คลังสมองแพทย์-16 กุนซือ-20 เจ้าสัว เดิมพัน "บิ๊กตู่" กู้เครื่องยนต์ประเทศ


เพิ่มเพื่อน    

    สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าจะจบลงเมื่อใด ความหวังของมวลมนุษยชาติจึงอยู่ที่วัคซีนของผู้เชี่ยวชาญแต่ละประเทศคิดค้นผลิตกันเอง แต่กรรมวิธีก่อนที่จะนำมาใช้ได้จริง มีแนวโน้มที่ต้องใช้ระยะเวลาลากยาวไปถึงปลายปีหรือต้นปีหน้า 
    การปกป้องประชากรของทุกรัฐจึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการทรัพยากรทุกด้านของผู้นำรัฐบาลประเทศนั้นๆ ว่ามีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับเงื่อนไข ปัจจัย ของแต่ละประเทศแค่ไหน โดยมุ่งหวังให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดในทุกด้าน 
    สำหรับประเทศไทยในช่วงแรกภายใต้การบริหารงานของพรรคร่วมรัฐบาลยัง ”ตั้งรับ” ไม่ทัน จนกระทั่งเมื่อเจอเหตุการณ์ ”สนามมวย-สถานบันเทิง” มีซูเปอร์สเปรดเดอร์เกิดขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้อมากขึ้นจนน่ากลัว ถ้าปล่อยสถานการณ์โดยใช้กลไกปกติแก้ไขปัญหา ก็คาดว่าผลลัพธ์คงไม่ต่างจากประเทศในยุโรปที่ระบบสาธารณสุขรับมือไม่ทัน
    แต่ที่ซ้ำเติมสถานการณ์มากขึ้น และบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของประชาชน ปัญหาหน้ากากอนามัย การสื่อสารขั้นตอนการแก้ไขปัญหากับประชาชน จนถึงขั้นที่เรียกว่า “มั่ว” และการดำเนินการต่างๆ ล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์
    ก่อนที่ปัญหาจะไปไกลกว่าที่คิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงตัดสินใจเชิญบุคลากรการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดที่เกษียณอายุราชการแล้วมาให้คำแนะนำ อาทิ ศ.เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข นพ.อุดม คชินทร อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยบุคคลเหล่านี้เคยทำงานในช่วงที่ประเทศไทยเคยมีโรคระบาด 
    ในช่วง 2-3 สัปดาห์จากนั้น การดำเนินการของรัฐบาลมีการวาง “ไทม์ไลน์” การดำเนินมาตรการตามห้วงระยะเวลา มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ใช้กลยุทธ์ในการผ่อนหนัก-ผ่อนเบา เพื่อหล่อเลี้ยงกระแส และอารมณ์คนในสังคมไม่ให้เดือดดาล พร้อมไปกับการดึงความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการที่ออกไว้ 
    ไล่ตั้งแต่การแจ้งล่วงหน้าก่อนการควบคุมพื้นที่ เพื่อให้แรงงานต่างด้าวกลับประเทศก่อนช่วงสงกรานต์ การกระจายประชากรในกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด เพื่อให้การบริการทางด้านสาธารณสุขในต่างจังหวัดแบ่งเบาการรักษาในส่วนกลาง ลดความแออัดของประชากรเพื่อลดความเสี่ยงผู้ติดเชื้อ ตามมาด้วยการประกาศเคอร์ฟิวล็อกคนไม่ให้เคลื่อนย้าย ต่อด้วยการแก้ไขปัญหาคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ
    ภาพในการสั่งการภายใต้การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องการ “ยึดอำนาจ” ของนักการเมืองกลับมาอยู่ในมือของนายกรัฐมนตรีทหาร ไม่ต่างจากช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่างตรงที่ครั้งนี้คือการแก้ไขวิกฤติเชื้อโรค ที่คนในสังคมหลุดวังวนการเมืองมาชั่วขณะ ถึงแม้จะด่าหรือตำหนิรัฐบาล แต่ก็เพื่อแก้ไขปัญหาและดูแลสถานการณ์ให้ดีขึ้น ไม่ใช่ “ไล่” ให้ออกไป เพื่อเปลี่ยนม้ากลางศึก
