เด้งผู้ว่าฯภูเก็ตเซ่นโควิด! ทุ่งยางแดงยังลามอีก3คน


เพิ่มเพื่อน    


     ภูเก็ตยังพบผู้ติดเชื้อไม่หยุด ผวจ.ออกคำสั่งเพิ่มปิดไซต์งานก่อสร้าง หยุดโยกย้ายแรงงาน  ให้อยู่แต่ในแคมป์ ส่วนที่ "ทุ่งยางแดง" ยังเป็นศูนย์กลางการระบาดที่ปัตตานี พบติดเชื้อเพิ่มอีก 3 คน  ขณะที่สำนักจุฬาราชมนตรีออกประกาศมาตรการป้องกันโควิด-19 ในช่วงรอมฎอน
     เมื่อวันที่ 15 เมษายน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.มีมติแต่งตั้งโยกย้ายให้นายกอบชัย บุญอรณะ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ ทั้งนี้ ให้นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และให้นายณรงค์ วุ่นซิ้ว พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นต้นไป
    ด้านนายภัคพงศ์กล่าวถึงกรณีที่ถูกโยกย้ายว่า เป็นไปตามการพิจารณาความเหมาะสมของผู้บังคับบัญชา ที่ผ่านมาได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดตามอำนาจหน้าที่ และการถูกย้ายในช่วงนี้เชื่อว่าไม่กระทบขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ รวมถึงการป้องกันโควิด-19 เพราะทีมงานเข้มแข็ง ทำงานกันเป็นระบบ ไม่ได้ยึดติดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และเชื่อมั่นในการทำงานของผู้ว่าฯ คนใหม่
    วันเดียวกัน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตแจ้งสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดภูเก็ต ประจำวันที่ 15 เมษายน 2563 ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม -  14 เมษายน 2563 จังหวัดภูเก็ตมีผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 แล้วจำนวน 191 ราย (รายใหม่ 3 ราย) โดยผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้าน 77 ราย จำหน่าย 1 ราย (จำหน่ายเนื่องด้วยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์) กำลังรักษาพยาบาลอยู่ 113 ราย ในจำนวนนี้อาการรุนแรง 3 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ที่เหลืออาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 2,471 ราย (รายใหม่ 70 ราย) โดยยังคงรักษาพยาบาล 177 ราย ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 64 ราย กลับบ้านแล้ว 2,294 ราย 
    สำหรับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 ที่พบเพิ่มในวันนี้ ทั้งหมดอาศัยและทำงานอยู่ในเขตบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง และเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูง เช่น พักอาศัยในบ้านเดียวกัน ทำงานในที่เดียวกันกับผู้ป่วยยืนยันรายก่อนหน้านี้ในพื้นที่
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งเพิ่ม เรื่องปิดสถานที่และกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีใจความสรุปว่า การดำเนินกิจการของสถานประกอบการธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง การก่อสร้าง หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะเดียวกับการก่อสร้าง  มีลูกจ้างแรงงานไทยและต่างด้าวจำนวนมาก อาจเป็นปัจจัยหนึ่งในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากการดำเนินงานก่อสร้างต้องเคลื่อนย้ายแรงงานและลูกจ้างไปยังสถานที่ก่อสร้าง
    จึงออกคำสั่งปิดสถานที่การดำเนินกิจการธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง การก่อสร้าง หรือสถานประกอบการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง เว้นแต่โครงการเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งโดยได้รับการรับรองจากทางราชการ หรือโครงการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 15-30 เม.ย. 
