ดัชนีเชื่อมั่นดิ่ง! ต่ำสุดในรอบ2ปี ลุ้นไตรมาส4ฟื้น


เพิ่มเพื่อน    

    ไวรัสโควิด-19 เล่นงานงอมแงม เปิดดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าไทยลดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี ท่องเที่ยวทรุด-ภัยแล้ง เอกชนคาดเศรษฐกิจฟื้นเร็วสุดไตรมาส 4 ปีนี้ ห่วงคนว่างงาน 10 ล้านคน รวมทุกหน่วยธุรกิจ      
    นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย  (TCC CONFIDENCE INDEX) หรือ TCC-CI ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากหอการค้าทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในเดือน มี.ค.63 พบว่าอยู่ที่ระดับ 37.5 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี
     "ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในเดือน มี.ค.ที่ระดับ 37.5 นี้ ถือว่าต่ำสุดตั้งแต่ที่เคยทำสำรวจมา  ดัชนีที่หลุดจากระดับ 40 ลงไปเข้าสู่ในช่วงสีแดงถือว่ามีความเสี่ยงสูง" นายธนวรรธน์ระบุ
    โดยปัจจัยลบสำคัญที่มีผลกระทบสำคัญต่อดัชนีในเดือน มี.ค.นี้ คือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง, การประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งส่งผลให้มีการสั่งปิดกิจการบางประเภทชั่วคราว, นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง, ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร และการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคของประชาชน, การส่งออกเดือน ก.พ.ลดลง -4.47% เป็นต้น ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงเล็กน้อย คือการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.75% และราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวลดลง
    นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์ฯ ได้ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2563  ภายใต้สมมติฐานที่ว่ารัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะที่ 3 ออกมา ทั้งเรื่องของการมี พ.ร.ก. ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน, พ.ร.ก.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออก Soft Loan และ พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน ซึ่งรวมวงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยจะทำให้ GDP อยู่ที่ระดับ -4.9% ถึง -3.4%  จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่โต 1.1% ขณะที่การส่งออกของไทยในปีนี้คาดว่าจะหดตัวเหลือ -12% ถึง -8.8%  จากเดิมคาด -1.1% ขณะที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้จะอยู่ที่ระดับ -1% ถึง -0.5% จากเดิมคาดเพิ่มขึ้น 0.7%
    การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ปัจจัยสำคัญยังมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่หดตัวลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ภัยแล้งที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากในปีนี้ รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ภาคครัวเรือนเพิ่มระดับความระมัดระวังในการใช้จ่าย หนี้เสียของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน
    อย่างไรก็ดี ในปีนี้ยังมีปัจจัยบวกที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดตัวลงไปมาก เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนเริ่มมีสัญญาณที่ผ่อนคลายมากขึ้น, เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง, ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง, การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน, การลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่ EEC เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น ตลอดจนธนาคารกลางของทั่วโลกต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลายมากขึ้น
    นายธนวรรธน์กล่าวอีกว่า หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในไทยและอาเซียนสามารถคลี่คลายลงได้ในช่วงกลางปี ก็คาดว่าภาคธุรกิจต่างๆ จะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 3 ขณะที่มองว่าภาคการท่องเที่ยวน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวได้เร็วสุดในช่วงไตรมาส 4
    ด้านนายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งผลกระทบต่อทุกกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มภาคของการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง มีผลต่อรายได้และโอกาสที่จะทำให้มีคนว่างงานจำนวนมากขึ้น โดยจะทำให้คนว่างงานกว่า 10 ล้านคนรวมทุกหน่วยธุรกิจ 
    อย่างไรก็ดี ศูนย์พยากรณ์ฯ มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายซึ่งเป็นมาตรการสำหรับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก มุ่งเน้นพยุงการจ้างงาน และรักษาระดับการบริโภคเพื่อประคองเศรษฐกิจฐานรากไม่ให้ล้มลง โดยมาตรการสำหรับภาคครัวเรือน เช่น ลดภาระรายจ่าย และผ่อนปรนภาระหนี้สินของภาคครัวเรือน, ชดเชยรายได้ให้แก่แรงงาน ลูกจ้างชั่วคราว, ภาครัฐควรพิจารณาจ่ายเงินอุดหนุน 25-50% ของรายจ่ายค่าจ้าง/เงินเดือน เพื่อชะลอการปลดคนงาน, รักษาอำนาจซื้อของประชาชนด้วยการควบคุมระดับราคาสินค้าที่จำเป็น, อนุมัติให้มีการจ้างงานแบบรายชั่วโมงเป็นการชั่วคราว
    ส่วนมาตรการสำหรับภาคธุรกิจ ได้แก่ การลดภาระรายจ่ายและผ่อนปรนภาระหนี้สินของภาคธุรกิจ  เช่น ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ พักชำระเงินต้น/ดอกเบี้ย ลดอัตราการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม, สนับสนุนสินเชื่อซอฟต์โลนแก่ผู้ประกอบการ SMEs, ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ธุรกจที่ยังคงจ้างแรงงานในช่วงที่ถูกทางการสั่งให้หยุดกิจการชั่วคราว, ผ่อนคลายบางธุรกิจให้ทยอยเปิดกิจการได้อีกครั้ง
    สำหรับระยะที่สอง มุ่งเน้นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว โดยมาตรการสำหรับภาคครัวเรือน ได้แก่ เร่งการลงทุนภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน,  อนุมัติให้ภาคธุรกิจสามารถนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างกรณีจ้างงานใหม่ (เฉพาะคนที่มีเงินเดือนไม่เกิน  15,000 บาท) มาหักภาษีได้ 2 เท่าในช่วง 1 ปี หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดคลี่คลาย, เร่งพัฒนาศักยภาพกำลังคน โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล เพื่อรองรับการเปลี่ยนงานใหม่
    ส่วนมาตรการสำหรับภาคธุรกิจ เช่น การสนับสนุนสินเชื่อซอฟต์โลนแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่อง, ออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวภายในประเทศ ส่งเสริมให้ส่วนราชการจัดอบรมสัมมนาเฉพาะสถานที่ภายในประเทศเท่านั้น, ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และเพิ่มช่องทางการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"