    นักการเมือง ถูกลดบทบาทลงอีกครั้ง จากหลายคำสั่งที่ผุดออกมาในการจัดการแก้ไขปัญหาหลายเรื่อง หรือแม้กระทั่งการแก้ไขปัญหาที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่เจ้าภาพหลักไม่กล้าใช้อำนาจตัดสินใจ ในที่สุดก็ต้องส่ง "ทหาร” เข้ามาจัดระบบชั่วคราวในช่วงที่คนไทยเริ่มเดินทางกลับประเทศ 
มาตรการที่ถูกมองว่า “ลักปิด ลักเปิด” ไม่เด็ดขาด แต่ดูเหมือนว่าใช้ได้ผลในการยืนระยะหากสถานการณ์ลากยาว แม้ไม่สามารถทำให้คนพอใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธความร่วมมือ เพราะผลจากการไม่ปฏิบัติตามส่งผลกระทบต่อชีวิตตนเอง ทว่าในอนาคตผลกระทบที่น่ากลัวพอๆ กับการแพร่ระบาดของโรคก็คือสภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีผู้มีรายได้น้อยอยู่เป็นจำนวนมาก และที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจไม่มีข่าวดี รัฐบาลเร่งออกมาตรการหลายแพ็กเกจมารองรับ เพื่อช่วยกระตุ้นไม่ให้ให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจดับลง
    พร้อมกันนั้นยังได้แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ภาคเอกชนทำ ได้แก่ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน และมีกรรมการ 13 คน คือ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ประธานสมาคมธนาคารไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย, ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย 
    ขณะที่ นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นเลขานุการ และนายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งเมื่อดูจากตัวบุคคลแล้ว คือองค์ประกอบของตัวแทนผู้ประกอบการในภาคเอกชนกับเหล่า เทคโนแครต ที่จะนำเสนอแผนและนโยบายต่อรัฐบาล
    แต่ดูเหมือนว่าความเดือดร้อนของประชาชน คนหาเช้ากินค่ำหนักหนาสาหัส ยังไม่สามารถเข้าถึงคนเหล่านั้นได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ รัฐจึงต้องกลับมาอุดช่องโหว่ ลดช่องว่าง เพื่อให้ประชาชนยืนระยะอยู่ได้ในห้วงเวลานี้ โดยทยอยออกมาตรการช่วยเหลือออกมาเป็นระยะ จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะคลี่คลายและเป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นสอดคล้องกันทั้งโลก 
    การเตรียมรับมือเหตุการณ์หลังโควิด-19 ถือเป็นเรื่องใหญ่และต้องวางแผนไว้แต่เนิ่นๆ โดยใช้ทุกองคาพยพที่ทรงอิทธิพลในสังคมควรมาร่วมมือในการหาแนวทางสนับสนุนประเทศ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเคยมีการนำเสนอมาจากหลายภาคส่วน หลังจากมีข้อวิเคราะห์ว่าหาก “คนรวย” ยัง ”นิ่ง” สภาพปัญหาจากความเดือดร้อนบนความเหลื่อมล้ำ จะทำให้คนที่เดือดร้อนจะเกลียดชัง รุกฮือต่อต้านคนรวยนำไปสู่ความรุนแรงที่หลายคนอาจไม่คาดคิด 
    จากแถลงการณ์สรุปสถานการณ์ประจำสัปดาห์ของนายกรัฐมนตรี ที่โยนประเด็น “20 เจ้าสัว” สู่สังคม สร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงเหล่าสำนักคิด ทฤษฎีอำนาจการเมือง ที่ “งง” ต่อปรากฏการณ์ดังกล่าว  
    “ผมจะออกจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย 20 ท่าน ขอให้ท่านเหล่านั้นได้บอกผมว่า ในฐานะที่ท่านเป็นผู้อาวุโสของสังคม ท่านจะร่วมมือกันกับเราอย่างไร และท่านจะลงมือช่วยเหลือประเทศไทยของเราให้มากขึ้นได้อย่างไรบ้าง มหาเศรษฐีของประเทศไทยทั้งหลายล้วนมีอิทธิพลอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ และถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ผมขอให้ท่านได้มีบทบาทสำคัญในการร่วมกันช่วยเหลือประเทศ และร่วมเป็นทีมประเทศไทยด้วยกันกับเรา....
