนยันว่าอัยการมีความพร้อม แต่ฝ่ายที่ไม่พร้อมคือฝ่ายที่ไม่อยากปฏิรูป 
    ทั้งนี้คณะอนุกรรมการด้านการบังคับใช้กฎหมายฯ ได้เห็นชอบที่จะให้อัยการเข้าไปตรวจสอบสำนวนคดีตั้งแต่เกิดเหตุใน 3 ระดับแล้ว แต่ถูกฝ่ายตำรวจคัดค้าน สุดท้ายจึงโยนไปให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมที่มีนายอัชพร จารุจินดา เป็นประธานดำเนินการต่อไป
      ที่ทำเนียบรัฐบาล นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย   แถลงความคืบหน้าในการปฏิรูปกฎหมายว่า ถ้าจะปฏิรูปอะไรก็แล้วแต่ต้องเริ่มที่การปฏิรูปกฎหมายก่อน  กฎหมายคือสิ่งจำเป็นในบ้านเมือง เพราะเป็นทั้งการรักษาความสงบ วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท จัดสรรผลประโยชน์ และกำหนดสิทธิ ซึ่งขณะนี้เรามีกฎหมายที่ล้าสมัยอยู่จำนวนมาก นอกจากนี้กฎหมายยังสร้างขั้นตอนให้จำกัดเสรีภาพของประชาชน เมื่อประชาชนอยากได้มากๆ ก็ต้องให้เงินเจ้าหน้าที่ จึงเกิดกฎหมายสร้างโอกาสทุจริต 
    "โดยเฉพาะกฎหมายจำกัดเสรีภาพประชาชน ซึ่งถ้าจะกำจัดการทุจริตตั้งแต่ต้นเหตุ ไม่ต้องไปตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แต่ต้องไปแก้กฎหมายที่จำกัดสิทธิประชาชนโดยไม่จำเป็น  รวมถึงจะเสนอให้แก้ไขกฎหมายในเรื่องของการติดคุกแทนการจ่ายค่าปรับ ให้เป็นโทษปรับทางปกครอง  หากคนจนไม่มีเงินจ่ายจะขังคุกไม่ได้ แต่ให้บำเพ็ญประโยชน์แทน รวมถึงกฎหมายที่ห้ามผู้พ้นโทษทำอาชีพบางอย่าง"  
    นอกจากนี้เรามีสิ่งที่ต้องปฏิรูปกฎหมาย 10 เรื่องใหญ่ ที่จะอยู่ในเรื่องสำคัญ 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.ทำอย่างไรให้กฎหมายเป็นกฎหมายที่ดี 2.ปฏิรูปกฎหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยจะเสนอให้มียุติธรรมชุมชน 1 ตำบล 1 นักกฎหมาย เพื่อช่วยตอบคำถามหรือให้คำปรึกษาด้านกฎหมายง่ายๆ แก่ชาวบ้าน 3.ปฏิรูปกฎหมายเพื่อเพิ่มการแข่งขัน จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจ 
    เมื่อถามว่าการปฏิรูปกฎหมายจะเห็นเป็นรูปธรรมได้เมื่อใด นายบวรศักดิ์กล่าวว่าต้องมีการปฏิรูประบบการออกกฎหมาย  และการปฏิรูประบบราชการด้วย เพราะระบบราชการไทยลมพัดไหวๆ ก็ทำไปเรื่อย หนังสือกว่าจะออกจากกรมหนึ่งไปอีกกรมหนึ่งใช้เวลาเป็นเดือน เต่าที่ว่าช้าแล้ว หอยทากยังช้ากว่า แต่ระบบราชการบางหน่วยยังช้ากว่าหอยทากอีก ตอบไม่ได้ว่าการปฏิรูปกฎหมายจะเสร็จเป็นรูปธรรมเมื่อใด ถ้าอยากให้เร็วต้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่ก็มีคนไม่ชอบ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องกลับมาถามข้าราชการว่าเร่งได้หรือไม่ และต้องคิดว่าเมื่อกฎหมายออกมาแล้วใช้บิดเบี้ยวหรือไม่ได้ใช้ คนที่รับผิดชอบในการใช้กฎหมายอาจจะต้องโดนลงโทษด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"