ป่วยทั่วโลกพุ่ง2ล้าน ทรัมป์พาลโบ้ยWHO


เพิ่มเพื่อน    


    โทษปี่โทษกลอง "โดนัลด์ ทรัมป์" สั่งระงับเงินช่วยเหลือองค์การอนามัยโลก อ้างเหตุบริหารจัดการวิกฤติผิดพลาด ปกปิดการแพร่ระบาดในจีน หลายฝ่ายรุมตำหนิผู้นำสหรัฐอเมริกาโยนความผิดให้คนอื่น ขณะยอดสังเวยรายวันในอเมริกาทุบสถิติเกิน 2,200 ศพอีกเมื่อวันอังคาร ติดเชื้อทั่วโลกทะลุ 2 ล้านคนแล้ว
    ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ยังคงแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) อย่างต่อเนื่อง ในช่วงยามที่องค์การระหว่างประเทศแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปแล้วมากกว่า 127,000 คน ซึ่งรวมถึงผู้เสียชีวิตในสหรัฐฯ ที่มากกว่า 26,000 คน
    สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันพุธที่ 15 เมษายน 2563 ว่า ระหว่างการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวในกรุงวอชิงตันเมื่อวันอังคาร ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวโจมตีดับเบิลยูเอชโอว่า ล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่พื้นฐานขององค์กรนี้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา องค์กรในสังกัดองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แห่งนี้บริหารจัดการผิดพลาดอย่างรุนแรง และปกปิดการแพร่ระบาดหลังพบไวรัสนี้ในจีนครั้งแรก โดยเห็นความถูกต้องทางการเมืองอยู่เหนือมาตรการรักษาชีวิต ซึ่งหากดับเบิลยูเอชโอประเมินสถานการณ์ในจีนอย่างถูกต้อง การแพร่ระบาดครั้งนี้ก็อาจควบคุมได้โดยมีคนเสียชีวิตน้อยกว่านี้
    ตัวทรัมป์เองก็เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าดูเบาไวรัสโคโรนาว่าไม่ต่างกับไข้หวัดใหญ่ทั่วไป และตอบสนองกับสถานการณ์ช้าเกินไป จนกระทั่งปัจจุบันสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่สถานการณ์วิกฤติที่สุดในโลก มีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 600,000 ราย แต่ทรัมป์พยายามตอกย้ำว่า รัฐบาลของเขาตัดสินใจห้ามนักเดินทางจากจีนเข้าประเทศ โดยไม่ฟังคำแนะนำของดับเบิลยูเอชโอในช่วงเวลานั้นที่คัดค้านการปิดพรมแดนห้ามการเดินทาง
     เขาเคยโจมตีดับเบิลยูเอชโอว่าลำเอียง เข้าข้างจีนและยึดจีนเป็นศูนย์กลาง ทั้งที่สหรัฐฯ คือผู้บริจาคเงินรายใหญ่ที่สุดให้แก่องค์กรนี้ โดยปีที่แล้วบริจาคเงินมากกว่า 400 ล้านดอลลาร์ "ผมกำลังออกคำสั่งให้รัฐบาลหยุดให้เงินสนับสนุนระหว่างรอการทบทวนเพื่อประเมินบทบาทขององค์การอนามัยโลก เรื่องการบริหารจัดการผิดพลาดอย่างรุนแรงและปกปิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา" ทรัมป์ประกาศเมื่อวันอังคารและว่า รัฐบาลของเขาจะตัดสินใจว่าจะให้เงินดับเบิลยูเอชโออีกครั้งหรือไม่หลังเสร็จการทบทวนซึ่งจะใช้เวลา 60-90 วัน
    ด้านอันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น กล่าวปรามว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะลดทรัพยากรของดับเบิลยูเอชโอ นี่คือเวลาสำหรับความเป็นเอกภาพ เวลาที่ประชาคมระหว่างประเทศจะร่วมมือกันด้วยความสามัคคีเพื่อหยุดยั้งไวรัสและผลกระทบร้ายแรงที่เกิดตามมา
    กระทรวงการต่างประเทศของจีนแถลงตอบโต้ผู้นำสหรัฐฯ เมื่อวันพุธว่า นี่คือช่วงเวลาวิกฤติ การตัดสินใจของสหรัฐฯ จะลดทอนศักยภาพของดับเบิลยูเอชโอ และบั่นทอนความร่วมมือระหว่างประเทศ