    ...ผมเข้าใจและซาบซึ้ง ที่หลายท่านได้ลงมือทำไปแล้วหลายเรื่อง แต่ผมต้องการให้ทุกท่านทำเพิ่มเติมมากกว่าที่ท่านได้ทำไป ผมรู้ว่าทุกท่านต่างก็เต็มใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่ประเทศต้องการความช่วยเหลืออย่างมากที่สุด เพราะผมรู้ว่าความเดือดร้อนของคนไทยก็คือความเจ็บปวดของท่านด้วย ผมขอให้ทุกท่านได้แบ่งปันความสามารถ และความฉลาดหลักแหลม รวมทั้งมุมมองอันมีวิสัยทัศน์ของพวกท่าน พร้อมกับใช้องค์กรที่มีศักยภาพสูงของท่านมาช่วยกันจัดการกับวิกฤติที่เรากำลังเผชิญอยู่ในวันนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 
    การเลือกแก้ไขปัญหาโดยกลับมาใช้กลไกรัฐราชการ และนายทุนที่หาส่วนเกินจากเศรษฐกิจกับคนจนเป็นฐานพีระมิดใหญ่ของประเทศ สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำมานานเป็นศตวรรษ ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองไทยยังพัฒนาไม่ถึงไหน พรรคร่วมรัฐบาลที่เข้ามาบริหารกระทรวงถูกจัดสรรเข้ามาด้วย “การเมืองแบบเก่า” นำไปสู่การสร้างเครือข่ายระบบพรรคพวกที่มีคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมไปถึงศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการภายในกระทรวงไม่สามารถทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการแก้ไขปัญหา
    แต่ในขณะเดียวกัน การเลือกระบบราชการขับเคลื่อนปัญหา ยังมีปัญหาความล่าช้า มีจุดอ่อนในเรื่องสายการบังคับบัญชา และความไม่ทั่วถึงในการช่วยเหลือในบางพื้นที่ และกลุ่มต่างๆ ขณะที่ภาคเอกชนและนายทุนเมื่อเข้ามาเป็นกลไกในการกู้วิกฤติประเทศทั้งการเสนอแนะแนวทาง หรือการลงทุนทรัพย์ในการช่วยเหลือ ก็ไม่ได้มีหลักประกันว่า “ต้นทุน” เหล่านี้จะกลายเป็นความเกรงใจในการที่รัฐต้องกำหนดนโยบายบางประการในอนาคตหรือไม่ 
    กระนั้นก็ถือเป็นเดิมพันของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าเมื่อผ่านสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค จนถึงยุคหลังโควิด-19 เครื่องยนต์เศรษฐกิจจะกลับเดินเครื่องได้อีกหรือไม่ และเมื่อคนไทยกลับมาลืมตาอ้าปากได้ระดับหนึ่งแล้ว จะสามารถบริหารจัดการนโยบายของรัฐบาลไปในทิศทางใด ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของสังคมในการติดตามตรวจสอบอย่างเข้มข้น!!.
                 
"การเตรียมรับมือเหตุการณ์หลังโควิด-19 ถือเป็นเรื่องใหญ่และต้องเตรียมการรับมือไว้แต่เนิ่นๆ โดยใช้ทุกองคาพยพที่ทรงอิทธิพลในสังคมมาร่วมมือในการหาแนวทางสนับสนุนประเทศ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเคยมีการนำเสนอมาจากหลายภาคส่วน" 


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"