รัฐบาลปลดล็อกช่วยแรงงาน


เพิ่มเพื่อน    


    ปลัดคลังแจงตัดสิทธิ์ผู้ไม่เข้าเกณฑ์ 5,000 บาท 12 ล้านราย “ครม.” เคาะแล้วมาตรการเยียวยาผู้ประกันตนตามที่แรงงานเสนอ หากปิดกิจการจ่าย 62% ของค่าจ้าง 3 เดือน ส่วนผู้ถูกเลิกจ้างได้สิทธิ์ 70% เป็นเวลา 200 วัน “พม.” เพิ่มเงินผู้พิการ-ผู้สูงอายุ พลังงานตรึงค่าไฟที่ 3.60 บาทต่อหน่วยยาวถึง มิ.ย. อึ้ง! แม้วส่งเงินให้ ส.ส.เพื่อไทยจัดซื้อแอลกอฮอล์แจก คณาจารย์ มธ.เสนอจ่าย 3 พันบาทให้ผู้มีอายุเกิน 18 ปีขึ้นไปทุกราย
    เมื่อวันพุธ ที่ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา  2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ได้ให้ปลัดกระทรวงเศรษฐกิจแถลงถึงมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้วและจะดำเนินการในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง แถลงถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการจ่ายเงินเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วงเงิน 5,000 บาท ว่ามีประชาชนที่ลงทะเบียนผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com แล้วกว่า  27 ล้านคน ซึ่งได้ทยอยจ่ายเงินให้ประชาชนที่ผ่านเกณฑ์แล้วกว่า 3 ล้านคน และจะทยอยจ่ายเงินให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์อย่างต่อเนื่องทุกวัน 
    “มีประชาชนประมาณ 12 ล้านคนที่ถูกตัดสิทธิ์เพราะไม่เข้าข่าย ขณะที่มีประชาชนที่อยู่ระหว่างขอข้อมูลเพิ่มเติมอีก 6 ล้านคนเศษ โดยส่วนนี้ได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามา 1.9 ล้านคน ยังเหลืออีกประมาณ  4 ล้านคนเศษ ซึ่งสามารถเข้าไปใน www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อขอทบทวนสิทธิ์ได้ โดยเปิดให้ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.นี้ ส่วนประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัดจะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องลงไปสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และส่งข้อมูลผ่านระบบออนไลน์เข้ามา หากข้อมูลถูกต้องจะเร่งอนุมัติเงินเยียวยา 5,000 บาทให้ประชาชนที่ผ่านเกณฑ์โดยเร็วที่สุด”
    สำหรับงบประมาณที่จะใช้ในการดำเนินมาตรการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นั้น นายประสงค์กล่าวว่า ส่วนแรกจะมาจากการใช้งบกลางปี 2563 และการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายปี 2564 ในการใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่จำเป็น อีกส่วนจะมาจากการกู้เงินตามพระราชกำหนด  (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้ในส่วนเยียวยา 5,000 บาท และมาตรการเยียวยาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องประมาณ 5.55 แสนล้านบาท
    ปลัดกระทรวงการคลังยืนยันว่า ไม่มีแนวคิดจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทตามบัญชีครัวเรือน เนื่องจากบางครัวเรือนไม่ได้รับผลกระทบจริง ตรงนี้ยอมรับว่าเป็นประเด็นและเป็นข้อมูลที่ละเอียดอ่อน  เพราะบางครัวเรือนเป็นเจ้าสัว บางครัวเรือนเป็นข้าราชการ การดำเนินการต้องทำตามกฎหมายกำหนดอย่างชัดเจน เพราะเป็นการกู้เงิน ต้องจ่ายให้ตรงตัวผู้ที่ประสบความเดือดร้อน ถ้าจ่ายไม่ตรงตัวไม่ตรงจุดผู้จ่ายต้องรับผิดชอบ ทำให้ต้องมีการตรวจสอบตามหลังเสมอ เพราะเป็นเงินของประเทศชาติ เงินกู้ที่กู้มาประชาชนทุกคนต้องร่วมใช้หนี้
    นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก้ไขกฎกระทรวงแรงงานเพื่อปลดล็อกให้ผู้ประกันตนที่อยู่ในสถานประกอบการที่ปิดตัวลงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ สถานประกอบการที่ต้องปิดเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ผู้ประกันตนจะได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนประกันสังคม 62% ของค่าจ้างเป็นเวลา 90 วัน หรือ 3 เดือน, กลุ่มที่ต้องกักตัวเอง 14 วัน รวมถึงที่ติดเชื้อโควิด-19 และกลุ่มที่ถูกทางการปิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะได้รับเงินเยียวยาจากกองทุนประกันสังคม 62% ของค่าจ้าง, กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ประกันตนที่ต้องลาออกและถูกเลิกจ้าง โดยผู้ที่ลาออกเองจะได้สิทธิ์เพิ่มขึ้นจาก 30% เป็น 45% เป็นเวลา 90 วัน ส่วนที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับสิทธิ์เพิ่มขึ้นจาก 50% เป็น  70% เป็นเวลา 200 วัน 
    “หลัง ครม.มีมติเราจะเร่งออกกฎกระทรวงให้เสร็จในสัปดาห์นี้ และจะพยายามเบิกจ่ายให้ผู้ประกันตนให้เร็วที่สุด หากมีปัญหาใดให้ติดต่อสำนักงานประกันสังคมในแต่ละจังหวัด โดยผู้ประกันตนที่ยื่นเอกสารไปที่สำนักงานประกันสังคมแล้วไม่ต้องยื่นผ่านออนไลน์ซ้ำ ส่วนผู้ที่ยังไม่ได้ยื่นสามารถยื่นผ่านออนไลน์ได้”
    นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือของ  กษ.มีการลดหนี้ ธ.ก.ส.และกองทุนต่างๆ มีการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย สร้างรายได้ให้ประชาชน ซึ่งกรมชลประทานได้ให้ประชาชนที่ตกงานเข้ามาช่วยงานดูแลเรื่องชลประทาน รวมถึงการหาตลาดสินค้าเกษตรให้เกษตรกร และในระยะที่ 3 จะมีมาตรการออกมาดูแลชัดเจนขึ้น
    ด้านนายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า  ตั้งแต่ ม.ค.ได้ให้สถานธนานุเคราะห์ขยายอายุตั๋วจำนำจาก 4 เดือน 30 วัน เป็น 4 เดือน 120 วัน หรือประมาณ 8 เดือน เพื่อให้มีสภาพคล่อง นอกจากนั้น พม.ได้รับเงินกู้จากกระทรวงการคลังประมาณ  2,000 ล้านบาท เพื่อลดดอกเบี้ยเป็นพิเศษให้ผู้ใช้บริการสถานธนานุเคราะห์เป็น 0.125% ตั้งแต่วันที่ 1  เม.ย. ซึ่งคาดว่ามีผู้ได้รับประโยชน์หลายแสนราย ขณะที่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) มีมาตรการพักชำระหนี้ ผู้เช่าซื้อ ผ่อน ผ่อนดาวน์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ขณะที่ผู้เช่าอาคาร สถานที่ร้านค้ากับ กคช.จะยกเว้นค่าเช่าให้ เช่นเดียวกับผู้ค้าตามแผง ในพลาซาที่อยู่ในพื้นที่ของ กคช.จะเจรจาลดค่าเช่าแผง 50%  ซึ่งครอบคลุมกลุ่มลูกค้าประมาณ 3 แสนคน 
    “กลุ่มคนพิการมีมาตรการที่เริ่มไว้ก่อนไวรัสโควิด-19 จะแพร่ระบาด คือเพิ่มเงินรายเดือนจาก 800  บาท เป็น 1,000 บาท คาดว่าจะได้รับเงินในเดือน พ.ค. รวมถึงมีการพักหนี้ผู้สูงอายุด้วยเช่นเดียวกัน  ส่วนกลุ่มผู้เดือดร้อน คนเร่ร่อน คนไร้บ้าน และคนตกงาน พม.จะมีสถานที่ให้พักชั่วคราว และจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจว่ามีปัญหาหรือความต้องการอะไร”
    นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า นอกจากภารกิจที่ทำร่วมกันกับกระทรวงอื่นๆ แล้ว ในส่วนของ มท.ยังมีภารกิจช่วยเหลือเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งมีการลดค่าไฟฟ้า 3%  เป็นเวลา 3 เดือนระหว่าง เม.ย.-มิ.ย. ขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าและคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า โดยส่วนนี้จะใช้งบประมาณกว่า 4 หมื่นล้านบาท ส่วนค่าน้ำจะลดค่าน้ำ 3% ในกรอบเวลา 3 เดือนเช่นเดียวกัน  และขยายเวลาชำระค่าน้ำ 3 เดือน และคืนเงินประกันค่าประปา รวมวงเงินที่จะใช้ 3 พันล้านบาท ส่วนที่มีประชาชนเรียกร้องให้ลดค่าไฟเพิ่มเติมนั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่จะเป็นผู้พิจารณา  
    นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงได้ตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ระดับ 3.60 บาทต่อหน่วย จนถึงเดือน มิ.ย.63 รวมทั้งได้ผ่อนผันให้โรงงาน กิจการเอสเอ็มอี โรงแรม เป็นต้น ที่เดิมต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราคงที่ที่กำหนดให้จ่ายตามใช้จริง รวมทั้งลดค่าไฟฟ้า 30% ให้โรงแรม หอพักที่ผันตัวเองเป็นโรงพยาบาลดูแลผู้ป่วย สังเกตอาการ หรือเป็นโรงพยาบาลสนามด้วย 
'แม้ว' แจกแอลกอฮอล์
    ด้านความเคลื่อนไหวของนักการเมืองนั้น นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย  (พท.) ระบุว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มอบเงินจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือประชาชนผ่าน ส.ส.พรรคทั่วประเทศ โดยให้จัดหาแอลกอฮอล์มาแจกจ่ายประชาชนพื้นที่ละ 100-200 ขวด ซึ่งในภาคอีสานนั้นนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าพรรค รวมทั้งนายเกรียง กัลป์ตินันท์ รองหัวหน้าพรรค และตนเองได้ร่วมกันสมทบเงินอีกจำนวนหนึ่ง โดยทยอยแจกไปแล้วใน 3  จังหวัด คือ อุบลราชธานี, ยโสธร และอำนาจเจริญ จังหวัดละ 15,000 ขวด 
    ทั้งนี้ แอลกอฮอล์ที่แจกให้ประชาชนนั้นบรรจุในขวดใสเป็นแอลกอฮอล์ 75% โดยมีภาพของนายทักษิณพร้อมกับระบุข้อความว่า “เป็นห่วงพี่น้องชาวไทย จากใจทักษิณ ชินวัตร นายกฯ คนที่ 23”
    น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการ พท.กล่าวว่า พรรคได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากว่าถูกระบบคัดกรองปฏิเสธสิทธิ์ ทำให้ไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐโดยตรง ซึ่งแม้รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ผู้เดือดร้อนได้อุทธรณ์สิทธิ์ในสัปดาห์หน้า แต่เป็นห่วงว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือที่ล่าช้าเกือบเดือนตั้งแต่ประชาชนขาดรายได้ จะทำให้บางครอบครัวอยู่ไม่รอดถึงวันรับเงิน จึงอยากเร่งรัดรัฐบาลให้แก้ปัญหานี้เป็นอันดับแรก
    “ผมเจอด้วยตัวเองหลายเคส เช่นแม่ลูกสามที่เกือบใช้เงินก้อนสุดท้ายซื้อยาล้างห้องน้ำฆ่าตัวตายหมู่ ถ้าไม่เจอก่อนป่านนี้จะเป็นยังไงก็ไม่รู้ ซึ่ง ส.ส.หลายคนก็เจอแบบเดียวกัน จึงอยากวิงวอนรัฐบาลอีกครั้งให้จ่ายเงินให้ครอบคลุมทุกกลุ่มโดยเร็ว ก่อนที่เหตุการณ์ต่างๆ จะย่ำแย่ไปกว่านี้” น.อ.อนุดิษฐ์กล่าวและว่า ต้องฝากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ให้เข้าไปดูแลเรื่องการตรึงราคาด้วย เพราะพบว่ามีการขึ้นราคาจำนวนมากนอกเหนือจากไข่ไก่