    เซอร์เกย์ เรียบคอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ใช้ถ้อยคำรุนแรงกว่าในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวทาสส์ของรัสเซียเมื่อวันพุธว่า คำประกาศของทรัมป์เป็นตัวอย่างของความเห็นแก่ตัวมากๆ ของทางการสหรัฐฯ ต่อโรคระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในโลก 
     รัฐมนตรีต่างประเทศ ไฮโก มาส ของเยอรมนี ก็ตำหนิทรัมป์เช่นกัน โดยทวีตเตือนว่า "การโทษคนอื่นไม่ช่วยอะไร ไวรัสไม่รู้จักพรมแดน" หนึ่งในการลงทุนที่ดีที่สุดคือการเพิ่มความเข้มแข็งให้ยูเอ็น  โดยเฉพาะดับเบิลยูเอชโอที่ขาดแคลนเงินทุน เพื่อใช้ในการพัฒนาและแจกจ่ายชุดทดสอบและวัคซีน
     ในสหรัฐอเมริกาเอง เลสลี แดช ประธานกลุ่มรณรงค์ด้านสาธารณสุข โพรเทกต์อาวร์แคร์ กล่าวว่า  การระงับทุนสนับสนุนดับเบิลยูเอชโอคือความพยายามอย่างชัดแจ้งของประธานาธิบดีทรัมป์ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากการดูเบาความรุนแรงของวิกฤติไวรัสโคโรนาของทรัมป์เอง และความล้มเหลวของรัฐบาลเขาในการเตรียมการรับมือ แน่นอนว่าดับเบิลยูเอชโอก็ใช่ว่าจะไม่ผิดพลาด แต่การตัดเงินสนับสนุนในภาวะโรคระบาดทั่วโลกก็ถือว่าไม่รับผิดชอบ
    แม้สถานการณ์ในหลายประเทศที่ประสบวิกฤติหนักสุดเช่นอิตาลีและสเปนเริ่มทรงตัวแล้ว แต่ในสหรัฐฯ จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยังคงอยู่ในระดับสูง แม้เมื่อวันอังคารทรัมป์จะบอกว่า เขามองเห็นลำแสงที่เส้นขอบฟ้าของสหรัฐฯ แล้วและหลายพื้นที่น่าจะยกเลิกมาตรการชัตดาวน์ได้โดยเร็ว
     วันเดียวกันนั้น ข้อมูลที่รวบรวมโดยมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ระบุว่า สหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตในรอบ 24 ชั่วโมง ถึง 2,228 คน ทำลายสถิติของวันที่ 10 เมษายน ซึ่งอยู่ที่ 2,107 คน และเป็นการเพิ่มจำนวนคนตายรายวันแบบพรวดพราดหลังจากลดลงมา 2 วัน
    การตัดสินใจว่าจะเปิดเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เมื่อใดกำลังเป็นประเด็นโต้แย้งระหว่างทรัมป์กับผู้ว่าการรัฐหลายคน รวมถึงแอนดรูว์ คูโอโม ผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 200,000 คน และเสียชีวิตเกิน 10,000 คน ซึ่งยืนยันว่าแต่ละรัฐจะประเมินสถานการณ์เองว่าจะผ่อนคลายเมื่อใด และทรัมป์ไม่ใช่กษัตริย์ที่จะมาอ้างอำนาจเด็ดขาดสั่งการได้ หรือแม้แต่ ดร.แอนโธนี เฟาซี ที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของทรัมป์เองก็เตือนว่า เป้าหมายวันที่ 1 พฤษภาคมของทรัมป์นั้นมองโลกในแง่ดีเกินไป
    กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวเตือนหายนภัยทางเศรษฐกิจจากโรคระบาดครั้งนี้ว่า "การล็อกดาวน์ครั้งใหญ่" อาจสร้างความสูญเสียต่อเศรษฐกิจโลกถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งเลวร้ายที่สุดนับแต่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในยุค 1930  
    ข้อมูลจากสำนักข่าวเอเอฟพีรวบรวมถึงเวลา 17.00 น.ของวันพุธตามเวลาไทย ชี้ว่าทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมอย่างน้อย 2,000,576 ราย เสียชีวิตแล้ว 126,871 ราย ทวีปยุโรปได้รับผลกระทบหนักสุด มีผู้ติดเชื้อสะสมรวม 1,010,858 ราย เสียชีวิต 85,271 ราย ส่วนสหรัฐอเมริกามีผู้ติดเชื้อสะสม  609,240 ราย เสียชีวิตแล้ว 26,033 ราย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"