    พร้อมทั้งมีมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของลูกจ้างแรงงานไทยและต่างด้าวในสถานที่พัก (แคมป์คนงาน) ให้ผู้ประกอบการดำเนินการ เช่น ให้ทำความสะอาดสถานที่พักและกำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน จัดหาหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า สบู่ แอลกอฮอล์เจลหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคให้ลูกจ้างหรือแรงงานอย่างเพียงพอ ให้ลูกจ้างหรือแรงงานออกจากแคมป์คนงานให้น้อยที่สุด และให้รักษาระยะในการนั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1.5 เมตร เพื่อป้องกันการติดต่อสัมผัสหรือแพร่เชื้อโรคทางฝอยละออง เป็นต้น 
ทุ่งยางแดงยังลามไม่หยุด
    ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอเบตง จ.ยะลา พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ นายอำเภอเบตง ได้เรียกสาธารณสุขอำเภอ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศเบตง ด่านศุลกากรเบตง ด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตง โรงพยาบาลเบตง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมในการคัดกรองรับผู้ลงทะเบียนกลับจากประเทศมาเลเซียในวันที่ 18 เม.ย.นี้ 
    โดยแยกเป็นรายละเอียดดังนี้ 1.เดินทางจากประเทศมาเลเซีย จำนวน 3,815 คน ซึ่งแยกเป็นประชาชน จ.ยะลา จำนวน 503 คน โดยประสานผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศูนย์เฝ้าสังเกตอาการ  ให้เตรียมการรองรับให้มีความพร้อม 2.เตรียมสถานที่เฝ้าสังเกตอาการเพิ่มเติมไว้ให้เพียงพอ ที่หอพักสถาบันราชภัฏยะลา สาขาเบตง โดยมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขศูนย์ LQ ทำการตรวจวัดอุณหภูมิและอาการอื่นๆ ของผู้ที่กักตัวและทำการรายงานผล
    ส่วนที่จังหวัดปัตตานีพบผู้ป่วยในชุมชนที่สัมผัสเพิ่มอีก 3 คนในหมู่บ้าน ม.6 บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง ที่ยังควบคุมไม่ได้ มีผู้ป่วยรวมเป็น 21 คน ถ้ารวมทั้งจังหวัดเป็น 85 คน โดยเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่กลับมาและติดเชื้อมาจากมัรกัสยะลา ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมศาสนาระดับจังหวัด
    ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีมีคำสั่งปิดหมู่บ้านดังกล่าวแล้ว โดยคนในห้ามออกคนนอกห้ามเข้า พร้อมทั้งมีการคัดกรองคนในชุมชนที่เชื่อว่ามีผู้เสี่ยงอีกหลายสิบคน ขณะนี้ภาพรวมในพื้นที่ปัตตานีมีการปิดแล้วรวม 23 หมู่บ้านใน 9 อำเภอ  
คำประกาศจุฬาราชมนตรี
    ทั้งนี้ สำนักจุฬาราชมนตรีได้มีคำประกาศของจุฬาราชมนตรี เรื่องมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ว่าด้วยการปฏิบัติศาสนกิจในเดือนรอมฎอน ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1441 (พ.ศ.2563) (ฉบับที่ 4/2563) ในช่วงวันที่ 24 หรือ 25 เมษายน - 23 หรือ 24  พฤษภาคม ซึ่งตรงกับเดือนรอมฎอนที่มุสลิมจะต้องปฏิบัติศาสนกิจถือศีลอดและทำกิจกรรมต่างๆ ในเดือนสำคัญนี้ ซึ่งจะมีการรวมตัวกันเป็นหมู่คณะ ณ มัสยิด เคหสถาน หรือสถานที่ต่างๆ โดยในสถานการณ์ที่ยังมีการระบาดของเชื้อโรคอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องประกาศมาตรการเพิ่มเติม ดังนี้
    1.การดูดวงจันทร์ เพื่อกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเท่านั้น
    2.การถือศีลอดให้ถือปฏิบัติตามบทบัญญัติ ยกเว้นผู้ถือได้รับผ่อนผันตามบทบัญญัติเท่านั้น ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนามิได้เป็นอุปสรรคให้งดการถือศีลอดแต่ประการใด ตลอดจนการกลืนน้ำลายที่ไม่เจือปนเศษอาหารที่อยู่ในช่องปาก มิได้ทำให้การถือศีลอดบกพร่องแต่อย่างใด กลับเป็นการรักษาร่างกายและลำคอให้ชุ่มชื้นตลอดเวลา จึงไม่ควรถ่มน้ำลายในที่สาธารณะเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้
    3.การจัดเลี้ยงอาหารละศีลอดที่มัสยิด หรือสถานที่อื่นใด หากมีความประสงค์ให้จัดอาหารปรุงสุกที่บ้านและจัดใส่ภาชนะบรรจุภัณฑ์ที่ถูกสุขลักษณะ และแจกจ่ายให้แก่เพื่อนบ้านและญาติใกล้ชิดแทนการเลี้ยงรวมกันเป็นหมู่คณะ
    4.สมาชิกในครอบครัวละศีลอดหรือรับประทานอาหารซาโฮร์ก่อนหัวรุ่งร่วมกัน ให้หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกัน และให้นั่งห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร
    5.งดการเอี๊ยะติก๊าฟ และการละหมาดญุมอะห์ที่เป็นซุนนะห์ ประเภทต่างในค่ำคืนเดือนรอมฎอน อาทิ การละหมาดตารอเวี๊ยะ การละหมาดตะฮัจญุด และกิจกรรมอื่นๆ ที่มัสยิดหรือสถานที่อื่น