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรค พท.กล่าวเช่นกันว่า ภาพที่ประชาชนบุกกระทรวงการคลังเพื่อทวงเงินเยียวยา 5,000 บาทนั้น อธิบายสถานการณ์ความรับผิดชอบของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากระบบเอไอที่นำมาใช้คัดกรองไร้ประสิทธิภาพก็ต้องทบทวนปรับปรุง ไม่ใช่แก้ปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก อย่ามัวแต่ไปแนะนำประชาชนตากแดดฆ่าเชื้อโรค เงินมีแล้ว ยิงศรให้ตรงเป้า จ่ายเงินเยียวยาให้ถูกคน ไหนบอกว่าเราไม่ทิ้งกัน แต่ไร้ประสิทธิภาพแบบนี้มีคนถูกทิ้งไว้ข้างหลังจำนวนมาก
ชงจ่าย 3 พันอายุ 18 ปีขึ้นไป
    ขณะเดียวกัน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร โฆษกพรรคก้าวไกล พร้อมคณะได้ไปยื่นเรื่องที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล โดยเรียกร้องให้เปลี่ยนแนวทางดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มอื่นๆ ให้ครอบคลุมทั้งนอกระบบและในระบบ เพราะหากเยียวยารายละ 5,000 บาทให้แรงงาน  14.5 ล้านคนเป็นเวลา 3 เดือน จะใช้งบประมาณ 217,500 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในวิสัยที่จัดสรรได้ ทั้งนี้พรรคจะเปิดเว็บไซต์ www.ทำไมไม่ได้5พัน.com เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและนำเข้าสู่กระบวนการกลไกของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นปากเสียงให้ประชาชนได้รับสิทธิ์อันชอบธรรมด้วย
    นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สื่ออิสระ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2540 ระบุว่า ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าเป็นคนไร้ราก คนจรหมอนหมิ่น ซึ่งไม่เคยอยู่ในทะเบียนหรือสารบบใดๆ ที่คาดว่ามีจำนวนนับพันคน จึงอยากให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าไปดูแล และใช้วิกฤติไวรัสระบาดเป็นโอกาสจัดระเบียบคนไร้รากเหล่านี้
ขณะเดียวกัน คณาจารย์ 18 รายจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ร่วมลงนามในแถลงการณ์หัวข้อ “หากไม่มีเสรีภาพจากความอดอยากและความทุกข์ทน (Freedom from  hunger and miseries) ย่อมไม่มีสุขภาพที่ดี” โดยเรียกร้องให้รัฐบาลปรับการเยียวยา 5,000 บาทที่มีปัญหา มาเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือนให้แก่ประชากรทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ยกเว้นบุคลากรของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา  33 โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 440,000 ล้านบาทในเวลา 3 เดือน รวมทั้งจัดให้แจกจ่ายอาหารและปัจจัยเพื่อการดำรงชีพโดยตรงแก่กลุ่มคนเปราะบางทุกกลุ่ม ซึ่งงบประมาณที่ใช้สำหรับถุงยังชีพ 2  ล้านคน 3 เดือนจะคิดเป็นเงิน 7,800 ล้านบาท
    “พวกเราขอเรียกร้องต่อเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท ให้ยุติการเก็บค่าเช่าทั้งต่อที่อยู่อาศัยและสถานประกอบการขนาดเล็ก และขอเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันการเงินยุติการคำนวณดอกเบี้ยในสินเชื่อคงค้างของบุคคลและนิติบุคคลขนาดเล็กในตลอดช่วงเวลาวิกฤติครั้งนี้”


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"