    6.คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ให้แจ้งไปยังมัสยิดให้เข้าใจเกี่ยวกับการจ่ายซะกาตฟิตร์ และฟิตยะห์ล่วงหน้า ที่สามารถทำได้ตั้งแต่เข้าสู่เดือนรอมฎอน และให้มัสยิดเป็นผู้รวบรวมและขอให้สัปบุรุษมอบซะกาตให้กับมัสยิดเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้เดือดร้อน
    สำหรับการละหมาดอีดิ้ลฟิตร์หรือวันฮารีรายอและการจัดกิจกรรมในวันฟิตร์ จะประกาศมาตรการให้ทราบต่อไป
    "ขอให้พี่น้องมุสลิมทุกคนอดทนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และขอให้ใช้โอกาสในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐนี้ปฏิบัติศาสนกิจให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และขอดุอา ต่ออัลเลาะฮพระผู้เป็นเจ้าให้ภัยบาลาอ์ครั้งนี้ผ่านพ้นไปโดยเร็ว และให้ปฏิบัติตามประกาศทั้ง 3 ฉบับอย่างเคร่งครัดจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง"
'โคราช-อำนาจเจริญ' ยิ้มได้
    ที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แถลงข่าวว่า พื้นที่จังหวัดนครราชสีมามีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 18 ราย ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมเป็นวันที่ 8 ติดต่อกัน ในจำนวน 18 ราย รักษาหาย 5 ราย ยังคงรักษา 13 ราย
    อย่างไรก็ตามที่จังหวัดนครราชสีมาพบปัญหาอื่นแทน คือที่หน้าธนาคารกรุงเทพ สาขาอัษฎางค์ ถนนอัษฎางค์ เขตเทศบาลนครนครราชสีมา ได้มีกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มธุรกิจรายย่อยจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายสมยศ พัดเกาะ เป็นแกนนำ พร้อมสมาชิก รวมตัวกันเดินทางมายื่นหนังสือเปิดผนึก และวางพวงหรีดสีดำมีข้อความด้านหน้าระบุว่า "ไว้อาลัยแด่ธนาคารพาณิชย์ของประเทศไทย" โดยมอบผ่านประธานชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา เพื่อขอให้ทุกธนาคารทบทวนการพักชำระหนี้แบบคิดดอกเบี้ยซ้อน และเป็นการแสดงความไว้อาลัยธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ออกมาตรการไม่จริงใจในการแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการรายย่อย
    นายสมยศ พัดเกาะ แกนนำ กล่าวว่า มาตรการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอ้างว่าออกมาช่วยเหลือประชาชนนั้น ไม่ได้มีผลดีอะไรเลย แต่กลับเป็นมาตรการที่ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่จริงใจ เพราะเป็นกติกาช่วยแบบซ้อนดอกเบี้ยไว้ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมลูกหนี้ ฉะนั้นกลุ่มธุรกิจรายย่อยในจังหวัดนครราชสีมาจึงขอเรียกร้องให้ธนาคารทุกธนาคารแสดงน้ำใจต่อเพื่อนร่วมธุรกิจ ด้วยการออกมาตรการเยียวยาให้ความช่วยเหลืออย่างจริงใจ ไม่หมกเม็ด ไม่ซ้ำเติมลูกหนี้ ให้ตรงกับที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง
    สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ แจ้งว่า ณ วันนี้ 15 เม.ย. จ.อำนาจเจริญ มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็น 0 ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ 3 ราย ไม่พบเชื้อ 1 ราย รอผลตรวจ 2 ราย ผู้เข้าเกณฑ์สงสัย 3 ราย ส่งตรวจ 3 ราย ไม่พบเชื้อ 1 ราย รอผล 2 ราย การติดตามเฝ้าระวังผู้เดินทางมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดต่างประเทศ สะสมทั้งหมด 162 ราย กักตัวสังเกตอาการที่บ้าน 7 ราย พ้นระยะกักตัว 14 วัน 154 ราย เข้าเกณฑ์สงสัย 0  ราย และไม่มีผู้เสียชีวิต
    ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโควิด-19 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา รายงานสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ประจำวันที่ 15 เม.ย.63 ว่า ขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวมยอดป่วยสะสม 6 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ถือเป็นรายแรก ซึ่งเป็นชายอายุ 60 ปี เดินทางกลับจากประเทศอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 3  เม.ย. และเข้ากักตัวเฝ้าระวังอาการ จากนั้นเริ่มมีอาการป่วยจึงเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล พบว่ามีโรคประจำตัวหลายโรค คือ เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง และไต กระทั่งเสียชีวิตเมื่อคืนวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา และผลตรวจพบเชื้อโควิด-19 ร่วมด้วย ขณะที่ผู้ติดเชื้ออีก 5 รายนั้นอาการโดยรวมดีขึ้น แต่ยังต้องรักษาดูแลอย่างใกล้ชิด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"